Skip to main content
sharethis

15 ส.ค.2563 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) รวบรวมการคุกคามประชาชนที่ใช้สิทธิในการชุมนุมทางการเมือง พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 เริ่มมีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 39 ครั้ง หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ แฟลชม็อบตามสถานศึกษาต่างๆ ทยอยเกิดขึ้นนับได้ประมาณ 95 ครั้งทั่วประเทศ โดยข้อเรียกร้องรูปธรรมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มปรากฏให้เห็น

เดือนกรกฎาคมหลังมีการคลายล็อคมาตรการป้องกันโควิด-19 กลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค.พร้อมข้อเสนอรูปธรรรม 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยข้อเสนอนี้ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางและมีการจัดชุมนุมย่อยๆ ตามมาอีกหลายครั้ง ส่วนใหญ่นำโดยเยาวชนทั้งนักศึกษาและนักเรียนมัธยม

ไอลอว์บันทึกการคุกคามผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นมาจนปัจจุบัน พบว่า มีการแจ้งเข้ามาทั้งหมด 79 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นกรณีเปิดเผยต่อสาธารณะได้ 63 ครั้ง และกรณีที่ผู้ถูกคุกคามไม่พร้อมให้เปิดเผยอีก 16 ครั้ง

นายอภิรักษ์ นันทเสรี เจ้าหน้าที่ไอลอว์ เปิดเผยว่า รูปแบบการคุกคามที่พบเป็นส่วนใหญ่สำหรับแกนนำจัดชุมนุมคือ มีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านก่อนจัดการชุมนุมเพื่อกดดันให้ไม่จัดหรือไม่เข้าร่วม เช่นในจังหวัดลำพูน เพชรบูรณ์ แพร่ เลย พัทลุง นครศรีธรรมราช ปัตตานี สมุทรปราการ กาญจนบุรี นนทบุรี สงขลา ขอนแก่น อำนาจเจริญ อุดรธานี กระบี่ กรุงเทพมหานคร ฯลฯ นอกจากนี้การคุกคามผู้เข้าร่วมชุมนุมยังเกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยมีการถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอ ใช้กล้องวงจรปิด ใช้โดรนในการเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมชุมนุม และมีรายงานการเก็บข้อมูลป้ายทะเบียนรถผู้เข้าร่วมชุมนุมด้วย

กรณีบทบาทของโรงเรียนนั้นพบว่า มีผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครูเรียกพบนักเรียนที่เป็นแกนนำหลายกรณี โดยมีเป้าหมายเพื่อห้ามปรามการชุมนุม บ้างเป็นการขอความร่วมมือ บ้างเป็นการข่มขู่ว่าจะมีการลงโทษ กระทั่งจะไม่ได้รับใบประกาศจบการศึกษา อย่างไรก็ดี การชุมนุมโดยส่วนใหญ่ก็ยังคงจัดขึ้นตามกำหนดการ มีเพียงไม่กี่กรณีที่ยุติการจัดการชุมนุม  ที่น่าสังเกตคือ เจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่เข้าพบเยาวชนหรือประชาชนมักอ้างว่า มีลิสต์ซึ่งเป็นข้อมูลจากส่วนกลางซึ่งระบุชื่อและข้อมูลส่วนบุคคลของแกนนำต่างๆ ด้วย

“หลังจากที่การชุมนุมมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ เข้าร่วมมากขึ้น รูปแบบการคุกคามจึงเพิ่มมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยเฉพาะในโรงเรียน เช่นการเรียกนักเรียนที่จัดกิจกรรมเข้าพบผู้อำนวยการหรือครู การเรียกผู้ปกครองมาพบที่โรงเรียน การประกาศในโรงเรียนว่าห้ามไปร่วมชุมนุม การนำตำรวจเข้าไปในโรงเรียน ตำรวจโทรหาผู้ปกครองหรือไปเยี่ยมบ้านเพื่อพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็ก การขับรถตามและเฝ้าอยู่ที่หอพัก รวมไปถึงการให้เซ็นบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ว่าจะไม่ไปร่วมกิจกรรม การคุกคามรูปแบบใหม่เหล่านี้ส่งผลกระทบและสร้างความกดดันอย่างมากให้กับนักเรียน นักศึกษา เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะเป็นคนหน้าใหม่ที่กำลังเริ่มสนใจกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งกิจกรรมส่วนใหญ่จัดในต่างจังหวัด หลายพื้นที่ไม่เคยมีกิจกรรมทางการเมืองมานาน ทำให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติรุนแรงแตกต่างกันไป” นายอภิรักษ์กล่าว

สำหรับการดำเนินคดีนั้น อภรักษ์ระบุว่า จะดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้ขึ้นปราศรัยเป็นหลัก เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่มีคนถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ จากการทำกิจกรรม #คนเชียงใหม่จะไม่ทนtoo บริเวณประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. จำนวน 4 คน ที่จังหวัดลำพูนในงานวันที่ 24 ก.ค. คนขึ้นปราศรัย 2 คนก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนที่กรุงเทพฯ มีคนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมหน้ากองทัพบกในวันที่ 20 ก.ค.จำนวน 5 คน และจากเวทีวันที่ 18 ก.ค.อย่างน้อย 3 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ขึ้นเวทีปราศรัยทั้งสิ้น

ในส่วนของเหตุการณ์หลังเวทีที่ธรรมศาสตร์รังสิต ในวันที่ 10 ส.ค. นั้น ยังไม่มีรายงานของการดำเนินคดีจากเวทีดังกล่าว แต่มีการคุกคามเกิดขึ้นคือ มีตำรวจนอกเครื่องแบบขับรถติดตามผู้ปราศรัยไปจนถึงที่บ้านและในคืนวันที่ 12 ส.ค. ตำรวจนอกเครื่องแบบยังได้ไปเฝ้าอยู่บริเวณหอพักของแกนนำจัดงานและคนขึ้นปราศรัยตั้งแต่ช่วงค่ำจนถึงเช้า รวมไปถึงการจับกุมพริษฐ์ หนึ่งในกลุ่มแกนนำจัดงาน 10 ส.ค. ในช่วงเย็นวันที่ 14 ส.ค. แต่เป็นการจับกุมจากเหตุของการชุมนุมครั้งอื่น

ส่วนกรณีข้อมูลจำนวนหนึ่งไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้นั้น อภิรักษ์ระบุว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกคุกคามเป็นนักเรียนหรือเยาวชนซึ่งมีถึง 8 กรณีจากทั้งหมด 16 กรณี และทุกกรณีอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดและเป็นผู้จัดกิจกรรมที่ไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนจึงไม่ต้องการให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในจังหวัดรวมถึงครูในโรงเรียนด้วย ในส่วนของลักษณะโดยทั่วไปของการคุกคามเป็นจะเป็นการเข้าไปเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก การโทรหาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ การเรียกเข้าพบของผู้อำนวยการโรงเรียนหรือครู

สำหรับผู้ที่ทราบข้อมูลการคุกคามประชาชนที่แสดงออกในประเด็นสาธารณะต่างๆ ด้วยรูปแบบใดก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นผู้ประสบเหตุคุกคามด้วยตัวเอง สามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลกับไอลอว์ได้ทั้งทางโทรศัพท์หมายเลข 02 002 7878 email ilaw@ilaw.or.th หรือทาง facebook messenger ของเพจ ilaw หรือทาง Direct message ทาง twitter  อ่านรายละเอียดรายงานได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/836

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net