Skip to main content
sharethis

ก่อนมีการชุมนุมใหญ่ของ #ประชาชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (16 ส.ค. 2563) ไม่กี่ชั่วโมง ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้าได้เปิดการบรรยายพิเศษเรื่องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ณ ที่ทำการคณะก้าวหน้า โดยพูดถึงประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย เปรียบเทียบกับการกำเนิดขึ้นของ Constitutional Monarchy ในที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์วิธีธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องและเคียงคู่ไปกับระบอบประชาธิปไตย

ปิยบุตรกล่าวว่า การบรรยายในวันนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการชุมนุมของนักศึกษาในวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาซึ่งมีการหยิบยกประเด็นสถาบันกษัตริย์มาปราศรัยบนเวทีและมีข้อเรียกร้อง 10 ข้อ

“ผมจึงต้องการอธิบายว่าประเด็นนี้เป็นการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เราสามารถอภิปรายได้อย่างเปิดเผย จริงใจ ตรงไปตรงมา ด้วยท่าทีที่อ่อนน้อม รับฟังกันและกัน เปิดกว้าง เพื่อธำรงให้สถาบันเคียงคู่อยู่กับประชาธิปไตย เจตนาในวันนี้คือ ความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง” ปิยบุตรกล่าว  

ปิยบุตรแบ่งการบรรยายแบ่งเป็น 4 ประเด็น คือ 1. ลักษณะของรัฐและการเมืองการปกครองแบบสมัยใหม่ 2.กำเนิดและพัฒนาการของ constitutional monarchy 3. ลักษณะของการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ของประเทศไทย 4. ลักษณะของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในประเทศไทย ในความคิดของปิยบุตร 

1.ลักษณะของรัฐและการเมืองการปกครองแบบสมัยใหม่

เป็นเรื่องการใช้อำนาจรัฐ การใช้ทรัพยากรของสังคมส่วนรวมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยมนุษย์คิดค้น "รัฐ" ขึ้นในปลายศตวรรษที่ 15 เพื่อสถาปนาว่าอำนาจการปกครองควรถูกทำให้เป็นสถาบัน นั่นคื แยกตัวรัฐออกจากตัวบุคคล เมื่อบุคคลใดก็ตามมาดำรงตำแหน่งของรัฐเขากำลังใช้อำนาจรัฐ ไม่ได้ใช้อำนาจในนามตัวเอง เมื่อบุคคลพ้นตำแหน่ง รัฐก็ยังคงอยู่ ไม่สูญสลายไปตามบุคคล 

รัฐสมัยใหม่ในยุคแรกเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองทรงอำนาจสูงสุด เพื่อสู้กับศาสนจักร จึงจำเป็นต้องรวมศูนย์อำนาจให้เข้มแข็ง ต่อมาความคิดแบบประชาธิปไตยแพร่หลายมากขึ้น อำนาจก็เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นอำนาจสูงสุดเป็นของคนทุกคนหรือที่เรียกว่า “ประชาชน” ทำให้รัฐแบบสมัยใหม่เปลี่ยนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นรัฐประชาธิปไตย  

ความคิดแบบสมัยใหม่เรียกร้องให้รัฐและการเมืองการปกครองมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ 

1.แบ่งแยกเรื่องสาธารณะออกจากเรื่องของเอกชน (บุคคล)  เราต้องแบ่งเรื่องประโยชน์ส่วนรวมออกจากประโยชน์ส่วนบุคคล เพื่อว่ารัฐจะเข้าไปจัดการเรื่องสาธารณะ ส่วนบุคคลทั่วไปที่เป็นประชากรในรัฐเป็นเรื่องส่วนตัว การแยกแยะนี้สะท้อนให้เห็นเรื่องบุคคลและทรัพย์สิน บุคคล รัฐ สถาบันการเมืองต่างๆ ในรัฐ เวลาใช้อำนาจต่างๆ ต้องใช้เพื่อส่วนร่วม ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ส่วนคนธรรมดาตัดสินใจใช้เสรีภาพทำการบางอย่างก็เพื่อตัวเขาเอง ยกตัวอย่าง เช่น นาย ก. หรือ นางสาว ข. ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ การใช้อำนาจของนาย ก. หรือ นางสาว ข.ก็เป็นการใช้ในนามของนายกฯ ในนามของรัฐ ต้องเป็นไปเพื่อส่วนร่วม ถ้าเขาบิดผันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเป็นความผิดเรื่องคอร์รัปชั่นหรือผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ถ้า นาย ก. หรือนางสาว ข.เขากลับไปใช้ชีวิตของเขา ไปซื้อรถยนต์ ออกไปทานอาหาร ฯลฯ นั่นเรื่องส่วนตัวของเขา เป็นการใช้เงินของเขา ไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนร่วม ดังนั้น รัฐแบบโบราณเป็นรัฐราชสมบัติ จำเป็นต้องสูญสลายหายไปเพราะไม่สอดคล้องกับความคิดสมัยใหม่ 

สำหรับลักษณะสำคัญของราชอาณาจักรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็คือ ประมุขของรัฐเป็นกษัตริย์ สืบทอดกันทางสายโลหิต หากเป็นมหาเศรษฐีทำพินัยกรรมยกสมบัติให้ลูกตนเอง เช่นนั้นคงไม่มีใครว่า เพราะหาทรัพย์สินมาได้ด้วยตัวเอง แต่เมื่อใดก็ตามที่ใช้ทรัพยากรของรัฐ การส่งมอบให้ลูกต่อย่อมเป็นไปไม่ได้ในหลักการของรัฐสมัยใหม่ ดังนั้น ประเด็นปัญหาก็คือเราจะทำอย่างไรให้ลักษณะแบบโบราณนั้นทันสมัยเข้ากับยุคปัจจุบัน

ทางออกดูเหมือนเหลือทางเดียวคือ ต้องเอาหลักการประชาธิปไตยเข้าไปปรับ ประชาชนคงไม่มีใครยอมถ้านายกฯ จะลาออกแล้วให้ลูกเป็นต่อ หรือเอาทรัพย์สินในทำเนียบฯ ยกให้ลูกก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ เป็นการปกครองแบบสมัยใหม่ ลักษณะแบบรัฐโบราณที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของทุกอย่าง ไม่แยกสาธารณะกับส่วนตัวออกจากกันจึงต้องปรุ่งแต่งใหม่ให้เป็นสมัยใหม่ โดยแบ่งแยกส่วนรวมออกจากส่วนตัว ทั้งการสืบทอดในครอบบครัวและทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยกให้ชัดเจน

2. ความชอบธรรม รัฐโบราณความชอบธรรมมาจากบารมี เรื่องเล่า และอาจมาจากศาสนจักร กษัตริย์ในยุโรปมีความชอบธรรมเพราะพระสันตปาปาประทับรับรองให้ว่ากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้ามาปกครองสังคมมนุษย์ แต่ยุคสมัยใหม่บอกว่า ความชอบธรรมมาจากการยอมรับนับถือ หรือ consent นี่คือความคิดแบบประชาธิปไตย เราจึงกำหนดเรื่องการเลือกตั้งขึ้นมา ความชอบธรรมคนใช้อำนาจรัฐจึงไม่สามารถเกิดจากการบังคับได้ ไม่สามารถบังคับให้คนมารักได้ แต่มาจากการยอมรับนับถือสิ่งที่กระทำ ดังนั้น รัฐโบราณจึงมักมีแนวคิดสมมติเทพ มาในยุคแบบสมัยใหม่แนวคิดนั้นไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป ต้องผ่านการยอมรับของประชาชนในรัฐนั้น 

3. เมื่อบุคคลใดก็ตามใช้อำนาจรัฐ ใช้ทรัพยากรสาธารณะ บุคคลนั้นต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง ต้องถูกตรวจสอบได้ ถ้าใครไม่อยากถูกตรวจสอบก็ต้องไม่ใช้อำนาจรคัฐ ไม่ใช้ทรัพยากรรัฐ 

4.รัฐประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของคนทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง 

2.การเกิดขึ้นของ constitutional monarchy 

รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ค่อยๆ เปลี่ยนรูปเป็น constitutional monarchy ได้อย่างไร พัฒนาการในทางประวัติศาสตร์โลกนั้นประจักษ์ชัดว่าเกิดจากการต่อสู้ของประชาชนและรัฐสภา รัฐสภาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เป็นกำลังหลักในการกดดันต่อรองในการลดพระราชอำนาจลง แล้วมาตกลงกันว่ากษัตริย์จะมีพระราชอำนาจขอบเขตแค่ไหน โดยกำหนดผ่านเอกสารลายลักษณ์อักษรที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” ในอังกฤษก็เป็นอย่างนี้การต่อสู้ของประชาชนและสภาได้ผลลัพธ์เป็นเอกสารชิ้นแรกเรียก แมคนาคาตา พูดง่ายๆ จะเอาเงินประชาชนไปใช้ตามอำนเภอใจไม่ได้ ต้องผ่านผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นกษัตริย์ก็ต่อสู้จนได้เพิ่มอำนาจ รัฐสภาก็ต้องสู้ จนมีเอกสารใหม่คือ  Bill of Rights ในภูมิภาคเอเชียที่รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ก็ผ่านการต่อสู้แบบนี้เช่นกัน มีการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เป็นสถาบันการเมืองหนึ่งที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แล้วจึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็น constitutional monarchy 

อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงว่า ถ้าบังเอิญว่ารัฐธรรมนูญเขียนให้อำนาจกษัตริย์ไว้มากจะเรียกเป็น constitutional monarchy ได้หรือไม่ ถ้าลองดูพัฒนาการจะเห็นว่าเรื่องนี้มันไม่นิ่งและเปลี่ยนไปตามยุคสมัย บางยุครัฐสภาเข้มแข็ง constitutional monarchy ก็จะนิ่ง สถาบันฯ ก็จะมีอำนาจเท่าที่กำหนด แต่ถ้าบางยุครัฐภสาอ่อนแอ สถาบันกษัตริย์เข้มแข็งก็จะมีการกินแดนอำนาจเพิ่มขึ้นๆ ยุโรปผ่านการสู้แบบนี้ 

Constitutional monarchy รุ่นแรกๆ กำหนดว่าอำนาจในการออกกฎหมายที่ใช้กับคนทุกคนต้องออกโดยตัวแทนประชาชน รัฐสภาจึงเป็นบ่อเกิดของการตรากฎหมาย เราเริ่มต้นจากการเก็บภาษี การจัดทำงบประมาณต้องออกเป็นกฎหมาย

ส่วนอำนาจบริหารประเทศ การบังคับใช้กฎหมายยังเก็บไว้ให้กษัตริย์เหมือนเดิม นี่คือ constitutional monarchy รุ่นแรก แล้วค่อยๆ พัฒนาการต่อมาเรื่อยๆ กษัตริย์เองก็เลือกอัครเสนาบดีของตนเองมาเป็นนายกฯของตนเองเพื่อบริหารประเทศขณะที่ประชาชนเลือกผู้แทนตัวเองมาอยู่ในสภาคอยถ่วงดุลกัน ทีนี้การบริหารประเทศนายกฯ จึงต้อรับผิดชอบต่อ 2 หน่วยคือ 1.กษัตริย์ผู้แต่งตั้ง 2. ผู้แทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นคือ สภาตรวจสอบรัฐบาล นายกฯ ฝ่ายบริหารซึ่งกษัตริย์เลือกมา นี่คือระบบรัฐสภารุ่นแรก เรียกว่า ระบบ dualist 

จากนั้นก็เริ่มเกิดปัญหาว่า นายกฯ มีอำนาจยุบสภาทิ้งได้ แรกเริ่มกษัตริย์ก็ยุบสภาบ่อยๆ แต่ปรากฏว่าพอยุบสภาไป ประชาชนก็เลือกผู้แทนเดิมเข้ามาและเยอะกว่าเดิมอีก จึงเกิดการกดดันต่อสู้ระหว่างสองหน่วย สภาก็เริ่มชนะมากขึ้น อำนาจกษัตริย์เริ่มน้อยลง จนกลายเป็นว่า นายกฯ มาจากเสียงข้างมากของสภาแทน กลายเป็น monist คือ นายกฯ ไม่ได้รับผิดชอบต่อสองหน่วยแล้ว แต่รับผิดชอบต่อสภาอย่างเดียว ส่วนอำนาจยุบสภาก็เป็นของนายกฯ 

นักวิชาการมักกล่าวกันว่า การใช้คำว่า constitution monarchy ไม่นิ่ง แล้วแต่อำนาจฝ่ายใดมากหรือน้อย จึงเสนอให้ใช้คำว่า parliamentary monarchy คือ กษัตริย์เป็นประมุข ฝ่ายบริหารรับผิดชอบต่อสภาเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อกษัตริย์ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

3.กำเนิดประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทย 

หลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยคณะราษฎร ประเทศไทยเปลี่ยนมาปกครองในระบอบ constitutional monarchy เวลานั้นเรามีปัญหาในการหาคำไทยแทนที่คำฝรั่ง ในประกาศคณะราษฎรก็ใช้คำที่ไม่ใช่ความเข้าใจในปัจจุบัน คณะราษฎรต้องการเชิญในหลวง ร.7 มาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หากพระองค์ไม่ตอบรับในเวลาที่กำหนดจะเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยเลือกสามัญชนมาเป็นประมุขแทน ซึ่งอันที่จริงแล้วมันคือ สาธารณรัฐหรือรีพับลิก จากนั้นจึงมีคำไทยแทน constitutional monarchy ว่าราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญบ้าง ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญบ้าง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ช่วงแรกๆ ใช้คำว่า ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ 

ทีนี้ก็เกิดปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกัน ความคิดไม่ลงรอยกันระหว่าง ร.7 กับคณะราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยแปลงการปกครองทั่วโลก หน่วยเก่าและหน่วยใหม่จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่อย่างไร เราผ่านการถกเถียงแบบนี้ตลอดเวลา ประเทศไทยก็เช่นกัน เราทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือ ฉบับ 10 ธันวาซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญประนีประนอมระหว่าง ร.7 กับคณะราษฎร 

พระยามโนปกรณ์ฯ ประธานร่างรัฐธรรมนูญและนายกฯคนแรก พูดชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวา ผ่านพระบรมราชวินิจฉัยของร. 7 ตลอด แล้วจึงออกมาในลักษณะที่ตกลงกันว่า ประเทศไทยจะเป็น constitutional monarchy แต่ปัญหาเกิดเมื่อตัวบทที่เขียนในรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น ความเข้าใจของในหลวงเป็นแบบหนึ่ง แต่คณะราษฎรเป็นอีกแบบ 

เช่น หมวดบริหาร มีบทบัญญัติที่เขียนว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจต่างๆ เต็มไปหมด เช่น แต่งตั้งนายกฯ ยุบสภา แต่งตั้งข้าราชการ พระราชทานอภัยโทษ เลือก ส.ส.ประเภท 2 ซึ่ง ร.7 เล็งเห็นว่า เมื่อพระองค์ลงพระปรมาภิไธยพระองค์ก็ต้องมีอำนาจโดยแท้ แต่ความคิดของคณะราษฎรต่างออกไป โดยเป็นแนวทาง constitutional monarchy แบบตะวันตกที่ตกผลึกแล้ว คณะราษฎรเห็นว่า พระปรมาภิไธยแต่ละครั้งเกิดจากองค์กรผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ผู้รับสนองพระบรมราชโองการต่างหากที่ใช้อำนาจจริงและต้องรับผิดชอบ ความขัดแย้งนี้มีจุดเดือดจุดตัดที่นำไปสู่การสละราชสมบัติ คือ การเลือกส.ส.ประเภท 2 รัฐบาลมีการจัดลิสต์ให้ในหลวงประกาศ แต่พระองค์ไม่ยอม ดังนั้นจะเห็นว่าจินตนาการของรัชกาลที่ 7 กับคณะราษฎรจึงไม่ตรงกัน  ปัญหานี้จึงเกิดขึ้นตั้งแต่แรก ซึ่งขอย้ำว่าเป็นเรื่องปกติ 

กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2490 ที่ทำให้ฝ่ายกษัตริย์นิยม อนุรักษ์นิยมมีอำนาจมากขึ้น จนเกิดรัฐธรรมนูญ 2492 ที่เพิ่มถ้อยคำว่า “มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เข้าไป ก่อนหน้านั้นรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับเราไม่เคยประกาศว่าประเทศไทยปกครองในระบอบอะไร แต่นี่ประกาศว่าไทยปกครองแบบประชาธิปไตย แล้วจึงมีการถกเถียงกันว่าพระมหากษัตริย์อยู่ตรงไหน แล้วเลยเติมคำว่า “พระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ลงไป การถกเถียงนี้เกิดขึ้นในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่สนับสนุให้เติมยืนยันว่า ต้องการความชัดเจนว่าจะมีกษัตริย์ไปชั่วกัลปวาสาน ต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2521 ที่เขียนว่า “ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แยกสองประโยคเช่นนี้ จนกระทั่งปี 2534 มีการเพิ่มคำว่า “อัน” เชื่อม 2 ประโยคนี้ จากนั้นรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็เขียนแบบนี้หมด 

แรกเริ่มเดิมทีไม่มีใครสังเกตเรื่องนี้ แต่ในการรัฐประหาร ปี 2549 คณะรัฐประหารนำคำคำนี้มาผลิตซ้ำย้ำแล้วย้ำอีก จนส่งนัยบางอย่างในทางการเมือง และเอามาตั้งเป็นชื่อ คปค. แปลเป็นภาษอังกฤษแล้วฝรั่งตกใจเพราะเขียนว่า under the king ท้ายที่สุดคณะรัฐประหารเลยตั้งชื่อภาษาอังกฤษใหม่ป้องกันไม่ให้นานาชาติเข้าใจผิดนว่า คิงเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 19 กันยา 

ปัจจุบันมันมาถึงจุดที่เรียกได้ว่า คำว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กลายเป็นถ้อยคำที่ขาดเสียไม่ได้ ใครพูดว่าประชาธิไตยเฉยๆ มีปัญหา พูดโดดๆ คำเดียวไม่ได้ พัฒนาการมาจนถึงที่ว่า ฝ่ายที่เน้นย้ำให้ใช้ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มาตลอดนั้นไม่จำเป็นต้องอธิบายด้วยว่า คุณลักษณะ องค์ประกอบของ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” มีอะไรบ้าง รู้แต่ว่าต้องใช้คำนี้ 

“เป็นการช่วงชิงการสถาปนาคำศัพท์ การนิยามความหมายของคำโดยไม่ต้องนิยามอะไรเลย ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ พูดทุกวันจนทุกคนต้องใช้ โดยไม่ต้องเข้าใจความหมาย องค์ประกอบของมัน” 

4. “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในทัศนะของผม (ปิยบุตร) มีลักษณะอย่างไร 

ถ้าดูตั้งแต่ 2475 มาจนปัจจุบันจะเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลา บางช่วงสถาบันมีอำนาจมาก บางช่วงมีอำนาจน้อย แปลว่ามันไม่มีความนิ่ง เปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่วันนี้เราเดินทางมาถึงจุดที่ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”  กลายเป็นอัตลักษณะในรัฐธรรมนูญเรียบร้อย ซึ่งหมายความว่ามันเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรแทบไม่ได้เลย 

อย่างไรก็ตาม คำคำนี้ไม่เคยถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมอธิบายว่าคืออะไร ดังนั้น เรามีสิทธิที่จะอธิบายกันว่า คำคำนี้เนื้อแท้คืออะไร ควรนิยามว่าอะไร ในทัศนะผม คิดว่าต้องทำความเข้าใจก่อน โดยต้องแบ่งแยก 1.รูปของรัฐ ออกจาก 2.ระบอบการปกครอง 

รูปของรัฐนั้นดูที่มาของประมุข ถ้ามาจากการสืบทอดสายโลหิตก็คือ ราชอาณาจักร ถ้าที่มาเป็นสามัญชนก็คือ รีพับลิกหรือสาธารณรัฐ 

ระบอบการปกครองแบ่งการพิจารณาเป็น หากอำนาจเป็นของทุกคนก็คือประชาธิปไตย หากอำนาจเป็นของคณะบุคคลเรียกคณาธิปไตย หากอำนาจเป็นของคนคนเดียวก็คือเผด็จการ autocracy 

“ถ้าเรายืนยันว่ารูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร ก็ไม่มีทางที่ประมุขของรัฐจะเป็นอื่นได้นอกจากพระมหากษัตริย์ แล้วมาตราหนึ่งก็เขียนไว้ว่าประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ นี่เป็นการยืนยันในตัวเองว่า ต้องมีกษัตริย์เป็นประมุข แล้วระบอบการปกครองเป็นอะไร ก็คือเป็นประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เราต้องแยกสองก้อนนี้ออกจากกัน” 

คำว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เกิดจากการสมานประโยคสองประโยคผ่านสันธานว่า "อัน" ตกลงแล้วส่วนไหนเป็นประโยคหลัก ส่วนไหนเป็นอนุประโยค  

“ในความเห็นผมต้องยืนยันว่า ประชาธิปไตยเป็นหลัก ไวยากรณ์ก็ชัดว่าประโยคแรกเป็นหลัก องค์ประกอบของการมีกษัตริย์เป็นประมุขต้องไม่ทำลายประชาธิปไตย แล้วประชาธิปไตยก็จะยืนยันว่า ประเทศนี้มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

ในความเห็นส่วนตัว ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต้องมีลักษณะอย่างไร องค์ประกอบของมันมีดังนี้ 

1. ประสานองค์ประกอบหลายส่วนเข้าด้วยกัน คือ ราชอาณาจักร ประชาธิปไตย และระบบรัฐสภา 3 อย่างนี้รวมกันเป็น ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

2. หลักการThe King can do no wrong พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรผิด เพราะ The King can do nothing พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำอะไรเลย นายกรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารประเทศต้องรับผิดชอบ เพราะประมุขของรัฐ ไม่ว่าจะประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ก็มีเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน กรณีของประธานาธิบดีในหลายประเทศจะถูกดำเนินคดีตอนดำรงตำแหน่งไม่ได้ ต้องพ้นจากตำแหน่งเสียก่อน ในส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต ดังนั้น การกระทำทางสาธารณะจึงต้องกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องไม่ได้ทำอะไรด้วยพระองค์เอง แต่คนรับสนองพระบรมราชโองการเป็นคนกระทำและเป็นคนรับผิดชอบด้วย เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ทั้งนี้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของพระมหากษัตริย์ต้องมีเงื่อนไข 4 ประการ จึงจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ คือ 1.จะไม่กระทำการใดๆ ตามลำพังโดยพระองค์เอง แต่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง 2.ไม่มีการแบ่งแยกว่าการกระทำใดเป็นของพระมหากษัตริย์และการกระทำใดเป็นของรัฐบาล 3.ไม่มีใครรู้ว่าพระมหากษัตริย์คิดอะไร การให้คำแนะนำอะไรต่างๆ ต้องทำโดยลับ รัฐบาลต้องไม่นำมาอ้างหรือเปิดเผย และ 4.พระราชดำรัส พระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะต้องให้คณะรัฐมนตรีรู้เห็นเพราะเป็นคนรับผิดชอบ

3. ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจขอบเขตได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และผู้สถาปนารัฐธรรมนูญคือ #ประชาชน พระมหากษัตริย์ต้องเคารพและพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดังนั้นกองทัพที่ทำรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญแล้วไปให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรอง เท่ากับว่ากำลังบีบบังคับให้พระมหากษัตริย์ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ กำลังบีบบังคับพระมหากษัตริย์ให้ทำผิดรัฐธรรมนูญ

4. ในโลกสมัยใหม่ เรื่องของโองการสวรรค์ ความเป็นสมติเทพเป็นเรื่องเก่า บุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตรย์ในยุคสมัยใหม่เป็นมนุษย์ ความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมอบให้ต้องเกิดโดยสมัครใจ ไม่ใช่เกิดจากการบังคับ

5. พระมหากษัตริย์ไม่ใช่เจ้าของประเทศ แต่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐซึ่งเป็นของประชาชนทุกหมู่เหล่า ดังนั้นต้องมีการแบ่งแยกบทบาท บุคคล ทรัพย์สิน ของตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับบุคคลที่ไปเป็นพระมหากษัตริย์ออกจากกัน มีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ส่วนข้อเสนอ 10 ข้อที่นิสิตนักศึกษาปราศรัย เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เชื่อว่ามีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วย ติดใจกับท่าทีการแสดงออก แต่เราไม่สามารถย้อนกลับไปลบเหตุการณ์นี้ได้ ดังนั้น คำถามคือจะบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรเพื่อธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตยให้ได้ 

ในเรื่องนี้มีความเห็นว่า 

1. ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 3 ประเด็นตามที่เคยเสนอไป คือ ยกเลิก ม.279 ที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ, ยกเลิก ม.269-272 บทเฉพาะกาล ส.ว., แก้ไข ม. 256 เปิดทางให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จากนั้นก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้ง 

2.ประเด็นปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงแล้ว ถ้าได้ติดตามความคิดของนิสิตนักศึกษาก็พบว่ามีมาอย่างต่อเนื่องมาก่อน ดังนั้นทางจัดการมีแค่ 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกแรก กำจัดหรือปราบให้หมดสิ้นไป ทางเลือกที่สอง คือ ยอมรับ รับฟัง และนำมาเป็นประเด็นสาธารณะให้ถกเถียงกันได้เป็นปกติเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ เช่น การปฏิรูปกองทัพ การกระจายอำนาจ ฯลฯ

"ผมเห็นว่าทางเลือกแรกไม่มีทางจัดการปัญหาได้ ทำได้แต่เพียงให้คนเห็นต่างหายไปช่วงหนึ่ง และท้ายที่สุดก็วนกลับมาที่เดิม เพราะความคิดไม่มีทางหายไป อีกทั้งการทำเช่นนั้นไม่เป็นคุณต่อใครทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นการฆ่าอนาคตของชาติ ผมเห็นว่าทางเลือกที่ถูกต้องคือทางเลือกที่สอง ต้องเป็นเรื่องที่อภิปรายได้เหมือนประเด็นอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม ต้องสามารถอภิปรายได้ด้วยความปรารถนาดี จริงใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ทั้งหมดนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เคียงคู่กับระบอบประชาธิปไตย จึงอยากส่งเสียงไปถึงฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำจารีตประเพณี รอยัลลิสต์ ฝ่ายกษัตริย์นิยมที่มีเหตุผล มีสติปัญญา ไม่ได้บ้าคลั่ง เราต้องช่วยกัน อย่าให้มีใครหยิบยกนำพาเรื่องเหล่านี้สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นต่อคนในชาติ อยากให้ช่วยกันส่งเสียงหน่อย เสียงของท่านจะช่วยประคับประคองบ้านเมืองนี้ให้ไปต่อได้ เพราะถ้าไม่ออกมาเลย ฝ่ายคลั่ง ฝ่ายกระหายเลือด จะผลักประเด็นนี้ให้เป็นความขัดแย้งของคนในชาติ ให้เป็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นหนึ่งกับคนอีกรุ่นหนึ่ง"

รับชมการบรรยายทั้งหมดได้ที่: https://www.facebook.com/ThailandProgressiveMovement/videos/734004270777954/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net