Skip to main content
sharethis

การชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2563 เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์น่าตกใจพอสมควรที่ผู้คนราวหมื่นออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองบนถนนราชดำเนิน แน่นอนนี่เป็นการชุมนุมที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดหลังจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 แต่ยังไม่ทันได้พักหายใจ ในเช้าวัดถัดมา สัญลักษณ์แห่งการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการที่ถูกใช้มาตั้งแต่การต่อต้านรัฐประหารปี 2557 ก็ถูกหยิบไปใช้ในรั้วโรงเรียนมัธยมหลายแห่งทั่วประเทศ เยาวชนขาสั้น คอซอง หลายพื้นที่พร้อมใจกันชูสามนิ้วตอนเรียกรวมแถวร้องเพลงชาติไทย ขณะที่โบว์สีขาวถูกนำไปติดเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงจุดยืนสนับสนุนข้อเรียกเรียกของกลุ่มประชาชนปลดแอกในหมู่นักเรียนมัธยมด้วยเช่นกัน

ในวันแรกที่นักเรียนมัธยมเริ่มเคลื่อนไหว ก็เกิดแรงต้านภายในโรงเรียนขึ้นทันที บรรดาครูจำนวนหนึ่งได้เข้าไปห้ามปรามการแสดงออกของพวกเขา แต่แทนที่จะทำให้การแสดงออกยุติลง กลับกลายเป็นการขยายแนวร่วมออกไปให้กว้างขึ้นในวันต่อมา

หลายคนมองว่า นี่คือการเคลื่อนไหวอันบริสุทธิ์และเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอีกหลายคนยังเชื่อว่า พวกเขาคิดเองไม่เป็น และมีนักการเมืองชักใยอยู่เบื้องหลัก ไม่ว่าจะมองในทางไหนก็ตามคำถามหลักที่เกิดขึ้นสำหรับทุกฝ่ายในเวลานี้คงหนีไม่พ้นคำถามเดียวกันคือ เกิดอะไรขึ้นกับนักเรียนมัธยมกันแน่

ประชาไทพูดคุยกับครูปราศรัย เจตสันติ์ โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม อดีตนิสิตคณะครุศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าเกิดขึ้นภายใต้เหตุปัจจัยใด รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ของคนเป็น "ครู" ต่อสถานการณ์ที่อยู่เบื้องหน้านี้

กระแสชูสามนิ้วมาแรงในโรงเรียน-ครูคุกคามนักเรียนชูสามนิ้วหลังเพลงชาติ

ปราศรัย เจตสันติ์ ครูโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม : ภาพจาก Thai Civic Education

เกิดอะไรขึ้นกับนักเรียนมัธยม?

ปราศรัยมองว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดนี้มาจากหลายเหตุหลายปัจจัยประกอบกัน อย่างแรกคือ เรื่องของเจเนอเรชัน เพราะเด็กในเจเนอเรชันนี้เติบโตมาคนละยุคกับผู้ใหญ่ หลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้ใหญ่พบเจอมาเป็นสิ่งที่พ้นไปจากยุคของพวกเขาแล้ว เด็กมัธยมอายุ 18 ในเวลานี้เกิดเมื่อปี 2545 ฉะนั้นช่วงเวลาที่เขาเริ่มรับรู้ปัญหาทางสังคมและการเมือง ปรากฎการณ์ใหญ่สำหรับพวกเขาคือ การรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งเวลานั้นพวกเขามีอายุ 12 ปี วิธีคิดและมุมมองของพวกเขาก็เป็นผลมาจากช่วงเวลาหลังการรัฐประหาร ซึ่งมีการปกครองประเทศที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงมายาวนาน และเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเห็นมาตลอดนั้น ไม่ใช่หนทางที่ดีสำหรับเขา 

เขากล่าวต่อถึงปัจจัยที่ 2 คือการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี โดยเด็กในยุคนี้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการรับรู้ข่าวสาร มีลักษณะของส่งผ่านข้อมูลข่าวสารพร้อมกับแสดงความคิดเห็นอย่างทันทีทันใด ซึ่งมีความแตกต่างจากการใช้สื่อโซเชียลในมุมมองของคนเจเนอเรชันอื่น เช่น คนยุคเบบี้บูมจะใช้โซเชียลมีเดียในลักษณะของการพูดคุยกับเพื่อนในยุคเดียวกัน อวยพรวันเกิด สวัสดีวันจันทร์ ลงรูปเวลาไปเที่ยว หรือกินข้าว และเขาไม่คิดจะใช้พื้นที่นี้ในการสื่อสาร หรือพูดอะไรที่แสดงถึงทัศนคติของตัวเอง ส่วนคนรุ่นกลางมักใช้โซเชียลมีเดียในการนำเสนอไลฟ์สไตล์ ความสำเร็จในชีวิต ซึ่งผิดไปจากเด็กในเจนเนอเรชันปัจจุบันที่ใช้โชเซียลมีเดียในการติดตามสิ่งที่สนใจ และแชร์ต่อๆ กันมา พร้อมกับแสดงความคิดเห็นทันทีทันใด

“เพียงเวลาแค่ไม่กี่ปีเด็กมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด นี่เป็นประเด็นสำคัญ เขารับรู้ข้อมูลข่าวสารได้เร็ว และมันทำให้เขาได้เห็นชุดข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่เขาเคยได้รับรู้จากระบบการศึกษาปกติ”

นอกจากนี้ปราศรัย ชี้ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อให้เกิดปรากฎการณ์ดังดช่าวเป็นผลจากการไม่ปรับตัวของระบบการศึกษาเอง หากสังเกตจะพบว่าห้องเรียนของเด็กไทยในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งที่เปลี่ยนไปมีเพียงแค่อุปกรณ์ต่างๆ เท่านั้น แต่กระบวนการในการเรียนการสอนยังคงยึดอยู่กับรูปแบบเดิม อย่างไรก็ตาม ยังพอมีครูที่พยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนอยู่ แต่ครูบางคนก็ไม่ปรับการสอนของตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงวัฒนธรรมในโรงเรียนก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเช่นกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขารู้สึกว่าระบบการศึกษา และวัฒนธรรมในโรงเรียนที่เป็นอยู่ไม่ได้สอดรับกับยุคสมัยของพวกเขา และมันกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เขาลุกขึ้นมาตั้งคำถาม

“กระบวนการที่ปลูกฝังว่าต้อง รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมทั้งการสร้างวินัยให้กับเด็กผ่านการแต่งเครื่องแบบ และทรงผม ก็ยังรักษาวิธีการดั่งเดิมมาอย่างยาวนาน กระบวนการเหล่านี้ไม่เคยปรับเปลี่ยน มันทำให้พวกเขามองว่า โรงเรียนกำลังแช่แข็งเขา ในขณะที่โลกออนไลน์มันเปิดกว้างสำหรับเขา และเขาเห็นว่า จะต้องแสดงออกบางอย่าง เพราะเขาไม่โอเคกับการอยู่ภายใต้กรอบที่ถูกวางไว้ ส่วนเรื่องการเมืองเขาก็เห็นหน้าลุงตู่มาตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว และสำหรับเขาทักษิณไม่ใช่ตัวร้าย เขาแทบจะไม่รู้ว่าทักษิณคือใคร เขาไม่ได้ผ่านช่วงที่ถูกปลูกฝั่งแนวคิดเสื้อเหลืองเสื้อแดง เขาไม่มีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ต่างๆ เขารู้เพียงแค่ว่า พ่อแม่เขาไปร่วมม็อบนกหวีดช่วงที่เขาเรียนอยู่ประถม และเขาก็มาแสดงออกตอนตัวเองอยู่มัธยม เพราะเขารู้สึกว่า สิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่เขาเรียกร้องกันมานั้นมันนำไปสู่ทิศทางที่ทำให้ประเทศจมดิ่งลงไป จนเขาตั้งคำถามว่า ทำไม่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ และการเรียนรู้ของเขามันเกิดขึ้นนอกห้องเรียนได้ เขาสามารถหาข้อมูลอื่นๆ ที่มากกว่าในห้องเรียนสอนไว้”

ปราศรัยมองว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะมีส่วนต่อการเคลื่อนไหวถายในโรงเรียนคือ การเข้ามาของครูรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมกับกระบวนการสอนแบบใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เพราะมีการออกแบบการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียนพัฒนาการคิด วิเคราะห์มากขึ้น โดยฉะนั้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการโปรโมทสิ่งที่เรียกว่า Active Learning เข้ามาในการศึกษา ซึ่งเป็นเน้นการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ เอื้อให้มีการฝึกคิดวิเคราะห์มากขึ้น

การแสดงออกของเด็กไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือโรงเรียนไม่มีประสบการณ์รับมือกับปรากฎการณ์

ปราศรัยเปิดเผยมุมมองส่วนตัวต่อปรากฎการณ์ผูกโบว์-ชูสามนิ้วของนักเรียนว่า เป็นสิทธิที่นักเรียนสามารถทำได้ เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ และนักเรียนก็แสดงออกภายใต้กรอบของกฎหมาย เป็นการแสดงออกอย่างสันติ ไม่ได้ละเมิดกฎหมาย ไม่ผิดกฎระเบียบ และไม่ได้เป็นการแสดงออกที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการจัดการรับมือกับปรากฎการณ์นี้ของโรงเรียน

“จากข่าวที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า โรงเรียนมีปัญหาในการรับมือกับเรื่องแบบนี้ ส่วนหนึ่งอาจะเป็นเพราะโรงเรียนไม่เคยเผชิญหน้ากับปรากฎการณ์นี้มาก่อน หน่วยงานที่พอจะมีแนวทางในการรับมือกับเรื่องแบบนี้มากที่สุดคือมหาวิทยาลัย เพราะนักศึกษา นิสิต เคยออกมาชุมนุม ประท้วง เรียกร้องกันบ่อยๆ มหาวิทยาลัยจึงมีกระบวนการในการรับมือ และรู้ว่าตัวเองควรมีท่าทีอย่างไร แต่กับโรงเรียนมัธยม เป็นสังคมที่ค่อนข้างที่จะไม่เปิดกว้างเท่ามหาวิทยาลัย เราจึงได้เห็นวิธีการรับมือแบบแปลกๆ ตามที่เราได้เห็นข่าวที่เกิดขึ้นในวันจันทร์ (17 ส.ค.) ซึ่งค่อนข้างจะรุนแรงในเชิงของการเข้าไปคุกคามเด็ก แต่วันนี้(18 ส.ค.) ถือว่านิ่งขึ้นเยอะมาก อาจเป็นเพราะการให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงศึกษาธิการด้วย และวันนี้ก็มีประกาศหนังสือด่วนของ สพฐ. ที่ส่งไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศว่า ให้เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นให้กับนักเรียน เรื่องนี้หากมองในมุมการเคลื่อนไหวของเด็กนี่คือชัยชนะของพวกเขา”

ปราศรัยกล่าวต่อไปถึงสิ่งที่โรงเรียนต้องคิด และต้องทำต่อการเคลื่อนไหวของนักเรียนว่า มีอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1.ครูต้องคิดว่าตัวเองจะมีวิธีการในการสื่อสารกับนักเรียนอย่างไร ทั้งในกรณีที่ครูเองเห็นด้วย หรือเห็นต่างจากนักเรียน หากเห็นด้วยก็ไม่ได้หมายความว่า ครูจะไปส่งเสริมนักเรียนทุกอย่าง แต่ควรตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า สิ่งที่พวกเขาแสดงออกมานั้นเป็นการทำตามกันแบบแฟชั่น หรือเป็นเพราะคิดได้แล้วจริงๆ เพื่อที่จะสร้างบทสนทนาพูดคุย เรียนรู้กันต่อไป 2.ในระดับของผู้บริหารโรงเรียนก็ควรวางแนวทางปฏิบัติออกมาให้ชัดเจนว่าจะ ทำอย่างไรต่อการแสดงออกของเด็ก อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และอะไรคือเหตุผลที่รองรับการตัดสินใจดังกล่าว 3.ในระดับของครูเองก็ควรที่จะมีแนวทางปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของทัศนคติส่วนตัวของครู ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการทำให้นักเรียนชอบครูที่เปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก และไม่ชอบครูที่ไม่ให้พื้นที่กับเขา

“แนวทางที่ควรจะเป็นคือ ไม่ควรไปห้ามการแสดงออกของเด็ก ใครอยากติดโบว์ขาวก็ติดไป ใครอยากชูสามนิ้วก็ชูไป เพราะมันยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หรืออาจจะก้าวไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ โรงเรียนควรเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น เช่น ใช้พื้นที่ลานกีฬาหลังโรงเรียนทุกวันพฤหัสให้นักเรียนที่สนใจเรื่องเหล่านี้มาเจอกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการพูดคุยเเลกเปลี่ยนกัน เพราะโรงเรียนก็ควรเป็นพื้นที่ทางวิชาการได้เหมือนกัน เราไม่ควรเป็นพื้นที่ทางวิชาการเพื่อให้เด็กสอบ O-net แต่เราเป็นพื้นที่ทางวิชาการเพื่อเรียนรู้เรื่องการเมืองได้เหมือนกัน”

“สิ่งสำคัญที่ครูควรจะสื่อสารกับเด็กในเวลานี้มีอยู่ 2-3 อย่าง อย่างแรกคือ ไม่ว่าครูจะเห็นด้วยกับเด็กหรือไม่ ก็ไม่ควรขัดขวางเด็กและรับฟังเขาว่าเขาจะพูดสิ่งใดออกมา เพราะการฟังจะทำให้ครูรับรู้ว่า ตอนนี้เด็กมีพัฒนาการทางการเมืองอยู่ตรงไหน เท่าที่สังเกตดูเด็กบางคนก้าวหน้ามาก อ่าน 2475 อ่าน 6 ตุลา 19 ตามสมศักดิ์เจียม แต่บางคนก็ยังไม่มีข้อมูลมากเท่านักและเพิ่งจะตามฟังม็อบมาไม่กี่วัน

อย่างที่สองคือ ครูจะต้องให้คำแนะนำที่เปิดให้นักเรียนเห็นมุมมองด้านอื่นๆ การที่เด็กรับฟังมุมมองด้านประชาธิปไตยอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอ เขาควรรู้มุมมองของอีกฝั่งหนึ่งด้วยว่า เขาคิดกันอย่างไร เพราะการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยมันต้องสร้างให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ไม่ใช่ว่าไปคุยกับเพื่อน แล้วเพื่อนไม่อินเรื่องการเมือง และไปว่าเขาเป็นสลิ่ม ไปบูลลี่เพื่อน หากปล่อยให้เป็นแบบนี้มันจะกลายเป็นการปล่อยให้เด็กเป็นฝ่ายขวาในกลุ่มประชาธิปไตย แล้วจะเกิดปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก

อย่างที่สาม ครูต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนให้มากในการแสดงความคิดเห็นใดออกมา เพราะประเทศนี้ยังมีกฎหมายบางอย่างที่มันไม่ได้อนุญาตให้เราพูดเรื่องบางเรื่องในที่สาธารณะ ครูควรเตือน ไม่ใช่ไปทำให้เขากลัว แต่ทำให้เขารู้ว่ามันมีอะไรแบบนี้อยู่ เพื่อให้เขาระวังมากขึ้น อะไรที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้อง อะไรที่เป็นการสร้างความเกลียดชัง เพื่อให้เขารู้จักใช้การสื่อสารที่ไม่ทำให้เกิดการคุกคามผู้อื่นเสียเอง ประเด็นนี้สำคัญนะ เพราะเด็กมักพูดเสมอว่าคุณครูฝั่งนู้นกดทับ ไม่สนใจ และรุนแรงกับเขา แต่เขาเองก็ผลิตซ้ำความรุนแรงนั้นสะท้อนกับไปหาอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เด็กก็ไม่ได้เกิดพัฒนาการอะไรเลย และมันง่ายมาต่อการย้ายข้างทางการเมือง เนื้อหาที่เด็กพูดอาจจะดีมาก แต่วิธีการสื่อสารบางอย่างอาจจะไม่โอเคก็ได้ ถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีการสื่อสารเพื่อทำให้เป็นมิตรกับคนอีกฝั่งมากขึ้น ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ จะดีกว่าไหม

ในทางการเมืองมันแทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะพูดอะไรบางอย่าง แล้วจะไม่กระทบต่อความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างไรมันก็กระทบแน่นอน เพราะมันอยู่บนฐานของความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่มันจะดีกว่าไหมหากใช้การสื่อสารที่ทำให้อีกฝ่ายทราบว่าเจตนาจริงๆ ของเราคืออะไร ไม่ใช่แค่การด่าทอ หรือไปกดอีกฝ่ายจนคุณค่าความเป็นมนุษยของเขาต่ำลงไป อย่างการไปด่าเพื่อนว่า มึงแม่งเป็นสลิ่ม ถามว่าทำได้ไหม ก็ทำได้นะ แต่มันจะยิ่งทำให้เพื่อนรู้สึกว่า ทำไมต่อมาลดทอนกันแบบนี้ ทั้งๆ ที่เขาก็ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไร หรือยังอยู่กลางๆ มันอาจจะเหมือนกันกับตอนที่เสื้อแดงโดนผลักออก ประเด็นนี้สำคัญคือ เราต้องไม่ทำในสิ่งเดียวกับที่ม็อบนกหวีดเขาเคยทำ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net