Skip to main content
sharethis

การบินไทยแจงข่าวลือบริษัทเหลือเงินจ่ายพนักงานแค่ ต.ค. 2563 นี้ ไม่เป็นความจริง

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีที่มีสื่อเผยแพร่เรื่องกระแสเงินสดของบริษัทฯ เหลือถึงแค่เดือน ต.ค. 2563 นั้น มีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งในความเป็นจริงข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการบรรยายสรุปให้พนักงานรับทราบในการประชุมภายในระหว่างฝ่ายบริหารและพนักงาน กล่าวคือ ถ้าบริษัทฯ และพนักงานทุกคนไม่ทำอะไรเลย เงินก็จะเหลือแค่เดือนตุลาคม

แต่บริษัทฯ ทราบดีจึงมีการบริหารจัดการทางด้านหารายได้เสริม หรือหารายได้จากธุรกิจอื่น เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้ขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้หารายได้เพิ่ม ได้แก่ การขนส่งสินค้า โดยตั้งแต่เดือน มี.ค.-ก.ค. 2563 จำนวน 18,165 ตัน ใน 903 เที่ยวบิน และจัดเที่ยวบินพิเศษ จำนวน 46 เที่ยวบิน นำคนไทยที่ตกค้างและประสงค์จะกลับบ้าน จำนวน 5,488 คน และฝ่ายครัวการบินผลิตอาหารขึ้นเครื่องบินให้แก่สายการบินลูกค้า และของบริษัทฯ ระหว่างเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2563 ประมาณ 1.1 ล้านชุด รวมทั้งผลิตขนมและเบเกอรี่ของร้าน Puff & Pie กว่า 5.5 ล้านชิ้น

อีกด้านหนึ่งที่บริษัทฯ ดำเนินการ คือ การลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด รวมถึงบริษัทฯ ยังได้เจรจากับคู่ค้าและเจ้าหนี้ในการพักชำระหนี้ชั่วคราว (Automatic Stay) ระหว่างเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู และที่สำคัญ คือการที่บริษัทฯ ได้รับความร่วมมือด้วยความสมัครใจจากพนักงานเกือบทั้งหมดในการปรับลดเงินเดือนและค่าตอบแทน ตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม ที่ผ่านมา และพนักงานส่วนมากยังได้ให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ด้วยการสมัครใจลาหยุดงานโดยไม่รับค่าตอบแทน หรือ Leave Without Pay ในโครงการ Together We Can ระหว่างเดือน ส.ค.-ธ.ค. 2563 ซึ่งทำให้บริษัทฯ ลดค่าใช้จ่ายได้อย่างต่อเนื่องและสามารถรักษาเงินสดได้อย่างเพียงพอเพื่อคงสภาพคล่องให้นานที่สุดจนกว่าบริษัทฯ จะกลับมาทำการบินได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังได้มีการบริหารความเสี่ยงและบริหารจัดการกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น การที่มีข่าวว่าบริษัทฯ จะมีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ถึงแค่เดือน ต.ค. จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการสื่อสารภายในสำหรับพนักงาน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือ จึงจำเป็นจะต้องกล่าวถึงผลที่อาจจะเกิดขึ้น หากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากพนักงานทุกคน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/8/2563

สมัชชาแรงงานฯ หนุน 3 ข้อกลุ่มปลดแอก

21 ส.ค. 2563 กลุ่มแรงงานหลายภาคส่วน รวมตัวเข้าร่วมชุมนุมหลังจากเลิกงาน และตั้งเวทีปราศรัยเพื่อสะท้อนแนวคิดการเคลื่อนไหวสะท้อนการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นระบบรัฐสวัสดิการ ในนามกลุ่ม "สมัชชาแรงงานแห่งชาติ" พร้อมแถลงการณ์ รวม 4 ข้อ ซึ่ง 3 ข้อแรก เป็นการสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวของ "คณะประชาชนปลดแอก" คือ การขอให้รัฐบาลยุบสภา,แก้รัฐธรรมนูญใหม่ และ หยุดคุกคามประชาชน รวมถึง อีกหนึ่งข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาแรงงานแห่งชาติ คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อรับประกันเสรีภาพในชีวิต และสร้างสังคมประชาธิปไตย

การชุมนุมวันนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจเกิดความเหลื่อมล้ำภายใต้ 6 ปีที่รัฐบาลบริหารประเทศ การละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นในวงกว้าง และเมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก กลุ่มนายจ้างจำนวนมากฉกฉวยช่องว่างทางกฎหมายในการเลิกจ้าง บังคับลาออกเปลี่ยนสภาพการจ้าง

ผู้ใช้แรงงานต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง รอคอยการถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน อย่างไร้อำนาจการต่อรอง เพราะกลไกทางกฎหมายและรัฐสภา ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้นอกจากการรวมตัวของกลุ่มสมัชชาแรงงานฯ แล้วยังมีนักเรียนมัธยมเดินทางมาร่วมฟังการปราศรัย โดยใช้ริบบิ้นขาวผูกผมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. มีชายฉกรรจ์บุกขึ้นเวทีสมัชชาแรงงานแห่งชาติ ระหว่าง น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และในฐานะโฆษกคณะประชาชนปลดแอก อยู่ระหว่างการขึ้นปราศรัยไปได้ประมาณ 5 นาที แต่ไม่สำเร็จถูกมวลชน กลุ่มสมัชชาแรงงานฯ โห่ไล่ และ ช่วยกันป้องกันตัว น.ส.จุฑาทิพย์ ไม่ให้ถูกพาตัวลงจากเวที ทำให้ชายฉกรรจ์รีบเดินทางออกจากพื้นที่การชุมนุม ซึ่งกลุ่มสมัชชาแรงงานแห่งชาติใช้สถานที่ชุมนุมของสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยในอำเภอเมือง สมุทรปราการ หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว น.ส.จุฑาทิพย์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประมาณ 5 นาที และรีบลงจากเวที โดยมีทีมการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาดูแลความปลอดภัย

ที่มา: Thai PBS, 21/8/2563

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้ส่งคนไทยในเกาหลีใต้ จำนวน 202 คน

21 ส.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้ส่งคนไทยในเกาหลีใต้ จำนวน 202 คน เดินทางกลับประเทศไทยด้วยเที่ยวบินพาณิชย์พิเศษของสายการบิน Korean Air ที่ KE 651 ซึ่งออกเดินทางจากเกาหลีใต้ เวลา 18.05 น. และจะเดินทางถึงประเทศไทยเวลา 21.45 น. โดยเที่ยวบินดังกล่าว เป็นเที่ยวบินที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับ-ส่งบุคคลกลับประเทศไทยตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)

ซึ่งการจัดเที่ยวบินพิเศษนี้เป็นไปตามแนวทางจัดการเคลื่อนย้ายคนไทยในต่างประเทศกลับประเทศไทยของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันและควบคุมโรคของไทย โดยการจัดสรรผู้โดยสารคนไทยที่ขึ้นเที่ยวบินข้างต้น 202 คน ให้ความสำคัญกับผู้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนด้านสุขภาพ สตรีมีครรภ์ และเป็นไปตามลำดับของผู้ที่ลงทะเบียนในแบบฟอร์มแจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยกับสถานเอกอัครราชทูตฯ ทั้งนี้ ผู้โดยสารทุกคนได้รับทราบเกี่ยวกับมาตรการกักตัว 14 วัน หลังจากที่เดินทางถึงประเทศไทยแล้ว

ที่มา: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล, 21/8/2563

กทพ.เตรียมยกเลิกพนักงานเก็บค่าทางด่วน

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศ หรือ กทพ. เปิดเผยว่า กทพ. อยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีช่องเก็บค่าผ่านทาง เพื่อให้ผู้ขับขี่ผ่านด่านโดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถบริเวณหน้าด่าน แนวทางเบื้องต้น เช่น ใช้บริการก่อนจ่ายที่หลัง เช่นเดียวกันกับค่าน้ำ ค่าไฟ หรืออาจจะจ่ายทันทีต่อครั้งแบบ Pay Paid ก็ได้ และจะมีกำหนดระยะเวลาที่ต้องจ่ายหากไม่จ่ายจะให้หน่วยงานติดตามทวงหนี้ส่งบิลเรียกเก็บย้อนหลังไปที่บ้าน คาดว่าระบบจะสมบูรณ์และนำมาใช้กับทุกด่านเก็บค่าผ่านทางได้ภายใน 2 ปี ซึ่งแน่นอนว่าช่วงปี 2565 พนักงานประจำตู้เก็บค่าผ่านทางกว่า 2,000 คน จะถูกฝึกอบรมให้ไปทำงานอื่นโดยไม่มีนโยบายปลดออก

นอกจากนี้ กทพ. จะตั้งหน่วยงานติดตามทวงหนี้ขึ้นมาเป็นการเฉพาะและหารือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อลงนามความร่วมมือกันในการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ขับขี่ เพื่อสะดวกต่อการทวงหนี้ มั่นใจว่าระบบทวงหนี้ของ กทพ.ได้ผลแน่นอน แต่เวลานี้ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่าเป็นอย่างไร ที่สำคัญจะกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงกรณีฝ่าด่านไม่จ่ายค่าผ่านทางด้วย หลังพบว่ามีผู้ใช้บริการฝ่าฝืนลักลอบไม่จ่ายค่าผ่านทาง แต่ละวันประมาณ 2% หรือคิดเป็นรายได้ที่ กทพ.ต้องสูญเสียวันละประมาณ 1,400,000 บาท จากรายได้การเก็บค่าผ่านทางเฉลี่ยวันละประมาณ 70 ล้านบาท

ที่มา: ช่อง 7, 20/8/2563

รอง ปธ.สภาองค์การนายจ้างฯ ชี้ข้อมูลคนว่างงานล้าหลัง เลขไม่ตรงจริง จี้แก้ปัญหาเด็กจบใหม่ก่อนจะตกงานถาวร

19 ส.ค. 2563 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เปิดความจริง ปัญหาว่างงาน โจทย์รัฐบาลประยุทธ์ 2/2”

โดย นายธนิต กล่าวช่วงหนึ่งว่า ตัวเลขว่างงานของเราไม่ค่อยเป็นเรื่องเป็นราว กระทรวงแรงงานไม่มีข้อมูล หลายๆ กระทรวงก็ไม่มี หน่วยงานที่เก็บข้อมูล คือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่เขาไม่ได้ทำเรื่องนี้เรื่องเดียว วิธีเก็บก็ใช้วิธีขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งใช้กันมา 40 ปีแล้ว นิยามง่ายๆ ของเขา คือ ในรอบ 1 สัปดาห์ ถ้าคน 1 คน มีงานทำ 1 ชั่วโมง จะได้ตังค์หรือไม่ได้ตังค์ ก็ถือว่าเป็นคนมีงานทำ นิยามแบบนี้ คนตกงานกลับต่างจังหวัดไปถอนหญ้า 1 ชั่วโมง ถือว่ามีงานทำแล้ว เวลาสำรวจก็เน้นเฉพาะต่างจังหวัด เพราะภาคเกษตรเยอะ แต่หลายประเทศใช้วิธีแยกเมือง กับภาคเกษตร ออกจากกัน แล้วก็นับคนต่างด้าวด้วย ทั้งที่คนต่างด้าวไม่มีงานทำ อยู่เมืองไทยไมได้อยู่แล้ว วิธีสำรวจต้องเปลี่ยนไหม

ตัวเลขว่างงานรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจยังไง ก็ขึ้นลงอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขล่าสุดไตรมาส 2 อัตราว่างงาน 1.95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบหลายปี แต่ตัวเลขที่มาที่ไปไม่ชัด หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ค่อยสบายใจกับตัวเลข เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่ มิถุนายน ปีที่แล้ว คนมีงานทำ 38.38 ล้านคน ปีนี้ 37.4 ล้านคน ลบกันมีคนว่างงานราว 9 แสนคน ไม่ใช่ 7 แสนคน ตามที่คำนวณจาก 1.95 เปอร์เซ็นต์

นายธนิต กล่าวอีกว่า แรงงานในระบบ มาตรา 33 มีประมาณ 11.3 ล้านคน แล้วแรงงานส่วนใหญ่ของเราอยู่นอกระบบด้วย จึงไม่มีตัวเลขแน่นอน กระจัดกระจายอยู่ในภาคแรงงานต่าง ๆ อย่างแค่ภาคการท่องเที่ยว มีเกือบ 3 ล้านคน แต่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ บอกมีเกือบ 10 ล้านคน คิดว่าส่วนนึงคงเป็นพาร์ตไทม์เคลื่อนไปเคลื่อนมา พอมาโควิด นักท่องเที่ยวหายไป มันพลิกเลยนะ

อย่าลืมนักศึกษาจบใหม่ ประมาณ 5 แสนคน ต้องหางานให้ทำโดยเร็ว ส่วนหนึ่งทำงานไปแล้วประมาณ 1 แสนคน พวกนี้จังหวะไม่ดี จบมาช่วงโควิดพอดี ถ้าดูแลไม่ดีจะเป็นคนตกงานถาวร เพราะพื้นฐานเราก็ไม่ได้แข็ง ถ้าว่างงานนานทักษะที่เรียนมาจะไม่เหลือเลย เศรษฐกิจรอบนี้จะกลับมา ไม่น้อยกว่า 2 ปี แล้วปีหน้าจบมาอีก 5 แสนคน บวกกับที่อยู่ในสภาวะว่างงานอยู่แล้ว รวมกันสัก 2 ล้านคน

นายธนิต กล่าวด้วยว่า ประชุม ครม. ที่ผ่านมา มีการรายงานสภาวะทางสังคม โดยเอาเรื่องตกงานมาพูด ทั้งที่มันควรเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ตนพูดมา 3-4 รัฐมนตรีแล้ว ว่าการแก้ปัญหาแรงงาน แก้โดดๆ ไม่ได้ พาณิชย์ส่งออกไม่ดี โรงงานปิดตัว การลงทุนไม่มา สถาบันการศึกษายังผลิตเด็ก 2.0 อยู่ แต่เราเป็น 4.0 แล้ว ฉะนั้นกระทรวงแรงงานต้องอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจ รัฐมนตรีที่มาทำต้องแหลมคม

นอกจากนี้ กรมจัดหางาน กรมสวัสดิการฯ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หลังโควิดต้องปรับตัว ควรมีบทบาทมากกว่านี้ ตลาดแรงงานไม่เหมือนเดิม การลงทุนรอบใหม่จะไม่เหมือนเดิม ไทยอาจไม่ใช่สาวเนื้อหอมอีกแล้ว เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่มีผู้สูงวัยมากถึง 1 ใน 5 แล้วตอนนี้ แรงงานสูงวัยค่าแรงสูง ผลงานต่ำ การรับรู้ช้า ซึ่งเวียดนามเหนือกว่าเรา ทำงานได้มากกว่า รวมไปถึงเรื่องที่ดินแพง ระเบียบรัฐหยุมหยิม ฯลฯ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/8/2563

15 องค์กรลูกจ้างเข้าพบ รมว.แรงงาน หารือแนวทางแก้ปัญหาสถานการณ์แรงงานในปัจจุบัน

ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง 15 แห่ง และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขผลกระทบจากโควิด – 19 และผลกระทบจากการเลิกจ้างลูกจ้าง รวมถึงการลดขนาดองค์กรในสถานประกอบกิจการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อปรึกษาหารือสถานการณ์ด้านแรงงาน ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย สำหรับการประชุมดังกล่าวเพื่อเป็นการรับฟังสภาพปัญหา ข้อเสนอ แนวคิด ในการร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์ด้านแรงงานในปัจจุบัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ประธานและผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง 15 แห่ง และสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย องค์กรละ 3 คน รวม 48 คน โดยผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง และผู้แทนสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยได้เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 และผลกระทบจากการเลิกจ้างลูกจ้าง รวมถึงการลดขนาดองค์กรในสถานประกอบกิจการ

นายสุชาติ กล่าวว่า การที่ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยมาขอเข้าพบในเมื่อวันนี้ เนื่องจากพวกเขาได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด - 19 จนทำให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานต้องตกงานจากการเลิกจ้างลูกจ้างและการปรับลดขนาดขององค์กรลง ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ เป็นหัวหน้าผู้ใช้แรงงาน จะต้องลงมารับฟังสภาพปัญหาและร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของทุกฝ่าย สิ่งที่ผมกำลังทำวันนี้ คือ จัดตั้งศูนย์อำนวยการแรงงานแห่งชาติ ให้เป็นศูนย์ขับเคลื่อนด้านแรงงานทุกมิติ รวมถึงเดินสายของานจากผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานได้มีงานทำ ได้กลับเข้าสู่ระบบการจ้างงานโดยเร็ว ซึ่งในเรื่องนี้ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านได้ให้ความห่วงใยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลายลง โดยนำนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” เข้ามาดำเนินการ เพื่อมีเป้าหมายที่จะผนึกกำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันวางแผนเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทยไปด้วยกัน

ที่มา: บ้านเมือง, 19/8/2563

กสร.ชวนนายจ้างทำ "มาตรฐานแรงงานไทย" สร้างเชื่อมั่น เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

17 ส.ค. 2563 กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ประกาศใช้มาตรฐานแรงงานไทย ความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจไทย มรท.8001-2546 เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2546 ซึ่งเป็นมาตรฐานสมัครใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดี เทียบได้กับมาตรฐานแรงงานสากล โดยสถานประกอบกิจการทุกประเภท ทุกขนาด สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ด้านสภาพ การจ้างและสภาพการทำงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มโอกาสทางการค้า

ล่าสุด มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแรงงาน การออกกฎหมายเพิ่มเติม ตลอดจนข้อกำหนดมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง จึงได้ประกาศใช้มาตรฐานแรงงานไทย มรท.8001-2563 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 ฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สถานประกอบกิจการสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกอย่างทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างธุรกิจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า มาตรฐานแรงงานไทยฉบับล่าสุด เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และกฎหมายแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนข้อกำหนดมาตรฐานสากล การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ยอมรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน รวมถึงข้อกำหนดระบบการจัดการแรงงานเพื่อการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยข้อกำหนด 2 ส่วนหลัก คือ 1. ระบบการจัดการแรงงาน และ 2. สิทธิแรงงานและการคุ้มครอง ซึ่งมีเนื้อหาอ้างอิงมาจากอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของกฎหมายแรงงานที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และข้อกำหนดเพิ่มเติมอื่นที่รวมอยู่ในเงื่อนไขทางการค้า

"สถานประกอบกิจการที่ทำมาตรฐานแรงงานไทย จะมีส่วนช่วยให้กิจการเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ และไว้วางใจ เนื่องมาจากการบริหารจัดการแรงงานที่เป็นธรรม รับผิดชอบต่อสังคม มีมาตรฐานและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล แรงงานมีความมั่นคงในการทำงาน ได้รับการคุ้มครองไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี เพิ่มศักยภาพแรงงานที่ดีให้สามารถเข้าร่วมเวทีการค้าระดับสากลได้ ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจในการลงทุนจากต่างประเทศ" อธิบดี กสร. กล่าว

ทั้งนี้ ระบบการประเมินและการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ 1. ระบบการรับรอง เป็นการประเมินโดยหน่วยงานตรวจหรือหน่วยรับรอง ทั้งจากภาครัฐ (กสร.) และภาคเอกชน (CB) สามารถนำใบรับรองไปแสดงต่อคู่ค้าได้ และ 2. ระบบการประกาศแสดงตนเอง เป็นการประเมินด้วยตนเองว่าได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในระบบ ถือเป็นการแสดงเจตจำนง ไม่มีการประเมินจากบุคคลภายนอก เป็นการรับรองด้วยตนเอง

โดยระดับและอายุการรับรอง แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. ระดับพื้นฐาน เป็นการรับรองสถานประกอบกิจการ เฉพาะในส่วนที่เป็นเอกสารตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ต้องมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (O.T.) การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และการทำงานในวันหยุดไม่เกิน 36 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยมีอายุการรับรอง 2 ปี 2. ระดับสมบูรณ์ เป็นการรับรองสถานประกอบกิจการที่ทำตามข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทยทุกข้อ ต้องมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (O.T.) การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และการทำงานในวันหยุด ไม่เกิน 36 ชั่วโมง/สัปดาห์โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี และ 3. ระดับสมบูรณ์สูงสุด เป็นการรับรองสถานประกอบกิจการที่ทำตามข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทยทุกข้อ ต้องมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (O.T.) การทำงานล่วงเวลาในวันหยุด และการทำงานในวันหยุด ไม่เกิน 12 ชั่วโมง/สัปดาห์โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี

สำหรับข้อมูลสถานการณ์ด้านมาตรฐานแรงงานไทย ณ วันที่ 31 ก.ค. 2563 พบว่า มีสถานประกอบกิจการมีการจัดการด้านมาตรฐานแรงงานไทย จำนวน 1,158 แห่ง ลูกจ้าง 528,401 คน เป็นสถานประกอบกิจการส่งออก จำนวน 344 แห่ง มูลค่าการส่งออก 141,215 ล้านบาท

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย พบว่าลูกจ้างมีความพึงพอใจอยู่ในระดับดี มีสถิติจำนวนผู้ประสบอันตรายลดลง ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

สนใจการเข้าระบบมาตรฐานแรงงานไทย สอบถามได้ที่สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร. 0 2246 8370, 0 2246 8294 เว็บไซต์ http://tls.labour.go.th

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 17/8/2563

หมออนามัย รพ.สต. ถือป้ายทวงสัญญาบรรจุทัน ก.ย. 2563 ด้าน 'อนุทิน' ย้ำอยู่ระหว่างกระบวนการ

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. เฟซบุ๊กแฟนเพจ “หมออนามัยขี้mouth” ได้เผยแพร่ภาพและข้อความที่มีการแชร์กันในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทั่วประเทศ เรียกร้องขอให้มีการบรรจุเป็นข้าราชการรุ่นโควิด-19 ในรอบเดียวกันกับรอบ 2 เนื่องจากเดิมกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้บุคลากร รพ.สต. บรรจุในรอบ 3 แต่ล่าสุดมีการระบุว่าจะบรรจุในรอบเดียวกัน คือ รอบ 2 และ 3 แต่ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือหรืออะไรที่ยืนยันดังกล่าว โดยการเรียกร้องเป็นการดำเนินการเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่ รพ.สต.ของแต่ละแห่ง โดยมีการชูกระดาษเขียนข้อความ ระบุว่า

“คนทำงานด่านหน้า ทวงสัญญาการบรรจุ #อย่าทิ้งคน รพ.สต. สายงาน นักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต. ....”

นอกจากนี้ ตัวแทนพนักงานกระทรวงสาธารณสุข พนักงานราชการ และลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ประจำ รพ.สต. ในจ.สมุทรสาคร ได้ยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องเรื่องดังกล่าว ต่อ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และยื่นต่อส.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ เพื่อขอให้มีการบรรจุทันกันยายน 2563 นี้

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งพยายามทำเต็มที่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ทุกอย่างก็มีเรื่องของอัตรา ของงบประมาณ หลายปัจจัยประกอบการ ซึ่งอยากจะย้ำว่า เราพยายามหาทางออกในการมีตำแหน่งให้ทุกๆคน ก็คือ การไม่ทิ้งอยู่แล้ว เพียงแต่รูปแบบต่างๆ ก็ต้องมีขั้นตอน ของบางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่เราก็พยายามเต็มที่ ซึ่งขณะนี้รองปลัดสธ.กำลังดำเนินการตามกระบวนการอยู่

นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดสธ. กล่าวว่า สำหรับการบรรจุข้าราชการในส่วนของ รพ.สต. ที่เดิมระบุว่าจะบรรจุรอบ 2 และ3 พร้อมกันนั้น ยังดำเนินการอยู่ เพียงแต่ขณะนี้รอการพิจารณาของคณะกรรมการกำาหนดเป้าหมายและนโยบายกำาลังคนภาครัฐ (คปร.) ซึ่งกำลังดำเนินการ โดยการบรรจุข้าราชการโควิด-19 ที่เหลือจะต้องบรรจุให้ทันภายในเดือนกันยายน 2563 นี้ หลังจากนั้นก็จะเป็นการพิจารณาในส่วนของบุคลากรสธ.ที่ทำงานโควิดแต่ประสบปัญหาต่างๆ อย่างที่เคยกล่าวไปก็จะต้องมาพิจารณาว่าจะหาทางออกช่วยเหลือกันอย่างไร

ที่มา: Hfocus, 17/8/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net