14 คณาจารย์นิติฯ จุฬาฯ คัดค้านคำสั่งไม่อนุมัตินิสิตจัดชุมนุม

14 อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ ลงชื่อแถลงคัดค้านไม่อนุญาตนิสิตจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัย ชี้ นิสิตมีสิทธิ เสรีภาพชุมนุมโดยสงบ มหาวิทยาลัยควรดูแลความปลอดภัย จะจำกัดการแสดงออกล่วงหน้าไม่ได้ ในขณะที่เคยให้ใช้สถานที่เดียวกันจัดชุมนุมหนุน กปปส. มาแล้ว

ภาพการชุมนุมในจุฬาฯ เมื่อช่วงต้นปี 2563 (แฟ้มภาพ)

14 ส.ค. 2563 มติชนรายงานว่า คณาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14 คนร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านการออกประกาศด่วนจากสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ ที่ไม่อนุมัติให้กลุ่มนิสิตจุฬาฯ จัดกิจกรรมการชุมนุมในวันนี้ (14 ส.ค.) ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่าทำเรื่องขอสถานที่อย่างกระชั้นชิด และขอใช้เวลาพูดคุยตกลงเรื่องกรอบการทำกิจกรรมก่อน เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาคมจุฬาฯ 

ก่อนหน้านี้สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวเช่นกัน โดยระบุว่า การไม่อนุญาตให้ชุมนุมถือเป็นการกีดกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของนิสิต และกดดันให้นิสิตต้องรับความเสี่ยงในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนอกรั้วมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรปกป้องสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งประกอบด้วยการแสดงออกทางการเมืองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล รวมถึงไปถึงสวัสดิภาพของนิสิต

จุฬาฯ ห้ามนิสิตจัดกิจกรรม ผู้จัดยันยอมถูกลงโทษทางวินัยเพื่อไล่เผด็จการ

แถลงการณ์มีใจความดังนี้

ข้าพเจ้าคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังรายนามต่อไปนี้ เห็นว่า

1. นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และมาตรา 44

2. ในกรณีที่การชุมนุมมีความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายดังที่กล่าวอ้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ พึงต้องส่งเสริมให้มีการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม มิใช่ปิดกั้นการจัดชุมนุมหรือจำกัดการแสดงออกเป็นการล่วงหน้า (prior restraint) ดังเช่นการไม่อนุมัติให้จัดกิจกรรมเช่นนี้ หากต่อมา แม้มีการกระทำความผิดจริง ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีในภายหลัง (subsequent punishment)

3. เพื่อการดูแลความปลอดภัย สวัสดิภาพของนิสิตและประชาคมจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพึงต้องส่งเสริมให้มีการใช้เสรีภาพ พร้อมๆ กับการเลือกใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุม นิสิต บุคลากร และประชาคมจุฬาฯ เช่น การจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยโดย รปภ. มหาวิทยาลัย และอาจขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ เพื่อประสานประโยชน์ระหว่างการส่งเสริมการใช้เสรีภาพและการรักษาสวัสดิภาพความปลอดภัยให้ได้อย่างสมดุล

4. พื้นที่ที่นิสิตจะจัดกิจกรรมการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง คือ ลานพระบรมรูปสองรัชกาล แม้เป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ถือเป็นพื้นที่ของหน่วยงานของรัฐ และที่สำคัญ พื้นที่ดังกล่าวเคยเปิดให้มีการชุมนุมสาธารณะบ่อยครั้ง อาทิ การชุมนุมของกลุ่มจุฬาฯ รักชาติ เมื่อเดือนมีนาคม 2557 

มหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่เสรี สนับสนุนการแสดงออกทางความคิดและการถกแถลง อันเป็นรากฐานแห่งความก้าวหน้าของศาสตร์วิทยาการต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มข้าพเจ้าจึงคัดค้าน การไม่อนุมัติให้จัดกิจกรรมดังกล่าว

  1. รองศาสตราจารย์อรพรรณ พนัสพัฒนา
  2. รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต
  3. อาจารย์ ดร.ปราโมทย์ เสริมศีลธรรม
  4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์
  5. อาจารย์วิมพัทธ์ ราชประดิษฐ์
  6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
  7. อาจารย์ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
  8. รองศาสตราจารย์ ดร.เอื้ออารีย์ อึ้งจะนิล
  9. ศาสตราจารย์ ทัชชมัย ฤกษะสุด
  10. อาจารย์ณัฏฐพร รอดเจริญ
  11. อาจารย์ฐิตินันท์ เต็งอำนวย
  12. อาจารย์ฉัฏฐเมษ ภิรมย์พานิช
  13. อาจารย์ ดร.รวินท์ ลีละพัฒนะ
  14. อาจารย์ ดร.พัชร นิยมศิลป์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท