Skip to main content
sharethis

ในฟิลิปปินส์เกิดเหตุนักคุ้มครองสิทธิมนุษยชนถูกสังหารเป็นรายที่ 13 แล้วนับตั้งแต่ที่ดูเตอร์เตเป็นประธานาธิบดีครั้งล่าสุด สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ผู้สังเกตการณ์และนักสิทธิมนุษยชนเรียกว่าเป็นการยกระดับ "สงครามต่อต้านผู้ขัดแย้งกับรัฐบาล" ผู้เสียชีวิตเป็นนักสิทธิมนุษยชนกลุ่มการาปะตันชื่อ ซารา อัลวาเรซ

ซารา อัลวาเรซ : © Christina Palabay/Facebook

19 ส.ค. 2563 สื่ออัลจาซีรารายงานว่าซารา อัลวาเรซ อดีตผู้อำนวยการของกลุ่มแนวร่วมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนการาปะตันถูกสังหารในช่วงเย็นวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยถูกยิง 6 นัด ในตอนที่เธอกำลังกลับบ้านหลังจากออกไปซื้ออาหาร ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่าเธอเป็นนักสิทธิฯ รายที่ 13 แล้วในฟิลิปปินส์ที่ถูกสังหารภายใต้รัฐบาลดูเตอร์เตชุดล่าสุดนับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

ตำรวจระบุว่าอัลวาเรซถูกสังหารโดยคนร้ายที่ยังระบุตัวไม่ได้ภายในใจกลางเมืองบาโคลอด มีผู้เห็นเหตุการณ์พยายามไล่ตามผู้ก่อเหตุ แต่ผู้ก่อเหตุก็หนีไปได้จากการช่วยเหลือของผู้สมรู้ร่วมคิดที่ให้เขาขึ้นมอเตอร์ไซค์หนีไป

ในวันที่ 19 ส.ค. ฝ่ายสืบสวนของรัฐบาลให้สัญญาว่าจะทำการสืบสวนคดีนี้และกล่าวว่าเขาจะพิจารณาเรื่องที่เหยื่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับ "กลุ่มฝ่ายซ้าย" มาเป็นเบาะแสในการสืบสวนมูลเหตุแรงจูงใจสังหารในครั้งนี้ด้วย

อัลจาซีราระบุว่าการเสียชีวิตของอัลวาเรซเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ดูเตอร์เตลงนามออกกฎหมาย "ต่อต้านการก่อการร้าย" ฉบับใหม่ของฟิลิปปินส์ที่ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่อ้างใช้กำจัดคนเห็นต่างได้ง่ายขึ้น จากการที่มีเนื้อหาอนุญาตให้มีการจับกุมตัวบุคคลได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับ และอนุญาตให้มีการคุมขังบุคคลได้นานขึ้นทั้งที่ไม่มีข้อหา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเตือนว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะถูกนำมาอ้างใช้เล่นงงานใครก็ได้ที่วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี

คริสตินา พาลาเบย์ หัวหน้าองค์กรการาปะตันกล่าวหาว่า รัฐบาลมีส่วนร่วมในการสังหารอัลวาเรซเมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์แล้ว พาลาเบย์เปิดเผยว่าอัลวาเรซเคยได้รับการข่มขู่จากเจ้าหน้าที่รัฐบาลมาก่อน และถูกลิสต์รายชื่อโดยกระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์ว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" นอกจากนี้สภาพการณ์ที่ฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว ทำให้มีเจ้าหน้าที่รัฐประจำจุดตรวจในที่ต่างๆ แต่น่าสังเกตว่าทำไมคนร้ายถึงถูกปล่อยให้หนีไปได้ทั้งๆ ที่มีเจ้าหน้าที่คุมเข้ม

ในการตั้งปมเรื่องความเกี่ยวข้องกับฝ่ายซ้ายในฟิลิปปินส์นั้น ดูเตอร์เตเป็นประธานาธิบดีที่เคยพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์มาก่อนโดยสัญญาว่าจะมีการเจรจาข้อตกลงสันติภาพให้สำเร็จหลังจากที่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏกับรัฐบาลเกิดขึ้นมายาวนานมากกว่า 50 ปี และส่งผลให้มีคนเสียชีวิตมากกว่า 30,000 ราย

แต่ถึงแม้จะมีการพยายามหารือสันติภาพหลังจากที่ดูเตอร์เตเข้าสู่ตำแหน่ง แต่การเจรจาก็ล่มไปในช่วงกลางปี 2560 หลังจากนั้นดูเตอร์เตก็กลายเป็นคนที่ใช้โวหารโจมตีกลุ่มกบฏ ประกาศว่าพวกเขาเป็น "ผู้ก่อการร้าย" และประกาศว่าจะกำจัดกลุ่มกบฏกลุ่มนี้ให้หมดหลังจากที่มีกรณีการซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกิดขึ้น มีครั้งหนึ่งถึงขั้นใช้โวหารเหยียดเพศในทำนองว่าจะ "ยิงกบฏที่เป็นผู้หญิง" ที่อวัยวะเพศ

นอกจากดูเตอร์เตจะมีปฏิบัติการขยายผลในการต่อต้านกลุ่มกบฏแล้ว เขายังเลยเถิดไปตั้งเป้าความไม่พอใจกับนักกิจกรรม องค์กรเกษตรกร และนักรณรงค์ด้านสิทธิที่ดินทำกินด้วย บุคคลเหล่านี้วิพากษ์วิจารณ์ดูเตอร์เตเรื่องสงครามต่อต้านยาเสพติด ในขณะเดียวกันฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่รายอื่นๆในรัฐบาลดูเตอร์เตต่างก็เริ่มประณามกลุ่มนักกิจกรรมเหล่านี้ว่าเป็น "หน้าร้าน" ให้กับกลุ่มกบฏ ทำให้เป็นที่กังวลว่าบุคคลเหล่านี้จะถูกสังหารหลังจากที่ดูเตอร์เตกล่าวหาแปะป้ายว่าผู้คนเหล่านี้เป็น "ผู้ก่อการร้าย" ฝ่ายรัฐบาลปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งเป้าสังหารใคร และบอกว่าคนที่ถูกสังหารเป็นคนที่ขัดขืนการจับกุม

อัลวาเรซเป็นคนที่ทำงานส่งเสริมสิทธิชาวนาในเนโกรสมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยที่ในพื้นที่เนโกรสนี้มีเจ้าของไร่อ้อยไม่กี่กลุ่มที่มีสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับรัฐบาล ในปี 2562 อัลวาเรซเคยนำกลุ่มชาวนาเพื่อบันทึกและประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองกำลังรัฐบาลที่สังหารคนทำงานในไร่นาโโยที่รัฐบาลอ้างว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ และมีการกล่าวหาว่าอัลวาเรซเป็นผู้เห็นใจกลุ่มกบฏหรือไม่ก็กล่าวหาว่าเป็นสมาชิกกลุ่มกบฏ ในตอนนั้นอัลวาเรซกล่าวต่อสื่อว่าเธอเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้สังหารคนงานไร่นาในเนโกรส

จนกระทั่งถึงวันนี้เป็นตัวอัลวาเรซเองที่ถูกสังหาร องค์กรสหภาพทนายความประชาชนแห่งชาติฟิลิปปินส์ (NUPL) แถลงการณ์ประณามการสังหารอัลวาเรซและบอกว่ากรณีสังหารในครั้งนี้มีเจตนาเพื่อ "สร้างความหวาดกลัว" อย่างเห็นได้ชัด

นอกจากกรณีของอัลวาเรซแล้วก่อนหน้านี้ไม่นานยังมีกรณีการสังหาร แรนดัล เอคานิส นักกิจกรรมประธานองค์กรเพื่อคนยากจนในเมืองผู้ที่ถูกสังหารในวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ญาติของเอคานิสเล่่าว่านักกิจกรรมผู้นี้กำลังรักษาตัวทางการแพทย์และไม่มีอาวุธในช่วงที่เขาถูกสังหาร ขัดกับคำกล่าวอ้างที่ว่าเขาปะทะกับตำรวจจนถูกสังหาร

เรียบเรียงจาก

Human rights leader killed in Philippine 'war against dissent', Aljazeera, 19-08-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net