Skip to main content
sharethis

19 ส.ค.2563 ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา รายงานว่า วานนี้ (18 ส.ค.63)  ที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง เป็นวันที่ 2 ที่ชาวบ้านเหมืองตะกั่ว หมู่ที่ 1 ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง ได้มาชุมนุมเรียกร้องให้มีการยุติโครงการเขื่อนเหมืองตะกั่ว หรือที่กรมชลประทานซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการเรียกว่าอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว ซึ่งเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง โดยระบุว่าประชาชนในพื้นที่จะปักหลักที่ศาลากลางเพื่อรอฟังคำตอบภายในวันที่ 21 ส.ค. 63 หากรัฐบาลยังไม่ประกาศยกเลิกการสร้างเขื่อน ชาวบ้านเหมืองตะกั่วและชาวพัทลุง รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจะเดินทางไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับชาวบ้านเหมืองตะกั่วเริ่มมีการคัดค้านโครงการใน พ.ศ.2557 โดยมีการร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกรายงานการตรวจสอบที่ 864/2558 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2558 ระบุว่าไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว และมีหนังสือถึงกรมชลประทานให้ระงับโครงการในวันที่ 7 ก.ย. 2558 ความคืบหน้าของโครงการในปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะใช้ประกอบการพิจารณาเพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และขออนุมัติโครงการ

วิเชียร​ ยาชะรัด​ ชาวบ้านเหมืองตะกั่ว​ ซึ่งปักหลักรอฟังคำตอบจากรัฐบาลให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนที่หน้าศาลากลาง​จังหวัด​พัทลุง​ เล่าว่า การสร้างเขื่อนทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้อง​สูญเสี​ยผืนป่า​ ซึ่งเป็นสิ่งที่ระชาชนในพื้นที่ผูกพันมาหลายรุ่น อยู่ที่นี่กันมาประมาณ​ 200​ ปี​ ประชาชนในพื้นที่ในพื้นที่รักษาป่า​ คัดค้านการสัมปทาน​ป่าไม้​ ที่นี่มีไม้หลุมพอ​ ไม้ตะเคียนอยู่มาก​ ประชาชนในพื้นที่มีการจัดการน้ำ​โดยการทำฝายมีชีวิต​ โดยคนในหมู่บ้าน​ และคนภายนอก​ ประมาณ​ 200​ คน​ มาช่วยกันสร้างฝาย ใช้เวลาประมาณ​ 4​ เดือน​

เขื่อนจะตัดวิถีชีวิต​ของประชาชนในพื้นที่ออกจากป่า​ ป่าให้ความสุข​ ป่าให้น้ำ​ ประชาชนในพื้นที่​มีน้ำกินน้ำใช้​ มีปลากินมีปลาขาย  สายน้ำเหมืองตะกั่วหล่อเลี้ยงประชาชนในพื้นที่​ 3​ อำเภอ​ของ​จังหวัดพัทลุง​ เริ่มจากบ้านบังเชียรที่​ตำบลหนองธง​ อำเภอป่าบอน ไหลต่อไปยังอำเภอตะโหมด​ และ​อำเภอบางแก้ว​ ป่าให้ของป่า​ เช่น​ น้ำผึ้ง​ สะตอ​ ที่เป็นอาหารและเป็นรายได้เสริมของชุมชน​ ประชาชนในพื้นที่ประมาณ​ 100​ คน​ พึ่งพารายได้จากป่า​ เช่น เก็บสะตอปีละประมาณ​ 1,000,000 บาท​, จับผึ้งในช่วง​ 2​ เดือน​ ต่อปี​ ประมาณ​ 1,000​ ขวด​ ขวดละ​ 500​ บาท เป็นรายได้ประมาณ​ 500,000 บาท​

ประชาชนในพื้นที่ได้เรียนรู้​ผลกระทบจากเขื่อนป่าบอน​ อำเภอป่าบอน ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน​ประมาณ​ 3​ กม.​ และเขื่อนคลองหัวช้าง​ อำเภอตะโหมด​ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ​ 14​ กม. ส่งผลให้มีการทำลายป่าไปนับหมื่นไร่ จากการสร้างเขื่อนและการเป็นใบเบิกทางให้มีการทำลายป่า​รอยเขื่อน เจ้าของโครงการ​อ้างว่าสร้างเขื่อนเพื่อการเกษตร​ แต่ที่เขื่อนป่าบอน​ ไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง​ เขื่อนชำรุดเก็บน้ำไม่อยู่​ ต้องซ่อมทุกปี​ ประชาชนในพื้นที่จึงแซวกันว่า​ "สร้างเขื่อนเพื่อเลี้ยงวัว" ในส่วนน้ำก็เสียด้วย​ อาบน้ำแล้วมีอาการคัน

สำหรับข้อมูลโครงการ เขื่อนเหมืองตะกั่วเป็นเขื่อนดิน มีความจุเก็บกักน้ำ 10.14 ล้านลูกบาศก์เมตร ความกว้างสันเขื่อน 8 เมตร ความยาวสันเขื่อน 420 เมตร ความสูงเขื่อน 48 เมตร พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขาบรรทัด และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด เขื่อนเหมืองตะกั่วมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค เลี้ยงสัตว์ ยกฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ

ในส่วนรายละเอียดของหนังสือที่ชาวบ้านเหมืองตะกั่วได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้ระบุถึงเหตุผลในการขอให้มีคำสั่งยกเลิกการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว 5 ข้อ ได้แก่ 1) โครงการดังกล่าวมีความไม่ชอบมาพากลเพราะไม่ได้ผ่านการทำเวทีประชาคมตามที่กล่าวอ้าง 2) การสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่วไม่มีความจำเป็นเนื่องจากในระยะประมาณ 10 กม. มีเขื่อนอยู่แล้ว 2 เขื่อน คือ เขื่อนป่าบอน และเขื่อนคลองหัวช้าง โดยเขื่อนทั้งสร้างได้สร้างหายนะด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนไม่ได้ใช้น้ำตามที่กล่าวอ้างตั้งแต่ตอนสร้างเขื่อน  

3) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ทำการไต่สวนกรณีความขัดแย้งในการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว ซึ่งมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมตรวจสอบ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ออกรายงานการตรวจสอบที่ 864/2558 ลงวันที่ 31 ส.ค.2558 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าไม่มีความจำเป็นในการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว โดยให้จังหวัดและประชาชนร่วมกันหาทางออกการจัดการน้ำ 4) กรมชลประทานได้จัดทำ “รายงานสิ่งแวดล้อมปลอม” เมื่อปี 2556 โดยรายงานทั้งฉบับคัดลอกข้อมูลมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นกระบวนการฉ้อฉลและดูถูกประชาชนเป็นอย่างมาก 5) พื้นที่การสร้างเขื่อนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตอุทยาน ซึ่งประเทศควรรักษาไม้และสายน้ำรวมถึงสัตว์ป่านานาชนิด ให้เป็นมรดกของคนรุ่นหลัง เป็นการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net