Skip to main content
sharethis

รายงานกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะ ' Human ร้าย, Human Wrong' ปี 3 พร้อมพูดคุยกับผู้รันโครงการหวังสร้างการตระหนักต่อเรื่องความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ ชิ้นงานสะท้อนสิทธิเด็กไม่ถูกปรากฎผ่านการจัดการเชิงโครงสร้าง และความอยุติธรรมที่เกิดจากโครงสร้างจะต้องถูกสั่นคลอน พร้อมเปิดกระบวนการจัดการเรียนรู้ก่อนการจัดแสดงผลงาน

โครงการ Human ร้าย, Human Wrong ได้รวบรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นทางสิทธิมนุษยชนมาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสะท้อนปัญหาของการลิดรอนสิทธิมนุษยชนภายใต้ความหลากหลายผ่านการนำเสนอผลงานศิลปะ จำนวน 13 ผลงาน ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่ ช่วง ก.ค. ถึงต้น ส.ค.ที่ผ่านมา 

รูปภาพประชาสัมพันธ์จากเพจ Facebook : Human ร้าย, Human Wrong

การตระหนักต่อเรื่องความหลากหลายของความเป็นมนุษย์

นันท์นิชา ศรีวุฒิ หนึ่งในผู้ดูแลและสร้างสรรค์โครงการ กล่าวว่า โครงการ Human ร้ายฯ มีการจัดมาแล้ว 3 ปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่สามของการจัดกิจกรรมและโครงการซึ่งเป้าหมายหลักคือ การสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการการทำงานทางศิลปะให้แก่ เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจอยากจะสื่อสารหรือถกเถียงประเด็นปัญหาทางสังคมผ่านมิติในเรื่องของสิทธิมนุษยชน โดยปีนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการ 13 คน ซึ่งเครื่องมือต่างๆที่เราจะใช้ในการสื่อสารจะเกี่ยวกับศิลปะเพื่อให้สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เลือกหรือออกแบบการสื่อสารประเด็นที่ตัวเองสนใจออกมาเป็นงานศิลปะ ในปีที่ 3 นี้จะแตกต่างจากสองครั้งก่อนหน้าในด้านของการพัฒนาตัวกระบวนการมากขึ้น โดยนำเอาจุดอ่อนของครั้งก่อนๆมาพัฒนาให้เกิดความแตกต่างซึ่งในปีนี้เราจะให้ความสนใจกับ ความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ เนื่องจากว่าจุดอ่อนของปีก่อนๆคือทุกคนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่รู้ถึงแนวคิดโดยภาพรวมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่มุมมองหรือมิติในการเล่าและการนำเสนอเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องสิทธิมนุษยชนในการใช้ชีวิตพื้นฐานในด้านต่างๆมันยังขาดหายไปและอาจยังเจือจางไปเสียหน่อย

ดังนั้นปีนี้จึงออกแบบกระบวนการออกมาให้อยู่ในเรื่องของ ความเป็นมนุษย์ หรือ Human being โดยจะเน้นไปในกระบวนการทางมานุษยวิทยาควบคู่ไปกับกระบวนการทางศิลปะเข้าไปด้วย กล่าวคือ  ทุกคนก็มีความสนใจในแต่ละขอบข่ายที่ต่างกันไม่ว่าจะเป็น กลุ่มคน ชุมชน หรืออะไรบางอย่างที่ตนเองคลุกคลีแล้วมีความสนใจ เราจึงมาขยายาในส่วนการเล่าเรื่องมากขึ้นโดยให้สมาชิกได้ลงไปเรียนรู้ในชุมชนมากขึ้นเพื่อให้เห็นกรณีศึกษามากที่ขึ้น ดังนั้นโจทย์ในปีนี้คือการที่พยายามจะนำเอากรณีศึกษาที่แต่ละคนสนใจมาขยายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและความพิเศษของปีนี้คือ แต่ละคนก็หยิบนำเอาศักยภาพที่แต่ละคนมีแตกต่างกันนำออกมาให้เป็นเครื่องมือประกอบการเล่าเรื่องด้วยเช่นกัน อย่างเช่นบางคนสนใจเรื่องของแรงงานหญิงข้ามชาติ บางคนสนใจเรื่องเด็กที่อยู่ในไซต์งานก่อสร้างของแรงงานข้ามชาติอีกที บางคนสนใจชุมชนของผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกทำให้กลายเป็นชายขอบในพื้นที่ชุมชน หรือบางคนก็สนใจประเด็นของชาวนารวมไปถึงช่องโหว่ทางกฎหมายต่างๆ ในประเทศ ดังนั้นก็เลยจะเห็นว่ามีมิติของการหยิบเรื่องราวมาเล่าที่มากขึ้น

กระบวนการจัดการเรียนรู้ก่อนการจัดแสดงผลงาน

ผู้ดูแลและสร้างสรรค์โครงการ กล่าวต่อว่า เดิมทีได้มีการพยายามออกแบบกระบวนการให้แก่ผู้ที่มาสมัครเข้าร่วมโครงการได้ขยายองค์ความรู้ในเรื่องของความเป็นมนุษย์ที่หลากหลายมาขึ้น โดยที่เราใช้ตัวอย่างพื้นที่ของหมู่บ้านหนองเต่าซึ่งเป็นหมู่บ้านของพี่น้องชาวปกาเกอะญอเป็นพื้นที่แห่งแรกที่ทุกคนได้ลองไปสัมผัสในเรื่องของความแตกต่าง ความหลากหลายทางชาติพันธุ์หรือทางภาษา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ทำความคุ้นเคยกับความหลากหลายก่อนในเบื้องต้น นันท์นิชากล่าว

หลังจากนั้นทั้ง 13 คนที่เป็นผู้เข้าร่วมโครงการก็จะต้องมีการตีความในเรื่องของความเป็นมนุษย์ที่พวกเขาอยากจะเล่าด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะต้องมีการเข้าไปติดต่อประสานกับนพื้นที่ที่ตนเองสนใจเพิ่มเติมด้วย

ในส่วนของวิทยากรที่เชิญมาเวิร์คชอปในกระบวนการซึ่งในครั้งนี้ก็ได้มีความพยายามที่จะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมเรื่องของมานุษยวิทยา เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของกระบวนการงานศิลปะ ซึ่งก็ได้นักวิชาการอย่าง จักรกริช สังขมณี มาเป็นที่ปรึกษาในองค์ความรู้ทางด้านมานุษยวิทยา, เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ที่มาให้ความรู่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน, ยศธร ไตรยศ ช่างภาพกลุ่มเรียลเฟรม, หรือ ถนอม ชาภักดี ที่เป็นผู้ช่วยในการเติมแต่งไอเดียหรือเสริมทักษะเพื่อให้สมาชิกฯได้มีเครื่องมือในการนำไปสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งนี้ก็ยังมีวิทยากรในส่วนอื่นที่เข้ามาช่วยเสริมประเด็นในการผลิตงานศิลปะและการพัฒนาศักยภาพทางความคิดของสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯในครั้งนี้

จักรกริช สงขมณี ในฐานะวิทยากรเวิร์คชอปในประเด็นทางมานุษยวิทยา ณ บ้านหนองเต่า จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อสิทธิเด็กไม่ถูกปรากฎผ่านการจัดการเชิงโครงสร้าง

อรทัย งานไพโรจน์สกุล หนึ่งในสมาชิกโครงการ Human ร้ายฯ และเป็นเจ้าของผลงาน ‘กล่อง Ready to go’ กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ตนเองได้สิ่งใหม่ๆ เนื่องจากตนเองไม่ได้เรียนจบทางด้านศิลปะมาแต่มีความสนใจด้านศิลปะอยู่แล้ว ดังนั้นจากการพบเจอผู้คนใหม่ๆจากหลายสาขาโดยเฉพาะด้านศิลป์ฯและการได้เข้าร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะ จึงทำให้เกิดความเข้าใจต่องานศิลปะที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องความสวยงามหรือความสุนทรียแต่แสดงถึงการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารประเด็นทางสังคมโดยให้ส่งผลกระทบและเข้าไปถึงข้างในจิตใจกับคนดู

นอกจากนั้นก็ยังได้กลับไปทบทวนงานของตนเองที่เกี่ยวข้องกับปัญหาด้านการเข้าถึงการศึกษาของเด็กที่เป็นลูกหลานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยผ่านกระบวนการที่จะต้องได้ไปลงพื้นที่ในชุมชนและผ่านกระบวนการคิดโดยมีวิทยากรจากภายนอกมาชวนให้เกิดพัฒนาการคิด เช่น ในประเด็นเรื่องการเคลื่อนไหวทางศิลปะ, Artist กับ Art Activist ต่างหรือเหมือนกันอย่างไร? หรือการทำเวิร์คชอปในเรื่องของ Critical Thinking ตลอดระยะเวลาสี่เดือนนี้กิจกรรมและการเวิร์คชอปต่างๆก็ถูกสร้างขึ้นมาให้เราจนถึงจุดที่เราจะสามารถสื่อสารประเด็นไปสู่สังคมได้

อ่านเพิ่มเติมที่ https://bookrepubliconweb.wordpress.com/portfolio/ready-to-go/?fbclid=IwAR19WR3wgNDs8xZmcVtxrDoJOBoFvmjtwVH277FkElOdx0CXApvwufugYO0

กล่อง Ready to go : หนึ่งในผลงานของ อรทัย งานไพโรจน์สกุล ที่สื่อถึงประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติเรื่องการศึกษาของเด็กแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

ระหว่างที่เข้าร่วมกิจกรรมฯก็เกิดการทบทวนต่องานของตนเอง ทำให้ได้มองเห็นถึงปัญหาที่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ชัดเจนมากขึ้นซึ่งเป็นปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาในระดับปัจเจกที่มีความยากและไม่สามารถจะเลือกแก้ไขที่จุดใดจุดหนึ่งได้ ซึ่งในส่วนนี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับตนเองว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรและพยายามที่จะแก้ไขในระดับไหน ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้นคือ ใครคือผู้มีอำนาจหน้าที่ที่จะมาต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการศึกษาของเด็กที่เป็นแรงงานข้ามชาติได้ คำตอบของคำถามเหล่านี้ล้วนมุ่งไปสู่การออกกฎหมาย, การกำหนดนโยบายหรือการปฏิบัติตามสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยมีรัฐเป็นผู้วางเงื่อนไขและควบคุม

ความอยุติธรรมที่เกิดจากโครงสร้างจะต้องถูกสั่นคลอน

กษิดิ์เดช มณีรัตน์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการฯอีกหนึ่งและเป็นเจ้าของผลงานศิลปะชื่อ Let [___] be done though the heavens fall ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ตนมีโอกาสเข้าร่วมโครงการ Human ร้าย, Human Wrong ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเคยเข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่ได้ถูกจัดเป็นปีแรกเมื่อปี 2560

Let [___] be done though the heavens fall คืองานพยายามที่จะสื่อถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่มีผู้พิพากษาพยายามจะฆ่าตัวตายเนื่องจากมีการแทรกแซงการทำงานภายในระบบตุลาการ ประกอบกับการที่ตนได้ไปเจอกับสุภาษิตทางกฎหมายที่กล่าวว่า ‘Let justice be done though the heavens fall.’ แปลว่าความยุติธรรมจักต้องมีอยู่ไม่ว่าในสถานการณ์รูปแบบใดก็ตาม ซึ่งเก็ได้นำมาล้อกับการตั้งชื่อของผลงานที่จัดแสดง โดยแต่เดิมทีแล้วจะนำมาล้อกับโครงสร้างทางสังคมไทยที่สะท้อนให้เห็นถึงหายนะของการใช้กฎหมายแต่ฟ้าสวรรค์ก็ยังคงอยู่

Let [___] be done though the heavens fall หนึ่งในผลงานศิลปะของ กษิดิ์เดช มณีรัตน์

นอกจากกรณีเหตุการณ์ของท่านผู้พิพากษาคณากร ที่เป็นตัวจุดประกายแล้วสืบเนื่องไปถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น เช่นกรณีของลุงนวมทองหรือคนอีกหลายๆคนที่เป็นผู้ที่โดนอุ้มหายโดยเขาเหล่านั้นพยายามที่จะเรียกร้องความยุติธรรมเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น แต่เขาเหล่านั้นก็กลับเป็นเสียงที่สั่นคลอนโครงสร้างได้อยู่สักพักหนึ่งแล้วเรื่องก็จางเงียบหายไปตามกาลเวลา

ในตัวงานด้านหนึ่งจะมีส่วนที่เป็นกลไกตัวตั้งเวลาให้ค้อนไปทุบกับแผ่นรองทำให้เกิดการสั่นสะเทือนและเสียงที่ดัง โดยจะตั้งเวลาในการครบรอบการตีในแต่ละครั้งไว้ที่ 100 นาที 12 วินาที และระยะเวลาที่ค้อนจะทุบซึ่งทำให้เกิดเสียงและแรงสั่นจะใช้เวลา 44 วินาที ในส่วนของโมเดลรูปทรงอวัยวะเพศชายที่ถูกจัดวางอยู่ด้านตรงข้ามก็สามารถที่จะตีความได้สองความหมาย ได้แก่ การแสดงถึงปัญหาเรื่องระบบวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย และประการต่อมาคือการสื่อความหมายแบบตรงๆ กล่าวคือ โมเดลรูปทรงอวัยวะเพศชายเป็นภาพแทนของความอยุติธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างสถาบันต่างๆที่อยู่ในสังคม เพื่อให้ค้อนได้ทุบและให้มัน (โมเดลฯ) เกิดการสั่น ดังนั้นการสั่นที่เกิดขึ้นก็อาจเปรียบได้กับการเย้ยต่อประชาชนอยู่ตลอดเวลา

กษิดิ์เดช กล่าวว่า แม้แต่ผ้าคลุมโต๊ะก็มีความหมายโดยตัววัสดุทำมาจากพลาสติกโฮโลแกรมเพื่อเพิ่มความวิลิศมาหราของงานให้มีความอลังการ ซึ่งนอกเหนือจากจะเล่นกับระยะการมองแล้ว หากวัสดุโดนแสงก็จะมีการสะท้อนกลับเป็นสีอื่น ซึ่งหากสังเกตจะพบว่าบนเพดานที่อยู่เหนือชิ้นงานจะมีแสง โดยเป็นการล้อกับคำว่า Heavens fall เพราะทุกครั้งที่ค้อนทุบเหงาสะท้อนข้างบนก็จะมีการสั่นสะเทือนอยู่เสมอ(ทุบจากข้างล้างสะเทือนถึงข้างบน)

อ่านเพิ่มเติมที่ Let『___』be done though the heavens fall โดย กษิดิ์เดช มณีรัตน์   https://bookrepubliconweb.wordpress.com/portfolio/letbedone/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net