เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีฯ ขอศาลร่วมไต่สวนคดีหวังค้านบ.เอกชนขอเพิกถอนห้ามนำเข้ายาฆ่าวัชพืช

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชขอศาลปกครองเข้าร่วมไต่สวนเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ในคดีบริษัทซินเจนทาขอเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมและคำสั่งกรมวิชาการเกษตรห้ามนำเข้าและจำหน่ายยาฆ่าวัชพืชพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส

18 ส.ค.2563 13.30 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network: Thai-PAN) พร้อมทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม(EnLAW) ยื่นร้องสอดคดีเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ในคดีที่บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด บริษัทผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าสารเคมีการเกษตรรายใหญ่ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศห้ามนำเข้าสารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส

(จากซ้ายไปขวา) ปรกชล อู๋ทรัพย์ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ และอัมรินทร์ สายจันทร์

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN เป็นผู้รับมอบอำนาจของมูลนิธิชีววิถีให้สัมภาษณ์ว่า ที่มายื่นคำร้องที่ศาลปกครองวันนี้ เนื่องจากทางบริษัทซินเจนทาได้ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2563 และคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่ 750/2563 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบหากเพิกถอนจะทำให้สามารถนำเข้าและจำหน่ายสารพาราควอตและสารคลอร์ไพริฟอสได้ต่อไป ทั้งๆ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เองได้ห้ามใช้พาราควอตมากว่า 20 ปีแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทซินเจนทาได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องรวม 5 รายได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, คณะกรรมการวัตถุอันตราย, กรมวิชาการเกษตร และ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ศาลเพิกถอนประกาศและคำสั่งดังกล่าว

ปรกชลให้ข้อมูลอีกว่าพาราควอตเป็นสารเคมีที่กว่า 60 ประเทศเลิกใช้ไปแล้ว เหตุผลที่เลิกใช้กันเพราะเป็นสารที่มีพิษเฉียบผลันสูงต่อมนุษย์ แม้ว่าเกษตรกรไทยจะนำไปเจือจางแล้วแต่เกิดกรณีถังรั่วก็ทำให้เสียชีวิตได้ และการป้องกันตัวใดๆ ก็ไม่สามารถลดความเสี่ยงลงได้ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดโรคพากินสันแล้วก็ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เองก็ตรวจพบการตกค้างในพืชผัก ส่วนสารคลอร์ไพริฟอสก็มีความเป็นพิษสูงต่อระบบประสาท การที่เด็กทารกได้รับสารตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จะทำให้มีปัญหาพัฒนาการทางสมองทำให้สติปัญญาต่ำได้ ซึ่งเป็นผลกระทบเรื้อรังที่เป็นไปตลอดชีวิต

ปรกชลกล่าวต่ออีกว่าจากการตรวจสอบ เกษตรกรรายย่อยก็ไม่ได้ใช้กันมากนัก ถ้าดูผลสำรวจก้จะพบว่าเกตรกรเองก็เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 2 ชนิดนี้ แต่ว่าการปลูกพืชบางประเภทอาจต้องการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐให้ใช้วิธีการทดแทนอื่นๆ

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ให้สัมภาษณ์ต่อว่า มีตัวอย่างผู้เสียหายที่ป่วยเป็นโรคเนื้อเน่าหรือโรคที่เกิดจากอันตรายของพาราควอตอยู่ในต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ ทาง มพบ.ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจแล้วก็อยู่ในขั้นตอนการทำคดีอยู่จึงพบว่าเป็นโรคที่เกิดจากการใช้สารเคมีอันตราย ปัจจุบันพบว่าในต่างประเทศไม่ได้มีใช้กันแล้วส่วนไทยเพิ่งมีการเพิกถอน ก็อยากฝากให้มีการรณรงค์ให้เลิกใช้สารเคมีเหล่านี้เพื่อคนไทยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความจาก  EnLAW ระบุว่าที่ยื่นคำร้องไปศาลก็จะพิจารณาคำร้องสอดก่อนว่าจะให้ทางเครือข่ายฯ เข้าไปเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 หรือไม่ ถ้าอนุญาตทั้งสององค์กรก็จะมีสิทธิในการตรวจสอบสำนวนคดีขอข้อมูลเพื่อทำคำให้การเสนอต่อศาลซึ่งจะได้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่าทางบริษัทได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายหน่วยงานรัฐข้างต้นหรือไม่ รวมถึงคำขออื่นๆ  ซึ่งทางเครือข่ายฯ ก็จะได้ทำคำโต้แย้งและนำเสนอข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับผลกระทบเข้าไปเพื่อให้ศาลได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนมากที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท