Skip to main content
sharethis

รายงานวงเสวนา 'เก่งกิจ-ปิ่นแก้ว-ศรยุทธ' ถก “อยู่ กลืน กลาย” การสะท้อนย้อนคิดการศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยในปัจจุบัน จากงานสัมมนาวิชาการเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตสาขาสังคมและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 19 ปีการศึกษา 2563

  • ถกประเด็นตั้งแต่ ภววิทยาของเส้นกับการสร้างสรรค์
  • การทำความเข้าใจ ‘ชายจริงหญิงแท้’ ‘เพศที่สาม’ ‘สาวประเภทสอง’ ในสังคม
  • ‘ความเชื่อในโลก’: ตัวจุดประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การกลายเป็น
  • ‘การสร้างตัวกลางในการรับรู้เชิงชาติพันธ์’: การประยุกต์มานุษยวิทยาว่าด้วยการกลายเป็นสู่การทำงานภาคสนาม

ระหว่างวันที่ 6-7 ส.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานสัมมนาวิชาการเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 19 ปีการศึกษา 2563 โดยวันที่ 6 ส.ค. เวลาประมาณ 09.00-09.45 น. มีเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “อยู่ กลืน กลาย: การสะท้อนย้อนคิดการศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยในปัจจุบัน” อภิปรายโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ และอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้ง ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์จากคณะเดียวกัน 

เก่งกิจ : ว่าด้วยภววิทยาของเส้นกับการสร้างสรรค์

เก่งกิจ เริ่มด้วยการเล่าภาพรวมของ “อยู่ กลืน กลาย” งานเสวนาในสัมมนาวิชาการเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาครั้งนี้ว่ามาจากคำว่า Dwelling Belonging และ Becoming ในภาษาอังกฤษ โดยอภิปรายว่าช่วงต้นศตวรรษที่ 21 Tim Ingold นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษเปิดฉากบทความเกี่ยวกับ Animism ของตนเองโดยโต้แย้งกับ Aristotle เรื่องการมองเรื่อง “การสร้างสรรค์” (Creation) เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Aristotle ได้ให้ความสำคัญกับจิต (Mind) ในฐานะผู้สร้าง ซึ่งจิตจะทำหน้าที่เปลี่ยนเนื้อหา (Matter) ให้กลายเป็นรูปแบบ (Form) ดังนั้นสิ่งสร้างจึงเป็นผลของเจตจำนงของจิตที่เปลี่ยนหรือนำเนื้อหากับรูปแบบให้อยู่รวมกันในสิ่งสร้างทั้งหลาย แต่ Tim Ingold ชี้ว่าสำหรับ Paul Klee จิตรกรชาวสวิสแล้วนั้นความคิดของ Aristotle ได้สร้างปัญหาตามมาอย่างน้อย 2 ประการ ดังนี้ ประการแรก Aristotle ได้แยกระหว่างผู้สร้างกับสิ่งสร้าง ทำให้ผู้สร้างมีฐานะเป็นองค์ประธานหรือ (Subject) ของการสร้างสรรค์ ส่วนสิ่งสร้างกลายเป็นวัตถุกรรม (Object) ของผู้สร้าง ในแง่นี้สิ่งสร้างย่อมปราศจากเจตจำนงของตนเอง ขณะที่ผู้สร้างนั้นมีเจตจำนงและจิต ส่งผลให้ในการทำความเข้าใจหรือสร้างสัมพันธ์กับสิ่งสร้างต้องกลับไปยังเจตจำนงของผู้สร้างมากกว่าที่สิ่งสร้างจะมีอิสระหรือชีวิตของตัวมันเอง ประการต่อมา Aristotle ได้ทำให้เกิดทวิภาวะระหว่างสิ่งสร้างกับผู้สร้าง รวมถึงการแยกระหว่างองค์ประธานกับวัตถุกรรมโดยวางอยู่บนการให้ความสำคัญกับเฉพาะมนุษย์ ทำให้มนุษย์เท่านั้นที่สามารถเป็นผู้สร้างได้ ส่วนอมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไร้ชีวิตกลับมีสถานะเป็นเพียงวัตถุหรือสิ่งที่มนุษย์เป็นผู้ใช้หรือสร้างขึ้นมาเท่านั้น วิธีการมองแบบทวิภาวะดังกล่าวนำมาสู่การให้ความสำคัญกับการเข้าใจและเข้าถึงความจริงที่ผูกไว้ซึ่งผู้สร้างที่เป็นมนุษย์เท่านั้น โดยลดทอนสิ่งอื่นๆ ให้เป็นเพียงวัตถุที่ถูกสร้างซึ่งปราศจากความคิด จิตใจ เจตจำนง และอัตลักษณ์ของตนเอง

เก่งกิจ ขยายความต่อว่า ดังนั้นสำหรับ Paul Klee แล้วรูปแบบจึงไม่ใช่ภาพแทน พื้นผิว หรือเปลือกนอกของเนื้อหา (Matter / Content) และไม่ใช่สิ่งที่จบสิ้นตายตัว แต่รูปแบบเป็นเรื่องของ ‘เส้นทาง’ (Path) ดังที่เขาได้กล่าวไว้ว่า “การศึกษา เกี่ยวกับรูปแบบนั้นสนใจวิถีทางที่นำไปสู่การสร้างรูปแบบ มันคือการศึกษารูปแบบแต่มุ่งเน้นไปที่เส้นทางสารพัดของการสร้างรูปแบบมากกว่าตัวรูปแบบเอง” ซึ่งสำหรับ Tim Ingold แล้ว ข้อเสนอของ Paul Klee ดูจะเป็นทางออกจากทวิภาวะที่ Aristotle สร้างขึ้น โดย Paul Klee ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การสร้างรูปแบบคือการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นการกระทำแบบหนึ่งและการสร้างรูปแบบดังกล่าวก็คือชีวิต” ภายใต้ความคิดดังกล่าวนี้ รูปแบบจึงไม่ใช่เรื่องของผลผลิตที่ตายตัวในขั้นสุดท้าย (Finished) แต่รูปแบบเป็นผลผลิตของกระบวนการของการใช้ชีวิตและการมีชีวิต ซึ่งการมีชีวิตเป็นคนละเรื่องกับการคิดขณะที่การคิดเป็นเรื่องจิตที่คิดเกี่ยวกับวัตถุ แต่การมีชีวิตเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกัน (Being-With) กับสิ่งอื่นๆ ที่คิดได้เช่นเดียวกับเรา

“กรอบของการอยู่ร่วมกันจึงต้องการความเข้าใจและเหนืออื่นใดคือการยอมรับว่าสิ่งอื่นๆ ล้วนมีศักยภาพที่จะคิดไม่ต่างจากมนุษย์ และเมื่อสิ่งอื่นๆ คิดได้ก็ย่อมหมายความว่าสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ก็สามารถมีสถานะเป็นองค์ประธานได้ด้วย ดังนั้นการเป็น (Being) ของตัวเราจึงไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศที่สามารถแบ่งแยกระหว่างภายในที่เป็นตัวเราออกจากภายนอกที่เป็นสิ่งอื่นได้ แต่ตัวเราเป็นผลผลิตของการใช้ชีวิตหรือการอยู่ร่วมกับสิ่งอื่น การเป็นจึงไม่ใช่สภาวะที่หยุดนิ่งตายตัวหรือเป็นผลผลิตสุดท้ายของผู้สร้าง แต่เป็นสภาวะของการสร้างรูปแบบและเนื้อหาของชีวิตและการสร้างโลก (Worlding) อยู่ตลอดท่ามกลางความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ โดยที่สรรพสิ่งที่อยู่ร่วมกันต่างก็มีสถานะเป็นองค์ประธานหรือผู้สร้างให้แก่กันและกันอย่างพร้อมๆ กัน” เก่งกิจ กล่าว

สำหรับการอธิบายประเด็นนี้ Tim Ingold ได้กลับไปหาอุปมาเรื่องเส้นกับจุดในงานของ Gilles Deleuze และ Felix Guattari เขาชี้ไว้ว่า กรอบคิดแบบทวิภาวะซึ่งดำรงอยู่ในโลกตะวันตกนั้นได้มองตัวตน จิต และจิตสำนึกในลักษณะที่เป็น ‘จุด’ (Point) นั่นคือหยุดนิ่งและแน่นอนตายตัว การทำความเข้าใจการสร้างสรรค์จึงต้องกลับไปหาจุดซึ่งเป็นเรื่องของจิตและเจตจำนงของผู้สร้างเป็นหลัก แต่ในกรอบคิดอีกประเภทหนึ่งนั้นสรรพสิ่งสัมพันธ์กันและดำรงอยู่ในฐานะที่เป็น ‘เส้น’ (Line)  ซึ่ง Tim Ingold เรียกว่า ‘เส้นชีวิต’ (Life-Lines) ในฐานะที่สรรพสิ่งเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาคล้ายการวิ่งไปของเส้น ซึ่งเส้นโดยตัวมันเองนั้นปฏิเสธการมีสถานะเป็นจุด เพราะจุดไม่มีการเคลื่อนที่แต่เส้นกลับเป็นสิ่งที่ต้องการการเคลื่อนที่ และความต่างระหว่างจุดกับเส้นอีกประการหนึ่งคือ ในขณะที่จุดเป็นเรื่องของการหาอัตลักษณ์และการสถาปนาองค์ประธานแบบเดียว แต่เส้นเป็นสภาวะก่อนหรือแม้แต่เป็นสภาวะของการปฏิเสธการเกิดอัตลักษณ์ ต่อให้เรากำหนดจุดหรือปักหมุดลงบนเส้นเส้นหนึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจุดจุดนั้นคืออัตลักษณ์หรือแก่นของเส้นเส้นนั้น ต่อให้เรากำหนดจุดหลายๆ จุดในเส้นเส้นนั้นการบวกกันของจุดต่างๆ ก็ย่อมไม่เท่ากับเส้นเส้นนั้นอยู่ดี เพราะเส้นเป็นเรื่องของการเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องของตัวมันเอง ไม่ใช่การต่อกันของจุดแบบที่เราลากเส้นจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งแต่เส้นไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ เราอาจจะเริ่มต้นและสิ้นสุดการพูดถึงมันจากตำแหน่งไหนของเส้นก็ได้ ในแง่นี้เส้นของชีวิตสำหรับ Tim Ingold จึงเป็นสภาวะของความต่อเนื่อง ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด เพราะเราอาจลากเส้นต่อไปได้อีกในหลากหลายทิศทาง การหาจุดกำเนิดของเส้นในฐานะที่เป็นแหล่งอ้างอิงอัตลักษณ์ของเส้นจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้

และ Tim Ingold ยังชี้ว่าจากอุปมาของเส้นและจุดดังกล่าว กรอบคิดของ Aristotle และโลกตะวันตกสมัยใหม่คือความคิดแบบจุด ส่วนความคิดแบบ Animism คือภววิทยาแบบเส้นที่เป็นเรื่องของความต่อเนื่องที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ดังที่กล่าวไปแล้วว่าภววิทยาแบบเส้นเป็นสภาวะก่อนเกิดอัตลักษณ์หรือแม้แต่การปฏิเสธอัตลักษณ์ ภววิทยาแบบเส้นจึงไม่สามารถจะระบุว่าสิ่งใดเป็นองค์ประธานและสิ่งใดเป็นวัตถุกรรมได้ ในความหมายที่ว่าสรรพสิ่งสัมพันธ์กันคล้ายกับเส้นจำนวนมากที่มาตัดกันและไขว้กันไปมา การก่อเกิดอัตลักษณ์ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราวคือผลผลิตของการตัดกันของเส้นจำนวนหนึ่งที่มีคุณสมบัติต่างกันและมาประกอบกันเป็นคุณสมบัติหรืออัตลักษณ์ของสิ่งๆ หนึ่ง อัตลักษณ์ซึ่งเป็นผลของการตัดกันของเส้นจึงหมายถึง การที่สิ่งต่างๆ ที่มาสัมพันธ์กันนั้นอยู่ในลักษณะที่พึ่งพิงและดำรงอยู่ด้วยกัน (Entanglement) การดำรงอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพิงกันจึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะระบุได้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีสถานะเป็นองค์ประธานหรือเป็นวัตถุกรรม โดยมีข้อเสนอว่าโลกของภววิทยาแบบเส้นเป็นโลกที่ไม่มีวัตถุกรรม (A World Without Object) เพราะสรรพสิ่งนั้นมีสถานะเป็นองค์ประธานของสิ่งอื่นๆ ด้วย

เก่งกิจ ชวนย้อนกลับไปยังข้อโต้แย้งของ Paul Klee ต่อ Aristotle ว่าสิ่งสร้างในความคิดของ Paul Klee นั้นมีสถานะเป็นผู้สร้างด้วย และผู้สร้างซึ่งเป็นศิลปินก็ไม่สามารถผูกขาดสิ่งสร้างที่ตนเองสร้างขึ้นได้ เนื่องจากที่จริงแล้วแม้แต่ในกระบวนการสร้างนั้นเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างสรรค์ก็ทำหน้าที่สร้างผู้สร้างด้วยพร้อมๆ กัน และในกระบวนการที่สิ่งสร้างเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ ภายหลังการสร้างของผู้สร้าง สิ่งสร้างก็ถูกสร้างใหม่ผ่านการให้ความหมายใหม่ และการปรับเปลี่ยนรูปแบบเนื้อหาของตัวมันได้ผ่านสิ่งที่ไปปฏิสัมพันธ์ด้วยอยู่เสมอ คำถามคือในความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างคนแรก สิ่งสร้าง และผู้ที่เห็นหรือเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งสร้างดังกล่าว ใครกันแน่ที่เป็นองค์ประธาน และใครกันแน่ที่เป็นวัตุกรรม คำตอบในที่นี้คือไม่มีสิ่งใดที่เป็นวัตถุกรรม ทั้งสามฝ่ายต่างก็เป็นองค์ประธานให้แก่กันและกัน ในแง่นี้ความหมายและความจริงจึงไม่ใช่สิ่งที่ดำรงอยู่ ‘ภายใน’ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้สร้าง สิ่งสร้าง หรือผู้ชม แต่ความหมายเป็นสิ่งที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างของสิ่งต่างๆ โลกใหม่ที่แตกต่างอาจถูกสร้างขึ้นบนปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสร้างที่หลุดลอยจากมือของผู้สร้างไปแล้วกับผู้ชม โลกที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งสร้างและผู้ชมจึงเป็นโลกคนละใบกับโลกที่เกิดขึ้นระหว่างผู้สร้างกับสิ่งสร้างในครั้งแรก

‘สิ่ง’ (Things) จึงเป็นคนละสิ่งกับ ‘วัตถุกรรม’ (Objects) ในขณะที่วัตถุกรรมวางอยู่บนการกระทำขององค์ประธานที่เป็นองค์ประธาน แต่สิ่งกลับมีสถานะเป็นองค์ประธานในตัวของมันเอง และโลกคือการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่งที่ต่างเป็นองค์ประธานซึ่งกันและกัน เมื่อโลกเป็นการอยู่ร่วมกันของสรรพสิ่ง ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในโลกก็กลายมาเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย อาจกล่าวได้ว่า การอาศัยอยู่ในโลกคือการที่สรรพสิ่งมีชีวิตร่วมกันในกระบวนการของการก่อตัวของโลก สิ่งจึงไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวแยกออกจากสิ่งอื่น ซึ่ง Tim Ingold เรียกว่า ‘สภาพแวดล้อม’ (Environment) ในที่นี้ Tim Ingold ยกตัวอย่างบ้าน สิ่งที่เรียกว่าบ้านนั้นสะท้อนการอาศัยอยู่ของสิ่งต่างๆ หากบ้านไม่มีผู้อาศัย บ้านย่อมไม่มีสถานะเป็นบ้าน แต่เมื่อการอาศัยอยู่ (Dwelling) ดังกล่าวคือการใช้ชีวิตและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ในสภาพแวดล้อม บ้านย่อมไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งและไม่เปลี่ยนแปลง “บ้านที่แท้จริงไม่มีวันสร้างเสร็จ บ้านต้องถูกทำให้ปรับเปลี่ยนตัวมันเองอยู่ตลอดท่ามกลางการมาและการจากไปของผู้อาศัยที่อยู่ในบ้าน ไม่ว่าผู้อาศัยจะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์” ในแง่นี้บ้านจึงเป็นสิ่งด้วย ในความหมายที่มันทำหน้าที่จำกัดและสร้างโอกาสให้แก่การปรับเปลี่ยนและการใช้ชีวิตของผู้ที่อาศัยพร้อมกับที่มันเองก็ถูกปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเมื่อสิ่งและความสัมพันธ์ของสิ่งที่อาศัยอยู่เปลี่ยนไป บ้านจึงไม่ใช่วัตถุที่ถูกกระทำโดยผู้อาศัยเท่านั้นในกรอบของการเป็นวัตถุกรรม แต่บ้านมีสถานะเป็นสิ่งซึ่งเป็นองค์ประธานไม่ต่างจากข้าวของอื่นๆ ภายในบ้าน รอบบ้าน และไม่ต่างจากผู้อาศัยในบ้าน ภววิทยาของบ้านจึงเป็นสิ่งในความหมายที่มันเป็นการตัดและถักทอกันของเส้นจำนวนมากซึ่งไม่ใช่จุด เมื่อบ้านเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของเส้น บ้านก็คือโลกที่เป็นสภาวะแวดล้อมแบบเปิด (Open Environment) ซึ่งบ้านเองแยกไม่ออกจากชีวิตที่อาศัยอยู่ในบ้าน ในสภาวะเช่นนี้เราไม่สามารถแยกบ้านออกจากผู้อาศัยอยู่ในบ้าน แต่บ้านเป็นการพึ่งพาอาศัยและแบ่งปันกันระหว่างบ้านและผู้ที่อาศัยอยู่ทั้งที่เป็นมนุษย์และอมนุษย์

นอกจากนี้อีกตัวอย่างหนึ่งของมโนทัศน์เรื่องเส้นคือ การที่รากและต้นแทงตัวเองออกจากเมล็ด คำถามคือเมล็ดนั้นขึ้นกับหรือเป็นของพื้นดินหรือท้องฟ้าอากาศกันแน่ Tim Ingold ได้ตอบว่าเป็นทั้งสองอย่าง เส้นคือสภาวะที่วิ่งออกจากจุดหรือเมล็ด มันทั้งเป็นของเมล็ดและวิ่งเลยออกจากเมล็ดพร้อมๆ กัน เราจึงบอกไม่ได้ว่าต้นที่งอกออกมาหรือเส้นนั้นเป็นของจุดหรือเมล็ด เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของท้องฟ้าและอากาศภายนอกด้วยพร้อมๆ กัน เส้นจึงหมายถึงชีวิตและศักยภาพที่ไม่สามารถถูกลดทอนกลับไปหากำเนิดเดียวได้ ในแง่นี้เส้นจึงเป็นปฏิบัติการ (Practice) แบบหนึ่งที่การเติบโตของมันไม่ใช่การเป็นหรือ ‘Being’ แต่มันคือการกำลังเป็นหรือการกลายเป็นที่ปรากฏบนโลกหรือที่เขาเรียกว่า ‘Worlding World’ หรือ ‘Becoming’ ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในโลกจึงเป็นผลผลิตของชีวิตและผลผลิตของความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งก็เป็นสิ่งสร้างชีวิตด้วยพร้อมๆ กัน

ในหนังสือที่ชื่อว่า The Perception of Environment (2000) ของ Tim Ingold ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่กลับมาให้ความสนใจกับประเด็นภววิทยาคล้ายกับงานของพวก New Animism เขาได้เสนอข้อโต้แย้งคำอธิบายของพวก New Animism อย่าง Graham Harvey รวมถึงพวก Ontological Turn อย่าง Eduardo Viveiros de Castro และ Phillipe Descola  ไว้อย่างน่าสนใจ สำหรับ Tim Ingold แล้วการอธิบายของนักมานุษยวิทยาเหล่านี้ยังยึดติดอยู่กับความพยายามในการกลับหัวกลับหาง รวมถึงการทำให้พร่าเลือนระหว่างคู่ตรงข้าม  นั่นคือคู่ตรงข้ามระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม หรือแม้แต่จิตวิญญาณกับร่างกาย เขาเสนอให้แทนที่คู่ตรงข้ามเหล่านั้นด้วยมโนทัศน์ใหม่นั่นคือ องคาพยพ (Organism) และสภาพแวดล้อม (Environment) ซึ่งชี้ให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ กับสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ดีความหมายสภาพแวดล้อมของ Tim Ingold ก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ข้างนอกหรืออยู่ภายนอกจากสิ่งที่มีชีวิต แต่สิ่งมีชีวิตใช้ชีวิตและสร้างโลกผ่านโครงข่ายและความสัมพันธ์ที่ถักทอกับสภาพแวดล้อม การแยกข้างนอกกับข้างในจึงเป็นวิธีคิดแบบตะวันตกมากกว่าที่จะเป็นภววิทยาของคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในโลกตะวันตก เช่นเดียวกันกับการใช้ชีวิตหรือชีวิตที่ไม่ได้แยกร่างกายออกจากจิตแบบทวิภาวะ แต่เรื่องของความคิดความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งที่เรียนรู้ในฐานะที่เป็นทักษะจากการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อม

จากกรอบคิดดังกล่าว Tim Ingold นิยาม Animism ใหม่ที่มีความหมายกว้างกว่าพวก New Animism  โดยชี้ให้เห็นว่า Animism คือ สภาวะที่สิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างแลกเปลี่ยนและเรียนรู้วิธีการมองโลกของอีกฝ่ายบนฐานที่ว่าสรรพสิ่งล้วนมีความเป็นองค์ประธานที่คิดได้และมีเจตจำนง การจะเข้าใจการมองโลกของสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จึงต้องอาศัยการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดหรือเป็นอันหนึ่งอันหนึ่งเดียวกันกับสัตว์และสิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ รวมถึงการสังเกตซึ่งกันและกันผ่านการปฏิบัติถึงการเคลื่อนที่ของต้นไม้ พืช ดินฟ้าอากาศและสัตว์ต่างๆ ในแง่นี้ ความหมายของโลกจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ข้างนอกหรือต้องถูกรับรู้ สร้างภาพแทนโดยข้างในหรือจิตหรือวัฒนธรรมแต่อย่างใด แต่โลกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการกระทำและการพัฒนาทักษะของการใช้ชีวิตในโลก ความรู้หรือทักษะจึงไม่ใช่เรื่องของมนุษย์ผู้มีวัฒนธรรมในฐานะองค์ประธานที่เข้าไปสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ในฐานะที่เป็นวัตถุหรือกรรมของความรู้ แต่เป็นการแลกเปลี่ยน สลับมุมมองกันระหว่างสิ่งต่างๆ พร้อมกับที่สร้างโลกที่รวมเอาทั้งระบบความหมายและโลกทางวัตถุเข้ามาเป็นภววิทยาหรือความเป็นอยู่อันหนึ่งอันเดียวกัน

เก่งกิจ ทิ้งท้ายว่าด้วยวิธีคิดเช่นที่ว่ามาทั้งหมดนี้จึงให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกัน (Dwelling) ที่สรรพสิ่งต่างขึ้นต่อกันและกัน (Belonging) โดยปราศจากการแยกองค์ประธานออกจากวัตถุแบบทวิภาวะ ยิ่งไปกว่านั้นทุกการดำรงอยู่ร่วมกันดังกล่าวก็ทำให้สรรพสิ่งต่างก็กลายเป็นสิ่งอื่นได้ (Becoming) ท่ามกลางการอยู่ร่วมกันและการขึ้นต่อกันและกัน ผลที่ได้จึงไม่ใช่อัตลักษณ์ (Identity) ทางวัฒนธรรมหรืออัตตา (Ego) แห่งความเป็นมนุษย์ แต่กลับเป็นการถักทอรัดร้อยกันอย่างไม่สิ้นสุดของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอมนุษย์ที่ปราศจากทั้งอัตลักษณ์ อัตตา หรือแม้แต่การลดทอนให้เป็นเพียงแค่ภาพตัวแทน

ปิ่นแก้ว : Becoming And Performing Gender

ปิ่นแก้วกล่าวในประเด็น Becoming And Performing Gender โดยเริ่มจากยกตัวอย่างข้อสอบการสอบวัดคุณสมบัติ (QE) ของนักศึกษาระดับปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ว่า “Judith Butler กล่าวในตอนท้ายของหนังสือ Gender Trouble ว่าเพศภาวะไม่มี ‘แท้’ หรือ ‘ไม่แท้’ ไม่มี ‘ดั้งเดิม’ หรือ ‘เบี่ยงเบน’ อย่างไรก็ตามในสังคมไทยคำว่า ‘ชายจริงหญิงแท้’ ‘เพศที่สาม’ ‘สาวประเภทสอง’ ถูกใช้กันอย่างไร หลายท่านมีความคิดเห็นอย่างไรกับข้อสรุปของ Judith Butler และสามารถนำมาทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องเพศในสังคมไทยได้อย่างไรบ้าง” จากนั้นจึงเริ่มอภิปรายด้วยการกล่าวถึงหนังสือที่ปูพื้นฐานเกี่ยวกับเพศภาวะว่าไม่มีแท้และไม่มีเทียม เล่มดังอย่าง Gender Trouble ของ Judith Butler ว่า ก่อนเราจะเข้าใจสิ่งนี้ต้องเข้าใจฐานคิดของ Judith Butler เสียก่อนว่ามีนัยสำคัญมาจาก Simone de Beauvoir แนวคิดว่าด้วยการกลายเป็นสำคัญที่นักปรัชญาใช้ในการเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับเพศ และทำลายข้ออ้างที่ถือเอากายวิภาค (Anatomy) เป็นจุดหมายปลายทางด้วยการแยกเพศเชิงกายภาพออกจากความเป็นเพศ นั่นคือแยก ‘Sex’ ออกจาก ‘Gender’ โดย ‘Sex’ และร่างกายไม่ได้เป็นเหตุผลเชิงที่มาในความสัมพันธ์กับ ‘Gender’ ขณะที่ความเป็นผู้หญิง (Women) นั้นเป็นเพียงความเป็นไปได้หนึ่งในการที่จะเป็นผู้หญิง (Female) ดังนั้นในภาษาไทยการแปลคำว่า ‘Sex’ หมายถึง เพศทางกายภาพ และ ‘Gender’ หมายถึง เพศทางวัฒนธรรม อาจเป็นการตีความตาม Simone de Beauvoir ที่ไม่ถูกต้องมากนัก เพราะการแปลลักษณะนี้สร้างความเชื่อมโยงของภาวการณ์ทั้งสองอย่างต่อเนื่องกันอย่างอัตโนมัติ ซึ่งเราจะเห็นได้ในลำดับต่อไปว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนี้

ปิ่นแก้ว กล่าวต่อว่า การที่จะเป็น ‘Gender’ ทั้งชาย หญิง หรืออื่นๆ เป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการตีความทางวัฒนธรรมของร่างกาย และอยู่ในตำแหน่งแห่งที่มีพลวัติในสนามความเป็นไปในหลายประการทางวัฒนธรรม การเป็นผู้หญิงหรือกลายเป็นผู้หญิงซึ่งไม่หมายถึงการได้รับสถานะทางภววิทยาชนิดหนึ่ง คนคนหนึ่งอาจจะเกิดมาเป็นผู้หญิง ทว่ากระบวนการที่จะกลายเป็นผู้หญิงนั้นเป็นกระบวนการที่ ‘Active’ ของการตีความและตีความใหม่ จึงเปิดให้เห็นหรือเปิดให้เป็นถึงความเป็นไปได้ในหลายๆ อย่าง โดย Judith Butler เห็นว่าสำหรับ Simone de Beauvoir แล้วคำกริยาคำว่า ‘Become’ หรือ ‘Becoming’ เป็นคำที่เต็มไปด้วยผลแห่งความกำกวม และเป็นคำสำคัญที่ท้าท้ายทฤษฎีเกี่ยวกับ ‘Gender’ ที่มักนิยามความหมายในฐานะสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นภายใต้ระบบภาษาของปิตาธิปไตยที่สวมทับลงบนตัวของผู้หญิง ในแง่นี้ร่างกายจึงมักเป็นร่างกายที่ ‘Passive’

แนวคิด Becoming Gender นั้นได้เปิดให้เห็นถึงภาวะความกำกวม กระทั่งความขัดแย้งภายในระหว่างข้างในระหว่าง ‘Gender’ กับ ‘Sex’ ซึ่ง ‘Gender’ เป็นทั้งโครงการดังนั้นคนจึงมีลักษณะ ‘Agency’ และเป็นทั้งสิ่งประกอบสร้างดังนั้นคนจึงเป็นบรรจุภัณฑ์ที่รองรับความหมายซึ่งสังคมมอบให้ การกลายเป็นเพศจึงเป็นทั้งทางเลือกและการถูกหล่อหลอมทางวัฒนธรรม ทฤษฏีว่าด้วย ‘Gender’ ของ Simone de Beauvoir จึงมีฐานคิดที่สำคัญมาจากอัตถิภาวนิยมเกี่ยวกับทางเลือกใหม่ๆ การเลือกความเป็นเพศจึงเป็นการกลายเป็นตัวตน (Embodiment) ของความเป็นไปได้ภายใต้ข่ายใยของพันธะสถานวัฒนธรรมที่ลงหลักปักฐานแล้ว หากมองอย่างผิวเผินการจะเข้าใจว่าเราสามารถเลือกเพศได้นั้นเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ การจะเข้าใจข้อเสนอนี้ของ Simone de Beauvoir จำเป็นต้องเข้าใจจุดยืนทางปรัชญาที่ Simone de Beauvoir มีต่อแนวคิดว่าด้วยร่างกายเสียก่อน โดยได้ขยายแนวคิดนี้มาจาก Jean-Paul Sartre ซึ่งว่าไว้ว่าร่างกายไม่ใช่สิ่งสถิตที่ดำรงอยู่นอกจิตสำนึกอันปราศจากชีวิต แต่เป็นวัตถุแห่งการมุ่งหาความเป็นไปได้ต่างๆ อยู่เสมอ (Consciousness Exists Its Body) โดย Jean-Paul Sartre ได้ใช้คำว่า ‘Exist’ หรือ ‘Being’ ในการทำความเข้าใจร่างกาย แต่สำหรับ Simone de Beauvoir คำว่า ‘Becoming’ ได้ขยายความเข้าใจในปริมณฑลของเพศและเพศภาวะ การกลายเป็นในประโยคที่ว่า “เราไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิงแต่ได้กลายมาเป็นผู้หญิง” ไม่ได้หมายถึงการเดินทางจากภาวะเสรีภาพนอกร่างกายสู่การเป็นตัวตนในวัฒนธรรม หากการย้ายจาก ‘Sex’ ไปสู่ ‘Gender’ นั้นเป็นการเคลื่อนย้ายจาก ‘Embodiment’ หนึ่งไปสู่ ‘Embodiment’ อีกแบบหนึ่ง หรือหากพูดตามสำนวนของ Jean-Paul Sartre ก็คือ “การดำรงอยู่ของร่างกายของคนคนหนึ่งในรูปการณ์ของวัฒนธรรมหนึ่งมีความหมายอย่างน้อยบางส่วนเสี้ยวของการกลายเป็นเพศภาวะของคนๆ หนึ่ง”

ปิ่นแก้ว กล่าวต่อว่า เมื่อทำความเข้าใจร่างกายทางธรรมชาติ (Nature Body) ตามทัศนะของ Simone de Beauvoir เป็นเช่นเดียวกับ Jean-Paul Sartre คือ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าร่างกายธรรมชาติที่บริสุทธิ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือแนวคิดเรื่องร่างธรรมชาติเป็นสิ่งซึ่งไม่สามารถถูกเข้าใจได้ เช่นเดียวกับเพศทางกายภาพหรือ ‘Sex’ ก็ไม่เคยเป็นสภาวการณ์ที่บริสุทธ์หรือธรรมชาติปราศจากการแทรกแซงโดยสังคม ในงานอีกชิ้นหนึ่งของ Judith Butler เรื่อง Undoing Gender Butler ได้ยกตัวอย่างกรณี David Reimer ผู้ที่เพศถูกแทรกแซงโดยวิทยาศาสตร์การแพทย์ตั้งแต่ยังเป็นทารก ตอน 6 เดือนแรกของการเกิด David Reimer และน้องชายฝาแฝดได้มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ (ปลายองคชาตตีบ) แพทย์จึงแก้ปัญหานี้ด้วยการผ่าตัดขลิบปลายองคชาตของเขาโดยการจี้ด้วยไฟฟ้าแต่การผ่าตัดครั้งนี้กลับประสบอุบัติเหตุ ทำให้องคชาตของเขาเสียหายแทบทั้งหมดและไม่สามารถแก้ไขได้ ต่อมาแพทย์และพ่อแม่เห็นตรงกันว่าการปราศจากองคชาตจะทำให้ David Reimer ต้องประสบปัญหาการใช้ชีวิตแบบ ‘ผู้ชาย’ เมื่อโตขึ้น จึงปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อกำหนดเพศของเขาเสียใหม่โดยทำให้กลายเป็นผู้หญิงผ่านการผ่าตัดแปลงเพศและกินฮอร์โมน ที่สำคัญคือผ่าน ‘Sex Reassignment’ สอนให้เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของผู้หญิงมาตั้งแต่วัยเด็กจนเข้าสู่วัยรุ่น ขณะที่น้องชายฝาแฝดของเขาเป็นผู้ชายและไม่ได้รับการผ่าตัดแล้วเติบโตขึ้นเป็นผู้ชาย ในแฟ้มประวัติของจิตแพทย์เรียกกรณีนี้ว่า ‘John / Joan’ และกลายเป็นโศกนาฏกรรมในตอนท้ายที่สุดเมื่อเขาได้ตัดสินใจกลับมาเป็นผู้ชายตอนวัยรุ่นและตัดสินใจฆ่าตัวตายเมื่ออายุ 38 ปี

กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแม้แต่เพศกายภาพก็ไม่ใช่เพศธรรมชาติ หรือกล่าวให้ถึงที่สุดไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเพศธรรมชาติดำรงอยู่อย่างอิสระโดยไม่มีการควบคุมกำกับหรือหรือให้ความหมายภายใต้ระบบของปิตาธิปไตยทางเพศ ดังนั้น ‘Becoming Gender’ ไม่ใช่กระบวนการที่ก้าวหน้าเป็นเส้นตรงจากภาวะธรรมชาติก่อนวัฒนธรรมไปสู่ตัวตนที่วัฒนธรรมออกแบบไว้ให้ ในแง่นี้ ‘Gender’ จึงไม่มีจุดกำเนิดให้สืบสาวไปหา หากตัวมันเองต่างหากที่เป็นกระบวนการกำเนิดสร้างความหมายขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน ‘Becoming Gender’ จึงเป็นการเคลื่อนย้ายชั่วขณะจาก ‘Experience Sex’ หรือเพศทางกายภาพภายใต้ประสบการณ์ชุดหนึ่งไปสู่ ‘Gender’ ในฐานะที่เป็นการดำรงอยู่คงอย่างมีเงือนไขภายในวัฒนธรรม

สำหรับ Simone de Beauvoir นั้น

ผู้หญิงมีฐานะเป็นรูปกาลของความเป็นอื่น (Figure of Authority) ในความสัมพันธ์ผู้หญิงกับผู้ชายนั้นผู้หญิงเป็นภาวะปราศจากแก่นสารต่อหน้าความเป็นแก่นสารของผู้ชาย (หรือความเป็นอื่น) ในความสัมพันธ์ดังกล่าวผู้ชายมีฐานะเป็นองค์ประธาน หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ร่างกายและความเป็นตัวตนในร่างกายที่สะท้อนการแยกขั้วของเพศตรงข้าม เป็นภาวะที่ไปพ้นจากธรรมชาติกับภาวะที่ติดดอยู่ในโลกใบที่เราอยู่ ขณะที่เพศชายนั้นการเป็นองค์ประธานหมายถึงความสามารถในการไปพ้นจากร่างธรรมชาติ ซึ่งการจะตระหนักรู้ถึงภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้หญิงนั้นครอบครองร่างที่อยู่ตรงกันข้ามในฐานะที่เป็นร่างที่เป็นแก่นสารของธรรมชาติและจองจำอยู่ภายใต้อัตลักษณ์เช่นนั้น ดังนั้นผู้หญิงคือร่างกายไม่ใช่ดำรงร่างกายและด้วยเงื่อนไขนี้เท่านั้นที่เพศชายจะสามารถสลัดทิ้งร่างธรรมชาติได้

“ตัวอย่างรูปธรรม ได้แก่ ร่างของผู้หญิงนั้นยังต้องทำหน้าที่ให้กำเนิดบุตร ผลิตซ้ำเชิงชีวะกายภาพ ส่วนผู้ชายแม้จะทำการผลิตแต่อำนาจทางการผลิตไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับร่างกายอีกต่อไปจึงสามารถไปพ้นจากเงื่อนไขของการเป็นสัตว์ได้ ในขณะที่ผู้หญิงถูกทำให้เป็นอื่นภายใต้การที่ร่างกายถูกผูกติดกับร่างของธรรมชาติ การไปพ้นโลกธรรมชาติของเพศชายจึงเป็นเป้าหมายที่นำไปสู่เสรีภาพหรือความเป็นเอกเทศซึ่งต้องปฏิเสธหรือกดทับความเป็นอื่นที่ตรงกันข้ามกับตนเท่านั้น Simone de Beauvoir เห็นว่าหนทางที่จะไปสู่เสรีภาพหรือความเป็นเอกเทศของเพศชายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะร่างกายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถูกปฏิเสธได้ ภายใต้ความสัมพันธ์กับเพศชายผู้หญิงจึงตกอยู่ในสภาวะที่เป็นวัตถุหรือเป็นอื่น ทางออกคือเราต้องเข้าใจร่างกายในฐานะที่เป็นสถานการณ์ เราไม่สามารถเข้าใจร่างที่มีเสรีภาพได้นอกบริบทขอร่างกายแบบที่เพศชายทำได้” ปิ่นแก้ว กล่าว

ปิ่นแก้ว กล่าวต่อเกี่ยวกับ ‘Performing Gender’ ว่าสำหรับ Judith Butler นั้น ‘Gender’ เป็นปฏิบัติการการแสดง (Performative) โดยเพศภาวะนี้ไม่ไช่เพียงกระบวนการของการกลายเป็นและเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ทั่วๆ ไป แต่จะเกิดขึ้นได้ภายในการกระทำเท่านั้น เมื่อพูดว่า “Gender is  Perform” หรือเพศภาวะถูกแสดงนั้นหมายความว่าเราได้สวมเอาบทบาททางเพศหนึ่งๆ แล้วแสดงออก และการแสดงดังกล่าวสำคัญต่อเพศภาวะที่ราเป็น ต่อโลกที่เราแสดงให้เห็น หรือเป็นผู้ชมของเรา แต่ ‘Performative’ มีความหมายที่ต่างออกไป  คือเป็นปฏิบัติการของการแสดงโดยได้ผลิตสร้างผลอย่างใดอย่างหนึ่งต่อความคิด จิตสำนึกของการเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งทางเพศ เราเดิน เราพูด เราแสดงท่าทางต่างๆ ส่งผลต่อการประมวล หรือรวบรวมคำเป็นเพศที่ถูกผลิตซ้ำอยู่ตลอดเวลาและด้วยการกระทำเช่นนั้นซ้ำไปซ้ำมาเราได้ผลิตชุดความคิดเกี่ยวกับเพศขึ้นมา ดังนั้นเพศภาวะของ Judith Butler จึงหมายถึง “เพศภาวะเป็นกระบวนการที่ร่างกายถูกทำให้เข้ารูปแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นชุดของการกระทำซ้ำภายในกรอบการกำกับที่เข้มงวดและเข้มข้นข้ามกาลเวลา ซึ่งได้ทำให้แก่นสารทางเพศปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้น” ในแง่นี้ ‘Gender’ ปฏิบัติการแสดงที่ทำซ้ำไม่มีต้นแบบผ่านการตีความของปัจเจกบุคคล การเป็นผู้หญิงมันเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการดังกล่าวย่อมไม่มีจุดกำหนดที่จริงแท้ ดังเดิมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การทำความเข้าใจ ‘ชายจริงหญิงแท้’ ‘เพศที่สาม’ ‘สาวประเภทสอง’ ในสังคม

ปิ่นแก้ว กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ Judith Butler ได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อเริ่มทำงานในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ว่ามีเด็กสาววัยรุ่นแสดงอาการช็อคเมื่อเธอเลี้ยวหลังกลับไปตอบรับว่าเป็นเลสเบี้ยนหลังเด็กสาววัยรุ่นคนนั้นชะโงกหน้าถามเธอจากหน้าต่าง ซึ่งอาการช็อคดังกล่าวเป็นผลโดยตรงระบบที่มีแนวคิดสร้างชายจริงหญิงแท้ โดยความเป็นหญิงต้องอยู่ในร่างของหญิงเท่านั้นถึงจะเป็นหญิงแท้เช่นเดียวกับความเป็นชายที่ต้องบรรจุในร่างกายของชายเท่านั้นถึงจะเป็นชายแท้ การสร้างบรรจุภัณฑ์ว่าด้วยเพศแบบนี้ไม่ได้เพียงแยก ‘Mid’ ออกจาก ‘Body’ แต่ยังจำแนกความเป็นเพศและร่างกายให้อยู่ในที่ในทางที่แน่นอนตายตัวผนึกแน่นอีกด้วย ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างความมั่นใจ ความแน่นอน ความสามารถในการคาดเดาได้ ควบคุมได้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่าเราสามารถรู้ได้ทุกอย่าง ควบคุมได้ทุกอย่าง ดังนั้นการปรากฎขึ้นตรงหน้าของเลสเบี้ยนจึงเป็นปรากฎการณ์ของ ‘เพศที่ผิดฝาผิดตัว’ หรือ ‘ร่างกายที่ผิดฝาผิดตัว’ (Wrong Body) จึงต้องนำไปใส่ในคำที่ว่า ‘สาวประเภทสอง’ หรือ ‘เพศที่สาม’ เหล่านี้ที่ปรากฎขึ้นในสังคมจึงเป็นภัยคุกคาม สร้างความกลัวและตื่นตระหนกให้ผู้ที่เชื่อในทวิลักษณ์ทางเพศ จึงต้องถูกตรวจตรา สร้างนโยบาย ขึ้นควบคุม กำกับ  หากแต่การก่อรูปของกระบวนการ ‘Becoming’ ที่ Judith Butler ซึ่งเป็นหนึ่งในนักคิดที่สร้างคุณประการในการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดทางเพศนี้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขว้างในสังคมได้ปฏิสัมพันธ์กับระบบอุดมการณ์ทวิลักษณ์ทางเพศที่ตกตะกอนนอนก้นอยู่ในสังคมให้ขุ่นมัว

“การกวนระบบทางเพศที่เคยอยู่ ซึ่งเชื่อว่าใสกระจ่างและแน่นอนตายตัวให้ฝุ่นและคลุ้งกระจายจึงเป็นการเปลี่ยนทิศทางและตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ของเพศภาวะทีท้าท้าย”  ปิ่นแก้ว กล่าวทิ้งท้าย

ศรยุทธ : ความหมายของมานุษยวิทยาว่าด้วยการกลายเป็น

ศรยุทธ เริ่มด้วยการกล่าวถึงหนังสือที่ชื่อว่า Unfinished: The Anthropology of Becoming บรรณาธิการโดย João Biehl และ Peter Locke อันเป็นการค้นคว้าที่ให้ความสำคัญกับศักยภาพในการผลิตสร้างแนวคิดและทฤษฎีชีวิตจากชีวิตของผู้คนผ่านงานชาติพันธุ์นิพนธ์ การใช้คำว่า ‘ไม่สิ้นสุด’ (Unfinished) นั้นเพื่อเรียกขานการขบคิดและการมีส่วนร่วมในหลายมิติของความกำกวมและขัดกันในหนทางซึ่งผู้คนมีต่อคำถามว่าด้วยความรุนแรง การขูดรีดทางเศรษฐกิจ การครอบงำและกระบวนการทำให้อยู่ใต้อาณัติ สำหรับบรรณาธิการทั้งสองแล้ว มานุษวิทยาว่าด้วยการกลายเป็นคือเรื่องราวเกี่ยวกับพลังอันสามารถปรับเปลี่ยนโฉมได้ของผู้คน โลกและความคิด เป็นพลังที่เติบโตขึ้นจากตัวตนของตนเอง หนังสือเล่มนี้ได้ตระหนักในวิถีซึ่งร่างกายของผู้คน วัตถุและโลกเชิงสัญลักษณ์ที่คนอาศัยอยู่ สนทนาและตอบโต้กับโครงสร้างที่พวกเขาเติบโตมา และนำทางพวกเขาจนเติบโตมาเป็นตนเอง และกลายเป็นสิ่งอื่นอย่างยากคาดเดาเมื่อเวลาผ่านพ้นไป

รวมถึง João Biehl และ Peter Locke มีความเชื่อว่า การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ไม่อาจถูกกำหนดได้ด้วยอย่างเบ็ดเสร็จทางโครงสร้างทางประวัติศาสตร์ ชาติ รวมถึงทุน ทั้งไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ผ่านแนวคิดและทฤษฎี หากกระทำ การแสดงออกส่วนบุคคล และลักษณะร่วมทางสังคมต่างหากคือรูปแบบของกระบวนการขับเคลื่อนและเป็นกุญแจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านขนาดใหญ่เชิงโครงสร้าง บรรณาธิการทั้งสองได้ระบุว่าอัตบุคคลในเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์เป็นเสมือนนักทดลองชีวิตและบุคคลแห่งความประหลาดใจซึ่งไม่อาจคาดเดาและล่วงรู้ล่วงหน้าได้ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งในความคิดฝังหัวของเราได้เช่นกัน มานุษยวิทยาว่าด้วยการกลายเป็นจึงเป็นเสมือนการปรับแต่งความหมายของมนุษยนิยมให้มีความละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น และเป็นการท้าท้ายลักษณะการกำหนดนิยมอันหยาบทางแนวคิดและทฤษฎี การวิเคราะห์อย่างเบ็ดเสร็จในเชิงสังคมศาสตร์

“ในแง่นี้สมมุติฐานพื้นฐานของมานุษยวิทยาว่าด้วยการกลายเป็นคืออะไร คำตอบที่กระชับสำหรับผมนั้นคือ พรมแดนและความหมายของความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยการรั่วไหล สามารถปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่ได้ผ่านความสัมพันธ์ทางสังคม ระบบนิเวศและความสัมพันธ์เชิงชีวะวิทยาภายใต้เงื่อนไขของโครงสร้างทางการเมือง” ศรยุทธ กล่าว

ศรยุทธ กล่าวต่อว่า เนื่องจากข้อจำกัดของเวลาและความรู้เชิงวิชาการส่วนตัวในการอภิปรายครั้งนี้จึงไม่อาจพาข้ามพรมแดนและเงื่อนไขทางชีวะวิทยาไปสู่ความสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างคนกับวัตถุข้าวของ หรือศึกษาลงไปในอมนุษย์ได้ แต่จะพาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของความเป็นมนุษย์ภายใต้ตัวตนที่แตกต่างกัน การกลายเป็นมนุษย์ในลักษณะนี้คือการก้าวไปสู่สิ่งอื่น นอกเหนือจากจิตนาการของความเป็นคนที่เคยถูกห่อหุ้มอย่างปลอดภัย ทั้งยังเป็นคำถามและข้อถกเถียงระหว่างรุ่น ชนชั้น และระดับความภักดีต่อรัฐ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อในโลกที่แตกต่างกันออกไปได้แม้จะอยู่ในสังคมเดียวกัน

‘ความเชื่อในโลก’: ตัวจุดประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่การกลายเป็น

ศรยุทธ กล่าวว่า การใคร่ครวญเกี่ยวกับมานุษยวิทยาว่าด้วยการกลายเป็นไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ของการศึกษาอย่างทันทีทันใด และไม่อาจคาดหวังได้ถึงความก้าวหน้าหรือแม้แต่มอบความหวังให้สังคมได้อย่างเร่งด่วน ทว่าได้สะท้อนให้เห็นถึงความย้อนแย้งของความเชื่อในโลก (A Belief In The World) ที่ Deleuze ว่าไว้อย่าง “ความจริงเชิงประจักษ์นั้นสลับซับซ้อนแห่งชีวิตทางสังคมสามารถเป็นได้ทั้งสิ่งที่ปิดบังอำพรางมากเท่ากับสิ่งที่ให้แสงสว่าง” สิ่งเหล่าที่ปรากฏขึ้นตลอดเวลาระหว่างนักมานุษวิทยาทำงานภาคสนาม เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราคิดนั้นคิดผ่านแนวคิดและทฤษฎี ไม่ได้ถูกครอบงำโดยวิธีวิทยาเชิงชาตินิยม เช่นเดียวกับในการรับรู้ความตายของคนคนหนหนึ่ง ไม่ว่าเราโศกเศร้า เฉยๆ ดีใจ มีความสุข ยิ้มแย้ม แจ่มใส หรือจะหลั่งน้ำตานั้นเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราเห็นมันไม่ได้ถูกครอบงำด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง

บทความ Becoming Aggrieved ของ Laurence Ralph  ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือ Unfinished: The Anthropology of Becoming เป็นตัวอย่างดีมากสำหรับการพิจารณาข้างต้น โดย Laurence Ralph ได้ทำศึกษาเรื่องราวของนางลานา (Mrs. Lana) ผู้อาศัยในย่านอีสต์วูดซึ่งมีรายได้ต่ำในชิคาโกและเป็นที่ตั้งชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา นางลานาเป็นแม่ของลูกชายที่ถูกยิงที่ศีรษะจนเสียชีวิตและเธอมักกรีดร้องไปยังคนที่เดินผ่านไปผ่านมาในละแวกนั้นโดยไม่สวมหมวกป้องกัน การกระทำดังกล่าวถูกถูกตัดสินว่าเป็นบ้าและเสียสติทั้งจากมุมมองของคนภายนอก คนปฏิบัติการทางจิตเวช ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตามสำหรับคนในละแวกใกล้เคียงหรือเพื่อนบ้านกลับเข้าใจว่า ภายใต้โครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมและความไม่เท่าเทียมที่หยั่งรากลึกนั้นนางลาสนาคือเสียงแห่งการดูแลและตักเตือนผู้อยู่อาศัยว่าด้วยการใช้ปืนที่สามารถคร่าชีวิตของคนที่เรารักไปได้ทุกเมื่อ ความเชื่อในโลกของบุคคลภายนอกและผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อนางลานาจึงเป็นเสมือนการสร้างความคลุมเครือให้กับความเป็นมนุษย์ของนางลานา ขณะที่ความกระจ่างแจ้งกลับปรากฏอยู่ในโลกของคนในย่านอีสต์วูด กระทั่งนำไปสู่การสร้างแนวทางในการทำงาน รวมถึงทางการเลือกในการดูแลคนและสังคมของตนเอง

‘การสร้างตัวกลางในการรับรู้เชิงชาติพันธ์’: การประยุกต์มานุษยวิทยาว่าด้วยการกลายเป็นสู่การทำงานภาคสนาม

ศรยุทธ กล่าวเกี่ยวกับงานมานุษยวิทยาในบริบทสังคมไทยด้วยการพูดถึงหนังสือที่ชื่อว่า Becoming Red / กำเนิดและพัฒนาการเสื้อแดงในเชียงใหม่ของรศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี และคณะ นั้นว่าเป็นการฝึกฝนและขัดเกลาทางมานุษยวิทยาที่มุ่งสนใจการกลายเป็นคนเสื้อแดงของคนในเชียงใหม่ในลักษณะที่ข้ามผ่านรูปแบบอันหลากหลาย ทั้งมิติของเวลา การข้ามชนชั้นของกลุ่มคนแต่ละสถานะ ตลอดจนสภาวะการณ์ทางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองที่เริ่มไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การก้าวไปสู่จิตนาการอื่นของความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดงไม่ได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม หรือเปลี่ยนตัวตนไปสู่อีกตัวตนหนึ่งอย่างสมบูรณ์หากเป็นเครื่องมือของคำถามที่ว่า พวกเขาและเธอสามารถรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นคนในความหมายหรือจินตนาการอื่นได้ พวกเขาและเธอไม่ต้องสืบยอมในความหมายทั้งหมดที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าหรือถูกบังคับไว้ให้เป็นมาตั้งแต่แรก

“สำหรับผมแล้วในมิติของคำถามเดียวกันนี้พวกเขาและเธอ (คนเสื้อแดงในเชียงใหม่) มีสิทธิ์เลือกที่จะเป็นอื่นได้หากขอบฟ้าของคนเสื้อแดงในเชียงใหม่นั้นรีดเรียวและคับแคบเกินว่าจะสร้างจินตนาการขึ้นมาใหม่ ผมนึกถึงงานมานุษยวิทยาจำนวนมากที่ได้พูดถึงความอดทนอดกลั้นต่อความหลากหลาย สำหรับผมแล้วการพิจารณาความหลากหลายไม่ได้อยู่ในแนวระนาบอย่างเดียวเท่านั้น บางครั้งเราไม่มีความจำเป็นที่ต้องอดทนอดกลั้นต่อความหลากหลายในความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแนวดิ่ง” อาจารย์ศรยุทธกล่าวก่อนเริ่มประเด็นการสร้างตัวกลางในการรับรู้เชิงชาติพันธุ์ (Ethnographic Sensorium)

ศรยุทธ กล่าวว่า การสร้างตัวกลางในการรับรู้เชิงชาติพันธุ์มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานภาคสนาม และเป็นนัยสำคัญเมื่อประยุกต์ใช้แนวคิดและทฤษฎีทางมานุษยวิทยาว่าด้วยการกลายเป็นไปสู่การทำงานภาคสนาม เมื่อมาเริ่มต้นกันที่นิยามนั้นการทำงานบนพื้นฐานของการสร้างตัวกลางในการรับรู้เชิงชาติพันธุ์คือ ความพยามยามในการทำความเข้าใจโลกที่ไม่อาจแยกเป็นส่วนเสี้ยวหรือจัดประเภทได้ตามกรอบคิดและทฤษฎี หากมุ่งไปที่การถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของผู้คนผ่านพื้นฐานสำคัญที่ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่เป็นจริงและสิ่งที่เสมือนจริงมักดำรงอยู่อย่างร่วมกัน แลกเปลี่ยน เคลื่อนไหว และส่งสะท้อนกันและกัน โดยนักมานุษยวิทยาอาจค้นพบข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จำนวนมาก ทว่าทั้งหมดนั้นกลับถูกสานเกลียวด้วยเรื่องเล่า พฤติกรรม ความเชื่อ อุมดมการณ์ทางเมืองตลอดจนจิตนาการและความรู้สึกที่พวกเขาและเธอมีต่อโลก บางเรื่องนั้นเกินว่าจะเชื่อถือได้หากดำเนินการตามครรลองของการวิเคราะห์ด้วยหลักการและระบบของเหตุผลของนักประจักษ์นิยม

“ผมมีความเชื่อว่าโลกที่ถูกพันเกลียวเช่นนี้ต่างหากที่บอกเล่าชีวิตทางสังคมของผู้คนได้อย่างครบถ้วน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจรัฐได้อย่างละเอียดลออ ปัญหาคือมานุษยวิทยาที่สร้างบนพื้นฐานของการมอบให้ดวงตาเป็นศูนย์กลางของการรับรู้ความจริงของโลกเพียงอย่างเดียวอาจเป็นจุดเด่นแต่ขณะเดียวกันก็เป็นข้อจำกัด ทำให้นักมานุษยวิทยาไม่อาจเอื้อนเอ่ยประเด็นบางประเด็นได้ เนื่องจากบางประเด็นนี้นักมานุษยวิทยาเองยังถูกกักขังอยู่ในโลกของเหตุผลไม่แตกต่างจากนักวิทยาศาสตร์” ศรยุทธ กล่าว

ศรยุทธ กล่าวต่อถึงงานมานุษยวิทยาหลายชิ้น ลำดับแรกคือหนังสือที่ชื่อว่า Bangkok Is Ringing: Sound, Protest, And Constraint ของ Benjamin Tausig ที่ว่าด้วย Sound, Noise And Voice โดยเขาได้เดินทางไปเก็บเสียงต่างๆ ในการชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งเสียงนั้นมีความหมายอย่างยิ่งและเป็นเหมือนการบันทึกถึงเรื่องราวของเสียงที่คนพูดเลือกพูดออกมาแม้รู้ว่าจะต้องเสียชีวิต แม้นักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งซึ่งพูดถึงการทำงานด้านสันติวิธีกล่าวไว้ว่า ในการชุมชุนมทางการเมืองเราควรจะคิดด้วยว่าเสียงที่พูดออกมานั้นเราจะพูดให้ใครฟังและจะต้องเปล่งเสียงออกมาอย่างไร หากอีกมุมอาจเป็นประเด็นรอง เพราะสำหรับคนหลายกลุ่มแล้วเขาเปล่งเสียงขึ้นมาท่ามกลางการถูกกดทับ การถูกไม่ให้เปล่งเสียง และบางคนเปล่งเสียงออกมาทั้งๆ ที่รู้ว่าถ้าพูดออกมาแล้วเขาจะต้องตาย

ลำดับต่อมานั้นเป็นงานมานุษวิทยาภาคสนามของ ศรยุทธเอง โดยเล่าว่าถูกท้าทายจากคนทำงานภาคสนามที่มาเลเซียว่าคุณจะใช้ดวงตาในการสังเกตโลกอย่างเดียวได้จริงหรือ เพราะในโลกของคนฮินดูมีความเชื่อว่าการมองเห็นสัมพันธ์กับการได้ยินและการสัมผัส หลังจากนั้นตนเองได้ลองปิดตาแล้วนั่งเงียบๆ ในวัดและในร้านน้ำชา รวมถึงไปเรียนในโรงเรียนคนสอนคนตาบอดเพื่อเรียรู้ว่าถ้าเราปิดตาแล้วเราจะรับรู้ความจริงของโลกได้อย่างไรและแบบไหน พบว่ามีทั้งการสัมผัส การดมกลิ่นเพื่อจำแนกประเภทของคน ฝึกสังเกตจากการสิ่งที่เขากิน อาหาร และสำเนียงการพูด ซึ่งในหลายครั้งนั้นเราใช้ดวงตาในการสังเกตโลก แต่เราไม่รู้เลยว่าดวงตาที่ใช้ในการสังเกตโลกถูกครอบงำและควบคุมด้วยอุดมการณ์หลากหลายชุด ทำให้สิ่งที่เราเห็นมันเป็นสิ่งที่เราเชื่อมากกว่าการเปิดความเชื่อของเราในมุมมองอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ Fabio Polenghi นักข่าวจากประเทศ อิตาลีที่ถูกยิงเสียชีวิต ภาพถ่ายรวมถึงกล้องถ่ายรูปทั้งหมดของเขาหายไปในการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 เมื่อพิจารณาภาพของเขานั้นจะพบว่าเขายืนอยู่ในมุมมองคนเสื้อแดง เวลาพูดถึง Native's Point Of View อันที่จริงแล้วมีกำแพงมากมายมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองจากมุมไหน ช่างภาพบางคนเลือกมองจากมุมที่รู้ว่าถ้าเขามองแล้วจะต้องตายและถูกยิงจากข้างหลัง ดังนั้นนักมานุษวิทยามักใช้ดวงตาสังเกตโลก แต่ช่างภาพคนนี้ได้ย้ำเตือนว่าดวงตาของเราไม่เคยมีความเป็นธรรม ทั้งมักถูกครอบงำและควบคุมในวิถีของการมองอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเราก็มองในสิ่งที่เรามองแล้วเราก็รู้ว่าเราจะต้องตาย

ศรยุทธ ส่งท้ายการอภิปรายด้วยบทสัมภาษณ์หนึ่งของ Gilles Deleuze ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่ว่า “สิ่งที่เราขาดไปมากที่สุดก็คือ ความเชื่อในดลกของเรา พวกเราได้สูญเสียมันไปแล้ว มันถูกพากไปจากเรา” ข้อความที่ชวนเศร้าสร้อยนี้กลับมีความท้าท้ายปรากฎอยู่ระหว่างบรรทัด มันคือการย้ำให้เห็นถึงความจริงของโลกและชีวิตทางสังคมหลากหลายระดับ การยืนยันในโลกที่เราเชื่อมั่น ที่เรายึดถือนั้นย่อมปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่ได้หากไม่อยากสูญเสียมันไป โลกที่เราเชื่อและพรมแดนความเป็นมนุษย์ที่เราเชื่อ ที่เรายึดถือย่อมปรับเปลี่ยนและสร้างใหม่ได้ก็จริงหากไม่อยากสูญเสียมันก็ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพในการกลายเป็น เพื่อเกาะกุมหัวใจสำคัญที่ว่ามนุษย์คือผู้ยึดกุมชะตากรรมของตัวเอง โลกที่เราเห็นต่างและแปลกแยกไม่อาจเปลี่ยนแปลงเราได้ การกระทำของเราต่างหากที่กำลังขับเคลื่อนและสร้างโลกที่เราเชื่ออย่างเงียบๆ อย่างน้อยที่สุดแม้อาจจะภายแพ้ให้กับโลกที่เราเห็นต่างแต่ก็ไม่อาจนับได้ว่าเราสูญเสียจิตวิญาณ

“การทำงานภาคสนามของมานุษยวิทยาว่าด้วยการกลายเป็น จึงเหมือนการอุทิศหนทางคืนสู่ความเป็นไปได้ของโลกที่ไม่ใช่โลกเบื้องหน้าของมานุษยวิทยาเท่านั้น ทว่าเป็นโลกที่พวกเราในนามของคน สัตว์ สิ่งของ และสิ่งที่อาจนับว่าเป็นมนุษย์อาศัยอยู่ร่วมกัน โลกที่จำเป็นต้องมีจิตนาการและความเชื่ออันเป็นธรรมร่วมกัน” ศรยุทธ กล่าวปิดท้าย

หมายเหตุ : 

รับชมวิดีโอบันทึกกิจกรรมครั้งนี้ได้ที่และ https://web.facebook.com/sac.anthropology/videos/3319178751437302

และดาวน์โหลดหนังสือรวมบทความการประชุมครั้งนี้ได้ที่

https://drive.google.com/file/d/1PuU2gBQxIDatuFDE4YzdQZTddm9rbh0f/view?fbclid=IwAR22HMvgaRQMBcxyuUEu4lVW4WXdY-qiiUrPqjgfO7OZRlbE2aQdjLG9Vpg

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net