Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ได้เผยแพร่ข้อเขียนของเขาต่อสาธารณะในประเด็นเกี่ยวข้องกับความเข้าใจต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยการเผยแพร่เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักข่าวแห่งหนึ่งนำเสนอบทสัมภาษณ์นิธิโดยมีประเด็นคาดเคลื่อนบางประการ และสำหรับข้อเขียนของนิธิที่มีการเผยแพร่ล่าสุดมีรายละเอียดดังนี้

000

คำเตือนแบบหวังดีแก่กลุ่มซึ่งกำลังเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ก็คือ ระวังจะนำไปสู่การนองเลือดเช่นเหตุการณ์ ๖ ตุลา ทั้งนี้รวมทั้งสำนักข่าวที่เพิ่งสัมภาษณ์ผมไปเมื่อเร็วๆ นี้ด้วย คุณจะคิดหรือพูดอย่างไรเกี่ยวกับ ๖ ตุลาก็ได้ เพราะมีอะไรที่ไม่ชัดและคลุมเครืออยู่ในเรื่องนี้อีกมาก แม้แต่ผู้ที่ลงมือทำวิจัยเรื่องนี้โดยตรงก็ยอมรับว่าตอบไม่ได้หลายเรื่อง แต่อย่าเอาความคิดและคำพูดของคุณมายัดใส่ปากผมในพาดหัวข่าว

ไม่ว่าจะหวังดีหรือหวังร้ายต่อผู้เคลื่อนไหว แต่ในทัศนะของผม (ซึ่งอาจผิดหรือถูกก็ได้) เป็นความเข้าใจต่อเหตุการณ์ ๖ ตุลาอย่างคลาดเคลื่อนมาก

ภาพที่ฝังใจคนจำนวนมากโดยไม่ทันได้ไตร่ตรองให้ดีว่ามันแย้งกับข้อมูลอื่นๆ ที่เรารู้เกี่ยวกับ ๖ ตุลาก็คือ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่าง spontaneous หรืออย่างฉับพลันโดยไม่ได้จัดการไว้ล่วงหน้า เพราะฝูงชนถูกกระตุ้นจากภาพ"แขวนคอ" ที่เชื่อกันว่าตั้งใจหมิ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในขณะนั้น (ไม่ว่าภาพที่เผยแพร่จะถูกแต่งภาพหรือไม่ก็ตาม) ผู้คนที่จงรักภักดีจึงโกรธแค้นและพากันออกมาทำร้ายผู้ชุมนุมในธรรมศาสตร์

แต่ผู้คนก็ยังจำได้ดีว่า มีเครือข่ายวิทยุยานเกราะที่กระจายข่าวและความโกรธแค้นนี้ มีลูกเสือชาวบ้านจากทั่วประเทศที่มีผู้จัดรถบัสขนเข้ากรุงเทพฯ อย่างไม่ขาดสาย มี ตชด.และพลร่มจากหัวหินที่ถูกสั่งให้เดินทางจากหัวหินให้ถึงกรุงเทพฯ ให้ทันเวลา ๕.๐๐ น.ของวันที่ ๖ ต.ค. (อาจ)มีกระทิงแดงและนวพลแทรกอยู่ในแนวหน้าของฝูงชน, ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่าง spontaneous ฉับพลันเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบเหตุการณ์"แขวนคอ"ไม่ได้ ต้องมีการจัดตั้ง, ต้องใช้เวลาเป็นหลายเดือนหรือเกินปี, ต้องมีการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ, ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

และในบ่ายแก่ๆ วันนั้น กองทัพก็ออกมายึดอำนาจ ซึ่งจะเตรียมการในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเกิดการล้อมปราบอย่างป่าเถื่อนที่ธรรมศาสตร์แล้ว คิดและตัดสินใจยึดอำนาจ, หาทุน, ระดมกำลัง, วางแผนยุทธการ, เตรียมการเคลื่อนย้ายกำลัง, เตรียมการทางการเมืองหลังจากยึดอำนาจได้, ฯลฯ ด้วยเวลาเพียง ๑๐ ถึง ๑๑ ชั่วโมง โดยไม่มีการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้าเลย เป็นไปได้หรือ? รัฐประหารนะครับ ไม่ใช่ติ๊กตอก

ผมไม่ทราบหรอกว่า ใครบ้างในกลุ่มคนที่ร่วมอยู่ในแผนการก่อภาวะจลาจลขึ้นกลางเมืองรู้อยู่แล้วว่าเรื่องจะลงเอยที่การยึดอำนาจในตอนเย็น คุณสมัคร สุนทรเวชรู้ไหม, กลุ่มแม่บ้านที่เดินขบวนประท้วงการฟอร์มรัฐบาลของประชาธิปัตย์รู้ไหม, คุณอุทาร สนิทวงศ์รู้ไหม, คุณอุทิศ นาคสวัสดิ์รู้ไหม ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชรู้ไหม แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่าลูกเสือชาวบ้านที่ถูกขนมาจากทั่วประเทศไม่รู้, พลพรรคนวพลไม่น่าจะรู้, และกระทิงแดงก็ไม่แน่ว่าจะรู้เหมือนกัน อย่าว่าอื่นไกลเลย ส่วนใหญ่ของตชด.และพลร่มที่เดินทางมาจากหัวหินก็ไม่น่าจะรู้เหมือนกัน เขาสั่งอย่างไรก็ทำอย่างนั้น แต่ตำรวจและนักการเมืองที่เข้าไปรายงานเท็จในที่ประชุมค.ร.ม.น่าจะรู้

แม้กระนั้น การก่อภาวะจลาจลขึ้นกลางเมือง ก็สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากการยึดอำนาจในวันเดียวกัน เพราะการจลาจลถูกใช้เป็นเหตุผลของการยึดอำนาจ และที่จำเป็นต้องหาเหตุผลก็เพราะประเทศเพิ่งผ่านการล้มล้างเผด็จการอันเลื่องลือมาได้ยังไม่ถึง ๓ ปีเต็ม จึงจะต้องทำอะไรให้คนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับนักศึกษา และไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายขวาจัด ยอมรับการยึดอำนาจโดยดุษณี (คือรับอย่าง"เฉยๆ" ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ตาม)

นักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับ ๖ ตุลาพบว่า เหยื่อที่ถูกนำไปทำทารุณกรรมท่ามกลางสายตาของฝูงชน (และนักข่าว) นั้น เกือบทั้งหมดได้เสียชีวิตไปแล้ว ก่อนที่จะถูกนำไปแขวนคอแล้วฟาดด้วยเก้าอี้, เผานั่งยาง, ตอกอก, ฯลฯ โดยอนุมานจากคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์ และผลการชันสูตรพลิกศพของร.พ.ตำรวจ คำถามคือฝูงชนเหล่านั้นทำไปเพื่ออะไร นักวิจัยตอบยังไม่ได้ แต่ผมคิดจากความสัมพันธ์ระหว่างการก่อจลาจลและการยึดอำนาจว่า นี่คือปฏิบัติการที่ทหารไทยเรียนรู้จากสหรัฐ ได้แก่การทำให้เกิด shock and awe หรือสร้างความตระหนกและประหวั่นพรั่นพรึงสุดขีด

ปัญหาคือแก่ใคร? ไม่น่าจะเป็นนักศึกษาซึ่งถูกล้อมปราบอย่างป่าเถื่อนในธรรมศาสตร์อยู่แล้ว และไม่มีทางหลุดรอดไปไหนได้ แต่เพื่อสร้างความกลัวและประหวั่นพรั่นพรึงสุดขีดแก่คนตรงกลางๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทย ทำให้คนเหล่านั้น "สตั๊นท์" ไปหมด จนต้องดุษณีเมื่อการยึดอำนาจในตอนเย็นมาถึง

ความป่าเถื่อนในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ จึงไม่ spontaneous หรือเป็นธรรมชาติแน่

ย้อนกลับมาสู่การเตรียมการ บางส่วนของทุนสนับสนุนมาจากงบประมาณลับของหน่วยความมั่นคง โดยเฉพาะกอ.รมน. แต่เงินอย่างเดียวไม่พอ ยังต้องมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐอื่นๆ เพื่อทำให้การเตรียมการสร้างกองกำลังเหล่านี้ดำเนินไปได้ ในขณะเดียวกัน ความสำเร็จก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำอย่างลับๆ ของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว มีเหตุทางเศรษฐกิจและสังคมที่ประจวบเหมาะกับการดำเนินงานลับเหล่านี้ด้วย

ผมขอยกตัวอย่างกรณีเดียวคือขบวนการลูกเสือชาวบ้าน

ผมไม่เชื่อว่า การอบรมของวิทยากรจาก ตชด.และ กอ.รมน.เพียงอย่างเดียว จะเพียงพอสำหรับการสร้างพลังมวลชนขนาดใหญ่เช่นนั้นขึ้นได้ทั่วประเทศ แต่มันมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคมบางอย่างหนุนหลังความสำเร็จนั้นอยู่ด้วยอย่างสำคัญ

ในช่วงนั้น คนไทยได้เปลี่ยนไปอย่างมากจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งเริ่มมาจาก ๑๐-๑๕ ปีแล้ว นอกจากมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นแล้ว คนไทยก็ยังหลุดมาเป็นปัจเจกที่ไร้ความผูกพันกับกลุ่มทางสังคมด้วย เพราะกลุ่มทางสังคมแบบเดิมเช่นเครือญาติ, ผู้อุปถัมภ์วัดและศิษย์หลวงพ่อ, เครือข่ายเหมืองฝาย, งานบุญประจำถิ่น, ฯลฯ คลายตัวหรือสูญสลายไปจากชีวิตของผู้คน การไปรับการฝึกลูกเสือชาวบ้านทำให้เกิดกลุ่มทางสังคมในสภาวะใหม่ ซ้ำกลุ่มนี้ยังเชื่อมโยงกับ"รัฐ"ผ่านการได้รับพระราชทานธงและผ้าพันคอ มีผลต่อการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของสมาชิกกลุ่มกับ"รัฐท้องถิ่น" (นับตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้านขึ้นไปถึงเกษตรตำบล ป่าไม้ จนถึงนายอำเภอ) อย่างน้อยก็ในสำนึก แม้ไม่ใช่ในความเป็นจริงเสียทีเดียวก็ตาม

การเปิดอบรมลูกเสือชาวบ้านจึงได้รับการตอบรับอย่างดีจากชาวบ้านทั่วไป รวมทั้งชาวบ้านในเขตเมืองด้วย เพราะพวกเขาหลุดออกจากเยื่อใยของกลุ่มทางสังคมแบบเก่ามากเสียกว่าคนในชนบทด้วยซ้ำ

แต่ลูกเสือชาวบ้านไม่ได้มีแต่ชาวบ้าน ยังมีลูกหลานจากครอบครัวพ่อค้าใน"ตลาด"สมัครเข้าร่วมในแต่ละรุ่นด้วย และมักได้รับเลือกให้เป็นประธานรุ่น เพราะมีกำลังทรัพย์จะช่วยกิจการของรุ่นได้ หลังการพัฒนาเศรษฐกิจไปจาก ๑๐-๑๕ ปี ครอบครัวพ่อค้าเหล่านี้มีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างมาก แต่เขาคือคนไร้เกียรติยศอย่างเดิม เป็นไอ้ลูกเจ๊กที่เหมาะแก่การรีดไถของอำนาจรัฐ นับตั้งแต่ตำรวจจราจรไปถึงที่ใหญ่กว่านั้น ดังนั้นการอุปถัมภ์ลูกเสือชาวบ้านในรุ่นเดียวกัน จึงกลายเป็นกำลังต่อรองให้แก่เขา ที่จะปกป้องเกียรติยศของตนเองให้ได้รับการปฏิบัติจากอำนาจรัฐด้วยความเคารพมากขึ้น อย่างน้อยนายอำเภอก็เกรงใจ ในช่วงนั้นหนังสือพิมพ์ทุกฉบับจะอุทิศหน้ากระดาษทั้งหน้าเพื่อรายงานข่าวสังคมของวงการลูกเสือชาวบ้าน แต่คนที่ถูกเรียงขึ้นมาเป็นข่าวนั้นล้วนไม่ใช่ "ชาวบ้าน" ทั้งนั้น ส่วนใหญ่คือคนในกลุ่มนี้

หลายคนที่ผมรู้ ใช้ฐานความสัมพันธ์นี้ไปสู่การเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในภายหลัง

ไม่น่าแปลกใจอะไรที่มีรถบัสขนลูกเสือชาวบ้านเข้ากรุงมาตั้งแต่วันที่ ๕ ตุลา อย่างเดียวกับพิธีรับพระราชทานธงที่สนามกีฬาในกรุงเทพฯ ก็เคยมีรถบัสขนลูกเสือชาวบ้านจำนวนมากเข้าร่วมพิธีอยู่แล้ว

๖ ตุลาจึงเป็นเหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในบริบทเฉพาะ ไม่ใช่ปฏิกิริยาธรรมชาติเหมือนคนถูกเตะแล้วต้องร้องโอ๊ยไปทุกที

ดังนั้นผมจึงไม่เชื่อว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้จะนำไปสู่ ๖ ตุลาภาคสอง เพราะเวลากระชั้นชิดเกินกว่าที่ฝ่ายความมั่นคงจะสร้างและจัดองค์กรได้ทัน

เมื่อตอนที่ผมให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซึ่งยัดคำพูดของตนเองใส่ปากผมในพาดหัว ผมคิดว่าคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยสัก ๖ เดือนกระมังจึงจะสามารถสร้างและจัดองค์กรเพื่อก่อความรุนแรงหรือก่อจลาจลขึ้นได้ แต่หลังจากนั้นผมกลับคิดว่าคงต้องใช้เวลานานกว่านั้นอีกมาก ซ้ำแม้ให้เวลาเป็นปีก็อาจทำไม่สำเร็จ ผมขอชี้ให้ดูอุปสรรคเพียงด้านเดียว

ราชการไทยนั้นได้ชื่อว่าไม่เคยทำงานร่วมกันได้จริง เพราะไม่ยอมประสานงานเข้าหากัน กลัวจะเสียอำนาจที่ตัวมีอยู่ แต่ในช่วงปี ๒๕๑๘-๙ มันมี direction และผลตอบแทนที่ชัดเจน จนทำให้องค์กรที่จัดตั้งขึ้นนั้นสามารถเชื่อมโยงประสานกันได้ (แม้กระนั้นก็มีการทำนอกคำสั่งอยู่มาก จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้มีส่วนร่วมในภายหลัง) ผมคิดว่าในปัจจุบันยากหรือเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิด direction อย่างนั้นอีก แม้แต่คุณประยุทธ์หรือประวิตรก็ไม่สามารถให้ direction อย่างนั้นได้อีกแล้ว จึงดูจะเป็นไปไม่ได้เอาเลยที่จะสร้างม็อบซอมบี้ขึ้นมาอย่างมีพลังพอจะหยุดความเคลื่อนไหวได้

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีวันเกิดความรุนแรงขึ้นเลย ตรงกันข้าม ทางเลือกของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเหลือน้อยลงจนไม่มีอะไรให้เลือกนอกจากความรุนแรงด้วยซ้ำ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงจึงมีสูงมาก เพียงแต่ว่าคราวนี้ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องรับผิดชอบโดยตรงอย่างออกหน้ากับความรุนแรงนั้น เขาต้องรับผิดชอบต่อรายงานข่าวใน The New York Times, The Washington Post, The Guardian, และ Le Monde, ฯลฯ เอาเอง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่โงหัว

ผมไม่สนับสนุนความรุนแรงหรอกครับ แต่ก็ไม่ควรลืมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทั้งผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองถนัดจะใช้ความรุนแรงมาอย่างสืบเนื่อง จำเหตุการณ์ที่กรือเซะและตากใบได้ใช่ไหมครับ ในขณะเดียวกันก็ควรจำคนจำนวนมากที่ถูกจับขังคุกเป็นปีๆ เพราะถูกกล่าวหาว่าทำความผิดในมาตรา ๑๑๒, ๑๑๖, เผาบ้านเผาเมือง, เป็นภัยต่อความมั่นคง, จนหนีไปต่างประเทศก็ยังถูกตามล่าสังหาร ยังไม่พูดถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่นความยากลำบากของคนอีกมาก ที่ถูกทอดทิ้งให้อับจนค่นแค้นด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้นการบอกว่าเรื่องนี้อาจจบลงด้วยความรุนแรง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดประหลาดอะไรในกรณีของไทยหรอกครับ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

๑๓ ส.ค. ๒๕๖๓

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net