กป.อพช.ใต้ ขอให้เปิดพื้นที่พิจารณาข้อเสนอธรรมศาสตร์จะไม่ทนทั้ง 10 ข้อ

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2563 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้เคารพในสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและเปิดพื้นที่พิจารณาข้อเสนอของนักศึกษาในเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทนทั้ง 10 ข้อ เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งให้กับสังคมไทย โดยระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “สถาบันพระมหากษัตริย์” ได้ถูกนำไปกล่าวอ้างเพื่อหวังสร้างประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ อย่างแพร่หลาย ทั้งในทางบวกและทางลบ อันส่งผลกระทบที่สร้างความเสื่อมเสียแก่สถานะของสถาบันฯ อย่างไม่เคยมีมาก่อน จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง และเป็นที่มาของการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. ในที่สุด

มีข้อเท็จจริงว่า การดำรงอยู่ในอำนาจของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้อาศัยสถานการณ์ดังกล่าว สร้างความชอบธรรมให้กับตนเองและพวกพ้อง โดยทำให้สังคมเข้าใจว่า การเข้าทำรัฐประหารนั้น กระทำไปเพื่อปกป้องสถาบันหลักของชาติ และรักษาไว้ซึ่งความสุขสงบของประชาชนในประเทศ จึงได้กระทำการทุกวิถีทางเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งอำนาจของรัฐบาลจนถึงทุกวันนี้ โดยอาศัยกลไกบ้านเมืองที่พวกตนพยายามสร้างขึ้นอย่างเป็นขบวนการ ผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องกลุ่มต่างๆ อย่างแยบยล และได้ใช้โอกาสนี้เข้าไปจัดระบบเพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบใหม่ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ ภายใต้การเน้นย้ำถึง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้ผิดแผกไปจากเดิมที่เคยปฏิบัติกันมาในสมัยรัชกาลก่อนหน้านี้ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้ ได้กลายเป็นข้อคลางแคลงใจของประชาชนต่อเจตนาเบื้องลึกของรัฐบาล

นอกจากนี้แล้ว ยังมีความไม่พึงพอใจในการบริหารงานราชการของรัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่ยุค คสช. ที่มีการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขต โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือพิเศษ (มาตรา 44) เข้ากระทำการแทรกแซงระบบหรือกลไกปกติของบ้านเมือง ด้วยหวังที่จะควบคุมสังคมการเมืองให้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลอย่างเบ็ดเสร็จ และในระหว่างนี้รัฐบาลยังมีการข่มขู่คุกคามการออกมาแสดงความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองของประชาชนทั่วไปอย่างหนัก ซึ่งในจำนวนนี้มีการใช้มาตรา 112 กับกลุ่มดังกล่าว จนเกิดเหตุการณ์อุ้มหายขึ้นในยุคนี้ด้วย

อีกทั้ง ตลอดการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ทั้งสองสมัย ได้มีการสร้างนโยบายและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในทุกภูมิภาค และยิ่งไปกว่านั้น คือ ความถดถอยของระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองของนักเรียนนักศึกษา เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่สั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มส่งกระแสอย่างรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องทำความเข้าใจและควรรับฟังอย่างมีสติ ทั้งนี้ ในการแสดงออกเหล่านั้นถือเป็นสิทธิเสรีภาพโดยชอบภายใต้รัฐธรรมนูญ แม้จะมีความห่วงกังวลในท่าทีของการแสดงออกเหล่านั้นที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการจาบจ้วงสถาบันฯก็ตาม หากต้องยอมรับว่า การแสดงออกนั้นล้วนดำเนินไปภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ มากมาย ที่รัฐบาลพยายามสร้างเงื่อนไขปิดกั้นไว้ผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ หลายฉบับอย่างมีนัยสำคัญ

เพื่อหาทางออกให้กับสังคมการเมืองสามารถดำเนินไปได้ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาองค์กรเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและองค์กรสำคัญที่อยู่ในระบอบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ร่วมดำเนินการ ดังนี้

1. ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสงบและปราศจากอาวุธ และหยุดการข่มขู่คุกคามในทุกรูปแบบ

2. ร่วมกันสร้างหรือเปิดพื้นที่การพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์ และพื้นที่การสื่อสารสาธารณะเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงของปัญหาสังคมและการเมืองที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตรงประเด็นและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ อันจะเป็นทางออกและป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นจากความขัดแย้ง และร่วมกันสร้างระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างแท้จริง

3. ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของนักศึกษาทั้ง 10 ข้อ ถือเป็นเหตุผลที่รัฐบาลและรัฐสภาต้องรับฟัง และนำเข้าสู่การพิจารณาตามกลไกทางการเมืองในระบบรัฐสภาอย่างเป็นทางการ เพื่อหาข้อสรุปสู่การแก้ไขและสร้างสมดุลทางสังคมการเมืองที่จะต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขต่อไป

ข้อเสนอดังกล่าวทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บนเจตนาที่ต้องการเห็นทางออกของสังคมประชาธิปไตยของประเทศที่กำลังตีบตันและมีแนวโน้มการใช้ความรุนแรงขจัดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเราเชื่อว่าจำเป็นต้องมีพื้นที่กลางเพื่อการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์อันเป็นข้อเท็จจริงในปัจจุบัน โดยตั้งอยู่บนฐานของการเคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของประเทศที่จะไม่ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือสร้างอำนาจให้แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะต้องดำรงอยู่ร่วมกับสังคมประชาธิปไตยอย่างมีดุลยภาพด้วยความสง่างาม

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้)
วันที่ 14 ส.ค. 2563

ครป. เสนอ 12 ข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2563 แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ฉบับที่ 6/2563 ข้อเสนอของ ครป. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 เพื่อปลดชนวนวิกฤติทางการเมือง ระบุว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีอัตลักษณ์แบบอำนาจนิยม ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ ประชาชน ขณะที่มอบสิทธิและอำนาจแก่กลุ่มชนชั้นสูงในสังคมอย่างมหาศาล ลักษณะเช่นนี้ทำให้รัฐธรรมนูญมีศักยภาพในการสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันความขัดแย้งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 12 ประเด็นหลักดังนี้

1. ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งหมด เพื่อให้เกิดกระบวนการสรรหา ส.ว.ใหม่ตามบทบัญญัติหลักของรัฐธรรมนูญ

2. ยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 272 เพื่อให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติหลักในมาตรา 159

3. แก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยให้ประชาชนสามารถสมัคร ส.ส. ได้อย่างเป็นอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองและให้แยกการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบเขตเลือกตั้งให้ออกจากกัน โดยในการเลือกตั้งประชาชนจะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ สำหรับเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขต ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีอิสระภาพในการเลือกตั้งมากขึ้น

4. แก้ไขมาตรา 249 เพื่อขยายการกระจายอำนาจการปกครองแก่ประชาชนในทอ้งถิ่นให้มากขึ้น โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งจังหวัดจัดการตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชน กำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารระดับจังหวัดโดยตรงจากประชาชน และถ่ายโอนราชการภูมิภาคให้กับจังหวัดที่มีการเลือกตั้งผู้บริหารจังหวัดทันที รวมทั้งจัดตั้ง “สภาพลเมือง” (ส.ม.) ขึ้นมาเป็นสภาคู่ขนานกับสภาท้องถิ่น เพื่อร่วมตัดสินใจในโครงการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในท้องถิ่นนั้น และมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วย

5. ยกเลิกมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ และให้บรรจุเรื่องการจัดทำประชามติโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเข้าไปแทน

6. แก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยองค์กรอิสระทั้งหมด โดยให้คณะกรรมการสรรหาและการให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นกรรมการในองค์กรอิสระต้องยึดโยงกับประชาชนผ่านกลไกรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย ยกเลิกการตั้งเงื่อนไขคุณสมบัติว่าต้องเป็นข้าราชการระดับสูงหรือเรียนจบปริญญาตรี และลดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระให้เหลือ 5 ปี

7. ในหมวดการปฏิรูปประเทศ ควรแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษา โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาระดับชาติ (คศช.) เป็นองค์กรอิสระที่ปลอดจากการเมืองและมีวาระ 7 ปี กำหนดให้มีการจัดการศึกษาฟรีแก่เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลายและอาชีวะศึกษาตอนต้น พร้อมทั้งส่งเสริมการศึกษาทางเลือกและการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง

8. ควรเพิ่มเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานและทรัพยากรในหมวดการปฏิรูปประเทศ โดยมีการระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่า พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเป็นของประชาชนไทย ในการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์พลังงานและทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า จะต้องมี “คณะกรรมการระดับชาติด้านพลังงานและทรัพยากรที่เป็นอิสระจากการเมือง” ซึ่งมาจากการสรรหาและกำหนดสัดส่วนให้ภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

9. ควรเพิ่มเรื่อง “รัฐพึงป้องกันและปราบปรามการผูกขาดทางเศรษฐกิจและสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ

10. ในหมวดสิทธิและเสรีภาพปวงชนชาวไทย ควรเพิ่มเรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการปกป้องและรักษาชุมชนจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ สิทธิแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประชาชนทั้งในแง่ชาติพันธุ์และความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย สิทธิในการได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเพียงพอและทั่วถึง และสิทธิในการดำรงชีวิตที่ปลอดจากความรุนแรง

11. แก้ไขมาตร 256 ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดยการใช้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความยืดหยุ่น สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้นและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม

12. แก้ไขโดยเพิ่มหมวดที่ว่าด้วย “การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่” ขึ้นมา ซึ่งกำหนดโครงสร้างระบบและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำโดยใช้การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งจะช่วยป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท