Skip to main content
sharethis

"CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน สนท. ชี้เป็นเรื่องหน้าเศร้าหากประชาชนต้องอยู่ในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย ผู้ปกครองบ้าอำนาจ หวังเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องนำสังคมไทยสู่หลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน

'กลุ่ม CARE' ตั้งวง 13 คน ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของปชช. 'คำ ผกา’ ย้ำต้องฉีก ‘รธน.ฉบับวัฒนธรรม’, 8 ส.ค. 2563

CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน [YouTube]

เวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ช่วง "รัฐธรรมนูญในฝัน" จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วม พร้อมเเจ้งว่า เวลานี้ตนเองเป็น 1 ใน 31 รายชื่อในกลุ่มผู้ถูกกล่าวคดีเดียวกันกับ อานนท์ นำภา ซึ่งในเวลานี้มีเพียง 2 คนที่ถูกจับกุมและเข้าสู่กระบวนการพิจารณาฝากขังของศาลแล้ว โดยตอนนี้ประชาชนหลายคนได้ไปปักหลักรอฟังผลการพิจารณาที่ศาลอาญารัชดา และในช่วงเย็นกลุ่มนักศึกษาก็จะจัดเวทีแฟลชม็อบบริเวณสกายวอล์คหอศิลปวัฒนธรรมฯ โดยในจะมีการพูดถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เรื่องรัฐธรรมนูญ

จุฑาทิพย์ กล่าวต่อว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังจากทำกิจกรรมทางการเมือง ได้เจอการคุกคามหลายรูปแบบทั้งการติดตาม ดักฟัง ถูกถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ และล่าสุดคือการดำเนินคดี สิ่งเหล่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับนักเคลื่อนไหว และประชาชนทั่วไปในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย และในประเทศที่มีผู้ปกครองบ้าอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แม้ตนเองจะมีอายุ 21-22 ปีแล้ว ก็ยังไม่เคยเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศ และไทยยังคงอยู่ในประเทศที่รัฐสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คน ยังคงเป็นประเทศที่ประชาชนต้องเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน

เธอเล่าต่อว่า ตัวเองเป็นคนต่างจังหวัด จึงไม่เห็นอะไรมากนัก แต่ก็มีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม อยากเป็นนักเคลื่อนไหว และถ้ามีโอกาสก็อยากทำให้สังคมดีมากขึ้นกว่านี้ แต่สิ่งที่เป็นอยู่ ทุกครั้งที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง สิ่งที่ได้รับกลับมาจากรัฐคือการต่อต้าน ไม่มีครั้งใดที่รัฐจะมองเห็นว่าพวกเราคือ พลเมืองคนหนึ่ง ซึ่งทำให้ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เรากับเขาเป็นคนเท่ากันหรือเปล่า”

“เราต้องการให้คนเท่ากัน เป็นราษฎรเสมอหน้าเท่ากันหมด แต่เรากลับต้องกลายเป็นผู้ต้องหาในหลายคดี และกลายเป็นว่าที่ผู้ต้องหาในคดีที่กำลังจะเกิดขึ้น เอาตรงๆ เราออกมาเคลื่อนไหวก็เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย เพื่อให้ประเทศนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพราะเรายังอยู่ในกติกาที่ไม่เป็นธรรม อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนให้มีสิ่งที่อยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญได้” จุฑาทิพย์ กล่าว

จุฑาทิพย์ กล่าวต่อถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎรว่า ต้องพูดถึง ปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นคนร่างหลัก 6 ประการนี้ขึ้นมา แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดหลัก 6 ประการขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญถูกฉีกไป จนกระทั่งปี 2489 เรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แต่สุดท้ายก็ถูกฉีกไปเช่นเดิม ต่อมาในปี 2540 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดอีกฉบับหนึ่ง ความน่าสนใจของรัฐธรรมนูญ 2540 คือ การกระจายอำนาจ และการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระมากมาย แต่ก็มีชะตากรรมเช่นเดิม รัฐธรรมนูญฉบับบี้ไม่สามารถอยู่ได้ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และถูกฉีกทิ้งไปอีกฉบับ

จุฑาทิพย์ กล่าวถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ต้องมองรัฐธรรมนูญในฐานะ rules of game ซึ่งจะนำไปสู่หลัก 6 ประการของคณะราษฎร เป็นการสร้างสังคมไทยสู่หลักการประชาธิปไตย และหลักแห่งสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นมาตราฐานสากล และสามารถชี้วัดถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศได้ โดย rules of game จะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง จะดีขึ้น หรือเลวร้าย ประชาชนจะยากแค้น หรืออยู่ดีมีสุข ก็ขึ้นอยู่กับว่า rules of game นี้จะเป็นอย่างไร

จุฑาทิพย์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่นั้นจะดีขนาดไหน แต่ถ้าร่างมาแล้วโดนฉีกทิ้งอีกก็ไม่มีความหมายอะไร สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องมองไปถึงกลไกที่จะทำให้รัฐธรรมนูญ เป็นรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับสุดท้าย ที่จะไม่มีใครมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอีก

“ที่พูดมานี้ ไม่ได้ต้องการให้กลับไปใช้รัฐธรรมมนูญ 2489 หรือ รัฐธรรมนูญ 2540 แต่เราจะผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ และเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า และไปได้ไกลกว่ารัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่กล่าวมา รัฐธรรมนูญนี้จะต้องมีความยืดหยุ่น แต่ล้มยาก และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ประชาชนต้องมีชีวิตที่ดีกว่า และมีความเท่าเทียมเสมอหน้า และจงจำไว้ว่าหากใครถามว่าสิ่งที่เราผลักดันจะแตะประเด็นนั้นไหม ก็บอกได้เลยว่า ไม่ว่าเราจะพูดถึงเรื่องไหน ถ้าจะให้มีรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย ย่อมหมายถึง ไม่ว่าคุณจะเป็นนายทุน ขุนศึก หรือศักดินาหน้าไหน จะคนเหนือ คนใต้ คนเดินดิน คนบนฟ้า ถ้าอยู่ประเทศนี้เมืองนี้ ก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันทุกคน” ประธาน สนท. กล่าว

สำหรับการอภิปรายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ เมื่อ 8 ส.ค. 63 โดยกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ร่วมกับสำนักข่าวประชาไท เพื่อร่วมคิดหาหนทางออกจากหุบเหวมหาวิกฤติ ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย ให้เป็น "ฉบับสุดท้าย" ของประเทศไทย และให้มันเกิดขึ้นที่รุ่นเราจริงๆ เสียที โดยใช้แฮชแท็กในงานว่า #รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย #ให้มันเกิดที่รุ่นเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net