ชัยวัฒน์ สถาอานันท์: สังคมไทยต้องเห็นพ้อง ไม่เอาแล้วโศกนาฏกรรมแบบ '6 ตุลา'

ในความขัดแย้งที่กำลังคุกรุ่น ประชาไทคุยกับ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธีศึกษา ถึงทางออกที่พอเป็นไปได้เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำรอยโศกนาฏกรรมแบบเดิมอีกครั้ง

คลิปให้สัมภาษณ์ของชัยวัฒน์ สถาอานันท์


ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

 

แม้ในช่วงแรกของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจะเริ่มต้นจากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน, แก้รัฐธรรมนูญ, ยุบสภา และต่อมาเพิ่มอีก 2 จุดยืนคือ ไม่เอารัฐประหาร, ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ แต่เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องของการชุมนุมก็ได้ถูกยกระดับขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เพิ่มข้อเรียกร้องอีก 10 ข้อ อันล้วนแต่เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์

นับเป็นไม่กี่ครั้งที่ข้อเสนอเรื่อง 'พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ' และการมองสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในสถาบันที่จะต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในที่สาธารณะท่ามกลางผู้ชุมนุมหลายพันคน โดยข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ อาทิ  แก้ไขมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ โดยให้อำนาจเป็นของรัฐสภา, ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้การถกเถียงต่อเรื่องนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่พอใจและกล่าวหาว่านักศึกษา 'ก้าวล่วง' 'จาบจ้วง' สถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ฝ่ายนักศึกษายืนยันว่าข้อเสนอทั้ง 10 ข้อเป็นไปด้วยความหวังดีต่อสถาบัน เพื่อให้สถาบันมีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัยปัจจุบันและอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน

แต่ทั้งนี้กระแสตีกลับและโจมตีนักศึกษาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ทวีความรุนแรงขึ้นในโลกโซเชียล ขณะเดียวกันฝ่ายคนรุ่นใหม่ก็ตอบโต้อย่างไม่ลดละ จากความอัดอั้นที่สะสม เมื่อการคุกคามผู้ชุมนุมเกิดขึ้นตลอดตั้งแต่การชุมนุมครั้งแรกในวันที่ 18 ก.ค. นอกจากนี้อานนท์ นำภา และภานุพงษ์ จาดนอก สองผู้ชุมนุม ก็ถูกหมายจับในมาตรา 116 แม้จะได้รับการประกันตัว แต่อารมณ์คุกรุ่นที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล หลายฝ่ายกลัวว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย 'เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา 6 ตุลา' 

ประชาไทคุยกับ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธีศึกษา ถึงทางออกที่พอเป็นไปได้เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำรอยโศกนาฏกรรมแบบเดิมอีกครั้ง

 

อยากทราบความเห็นของอาจารย์ต่อข้อเรียกร้อง 10 ข้อของนักศึกษา 

ก็คงเหมือนคนอื่นๆในสังคมไทย ที่ด้านหนึ่งก็ตกใจกับข้อเรียกร้องบางส่วนใน 10 ข้อนั้น อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่านักศึกษาหรือกลุ่มผู้ประท้วงก็น่าสนใจมากที่เขากล้าหาญที่ทำสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือว่า คนชอบแบ่งแยกระหว่างข้อเรียกร้อง 3 ประการกับ 10 ข้อนี้ ผมคิดว่าสองเรื่องนี้เอาเข้าจริงเกี่ยวข้องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมอยากจะอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่าทำไมคนรุ่นผมจึงตกใจ หรือกระทั่งกลัวๆ อยู่ในใจนี่พูดกันตามตรง 

คำอธิบายก็คือว่า ด้านหนึ่งของข้อเรียกร้องสามประการ ซึ่งข้อเรียกร้องสามประการ คือ รัฐอย่ารังแกชาวบ้าน ยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ อันนั้นก็เข้าใจอยู่ การแก้รัฐธรรมนูญทางรัฐบาล รัฐสภาก็กำลังทำอยู่ แล้วก็คณะกรรมการหลายชุดก็น่าสนใจ โดยเฉพาะของคุณพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาษ อันนั้นก็น่าสนใจเพราะมีข้อเสนอบางประการที่ปรากฏขึ้นในสื่อ 

ถามว่าสองอันนี้เกี่ยวกันอย่างไร มันเกี่ยวกันอย่างนี้ คือ ถ้าพูดในภาษาของอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์เคยอธิบายว่า สังคมมนุษย์มีรัฐธรรมนูญสองแบบ อันหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่รู้จักกัน อีกอันคือหนึ่งคือ สิ่งที่อาจารย์เคยเรียกในอดีตว่า 'รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม'

ทีนี้รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมมันคล้ายๆ ของที่ฝังอยู่ในสังคมไทย แล้วเรามีการแก้รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับมาแล้ว จริงๆ เราคุ้นเคยมากกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การต่อรอง การเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญ เราไม่รู้สึกอะไรเพราะอันนั้นมันพูดถึง รัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นตัวบทกฎหมายซึ่งกำกับชีวิตทางการเมืองอย่างเป็นทางการ ถามว่าอันนี้เป็นผลของอะไรที่ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเหล่านี้ ผมคิดว่ามันเป็นผลของสัมพันธภาพทางอำนาจในแต่ละยุคแต่ละสมัยของมันเอง 

ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มันก็เป็นผลของสัมพันธภาพทางอำนาจในเวลานั้นซึ่ง คสช.ยังอยู่ ในเวลาที่ผ่านการยึดอำนาจมาและมีคำสั่งให้ต้องทำรัฐธรรมนูญแบบนั้นแบบนี้ ก็ออกมาในลักษณะแบบนี้ มี ส.ว.ที่จะอยู่ไปได้อีกนานซึ่งค้ำจุนบัลลังก์อำนาจของรัฐบาลแบบนี้ได้ ทำลายไม่ให้พรรคการเมืองมีเสถียรภาพมาก ส่งเสริมพรรคการเมืองพรรคเล็กในนามของการไม่ทิ้งคะแนน อะไรก็ตามแต่ แต่พวกนั้นคือผลของสัมพันธภาพทางอำนาจที่มีอยู่ แต่ว่าในระยะทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลัง 2475 มานั้นไม่ค่อยได้มี ยกเว้น 2475 แต่มันไม่ได้มีการไปเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม

พอคราวนี้สิ่งที่นักศึกษากำลังเสนอ อาจจะกล่าวได้ว่า ไปกระทบประเด็นเรื่องทางวัฒนธรรม แล้ววัฒนธรรมมันผูกพันกับชีวิตจิตใจของคน พอมันผูกพันกับชีวิตจิตใจของคน มันก็มีปฏิกริยาอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้ ผมคิดว่ามันก็เลยเป็นสถานะทำนองนี้ที่เกิดขึ้น ซึ่งเหตุของเรื่องมันไม่เหมือนกรณีอย่าง 6 ตุลา นั่นอีกเรื่องหนึ่ง อันนั้นนักศึกษาเขารวมตัวกันในสมัยนั้นเพื่อไม่ให้จอมพลถนอมกลับเข้ามาในประเทศ อันนั้นก็อยู่ในบริบทอีกลักษณะหนึ่ง

อันนี้น่าสนใจที่ทำไมสังคมไทย ส่วนหนึ่งจึงช็อค อีกส่วนหนึ่งก็ตกใจ อีกส่วนก็เห็นว่าควรจะพูดเรื่องนี้ได้สักทีนะ มันเลยมีความคิดเหล่านี้ประสมประสานกันอยู่ แล้วก็ไม่ได้แปลกใจอะไรที่เสียงเหล่านี้จะมาจากเสียงของคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผลของวัฒนธรรมอีกชนิดหนึ่งที่สัมพันธ์กับเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในสังคมที่ไม่ใช่แบบที่คนรุ่นผมเคยสัมพันธ์มาก่อน

ฉะนั้น ถ้าถามว่าความรู้สึกคือยังไง ความรู้สึกใหญ่ของผมคืออันนี้ เพราะมันไปแตะต้องรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมแบบนี้มันก็เลยยุ่งพอสมควร เพราะวัฒนธรรมมันเป็นของที่ลึกอยู่ในสังคม ดำรงอยู่มานาน กระทั่งคนรู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ ทั้งที่วัฒนธรรมมันก็เป็นสิ่งที่ประกอบสร้างในทางสังคมเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันอยู่มานานกว่า ฉะนั้น แก้รัฐธรรมนูญคนก็ไม่แปลกใจ เรามีประสบการณ์มากกว่าประเทศใดในโลก แต่อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง มันก็เลยอาจจะเป็นปัญหาจริงๆ เหมือนกัน 

 

อาจารย์มีคำแนะนำต่อทั้งฝ่ายรัฐ และคนที่กำลังโกรธแค้นต่อข้อเสนอของนักศึกษา หรือกระทั่งฝั่งของนักศึกษาเองไหม ว่าทั้งสามฝ่ายควรทำยังไง 

ผมคิดว่าตัวสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยมันมีเงื่อนไขหลายประการ อย่างที่เราเคยคุยกัน ประชาธิปไตยในทางทฤษฎีมันมีแนวคิดที่เรียกว่า ประชาธิปไตยอย่างหนา ประชาธิปไตยอย่างบาง มีประชาธิปไตยแบบ consentual เห็นพ้องต้องด้วย อะไรก็แล้วแต่ แต่ที่ผมชอบคือ สิ่งที่เรียกว่าอุดมคติประชาธิปไตยซึ่งฝังอยู่ในตัวประชาธิปไตยทั้งหลายคือ เวลาเราบอกว่าประชาธิปไตยมันคือนวัตกรรมของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้นเพราะมันอมอุดมคติหลายประการไว้

ในอุดมคติหลายประการเหล่านั้นที่ผมเคยพูดๆ ไปกับสื่ออย่างประชาไทหรือคนอื่นๆ อย่างการเลือกตั้งก็เป็นตัวอย่างที่ดีเพราะมันเป็นการแก้ปัญหาว่าใครจะขึ้นมาครองอำนาจโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ วิ่งไปเลือกตั้งเสียก็จะรู้ว่าใครชนะก็ได้ไป มันมาทดแทนการใช้กำลังต่อสู้กันในอดีต 

แต่ว่าจริงๆ มันมีสดมภ์หลักของประชาธิปไตยอีกสองสามเรื่องนอกเหนือจากนี้ อันหนึ่งก็คือแนวความคิดเรื่องความทนกันได้ ผมคิดว่าความทนกันได้เนี่ยเป็นส่วนหนึ่งของอุดมคติประชาธิปไตยที่ในสภาพความขัดแย้งสูงๆ จำเป็นต้องมี 

ทนอะไร เราต้องทนกันได้เพราะในสังคมที่มีความขัดแย้งสูงๆ มันมีความเห็นต่างกันเยอะ คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะทนกับความเห็นซึ่งต่างกันแบบสุดๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ผมขอเลื่อนจากเรื่องของประชาธิปไตยมาที่เรื่องใกล้ตัวผมสักหน่อยก็ได้ 

อย่างผมเป็นคนซึ่งนับถือศาสนา ผมเชื่อในศาสนาอิสลาม ผมเชื่อว่ามีพระเจ้า ทีนี้ความเชื่อของผมว่ามีพระเจ้า คนจำนวนหนึ่งก็จะเห็นว่าไร้สาระจากคนที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า ก็จะบอกว่าความเชื่อนี้ไร้สาระ ไม่มีเหตุไม่มีผล แต่ว่าเขาจะพูดยังไงไปก็ไม่มีผลอะไรกับผมเลย เพราะมันเป็นความเชื่อของผมซึ่งมาจากประสบการณ์ส่วนตัวกับประสบการณ์จากสิ่งที่ผมเป็น ตลอดทั้งวิธีการให้เหตุผลของผม ทำนองเดียวกับคนซึ่งไม่เชื่อในพระเจ้า ฉะนั้น คำถามต่อไปก็คือ เรานั่งลงคุยกันได้ไหมระหว่างคนซึ่งเชื่อจริงๆ ว่ามีพระเจ้า กับคนซึ่งไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า พระเจ้าตายแล้วอะไรก็แล้วแต่ ผมก็รู้สึกว่าก็ได้นะ ผมไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะไม่ว่าจะยังไง ในความเชื่อของผมพระเจ้าก็ทรงมีฤทธานุภาพมากมาย พระเจ้าไม่ต้องการให้ผมไปดีเฟนด์ให้พระเจ้า สำหรับคนที่ไม่เชื่อ ก็ไม่มีความหมายอะไร 

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เรานั่งลงแล้วคุยกันได้ ว่าผมเชื่อ คุณไม่เชื่อ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ เมื่อเราเดินจากไปจากบทสนทนาแบบนี้ ส่วนมากมันก็กลับไปที่เดิมคือ คุณซึ่งไม่เชื่อก็ไม่เชื่อต่อไป ผมซึ่งเชื่อก็เชื่อต่อไป ไอ้เนี่ยคือฐานของแนวคิดประชาธิปไตยที่จะต้องทนกันได้ถึงขนาดนี้ 

ในสมัยก่อนมันอยู่กันไม่ได้ คุณไม่เชื่อพระเจ้าต้องตัดหัว ตัดหางทิ้ง แต่โลกมันพัฒนามาถึงจุดที่ คุณไม่เชื่อก็อย่าเชื่อ ผมเชื่อไง คุณหาว่าผมบ้าผมก็นั่งฟังได้ แล้วก็อยู่ด้วยกันไปในลักษณะแบบนี้ ถามว่ามันมีผลอย่างไร มันไม่ใช่เพียงแค่เราเคารพความต่าง แต่เรากำลังบอกว่า ไม่ควรมีใครผูกขาดความจริงในสังคม 

แล้วเงื่อนไขของการทนกันได้ ความลึกซึ้งของมันคือ ไม่ควรมีใครผูกขาดความจริง เพราะถ้าผูกขาดความจริงก็ทนกันไม่ได้ ผมเชื่อว่าผมถูกแล้วคุณผิด ผมก็เอาคุณไปตัดหัวคั่วแห้ง ถูกไหม แต่ถ้าบอกว่าเฮ้ย เขาไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร แต่เราเชื่อในความหมายนี้เราก็ต้องอยู่กันให้ได้ แล้วเราก็อยู่กันในโลกแบบนี้กันพอสมควร เราก็เห็นสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าพัฒนาการของสังคมไทยมันอาจมาถึงตรงนี้ก็ได้ ที่คนจำนวนหนึ่งเชื่ออย่างหนึ่ง คนจำนวนหนึ่งเชื่ออีกอย่างหนึ่ง เพียงแต่เรื่องต่างๆ ที่เราเคยคิดกันมันก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ 

ฉะนั้นคำถามของประชาธิปไตยก็คือ เราได้บ่มเพาะความทนกันได้มากน้อยแค่ไหนจากทุกฝ่าย อย่างที่คุณถาม เราทนได้กับเสียงที่บอกว่าไม่มีพระเจ้านะ เราทนได้กับเสียงที่บอกว่ามีพระเจ้านะ เราอยู่กับมันได้ยังไง ทุกเรื่องก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเรื่องเพศ หรือเรื่องอะไร 

 

นอกจากการทนกันได้แล้วยังต้องมีการคุยกันได้ด้วยไหมเพื่อให้ข้อเสนอแต่ละฝ่ายได้รับการประนีประนอม หรือหาจุดที่ทุกฝ่ายพอจะเห็นตรงกัน 

อันนี้ก็น่าสนใจนะ พอบางเรื่องผมก็ไม่รู้ว่ามันจะประนีประนอมได้ไหม มันอาจจะไม่ได้ก็ได้ ซึ่งไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ถ้าคุณทนได้ นึกออกไหม ผมก็อยู่กับคุณได้ ไม่จำเป็นต้องบังคับคุณให้มาเชื่อผมว่าไม่มีพระเจ้านะ ผมคิดว่าผมถูก ผมอยู่มาถึงตรงนี้ 

 

ถ้าอาจารย์บอกว่าทนกันได้ ข้อเรียกร้องของนักศึกษาก็อาจจะถูกปัดตกไป เพราะคุณก็ต้องทนให้ได้สิกับสิ่งที่คนอื่นเชื่อ 

อันนี้ก็น่าสนใจ แต่มันไม่ใช่เป็นการผลักตกไปในความหมายนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นที่เราเริ่มต้นว่าข้อเสนอของนักศึกษาน่าสนใจตรงไหน คือ มันมีคุณภาพในเชิงทำให้สังคมตระหนก คุณภาพในเชิงทำให้สังคมตระหนก มีประโยชน์ไหม ผมอยากจะตั้งคำถาม 

มันอาจจะมีประโยชน์ แต่ไม่ใช่ในแง่ของการจะต่อรองกัน เรียกนักศึกษามาต่อรอง ไม่ใช่เรื่องพวกนั้น แต่เรื่องสำคัญกว่าคือ เขากำลังเสนอให้สังคมทั้งอันมาคิดเรื่องนี้ แล้วการต่อรองในใจของคนในสังคมมันก็เกิดขึ้นในใจของตัวคนในสังคม มันได้ยินแล้วล่ะข้อเรียกร้องนี้ แต่มันจะไปสู่ทิศทางใด อันนี้นักศึกษาก็ไม่ควรจะผูกขาดมันเหมือนกันถูกไหม

ถ้าประเด็นของการทนกันได้ ปมของมันอยู่ที่ไม่ควรมีใครผูกขาดความจริงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม แต่เราก็เข้าใจปัญหาว่า อำนาจของฝ่ายต่างๆ มันไม่เท่ากันนะ ฉะนั้นเรื่องนี้ก็เลยเป็นเรื่องสำคัญที่อีกฝ่ายก็ต้องทนสิ่งเหล่านี้ให้ได้เหมือนกัน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่โนเบิร์ต บ็อบบิโอ (Norberto Bobbio) นักปรัชญาประชาธิปไตยในทางทฤษฎี เคยกล่าวไว้ ซึ่งผมเห็นด้วยกับเขามากว่านี่คือปมอันหนึ่งของประชาธิปไตย 

อีกปมหนึ่งคือ แล้วคนเห็นต่างล่ะ บ็อบบิโอก็บอกว่า คนเห็นต่างที่น่าสนใจมากคือ เราต้องไม่เห็นคนเห็นต่างเป็นศัตรู  เห็นต่างก็ต่างไป คุณเป็นเพื่อนผมไม่จำเป็นต้องเชื่ออย่างเดียวกับผมก็ได้ ทำยังไงถึงจะมีพื้นที่ที่ทำให้คนไม่เห็นด้วยกันอยู่ด้วยกัน อันนี้สำคัญ

ในอดีต พอเราเห็นต่าง เราก็เห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรูคู่อาฆาต ต้องทำร้ายทำลายให้หมดสิ้นไป แต่ถ้าเราเริ่มแบบนี้ ก็เขาเห็นต่าง เขาเชื่อแบบนี้ เขาไม่เชื่อว่ามีพระเจ้าจริงๆ นะ  ผมก็เชื่อว่ามีจริงๆ นะ ผมก็ไม่ควรจะถูกตัดหัวเพราะผมเชื่อ เขาก็ไม่ควรจะถูกตัดหัวเพราะเขาไม่เชื่อในพระเจ้า เพราะอะไร เพราะผมเห็นว่า มันคือความต่าง และคุณไม่ใช่ศัตรูของผม คุณอาจจะสำคัญต่อความเติบโตทางความเชื่อของผมด้วยซ้ำไป เพราะ shocking value ที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าผมเชื่อในสิ่งที่ผมกำลังเชื่อ ข้อเสนอบางอย่างก็อาจทำให้ผมได้คิดว่า อ๋อ มันมีคำถามอย่างนี้นะ มีอะไรบางอย่างที่เราต้องคิดต่อไปในรายละเอียด เราอาจจะคิดเรื่องพวกนี้ได้เช่นเดียวกัน แต่อย่าเห็นว่าคนเห็นต่างเป็นศัตรู 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ 6 ตุลาคืออะไร คือมันปิดปากพวกนี้ ทำลายเสียงพวกนี้ แล้วบุกเข้ามาทำลายด้วยความรุนแรง มันทำลายระบอบประชาธิปไตยในเวลานั้น ทำลายรัฐบาลในเวลานั้นซึ่งมาจากการเลือกตั้งอย่างที่เราทราบ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือตัวรัฐบาลก็วิ่งหนีกระเจิดกระเจิง รวมทั้งประธานรัฐสภาในปัจจุบันนี้ด้วยที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น ไม่นับคนที่บาดเจ็บล้มตายที่ธรรมศาสตร์อีก

ดังนั้น ถ้าไม่มีแนวความคิดสันติวิธี ไม่มีแนวความคิดเรื่องความทนกันได้ เห็นคนอื่นเป็นศัตรู เหตุการณ์ซ้ำรอยก็จะเกิดขึ้น

ผมยังดีใจนะว่า วันก่อนคนที่ให้สัมภาษณ์แบบนี้ที่มาจากภาครัฐ รู้ไหมใคร ผบ.ทร. (พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์) น่าสนใจมาก ผบ.ทบ.พูดอีกอย่าง แต่ ผบ.ทร.พูดเรื่องนี้ แสดงว่า ผบ.ทร.ท่านเห็นความสำคัญของแนวความคิดแบบนี้ซึ่งเป็นกุญแจของการคลี่คลายความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น คือ ไม่ว่าคุณจะเห็นยังไง จะเห็นด้วยกับนักศึกษา จะเห็นว่าข้อเสนอ 10 ข้อนี้แรงเหลือเกิน ไม่ว่าจะไม่ชอบ ไม่เชื่อทั้งหลายทั้งปวง แต่สิ่งหนึ่งที่คนในสังคมไทยต้องบอกให้ชัดเจนก็คือ เราเคยมีประสบการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมมาแล้วใน 6 ตุลาคม 19 และเป็นโศกนาฏกรรมที่อิหลักอิเหลื่อทางความทรงจำ เรากลืนไม่เข้าคายไม่ออก จำไม่ได้ลืมไม่ลง ในสิ่งเหล่านี้ แล้วมันอึดอัดขัดข้องไปหมด

ผบ.ทร.แนะสังคมอย่ามองนักศึกษาเป็นฝ่ายตรงข้าม เปรียบครอบครัว ขณะที่ ผบ.ทบ.ไม่ขอตอบ

แล้วเราคงต้องบอกว่า เราต้องตัดสินใจร่วมกันไม่ว่านศ. รัฐบาล ประชาชน ไม่ว่าฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา ฝ่ายนิยมสถาบันหรือฝ่ายอะไรก็แล้วแต่ ทั้งหมดต้องยอมรับข้อหนึ่งว่า ไอ้เรื่องแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นอีกไม่ได้ never again สังคมแต่ละสังคมในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มีเหตุการณ์ซึ่งเป็นโศกนาฏกรรม และสังคมมันก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าก็อยู่ที่มันเรียนรู้หรือไม่ว่าของบางอย่างต้องไม่ให้เกิดขึ้นอีก

เราอาจไม่มี concensus (ฉันทามติ) ในเรื่องอื่น เราอาจไม่มีความเห็นพ้องต้องด้วยในเรื่องต่างๆ แต่เราควรมีความเห็นพ้องต้องกันว่า แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับคุณเรื่องมีพระเจ้าหรือไม่มีพระเจ้า แต่ผมไม่เอาแล้วโศกนาฏกรรมแบบนั้น ไม่เอาแล้วชีวิตบริสุทธิ์ เจนเนอเรชันบริสุทธิ์ ชีวิตผู้คน ความเสียหาย ความเสียใจทั้งหลายทั้งปวงที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมันมากเกินพอแล้ว มันต้องมีเซนส์อันนี้อยู่ ถ้าเรามี นี่คือความเข้มแข็งของสังคมไทยที่ก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่ง ถ้าเราไม่มีเราก็ก้าวไปอยู่อีหรอบเดิม มีสถานียานเกราะยุคใหม่ มีกลุ่มคนซึ่งปลูกฝังความคิดความเกลียดอีกลักษณะ แล้วก็นำพาสังคมไทยไปเหมือนเหตุการณ์นั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย และพูดถึงเหตุการณ์นั้นในอีกเซนส์หนึ่ง แทนที่จะเป็นบทเรียนสำคัญ เป็นโศกนาฏกรรมที่ทุกคนในสังคมไม่ควรพาไปตรงนั้น นี่เป็น message (สาร) สำคัญ

ถ้าเราคิดต่อ จากเมื่อกี้เรื่องหลักหมายทางประชาธิปไตย ความทนกันได้ ไม่เห็นคนอื่นเป็นศัตรู สันติวิธี อีกอันหนึ่งที่บ็อบบิโอเสนอคือ ของพวกนี้มันสำคัญเพื่อให้สังคมพอมีกำลังที่จะรื้อฟื้นความมีชีวิตชีวาในสังคมได้ สมมติสังคมตกที่นั่งซึ่งขยับตัวไม่ได้ หากสังคมมีสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้พอเคลื่อนไหวไปในที่ต่างๆ ได้ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเปลี่ยนจุดยืน แต่เห็นและให้เกียรติจุดยืนอันอื่นที่มีอยู่ในสังคมนี้บ้าง ถึงแม้เราจะรู้สึกมันไร้สาระมาก ความเชื่อเรื่องพระเจ้าเนี่ย แต่เราต้องเรียนรู้เหมือนกันว่าสำหรับเขามันไม่ไร้สาระ

ผมคิดว่าสังคมไทยอาจจะอยู่ในจุดที่ต้องเรียนรู้กันไป ซึ่งแบบนี้มันก็ดีที่มีข้อเสนอนี้มาช็อกสังคมไทยในบางลักษณะ เพื่อให้เราต้องมาหวนคิดถึงความพยายามที่จะพาสังคมไปต่อ ให้มันมีชีวิตร่วมกันในทางการเมืองได้

 

ความรู้สึกในใจของคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกฝ่ายทำอะไรก็ไม่เคยผิด แต่ฝ่ายเขาถูกจับ ถูกดำเนินคดี ถูกคุกคาม ความโกรธแค้นแบบนี้เขาจะจัดการกับมันยังไง หรือจะมีทางออกยังไงให้เขา

เขามีสิทธิที่จะโกรธ เพราะเวลาที่เขาไม่ได้รับความเป็นธรรมแบบนั้นเขามีสิทธิที่จะโกรธ บ้านเมืองของเราเป็นแบบนั้นรึเปล่า คำตอบคือมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ด้วย เพราะอย่างที่เห็นอยู่ว่าบ้านเมืองเรามันไม่ได้อยู่ด้วยความเสมอกันทางอำนาจ เพราะฉะนั้นคนบางคนทำอะไรก็ดูเหมือนจะไม่ผิด คนบางคนทำอะไรก็ผิดเสมอ

บางคนเรียกมันว่าเป็นวัฒนธรรมลอยนวล ซึ่งการแก้ปัญหาระดับวัฒนธรรมเป็นเรื่องยาวและเรื่องยาก การทำให้เห็นว่าเรามีปัญหาก็เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ง แต่ในที่สุดแล้วรัฐต้องขยับตัว สังคมต้องขยับตัว เราหวังว่ามันจะขยับตัว เพราะมันไม่มีอะไรอยู่กับที่ได้ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การขยับตัว

ยกตัวอย่าง กรณีของบอส อยู่วิทยา สังคมก็ขยับตัว เกิดความไม่พอใจจริงๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อนเรื่องแบบนี้ก็คง "ช่างมันเถอะ" "เพราะกรรม" "เจ้าทุกข์รับเงินรับทองไปแล้วก็น่าจะจบได้" แต่ตอนนี้ไม่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบนี้ในสังคมไทย จะเป็นด้วยการรับรู้ เป็นด้วยสื่อ เป็นด้วยสำนึกในใจคนเกี่ยวกับความยุติธรรม ซึ่งมันมีอยู่แต่เดิม แต่มันรู้สึกทำอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้สังคมทำให้เห็นว่ามันทำได้

ผมเพียงแต่หวังว่าไม่ว่าจะเป็นคดีแบบนี้ หรือคดีอื่นก็ตาม โจทย์ของสังคมไทยไม่น่าจะหยุดอยู่ตรงที่การหาคนผิด แต่อยู่ที่การหาระบอบซึ่งมันมีปัญหา ระบอบซึ่งทำให้คนผิดยังไปต่อได้ แล้วแก้ปัญหาตรงนั้น ผมคิดว่าอันนั้นอาจเป็นเรื่องสำคัญ ต้องมาดูว่ามันจัดการกันยังไง คิดยังไง โครงสร้างของกฎหมายเป็นยังไง ทำไมถึงทำอย่างนี้ได้ นี่คือโจทย์ ไม่ใช่นาย ก. หรือ นาย ข. ผิด

 

กังวลว่าจะเกิดความรุนแรงไหม มีวิธีดูว่าจะมีแนวโน้มเกิดความรุนแรงรึเปล่า

มี ถามว่ากังวลไหมก็กังวล เหตุผลหนึ่งที่คุยกับคุณวันนี้ก็เป็นห่วงเรื่องนี้เหมือนกัน ตอนนี้พูดตามตรงมีปัจจัยที่ไม่แน่นอน คาดคะเนไม่ได้ หลายเรื่อง ถ้ามองจากมุมรัฐบาล ผมยังอยากจะเชื่อว่ารัฐบาลไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ดำเนินการตาม ‘กฎหมาย’ ที่เขาคิดว่าจะทำ ซึ่งผมคิดว่าผู้ประท้วงก็รู้อยู่แล้วว่ามีอะไรที่ทำแล้วละเมิดกฎหมาย หรือบางอย่างที่เขาคิดว่าสู้ได้และเขาไม่ได้ละเมิด

แต่บังเอิญว่าตัวละครทางการเมืองไทยไม่ได้มีแค่สองกลุ่มนี้ มีอีกหลายอย่างที่อยู่รอบๆ บางอย่างก็เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้ ความไม่แน่นอนพวกนั้นมีส่วนทำให้ดุลยภาพทางอำนาจที่ตอนนี้มันวางนิ่งๆ อยู่พอสมควรกำลังอาจจะขยับ อันนี้ผมก็ตอบไม่ได้ และมีความกังวลกับสิ่งเหล่านี้

คนจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะรู้สึกว่าพวกนี้เป็นพวกจ้องจะทำลายเจ้า ทำลายสถาบัน แต่ผมคิดว่ามันน่าสนใจมาก เพราะความสัมพันธ์ของคนในสังคมไทยสำหรับคนรุ่นผม ในตอนที่ผมเข้าธรรมศาสตร์ใหม่ๆ ปี 2515 ประมาณเดือนพฤศจิกายน ตอนนั้นธรรมศาสตร์ โดยสถาบันไทยคดีศึกษา ซึ่งตั้งโดยอ.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิด ศาสตราจารย์นิออน สนิทวงศ์ เป็นผู้อำนวยการ จัดงานประชุมใหญ่เรื่อง'สังคมนิยมในสังคมไทย' ที่หอประชุมใหญ่ คนมาเต็มหอ 2,000-3,000 คน ในสมัยนั้นซึ่งมี พ.ร.บ.ป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ที่น่าสนใจที่สุดของการประชุมครั้งนั้นคือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จมาฟังเรื่องสังคมนิยมในสังคมไทยด้วย

ตกลงนี่ถูกหรือผิดกฎหมาย นึกภาพออกไหม ในบริบทนั้นมันน่าสนใจมาก สังคมไทยทำอย่างนี้ก็มีด้วย มันแปลกประหลาดมากเลยนะ แต่บางทีคนลืมไปแล้วว่าเคยเกิดสถานการณ์แบบนี้ มหาวิทยาลัยเป็นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดในเรื่องที่พูดไม่ได้ มหาวิทยาลัยทำหน้าที่ของตัวในสิ่งเหล่านั้น ผมคิดว่าสังคมมันก็เกื้อหนุนกันในลักษณะนี้

เพราะฉะนั้นเราเคยมีอดีตแบบนี้ มันน่าตื่นเต้นทั้งต่อสถาบันไทยคดี ต่อทั้งมหาวิทยาลัย ต่อทั้งสังคมไทย ต่อทั้งพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จ ของพวกนี้รวมกันเป็นโมเมนท์ของสังคมที่น่าสนใจ และผมคิดว่ามันน่าจะเกิดขึ้นอีกได้นะ ถ้าเราจะใช้มันเพื่อ renew (รื้อฟื้น) ความมีชีวิตชีวาในสังคมไทย ลองคิดดูถึงสิ่งเหล่านี้ ในความมหัศจรรย์ของสังคมไทยที่เคยเกิดขึ้น ถ้ามันเคยเกิดขึ้นแปลว่าเราเคยมีสมบัติอันนั้นอยู่ ผมได้แต่หวังว่าสมบัติอันนั้นจะถูกประคับประคองบางอย่างไม่ให้สูญเสียไป

 

แล้วเราจะมีวิธีจัดการกับความโกรธที่เกิดขึ้นในสังคมยังไง

ความโกรธของคนในสังคมนั้นสำคัญ ความโกรธบ่อยครั้งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ แต่ทำยังไงให้ความโกรธนี้อย่าเป็นความโกรธที่หมดหวัง แต่เป็นความโกรธที่มีหวัง สังคมเลยต้องมีหน้าที่ทำอย่างไรให้ความโกรธเหล่านี้ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความหวัง ไม่ใช่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยการบอกว่า ไม่มีสิทธิโกรธ ดังนั้นไม่ต้องมีหวังเรื่องนี้อีกต่อไป อันนั้นอันตราย

เพราะฉะนั้นความโกรธชนิดที่มีหวังทำให้คนที่โกรธรู้สึกว่าเขายังพอแสดงความโกรธของเขาได้บ้าง ยังมีลู่ทางบ้างที่จะได้รับความยุติธรรมจากระบบคืนมาบ้าง สังคมไทยมีหน้าที่ที่จะต้องทำสิ่งเหล่านี้ รัฐก็มีหน้าที่ต้องอำนวยความยุติธรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้

จริงๆ ในสามข้อที่นักศึกษาเรียกร้อง สิ่งหนึ่งที่รัฐอาจจะต้องทำคือการเอาคดีต่างๆ เช่น การหายไปโดยไร้ร่องรอย จับตัวคนทำผิดไม่ได้ กลับมาทำใหม่ คืนความยุติธรรมให้ญาติพี่น้องเขา ซึ่งเป็นความยุติธรรมที่รัฐควรทำ ของแบบนี้จะทำให้คนซึ่งกำลังโกรธมีความหวังบ้าง เรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกทำอย่างเพียงพอ ข้อเรียกร้องที่บอกว่าอย่าคุกคามประชาชนมันก็รวมไปถึงเรื่องในอดีตด้วยที่รัฐควรต้องจัดการ

 

แล้วความโกรธของคนอีกฝั่งที่คิดว่าการกระทำของนักศึกษาเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกินล่ะ

เขาก็มีสิทธิจะโกรธ แต่ในความรู้สึกที่เรามีต่อสิ่งที่เรารักมันไม่คงที่ และมันเปลี่ยนแปลง เราให้นักศึกษาในชั้นอ่านงานอย่าง ‘สี่แผ่นดิน’ ของ อ.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ แล้วเราก็คิดว่าน่าสนใจมากที่ อ.คึกฤทธิ์ ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของพระมหากษัตริย์ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งในรัชสมัยต่างๆ กัน ผ่านความรู้สึกที่แม่พลอยมี เช่น ความรู้สึกของแม่พลอยที่มีต่อรัชกาลที่ 5 เป็นความรู้สึกที่ทรงพระบรมเดชนุภาพมาก แตะต้องลำบาก เข้าไม่ถึง แต่เวลาท่านเสด็จประพาสที่ต่างๆ ท่านก็มีเวลาให้พสกนิกรเล่าไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน พอมาถึงรัชกาลที่ 6 แม่พลอยก็มีความรู้สึกเปลี่ยนไปอีก แต่ก็ยังมีความรู้สึกเทิดทูน บูชา พอถึงรัชกาลที่ 8 แม่พลอยก็เคยพูดว่า "น่ารัก อยากเข้าไปกอด" เพราะฉะนั้นความรู้สึกต่อพระมหากษัตริย์ก็เปลี่ยนแปลงไปแต่ละสมัย แต่ความรู้สึกรักและบูชาต่อสถาบันสำหรับบางคนก็ยังคงอยู่ ซึ่งเราสามารถเคารพความรู้สึกของพวกเขาได้

แต่ทำอย่างไรถึงจะเคารพความรู้สึกของคนที่เห็นต่างจากเราอย่างจริงจังได้ บางทีเราอาจจะรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่แล้ว แต่สำหรับเขามันยังใช่อยู่ เพราะเขาโตมาจากอีกโลกหนึ่ง อีกที่หนึ่ง ตอนนี้สังคมไทยมันจึงอยู่ในโลกที่ต้องปะทะกัน มันจึงต้องมีความทนกันได้

ผมอยากจะบอกฝ่ายเขาว่าถ้าเรารักสถาบัน ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจคือ เข้าใจสถาบันก่อน ว่าถ้าจะรัก สถาบันคืออะไร เป็นอะไร

สถาบันในโลกนี้มีสามประเภท ประเภทแรกมีแต่กฎบังคับ เช่น คุก อีกประเภทคือสถาบันเพื่อการแลกเปลี่ยน เช่น ตลาด โรงจำนำ อีกประเภทคือสถาบันที่อยู่ได้ด้วยความรักและความภักดี ในทางทฤษฎีแยกได้ แต่ในทางปฏิบัติมันเกี่ยวๆ กันอยู่

แต่ละอันคุมอยู่ด้วยความรู้สึกไม่เหมือนกัน อันแรก คุก อารมณ์ที่คุมอยู่คือความกลัว เราไม่อยากอยู่ เราถูกบังคับให้อยู่ในนั้น ขณะที่โรงจำนำเราไปเพื่อแลกเปลี่ยน เพราะเราอยากได้บางอย่าง ส่วนสถาบันที่อยู่ได้ด้วยความศรัทธา เชื่อถือ ไว้ใจ สถาบันแบบนี้สำคัญในประเทศของเรา และสิ่งที่จะรักษาสถาบันหรือทำลายสถาบันพวกนี้คืออะไร

ผมยกตัวอย่างว่ามันคล้ายๆ กับธนาคาร ไม่ใช่ในแง่การแลกเปลี่ยน เวลาเราถามว่าธนาคารอยู่ได้ด้วยอะไร คำตอบของผมก็คือ ไม่ได้อยู่ได้เพราะกุญแจธนาคารดี ยามธนาคารมีประสิทธิภาพ อาวุธของยามยิงได้อย่างมั่นคง กล้องวงจรปิดมีคุณภาพ กำแพงหนา สูง จนคนปล้นไม่ได้ เพราะธนาคารไม่เคยล้มเวลาคนปล้น แต่ธนาคารล้มเมื่อไหร่ เวลาคนไม่เชื่อถือ เวลาคนไม่รู้สึกอยากไปฝากเงินแล้ว ถึงคุณจะมีตู้เซฟที่ดีที่สุดก็เก็บอะไรไม่ได้ เพราะคนมันเชื่อแล้ว ผมคิดว่าเราอาจจะต้องคิดเรื่องพวกนี้ให้เยอะ พูดจากฝั่งประชาชน เราจะทำให้สถาบันนี้เป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือซึ่งกำกับเราด้วยความรักอย่างไร

วันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะไปถึงจุดซึ่ง เราอาจจะอยู่ในสังคมซึ่งคนที่ไม่เชื่อพระเจ้าก็ไม่เชื่อต่อไป คนที่เชื่อพระเจ้าก็เชื่อต่อไป ไม่มีปัญหาอะไร อยู่ด้วยกันได้ฉันท์มิตร ไม่ได้เห็นว่าใครเป็นศัตรู ส่วนรัฐก็ทำหน้าที่ของรัฐไป ดูแลคนทั้งสองฝ่ายให้อยู่ด้วยกัน ในทางศาสนาเวลาเราขอพรก็คงขอพรให้คนที่ทั้งเชื่อและไม่เชื่อในเวลาเดียวกัน แบบนี้ก็อาจจะพอเป็นไปได้ในอนาคต

ทั้งหมดนี้ก็ยังพอจะมีโอกาสป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ด้วยเงื่อนไขที่ผมเล่ามาทั้งหมด แต่บังเอิญมันมีเงื่อนไข ตัวแปรที่เราคาดไม่ถึงอยู่ อันนั้นตอบไม่ได้ เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกันตักเตือน ประคับประคอง ทำให้เห็นว่าสังคมไทยมันไม่ได้มาถึงทางตันหรอกนะ เราโกรธก็ได้ แต่เราก็ยังมีหวังอยู่ได้ เราไม่พอใจก็ได้ แต่เรายังต้องมีความเชื่อร่วมกันว่าสังคมไทยจะต้องไม่ทำอะไรบางอย่างให้เกิดโศกนาฏกรรรมแบบนั้นอีกแล้ว เพราะว่าแผลมันบาดลึกเกินไป

 

เราไม่ควรผูกขาดความจริง แต่ขณะเดียวกัน ความจริงก็เป็นสิ่งไม่ตาย อาจารย์คิดว่าการพูดความจริงในแบบของนักศึกษายังเป็นสิ่งที่ควรทำต่อไปไหม

สำหรับคนที่ทำวิจัยเรื่องความจริงมา ตัวความจริงเองก็เป็นปัญหามาตลอด ความจริงก่อให้เกิดปัญหาเยอะมากบนโลกนี้ ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวความจริงเอง แต่วิธีการบอกความจริงก็เป็นเรื่องสำคัญ หลายเรื่องพอบอกความจริงจะสร้างความเจ็บปวดให้คนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเขาไม่อยากได้ยิน คำถามคือเราควรจะคิดถึงความรู้สึกของคนที่ไม่อยากได้ยินมากน้อยแค่ไหน มีวิธีการบอกแบบไหนที่บอกแล้วจะทำให้เขากลับไปคิด ความจริงเรื่องเดียวกันบางคนบอกคุณยินดีรับฟัง แต่คนบางคนบอกแล้วคุณไม่อยากฟัง ดังนั้นวิธีบอกความจริงก็เป็นสิ่งที่มีความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเหมือนกัน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท