จอน อึ๊งภากรณ์ หวังระบบสุขภาพระบบเดียว ครอบคลุม มีสิทธิป่วยนอกเวลาราชการ

จอน อึ๊งภากรณ์ หวังอนาคตระบบสุขภาพใน 10 ปีข้างหน้าควรมีระบบเดียวครอบคลุมคนไทยทุกคน มีหน่วยบริการปฐมภูมิเข้มแข็ง ชุมชนเป็นเจ้าของหน่วยบริการ มีสิทธิป่วยนอกเวลาราชการ และใช้ระบบไอทีลดระยะเวลารอคอยและการเดินทาง ชี้จะทำแบบนี้ได้ต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยไม่มี ส.ว.แต่งตั้งมาแทรกแซง

21 ส.ค. 2563 ทีมสื่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่า จอน อึ๊งภากรณ์ ตัวแทนภาคประชาชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวบรรยายในเวทีประชุม "หลักประกันสุขภาพคนไทย ฝันให้ไกล ไปให้ถึง" ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย วันที่ 17 ส.ค. 2563 โดยอภิปรายถึงความคาดหวังต่อระบบสุขภาพในระยะ 10 ปีข้างหน้าจากมุมมองของผู้รับบริการว่า อยากเห็นระบบสุขภาพของไทยที่เป็นระบบเดียวครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ มีคุณภาพการให้บริการสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้และเท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องนี้ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่เฉพาะ สปสช. กับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอื่นๆด้วย

ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ก่อนอื่นเราต้องยึดหลักว่า "การบรรลุถึงระดับมาตรฐานสุขภาพที่สูงที่สุดที่จะเป็นไปได้ เป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน" ความหมายคือสุขภาพเป็นสิทธิ ไม่ใช่สินค้า ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงมาตรฐานบริการสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ในสังคมโดยไม่เกี่ยวว่าเป็นคนรวยหรือคนจน ถ้ายึดหลักนี้ สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีระบบสุขภาพระบบเดียวครอบคลุมทุกคนในประเทศ ทุกคนได้รับการรักษาเหมือนกันตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจนถึงคนไร้บ้าน

"ภาคประชาชนพูดกันมานานเรื่องความจำเป็นในการรวมกองทุน 3 กองทุนสุขภาพ แต่นอกจากนั้นแล้วเราต้องรวมระบบของเอกชนด้วย เพราะที่ผ่านมาเอกชนได้ดูดเอาทรัพยากรทางสาธารณสุขจำนวนมาก ถ้าเอาทรัพยากรเหล่านี้มารวมกันจะทำให้ระบบสุขภาพของไทยมีพลัง ผมไม่ได้หมายถึงต้องยุบรวมโรงพยาบาลเอกชน แต่โรงพยาบาลเอกชนต้องเข้ามาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นระบบเดียวกัน อาจกำหนดว่าอย่างน้อย 80% 90% หรืออาจจะ 100% ของเตียง จะต้องอยู่ในระบบหลักประกัน หมายความว่าเมื่อประชาชนไปรับบริการ โรงพยาบาลเอกชนอาจเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนที่นอกเหนือจากสิทธิ เช่น ห้องพิเศษ อาหารพิเศษ มีคนดูแลกลางคืน แต่การรักษาทางการแพทย์ เรื่องยา จะต้องไม่เสียเงิน โดยมาเบิกจากระบบหลักประกันสุขภาพ นี่คือสิ่งที่เราต้องการเห็น" จอนกล่าว

ประเด็นต่อมา จอนเสนอว่า ต้องมีการผลิตหมอประจำครอบครัวให้มากกว่านี้ เพื่อเข้ามาให้บริการในระดับปฐมภูมิ ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ เดินไปที่ไหน ไม่เกิน 1 กม. ก็เจอคลินิกหมอครอบครัวแล้ว ไทยควรมีแพทย์ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกที่ รวมทั้งควรมีโรงพยาบาลใกล้บ้าน อย่าง กทม. ควรมีโรงพยาบาลประจำเขตเหมือนกับโรงพยาบาลประจำอำเภอต่างๆ และอยากให้หน่วยบริการปฐมภูมิไม่ควรห่างจากบ้านผู้ป่วยเกิน 5 กม. หรือใน กทม.ก็ 2-3 กม. ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนก็ไม่ควรห่างเกิน 20 นาที

"อีกประเด็นคือ เราควรมีสิทธิที่จะป่วยนอกเวลาราชการ อย่างเร็วๆ นี้ ลูกชายคนเล็กผมหัวแตก เลือดไหลไม่หยุด เกิดปัญหาว่าถ้าไปหน่วยบริการก็อยู่ห่างมาก ขับรถเกือบ 1 ชม. หน่วยบริการอื่นๆ ก็ปิดหมด สุดท้ายต้องพาไปโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน ขับรถ 3 นาทีถึง แต่ไม่เข้าข่ายฉุกเฉิน ต้องเสียค่าใช้จ่าย 4,600 บาท ดังนั้น ผมอยากเห็นว่าเราสามารถป่วยนอกเวลาราชการได้ แม้จะมีคลินิกบางส่วนปิดแต่ก็สามารถจัดการให้เปิดเป็นบางส่วนได้เช่นกัน"

นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเห็นว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือต้องทำให้ชุมชนร่วมเป็นเจ้าของหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. โรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลจังหวัด ในระยะยาว หน่วยงานเหล่านี้ควรขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ในระยะแรกอาจเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างชุมชนและกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ และทุกโรงพยาบาลควรมีตัวแทนชุมชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะว่าควรปรับปรุงพัฒนาเรื่องใด รวมทั้งเป็นผู้พิจารณาการรับบุคลากรด้วย ขณะเดียวกันชุมชนก็ควรมีทุนให้คนในชุมชนไปเรียนแล้วกลับมาทำงานในสถานบริการเหล่านี้เช่นกัน

ประเด็นสุดท้ายที่จอนนำเสนอ คือต้องใช้ระบบไอทีมาช่วยประหยัดเวลาและการเดินทาง ตนไม่เข้าใจว่าขณะนี้ในโรงพยาบาลรัฐหลายที่มีคิวยาว ต้องรอทั้งวัน แน่นอนว่าจำนวนคนไข้เยอะ แต่ยุคไอทีสามารถบริหารจัดการได้ ถ้ามีแอปพลิเคชันที่มีประสิทธิภาพ เช่น ใช้แอปฯ นัดพบหมอ โดยอาจให้ไปที่ รพ.สต. ก่อน เพื่อคัดกรองอาการเบื้องต้น แต่ถ้าต้องไปโรงพยาบาลก็มีระบบนัดเวลาที่ชัดเจน ก่อนถึงเวลานัดแอปฯ มีการแจ้งเตือน รวมทั้งแจ้งเส้นทางการจราจร สภาพการจราจร หรือระบบ Telemedicine ใช้ประโยชน์ด้วย เป็นต้น

จอนกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิค แต่เป็นเรื่องที่ต้องการการเมือง ต้องการนโยบายสุขภาพของประเทศ ต้องการรัฐธรรมนูญที่ระบุสิทธิชัดเจน เพราะฉะนั้น เราจะต้องสู้เพื่อรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งโดยไม่มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งมาแทรกแซง และหวังว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะร่างโดยประชาชนและระบุสิทธิว่าการบรรลุถึงระดับมาตรฐานสุขภาพที่สูงที่สุดที่จะเป็นไปได้ เป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ต้องมีระบบเดียวครอบคลุมประชาชนทั้งหมดและให้บริการที่มีคุณภาพสมศักดิ์ศรีของประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท