Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับนี้ ถึง นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภาที่เข้ามาโดยกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้ “คสช.” องค์กรผู้ก่อการรัฐประหาร เป็นผู้เลือกคุณหมอพลเดชและผู้หลักผู้ใหญ่อีก 249 ท่าน เข้ามาทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้  โดยที่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า “พี่หมอพลเดช”  จะยังจำเด็กกิจกรรมที่ชื่อ  “ต้อง” คนนี้ได้หรือไม่ ?

“ต้อง” คนที่เคยเป็นเลขาธิการสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2551 ที่ต้องรับผิดชอบการจัดงานสัมมนาสภานิสิต-นักศึกษาทั่วประเทศ  เป็นงานสุดท้ายก่อนวางมือจากงานกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งในการจัดงานครั้งนั้น ผมได้รับเกียรติจากพี่หมอพลเดช ตอบรับคำเชิญทางโทรศัพท์มาเป็นวิทยากรการเสวนาที่ผมเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีพี่สมลักษณ์ หุตานุวัตร และวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล  เป็นวิทยากรร่วม

“ต้อง” ที่เคยเป็นผู้จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง (Civic Education)ให้กับแกนนำสภาเด็กและเยาวชน ผู้นำนักเรียนนักศึกษา 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ  ซึ่งเมื่อจะมีการทำเอกสารคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนประชาธิปไตย ภายใต้กระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(ที่พี่หมอพลเดชเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ)  ผมในฐานะผู้ที่มีชื่ออยู่ในคณะกรรมการชุดนี้และมีสิทธิเลือกบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม ผมเป็นคนเสนอชื่อพี่หมอพลเดชเข้ามาร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  ก่อนที่ภายหลังพี่หมอพลเดชจะขอลาออกเพื่อไปให้เวลากับการเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ที่กำกับดูแลสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ThaiPBS)

ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะมีใครกรุณาส่งจดหมายฉบับนี้ไปให้พี่หมอพลเดชได้อ่านหรือไม่?  และไม่รู้ว่าตกลงพี่หมอ พลเดชจะนึกออกหรือไม่? เรื่องเกี่ยวกับ “ต้อง” ที่วันนี้กำลังเตรียมจะปลดเกษียณตัวเองจากการเป็นเยาวชนแล้ว  เพราะเรื่องที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด  มันก็นานมาพอที่ “ต้อง” ซึ่งเป็นเด็กในวันนั้นจะเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้

จะอย่างไรก็ตาม ผมตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับนี้ เป็นเรื่องสืบเนื่องจากที่พี่หมอพลเดช ในฐานะ ส.ว. ผู้ที่ลงคะแนนเลือก “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”  หัวหน้า คสช.  เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังจากที่เป็นนายกฯจากการรัฐประหารมาแล้วถึง 6 ปี   ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่วุฒิสมาชิกที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก  กับการที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  มามีอำนาจลงคะแนนเสียงในห้องประชุมสภาเพื่อเลือกนายกฯ ซึ่งปกติแบบแผนที่ควรจะเป็น  การเลือกนายกฯเป็นกิจของสมาชิสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เรื่องการลงคะแนนเลือกนายกฯที่มันผ่านมาแล้ว ผมขอไม่พูดถึง แต่เรื่องที่ทำให้ผมไม่สบายใจกับท่าทีของพี่หมอพลเดช จนทำให้ผมต้องเขียนจดหมายฉบับนี้  ก็คือการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ต่อกรณีการออกมาชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน  การตื่นตัวของเด็กgen. Z ที่ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดเหมือนที่เคยเกิดขบวนการนักศึกษายุค14ตุลา2516  ในนาม “ขบวนการเยาวชนปลดแอก” แถมเป็นปรากฏการณ์ที่ฉีกทุกๆตำราประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างสิ้นเชิง  แต่พี่หมอพลเดชในฐานะ ส.ว.  พ่วงด้วยการเป็น “ฅนเดือนตุลา” กลับให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า

“... ม็อบนี้ถ้าจุดติดก็แค่วูบวาบ ปฏิวัติมวลชนไม่ได้ อีกทั้งคนที่มาก็ไม่มีจิตสำนึก หรืออุดมการณ์เหมือนนักศึกษาสมัยก่อน เป็นม็อบเด็กใช้อารมณ์ ไร้เดียงสา..”

พูดภาษาคนรุ่นราวคราวผม เด็กgen Y – Z มันก็เหมือนพี่หมอพลเดชจะ “ขิง” ว่าม็อบนักเรียนนักศึกษาที่กำลังขับไล่รัฐบาลเผด็จการฟอกตัวที่มี ส.ว. อย่างพวกพี่เป็นนั่งร้านอยู่นั้น  ไม่ใช่ของจริง ไม่เหมือนขบวนการนักเรียนนักศึกษารุ่นตุลา2516-2519 ที่พี่หมอพลเดชเคยเป็นผู้นำ

และสิ่งที่ผมไม่ค่อยเข้าใจก็คือ  “อุดมการณ์” ที่พี่หมอพลเดชพูดมานี้  หมายถึงอะไร?  หมายถึงความมีปณิธานแน่วแน่ ซื่อตรง ตามการตีความหมายแบบไทย  หรือว่าอุดมการณ์ที่แปลว่า IDEOLOGY ที่อาจหมายถึงชุดความคิดจัดตั้งทางการเมือง (เช่น เสรีนิยม  สังคมนิยม ฯลฯ)

แต่จะในความหมายใดนั้น  มันก็คงไม่น่าจะใช่เรื่องสำคัญ เพราะแรงขับที่ทำให้เด็กgen Zพวกนี้ต้องออกมาเป็นผู้นำมวลชน มันคือการที่พวกเขาเติบโตมากับความถดถอยของประเทศในทุกๆด้านอันเกิดจากการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช.   ที่มาจากการรัฐประหาร แล้วอยู่มาถึง 6 ปี   ซึ่งมันคือ 6 ปี ที่ประเทศไทยล้มเหลวทุกๆด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  ความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน  ธรรมาภิบาล  แล้วผู้นำคนเดิมยังใช้การเลือกตั้งตามกติกาที่ตนเขียนเอง มาส่งตัวเองเป็นนายกฯต่ออีกครั้งด้วยการเลือกตั้งมีสารพัดข้อครหา มีตรรกะพิสดารที่สุดในโลก

ทั้งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา กระบวนการนิติบัญญัติของประเทศ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่ คสช. แต่งตั้งมา ก็ได้ทำให้เกิดกฎหมายที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน x ทหาร  มากมาย   ซึ่ง สนช. ที่อายุน้อยที่สุดในสภาคือประมาณ 50 ปี และที่อายุมากที่สุดในสภาคือ 90 กว่าปี  เหล่านี้คือคนที่มาเขียนกฎหมายที่มีผลผูกพันอนาคตของคนรุ่นผม ที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกต่อไปอีกอย่างน้อย 40-50 ปี  ยังไม่นับพวกน้องๆเด็กgen Z !

6 ปีที่ผ่านมา กับการที่สังคมไทยถูกผูกขาดอำนาจ ผูกขาดอนาคตสังคมโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมคนสูงวัย !

6 ปีนี้ยาวนานพอที่เด็กมัธยมต้น  มีเวลาจะเติบโตพอที่จะเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยกันเลยนะครับ!.

ฉะนั้น เด็กๆพวกนี้จะออกมาโดยIdeologyแบบไหน? คงไม่ใช่เรื่องสำคัญ  เท่ากับสภาวะสังคมที่คนรุ่นพวกเรา (รุ่นราวคราวผมจนถึงรุ่นเด็กลงไป) ไม่อาจจะทนกับการเมืองผูกขาดของเผด็จการที่มีความคิดหลงยุคได้อีกต่อไป!

และถ้าพี่หมอพลเดชพอจะมีเวลาและเปิดใจรับฟังการแสดงออกของม็อบสักหน่อย พี่หมอจะได้รับรู้ว่า ม็อบเด็กที่ออกมากันวันนี้ ไม่ได้พูดกันแค่เรื่องความไม่พอใจรัฐบาล  ไม่ได้มีแค่การบ่นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่เราต้องยอมรับร่วมกันแล้วว่า 6 ปีมันแย่จริงๆ รวยจุก จนกระจาย การกระจายความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจล้มเหลว

แต่ในยุคนี้ พี่หมอเชื่อไหมว่า ม็อบที่ชูเป้าหมายหลักเรื่องการขับไล่เผด็จการ  กลับกลายเป็นพื้นที่ที่ได้พูดถึงวาระทางสังคมที่ถูกละเลยมานาน  ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน  สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของคนชายขอบกลุ่มต่างๆ  สิทธิความหลากหลายทางเพศ  สิทธิของพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker)  ฯลฯ

ตัวผมเองก็ได้รับเกียรติให้ขึ้นปราศรัยบนเวทีที่พวกน้องๆจัดขึ้นเวทีหนึ่ง ซึ่งผมรู้สึกว่า มันคือการพลิกโฉมประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยสิ้นเชิง  กับเวที “ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาลขา” ที่ไม่ใช่แค่เวทีม็อบเวทีแรกๆที่พวกเราได้พูดประเด็นLGBT+ ควบคู่ไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เวทีนี้ยังมีน้องๆนิสิตนักศึกษาที่เป็นเพศLGBT+ เป็นตัวตั้งตัวตีในการชุมนุมด้วย เรียกได้ว่าเรากำลังยกระดับประชาธิปไตยใหม่ ก้าวหน้าข้ามพ้นจากกรอบ “ปิตาธิปไตย” ไปแล้วด้วย 

คนรุ่นใหม่กำลังใช้โอกาสนี้ในการวาดฝัน ออกแบบสังคมแห่งความเสมอหน้า  ในขณะที่ม็อบ 14 ตุลา ยุคนั้นยังมีเพียงแค่ว่า “ต้องการรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น โดยที่ไม่ได้มีรายละเอียดด้วยซ้ำว่ารัฐธรรมนูญจะต้องเป็นอย่างไร? (อันนี้ผมไม่ได้นั่งเทียนเขียนเองนะครับ  ตอนผมเรียนหลักสูตรผู้นำกับอาจารย์สังศิต พิริยรังสรรค์ เพื่อน ส.ว. ของพี่หมอ  แกก็บอกมาแบบนี้เอง)

ถ้าพี่หมอมีโอกาสได้มาฟังโดยเปิดตา เปิดหู เปิดใจ พี่หมออาจได้พบว่า สิ่งที่พูดกันบนเวทีม็อบของเด็กๆพวกนี้ มีวาระที่ก้าวหน้า ทันยุคสมัย มีภาพฝันของสังคมใหม่ที่ชัดเจน  ซึ่งเผลอๆจะชัดเจน ก้าวหน้ากว่าสิ่งที่พี่หมอได้ทำในคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่พี่หมอเป็นรองประธานด้วยซ้ำ  และยังดูจะก้าวหน้ากว่าสิ่งที่พวกเราได้คุยกันในหลายวงประชุมที่ผ่านมาที่ผมมักจะเป็นผู้ร่วมประชุมที่อายุน้อยที่สุดในแทบทุกวงด้วย (ทุกวันนี้ คนทำงานภาคประชาสังคมรุ่นราวคราวพี่หมอ ยังมักเดินมาถามผมหลังจบประชุมอยู่เลยว่า  “LGBT+” คืออะไร? ในขณะที่ขบวนการภาคประชาสังคมนานาประเทศเขาขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังจนไปไกลแล้ว)     

เรื่องบทบาทของพี่หมอหลังจากนี้ในฐานะ ส.ว. 250 ที่มาจาก คสช. จะเป็นอย่างไร  คงเป็นสิ่งที่พี่หมอคงต้องตอบคำถามตัวเอง เพราะบนเวทีม็อบของพวกเด็กๆก็พูดกันชัดเจนแล้วว่าทุกวันนี้เขาเห็นพวกพี่หมอเป็นอะไร  แต่ถ้าพี่หมอมีความตั้งใจจริงที่จะทำงานในตำแหน่ง ส.ว. นี้ต่อไป ด้วยความหวังว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้น  เหมือนกับที่พี่หมอเคยเป็นรัฐมนตรีสายตรงเอ็นจีโอคนแรกที่ผมเคยรู้สึกชื่นชมและภูมิใจในตัวพี่หมอมากๆ  พี่หมอลองเปิดใจเดินเข้ามาฟังสิ่งที่นักเรียนนักศึกษากำลังเรียกร้องทวงคืนอนาคตสังคมในอุดมคติของพวกเขา  ก็คงจะเป็นประโยชน์และเป็นบรรยากาศที่ดีไม่น้อย  ซึ่งถ้าพี่หมอมีความจริงใจ  ผมพร้อมเสมอที่จะอาสาพาพี่หมอมาฟังเสียงเด็กๆที่กำลังออกแบบอนาคตของตนเองกัน

 

เคารพและระลึกถึงเสมอ

วรภัทร วีรพัฒนคุปต์

(ชื่อจริงของ “ต้อง” ที่พี่ๆในภาคประชาสังคมหลายคนเรียก เขียนกันไม่ค่อยจะถูก เลยมักจะเรียกกันแต่ชื่อเล่น)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net