วินาศภัยเลบานอนและปัญหาการจัดการความปลอดภัยทางทะเลผิดวิธี

จากกรณีวินาศภัยครั้งใหญ่ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน สาเหตุมาจากโกดังท่าเรือเก็บแอมโมเนียมไนเตรทอย่างไม่ปลอดภัย ทั้งนี้นักวิชาการด้านการต่างประเทศและความมั่นคงทางทะเลวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุร้ายแรงเช่นนี้ เชื่อมโยงได้ถึงเรื่องการจัดการระบบความปลอดภัยทางทะเลที่ผิดพลาด รวมถึงความไม่เป็นธรรมในการจ้างลูกเรือจนทำให้เกิดกรณีสละเรือหนีบ่อยครั้ง ทำให้มีการนำวัตถุจากเรือเหล่านี้ไปกักเก็บไว้ที่ท่าเรือจำนวนมาก

เหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 171 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 6,000 ราย สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีคนไร้ที่อยู่อาศัย 300,000 ราย

วินาศภัยในครั้งนี้มีที่มาจากสารที่ทำไวต่อปฏิกิริยาอย่างแอมโมเนียมไนเตรท จำนวนรวมแล้ว 2,750 ตัน มีนักวิชาการด้านความมั่นคงทางทะเลชี้ว่าสารดังกล่าวนี้มาจากเรือบรรทุกขนส่งที่ชื่อว่า เอ็มวี โรซัส (MV Rhosus) ที่เข้ามาเทียบท่าเรือเบรุตมาตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากไม่มีมาตรฐานมากพอจะแล่นบนท้องทะเลทำให้ถูกห้ามออกแล่นในทะเลหลังจากนั้น ตัวเจ้าของเรือก็ทิ้งเรือตัวนี้ไปไม่นานหลังจากนั้น ในขณะที่แอมโมเนียมไนเตรทยังคงถูกเก็บอยู่ในโกดังของท่าเรือเบรุตมาจนถึงช่วงที่เกิดเหตุวินาศภัยขึ้น

สก็อตต์ เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้ช่วยนักวิจัยด้านอาชญากรรมทางท้องทะเลข้ามประเทศจากมหาวิทยาลัยบริสตอล และคริสเตียน บูเกอร์ นักวิจัยด้านความปลอดภัยทางทะเล ระบุในบทวิเคราะห์ของพวกเขาว่า ในขณะที่ภัยพิบัติครั้งนี้มีความร้ายแรงเป็นพิเศษ แต่เรื่องของวัตถุอันตรายเหล่านี้เป็นสิงที่มีการขนส่งข้ามน้ำข้ามทะเลกันทั่วไปในชีวิตประจำวัน ปัญหาคือเรื่องการจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางท้องทะเลที่ผิดพลาดและการค้าอย่างผิดกฎหมายเป็นตัวก่อปัญหาทำให้มีการเก็บกักวัตถุอันตรายเหล่านี้ที่ท่าเรือ

เอ็ดเวิร์ดส์และบูเกอร์ระบุว่าหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลมักจะเน้นเรื่องการป้องกันเหตุการณ์ที่สาธารณชนสนใจอย่างเรื่องการลักลอบขนส่งซื้อขายสินค้า, การก่อการร้าย และการโจมตีทางไซเบอร์ แต่ทว่ามีหลายครั้งที่การจัดการเหล่านี้กลายเป็นการจัดการที่ผิดพลาดจนปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาวินาศภัยเบรุต

องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ระบุถึงเรื่องการจัดการผิดพลาดโดยมีกรณีคนสละเรือเกิดขึ้นรวม 97 กรณ๊ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน การสละเริอนี้มักจะเกิดขึ้นในการที่เรืออยู่ในสภาพไม่สามารถแล่นบนท้องทะเลได้อีก หรือในบางกรณีอาจจะเป็นเพราะมีเจ้าหน้าที่ทางการขอหยุดเรือเพื่อให้พวกเขาจ่ายค่าปรับ ทำให้มีการสละเรือหนี ทั้งนี้ยังมีการระบุถึงกรณีที่ผู้คนที่ทำงานบนเรือมักจะมีสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ บางคนได้รับค่าจ้างและอาหารน้อยมากติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม IMO ไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ว่ามีตู้คอนเทนเนอร์จำนวนเท่าใดที่ถูกนำไปทิ้งไว้ตามท่าเรือต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่สหประชาชาติเคยรายงานว่าน่าจะมีตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากที่ถูกทิ้งอยู่ตามท่าเรือต่างๆ และในบางกรณีก็เป็นการจงใจให้เกิดขึ้นจากอาชญากรและเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต เช่น พวกที่ลักลอบขนส่งขยะข้ามประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีการพยายามตอบโต้ต่อการลักลอบเหล่านี้แต่ก็ยังมีออุปสรรคที่ทำให้แก้ปัญหาได้ยาก

บทวิเคราะห์ของนักวิจัยด้านความปลอดภัยทางทะเลยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาการค้าขยะข้ามประเทศซึ่งมีการลักลอบกระทำการเช่นการลักลอบส่งออกขยะพลาสติกย่อยสลายไม่ได้จากประเทศตะวันตกมายังประเทศเอเชียอาคเนย์อย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีการทิ้งตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้จำนวนหลายพันตู้ไว้ที่ตามท่าเรือของประเทศเหล่านี้ ถึงแม้ว่าขยะเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่อันตรายมากเท่าแอมโมเนียมไนเตรท แต่ขยะหลายชนิดเช่นพลาสติกก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือธรรมชาติได้ถ้าหากไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้อง มีจำนวนมากที่อยู่ใยในทะเลกลายเป็นวิกฤตพลาสติกในทะเล

มีตัวอย่างกรณีจากศรีลังกาเมื่อปี 2562 พบว่ามีตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกทิ้งจำนวนมากกว่า 100 ตู้ในท่าเรือโคลอมโบที่เต็มไปด้วยขยะของเหลือทิ้งทางการแพทย์ ซึ่งอาจจะรวมถึงชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์และของเหลวจากร่างกายมนุษย์อยู่ด้วย ของเหลือทิ้งทางการแพทย์เหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำได้ถ้าหากยังคงมีการเก็บไว้เกินสองปี เรื่องนี้ทำให้ผู้คนกังวลว่าจะเกิดปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งในขณะที่ศรีลังกาสามารถตรวจสอบปัญหานี้ได้ แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าในหลายกรณีของเหลือทิ้งเหล่านี้ถูกปล่อยไว้โดยไม่ถูกค้นพบ

ทั้งนี้สองนักวิจัยระบุอีกว่าเรื่องการทิ้งตู้คอนเทนเนอร์อันตราตามท่าเรือเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตั้งแต่ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมามีการพยายามเพิ่มการรักษาความปลอดภัยและสอดส่องดูแลตามท่าเรือมากขึ้น รวมถึงมีการฝึกอบรมและหลักปฏฺับัติด้านความปลอดภัยในเรื่องนี้ แต่ท่ามกลางปัญหาการที่มีตู้คอนเทนเนอร์ถูกทิ้งอยู่เรื่อยๆ มาตรการเพิ่มความปลอดภัยเหล่านี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้มากพอ

สองนักวิจัยเสนอว่าเราควรมองเรื่องการลักลอบขนขยะหรือวัสดุเหลือทิ้งอย่างผิดกฎหมายรวมถึงการสละเรือเป็นเรื่องการละเมิดกฎหมายการเดินเรืออย่างจริงจัง เรื่องนี้ต้องอาศัยฐานข้อมูลนานาชาติเกี่ยวกับการกระทำผิดเหล่านี้และความร่วมมือระหว่างประเทศในการระบุถึงปัญหา

ประการที่สองคือการเล็งเห็นปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของท่าเรือ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การเก็บกักคอนเทนเนอร์เหลือทิ้งเหล่านี้ไว้โดยไม่มีใครรู้ สองนักวิจัยมองว่านานาชาติควรจะร่วมกันชี้ให้เห็นปัญหานี้อย่างจริงจัง

ประการสุดท้ายคือการที่ควรจะทำให้ท่าเรือมีประสิทธิภาพในการจัดการของเหลือทิ้งที่อันตรายได้มากขึ้น เนื่องจากท่าเรือยังคงได้รับทรัพยากรที่จำกัดและมักจะกลายเป็นสถานที่เก็บตู้คอนเทนเนอร์เหลือทิ้งเสมอ โดยเฉพาะท่าเรือในเอเชียและแอฟริกา

สองนักวิจัยระบุว่า ในขณะที่สำนักงานด้านปัญหายาเสพติดและอาขญากรรมของสหประชาชาติ องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ และสหภาพยุโรปได้ทำการเสริมสมรรถภาพความปลอดภัยท่าเรือแล้วโดยเฉพาะกับแอฟริกา แต่ก็ยังต้องมีปฏิบัติการอย่างอื่นมากกว่านี้

"เบรุตแสดงให้พวกเราเห็นถึงผลกระทบจากวินาศภัยของท่าเรือที่ส่งผลต่อเมืองและประชาชนผู้อยู่อาศัยได้อย่างไรบ้าง จึงควรจะมีการเรียนรู้บทเรียนนี้เพื่อทำให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดโศกนาฏกรรมแบบนี้ขึ้นอีกครั้ง" เอ็ดเวิร์ดส์และบูเกอร์ระบุในบทวิเคราะห์

เรียบเรียงจาก

Beirut explosion: the disaster was exceptional but events leading up to it were not, say researchers, PHYS, 06-08-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท