Skip to main content
sharethis

เพื่อไทยยื่นหนังสือถึง ผบ.ตร.ขอตั้งโต๊ะในที่ชุมนุมสังเกตการณ์-อำนวยความสะดวก ขอฝ่ายความมั่นคงดูแลอย่าให้มีม็อบชนม็อบ - ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจ 95.8% เห็นว่าควรหยุดเอาสถาบันหลักของชาติเป็นเครื่องมือของทุกฝ่าย


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

16 ส.ค. 2563 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ว่าได้ติดตามการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง มองว่าการชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนที่มาชุมนุม พร้อมแสดงความเป็นห่วงกลุ่มนิสิต นักศึกษาที่กระจายตัวชุมนุมกันทั่วประเทศ จึงทำหนังสือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอเข้าไปสังเกตการณ์การชุมนุม โดยจะตั้งโต๊ะที่ถนนดินสอ และถนนราชดำเนินกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชุมนุมที่ถูกคุกคามละเมิดสิทธิ โดยจะเป็นการดำเนินงานของกลุ่ม ส.ส.กทม. ที่เข้าไปประสานงาน ซึ่งหากได้รับแจ้งว่าถูกกระทำ ก็จะรวบรวมข้อมูลและแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงจะประกันตัวให้กับนักศึกษาที่ถูกจับกุมด้วย 

นอกจากนี้นายสมคิด ยังฝากฝ่ายความมั่นคงให้ช่วยดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมกลุ่มประชาชนปลดแอก และกลุ่มศูนย์กลางประสานงาน นักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศอปส.) ที่นัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน เนื่องจากกังวลว่าจะเกิดการเผชิญหน้า จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลอย่าให้เกิดเหตุหารณ์ม็อบชนม็อบ

ตำรวจนครบาลจัดกำลัง 4 กองร้อย ดูแลความปลอดภัยการชุมนุมของ 2 กลุ่ม

สำนักข่าวไทย ยังรายงานอีกว่าพล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยการชุมนุมในวันนี้ว่า ตำรวจนครบาลได้จัดเตรียมกำลังดูแลความปลอดภัยการชุมนุมของ 2 กลุ่ม จำนวน 4 กองร้อย ซึ่งการดูแลความปลอดภัยจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ มาตรา 19 และพร้อมเสริมกำลังทันที หากสถานการณ์ส่อเค้ารุนแรง โดยจะดูแลทั้งความปลอดภัยของผู้ชุมนุม และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อไม่ให้การชุมนุมกระทบกับเส้นทางสัญจร

ทั้งนี้การชุมนุมของกลุ่มมวลชน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มของศูนย์กลางประสานงานนักศึกษาอาชีวะประชาชนปกป้องสถาบันฯ ที่ประกาศรวมตัวบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ช่วงเวลาประมาณ 11.00 น. เพื่อจับตากลุ่มประชาชนปลดแอก ที่จะจัดชุมนุมใหญ่ในเวลาประมาณ 15.00 น.

ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจ 95.8% เห็นว่าควรหยุดเอาสถาบันหลักของชาติเป็นเครื่องมือของทุกฝ่าย

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผย ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ม็อบต้องเลิกล่วงละเมิดสถาบันฯ ตำรวจต้องรักษาความสงบสุขประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 22,046 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” จำนวน 1,497 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 - 15 ส.ค.63 สรุปผลได้ดังนี้

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.8 ระบุว่า ม็อบต้องเลิกล่วงละเมิดสถาบันฯ หยุดเอาสถาบันหลักของชาติเป็นเครื่องมือของทุกฝ่ายให้การชุมนุมเป็นเฉพาะเรื่องการเมืองการทำงานของรัฐบาลและนักการเมือง ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.2 ระบุแล้วแต่ผู้ชุมนุม

ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 100 คือร้อยละ 99.4 ระบุว่า ยังจำได้ต่อ ความดีและประโยชน์สุขของประชาชนที่ได้รับจากสถาบันหลักของชาติที่ได้สร้างสมมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ในขณะที่ร้อยละ 0.6 ระบุ จำไม่ได้

ขณะที่ ร้อยละ 58.7 กังวลการชุมนุมจะก่อให้เกิดความรุนแรงบานปลายและสูญเสีย ในขณะที่ร้อยละ 41.3 ไม่กังวล

นอกจากนี้ร้อยละ 78.1 มองว่าตำรวจต้องรักษาความสงบสุขประชาชน จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม ดำเนินคดีต่อแกนนำที่ละเมิดต่อสถาบันหลักของชาติ ในขณะที่ร้อยละ 21.9 ไม่เห็นด้วย

ที่น่าเป็นห่วงคือ คนทั้งในโลกโซเชียลและนอกโลกโซเชียลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.5 ของคนนอกโลกโซเชียล และร้อยละ 53.4 ของคนในโลกโซเชียล คิดว่า มีนักการเมืองสนับสนุนอยู่เบื้องหลังม็อบเยาวชน ในขณะที่ ร้อยละ 42.5 ของคนนอกโลกโซเชียลและร้อยละ 46.6 ของคนในโลกโซเชียลคิดว่าไม่มี

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่าการศึกษาแนวโน้มการก่อตัวและการปั่นกระแสคนในโลกโซเชียลจากตัวอย่างการใช้ข้อความการเมืองจำนวน 22,046 ตัวอย่าง พบว่า ข้อความการเมืองที่ว่า “เยาวชนปลดแอก” ถูกปล่อยข้อความออกมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2563 วันปั่นยอดสูงสุดวันที่ 23 ก.ค. แต่แนวโน้มลดต่ำลงแล้ว ปัจจุบันยังคงใช้ ทวิตเตอร์ร้อยละ 88.0 และ วิดีโอ ร้อยละ 4.7 เป็นช่องทางการเคลื่อนไหว

ที่น่าสนใจคือ ข้อความการเมืองที่ว่า "ให้มันจบที่รุ่นเรา" เริ่มปล่อยข้อความวันที่ 18 ก.ค. และจุดปั่นกระแสสูงสุดคือวันที่ 18 ก.ค. และแนวโน้มลดต่ำลงเช่นกัน ปัจจุบันยังคงใช้ ทวิตเตอร์ ร้อยละ 72.5 แต่ที่น่าพิจารณาคือ ใช้อินสตาแกรมเป็นช่องทางสำหรับข้อความ ให้มันจบที่รุ่นเรา สูงถึงร้อยละ 20.0

ต่อมาคือ ข้อความ "สังหารหมู่ธรรมศาสตร์" โดยพบวันปล่อยข้อความคือวันที่ 6 ส.ค. 2563 แต่ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก แต่วันที่ 12 ส.ค. พบว่ามีการระดมปั่นยอดกระแส สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ สูงสุด ผ่านทาง ทวิตเตอร์ถึงร้อยละ 96.9 และอินสตาแกรม ร้อยละ 2.1

นอกจากนี้ ข้อความการเมือง ที่ว่า "คณะประชาชนปลดแอก" ถูกค้นพบว่ามีการปล่อยข้อความนี้ออกมาวันที่ 31 ก.ค. และปั่นยอดสูงสุดวันที่ 6 ส.ค. โดยมีความแตกต่างไปจากข้อความการเมืองอื่น ๆ เพราะผ่านทางทวิตเตอร์เพียงร้อยละ 49.6 ผ่านทางสำนักข่าวต่าง ๆ ร้อยละ 24.6 และ วิดีโอ ร้อยละ 18.1

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า เยาวชนที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 15 – 24 ปีทั่วประเทศมีอยู่ 8,662,473 คนอ้างอิงจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แต่เด็กและเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวให้เห็นทั้งในโลกโซเชียลและนอกโลกโซเชียลมีความหลากหลายและสัดส่วนแตกต่างกัน ทั้งในระดับหลักพันและหลักหมื่นคน โดยปะปนกันในหลายวัตถุประสงค์ เช่น ผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองไม่เป็นตัวอย่างที่ดี ต้องการให้ยุบสภา ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่พอใจต่อรัฐบาล ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม และการก้าวล่วงละเมิดต่อสถาบัน เป็นต้น

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ถ้ามีการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกโดยมีกติกา คัดกรอง แยกกลุ่มออกให้ชัด จะไม่ทำให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของ ขบวนการก่อการ ให้เกิดความรุนแรงในสังคมเพื่อมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลง จึงเสนอให้วิเคราะห์แยกกลุ่มแยกเวที จะพบว่าปัญหาม็อบในเวลานี้ จะยังพอบริหารจัดการอารมณ์ของเด็กและเยาวชนได้ ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ว่าไปตามถูก โดยเด็กและเยาวชนผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายคงจะมองออกอย่างมีสติ สมาธิ และปัญญา ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้

“ถ้าหากเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ใช้อุปกรณ์ที่อยู่บนฝ่ามือของแต่ละคน ค้นคำว่า โครงการพระราชดำริฯ แล้ว คงจะรู้จักคำว่า ยับยั้ง ชั่งใจ ได้บ้าง เพราะฝ่ายที่ต้องการทำลายบ้านเมืองของเรา อาจจะต้องการให้เกิดความสูญเสียสุด ๆ ของประเทศ ก่อนวันที่ 13 ตุลาคมนี้ จึงขอให้เด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองลองช่วยกันพิจารณาและภาวนา สลับกันไป” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net