ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ยันประชาชนทุกคนมีสิทธิเรียกร้องเพราะ ปชช.เป็นเจ้าของประเทศ หลังมีคนถามเหตุคุกคาม ปชช.

หลังมีผู้สอบถามความเห็นเรื่องการคุกคามประชาชนขณะนี้ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ตอบ ประชาชนทุกคนมีสิทธิเรียกร้องและแสดงออกเพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ

ที่มา https://www.instagram.com/p/CD0BLnIsd_-7sX2oiCSNsBxEuubbqR2SOnDNV00/

 

13 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 ส.ค.63) ในอินสตาแกรม 'nichax' ของ อุบลรัตน์ มหิดล หรือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มีผู้ใช้ผู้เข้าไปสอบถามความเห็นว่า "สุขสันต์วันแม่ย้อนหลังครับ ในฐานะอดีตแคนดิเดทนายกฯไม่ทราบว่าทูลกระหม่อมมีความคิดเห็นอย่างไรกับการคุกคามประชาชนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ครับ"

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ตอบว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องและแสดงออกเพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ

สำหรับสถานการณ์การคุกคาม ขณะนี้นั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นมา กลุ่มเยาวชนปลดแอกเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ให้รัฐยุติการคุกคามประชาชน, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา จนนำไปสู่การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมสาธารณะอย่างแพร่หลาย อย่างน้อย 107 ครั้ง ในพื้นที่ 52 จังหวัด และล่าสุดกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ขึ้นบริเวณลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามนอกจากข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อแล้ว ในแต่ละการชุมนุม กลุ่มผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้องอย่างหลากหลาย ตามประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมให้ความสนใจ อาทิเช่น การศึกษา การสมรสเท่าเทียม การยอมรับอาชีพพนักงานบริการให้ถูกกฎหมาย รวมไปถึงการวิจารณ์ถึงการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ภายหลังการรัฐประหาร และข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ตามประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1

การออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการคุกคามบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมอย่างน้อย 76 ราย ทั้งการข่มขู่ ติดตาม ห้ามจัดกิจกรรม ห้ามใช้สถานที่ แทรกแซงการทำกิจกรรม ฯลฯ และดำเนินคดีกับบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกไปแล้วอย่างน้อย 4 คดี โดยเฉพาะประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ นำมาสู่การจับกุมทนายความอานนท์ นำภา และนายภาณุพงษ์ จาดนอก รวมถึงอาจมีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมออนไลน์ถึงการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็นการ “จาบจ้วงสถาบัน” และข่มขู่ให้ระวังเหตุการณ์จะซ้ำรอยกับความรุนแรงในวันที่ 6 ต.ค. 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

พรรคไทยรักษาชาติเคยเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ เมื่อวันที่ 8 ก.พ.62 และต่อมาในตอนดึกของวันเดียวกันรัชกาลที่ 10 ได้มีพระราชโองการออกมาเป็นพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์เพื่อทรงแนะนำกรณีดังกล่าว จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันทให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ 17 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไป กรณีนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการนำเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท