Skip to main content
sharethis

เวทีเสวนาแก้ รธน. นักการเมืองประสานเสียงแก้ ม.256 ตั้ง สสร.ร่าง รธน. 'สุทิน' ขีดเส้น สสร. ทำงาน 120 วัน 15 เดือนต้องได้ รธน.ใหม่ 'ภราดร' แนะฟังความเห็นรอบด้าน อย่ารีบเร่งให้เวลา สสร. ทำงาน 1 ปี ด้านพรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอร่างแก้ รธน. 26 ส.ค. นี้


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จัดเวทีเสวนาสาธารณะภาคการเมืองและรัฐสภา หัวข้อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และอนาคตของชาติบ้านเมือง” มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมเป็นวิทยากร โดยนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวเปิดการเสวนากรณีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าทุกฝ่ายในสังคมเห็นพ้องต้องกันว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะคลายปมความขัดแย้งไปได้ในระดับหนึ่ง และสามารถดึงความขัดแย้งนอกสภามาคุยในสภาได้ เพื่อเป็นเวทีหลอมรวมความขัดแย้งให้พูดจากันด้วยเหตุและผล

“เรื่องการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) พรรคการเมืองก็เห็นด้วย แต่คงต้องใช้เวลาพูดคุย เพราะยังมี ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วย ส่วนเรื่องกรอบเวลา ยังมีปมปัญหาเรื่องช่วงเวลาของการยุบสภา และนอกจากการแก้มาตรา 256 แล้ว ยังมีปมที่เกี่ยวกับ ส.ว. ที่มีส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้มี ส.ว. บางส่วนให้ยังมีอยู่และตัดอำนาจบางส่วน แต่ต้องยอมรับว่าส.ว.ต้องมีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย จึงยากที่จะทำให้ ส.ว.หมดสิ้นไปจากสภา แต่หากให้คง ส.ว.ไว้ และลดอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็น่าจะเป็นไปได้” ประธาน ครป. กล่าว

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ว่า เราเห็นสถานการณ์แบบนี้มาตลอด แต่บุคคลที่มาเรียกร้องแตกต่างไปตามยุคสมัย ซึ่งการเรียกร้องทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ประเด็นที่แปลกประหลาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญเหมือนกับเป็นกฎกติกาของบ้านเมือง ซึ่งเหตุการณ์ของบ้านเมืองเปลี่ยนไปทุกยุคสมัย ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงต้องปรับแก้ไขได้อยู่แล้ว

“ประเทศสหรัฐอเมริกาแก้รัฐธรรมนูญบ่อยมาก แต่วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสหรัฐจะเก็บต้นฉบับไว้และแก้ไขไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงยุคหนึ่งที่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหามากต่อสังคม ดังนั้น ทุกประเทศในโลกไม่มีรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกแก้ไข แต่เหตุผลและวิธีการนั้นแตกต่างกันไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเทศไทยจึงไม่แปลกอะไร และหากดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ประเทศไทยจะทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญของประเทศไทยเป็นคู่มือประชาชนที่มีไว้สำหรับคุ้มครองสิทธิของประชาชน ไม่ใช่เป็นคู่มือของฝ่ายการเมือง ประชาชนก็ม่ทราบว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากรัฐธรรมนูญ หัวใจของรัฐธรรมนูญคือ ต้องทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นของพวกเขา” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำความเข้าใจว่ามาเพื่อศึกษา ไม่ได้มาเพื่อแก้ ไม่ว่าจะมาจากพรรคใด แต่เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ยืนยันว่าการประชุมกรรมาธิการ ฯ ทุกนัด ไม่เคยพูดถึงประโยชน์ทางการเมือง เคารพทั้งเสียงข้างมากและข้างน้อย ดังนั้น ถ้าเมื่อใดที่ร่วมมือทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง จะไม่เกิดความขัดแย้ง และเมื่อพิจารณาถึงมาตรา 256 ความเห็นส่วนใหญ่เห็นว่าควรต้องแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นจะยุ่งยากลำบากและใช้เวลามากเกินไป ต่อมาก็มีข้อเสนอว่าหากจะต้องยกร่างทั้งฉบับ ก็ให้ใช้ระบบ ส.ส.ร.

นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) มองปรากฏการณ์การชุมนุมว่า ไม่ควรมองข้าม และควรนำปรากฎการณ์เป็นตัวกระตุ้นให้แก้ไข และการแก้ไขที่จะดำเนินการได้ในวันนี้ คือ กติกาซึ่งคือรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ชุมนุมเรียกร้องชัดเจน แต่แม้ไม่มีการชุมนุมก็มองว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่การชุมนุมมาเป็นสิ่งเร้าให้แก้ไขเพิ่มขึ้น

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ทั้งการนำสังคมเข้าและออกสู่ความขัดแย้ง หลายครั้งนำสู่การวิกฤติครั้งใหญ่ แต่หลายครั้งที่ความขัดแย้งแก้ไขด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องดูว่าครั้งนี้จะแก้ถูกหรือแก้ผิด สิ่งที่ต้องตระหนักมาก ๆ คือหลายครั้งมีกลุ่มที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอยากแก้จริง ๆ เพื่อหวังผลสัมฤทธิ์ที่เป็นทางออกของสังคม 2. แก้เพื่อลดกระแส แต่ไม่จริงใจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่พึงระวัง 3.แก้เพื่อสร้างกระแส เพื่อเอาใจมวลชน ถ้าไม่หวังผลสัมฤทธิ์ จะเกิดปัญหา ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญในแบบที่หนึ่ง จากนั้นมาคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสัมฤทธิ์ โดยการนำบทเรียนมาพิจารณา ด้วยการปิดจุดเสี่ยงคือ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ ส.ว.เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ หาก ส.ว.ไม่เห็นด้วยก็ล้มตั้งแต่ยกแรก และปิดจุดที่สอง คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ที่วินิจฉัยว่าการแก้ไขเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าว

นายสุทิน กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 3 หลักการ คือ ฟังประชาชน ฟังคณะกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์ฯ แล้วนำมาสรุปร่วมกับจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะออกจากความขัดแย้ง ก้าวสู่ความปรองดอง คือรัฐธรรมนูญที่ทุกคนยอมรับ เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา จะเห็นการไม่ยอมรับกัน การจะยอมรับได้ต้องดูว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนเขียน สาระเนื้อหาที่แบ่งปันอำนาจอย่างชอบธรรม ส่วน ส.ส.ร.ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน และเป็นครั้งแรกที่จะกำหนดเกณฑ์อายุต่ำสุด 18 ปี ให้เข้ามาเป็น ส.ส.ร.

“พรรคเพื่อไทยจะเป็นหนึ่งในประชาชนที่เสนอข้อเรียกร้องต่าง ๆ ให้ ส.ส.ร.เป็นผู้เขียน เพราะพรรคเพื่อไทยจะไม่เขียนเอง เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับ ส่วนเงื่อนเวลาที่เหมาะสม ประมาณการณ์ไว้ว่าเมื่อแก้มาตรา 256 เสร็จ จะทูลเกล้าฯ ได้ภายในกุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นมี ส.ส.ร.ในเดือนกุมภาพันธ์ ทำงาน 120 วันและทำประชามติ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายใน 13 เดือนไม่เกิน 15 เดือน จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนที่กังวลว่ารัฐบาลจะนำส.ส.ร.ไปอ้างเพื่อต่ออายุรัฐบาลนั้น รัฐบาลสามารถอ้างการต่ออายุรัฐบาลได้ถึงเดือนกุมภาพันธ์ คือ จนกว่าจะมี ส.ส.ร. และเมื่อมี ส.ส.ร.แล้ว ต่อให้รัฐบาลจะอยู่ต่อหรือยุบสภาก็ไม่กระทบการทำงานของส.ส.ร.” นายสุทิน กล่าว

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า เป็นการชุมนุมที่แปลกประหลาดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา การก่อตัวขึ้นมาต้องย้อนไปเหตุการณ์ 14 ตุลาคมที่สถานการณ์การเกิดขึ้นนั้นคล้ายกันมาก เพราะ 14 ตุลาเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศมีรัฐประหารยาวนาน 10 ปี ประชาชนรู้สึกไม่เป็นธรรม รู้สึกไม่ดีกับรัฐบาล

“เช่นเดียวกับสถานการณ์วันนี้ ไม่ใช่พึ่งก่อตัว แต่ก่อตัวตั้งแต่รัฐประหาร สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปี เป็นสิ่งที่กดทับจากหลายเหตุการณ์ เช่น นาฬิกาเพื่อน แหวนแม่เป็นเหตุการณ์ที่หลายคนติดใจ และบางเหตุการณ์ หลายฝ่ายมองว่าไม่เป็นธรรม หรือการคิดคะแนนผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการกดทับของสังคมที่พร้อมจะระเบิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งนี้ การชุมนุมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เป็นการชุมนุมที่เกิดขึ้นจากข้างในสภาฯ แล้วข้างในสภาฯต่อสู้ไม่ชนะ แล้วต่อสู้ข้างนอก แต่ครั้งนี้ คือการต่อสู้นอกสภา แล้วเข้ามาในสภา ผมจึงมองว่า เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก แต่เป็นสัญญาณที่ดีว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกที่สังคมจะมีความขัดแย้ง เพราะประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องมีความโต้แย้ง” นายภราดร กล่าว

ส่วนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายภราดร กล่าวว่า ถ้าผู้มีอำนาจไม่อนุญาตให้แก้ไข ก็จะเป็นไปไม่ได้เลย จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกัน แต่จะแก้ไขเป็นรายมาตราจะยากมากในการเลือกว่าจะแก้ไขมาตราใด พรรคภูมิใจไทยจึงเห็นว่า ควรตั้ง ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ที่มาของ ส.ส.ร.ควรมาจากประชาชน แต่การมาจากประชาชนมีหลายรูปแบบ ทั้งการเลือกตั้งทางตรง เลือกตั้งทางอ้อม ข้อดีของการเลือกตั้งทางตรง คือการคืนอำนาจให้กับประชาชนทั้งหมด แต่ไม่สามารถการันตีความหลากหลายในสาขาอาชีพได้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญต้องมีตัวแทนจากคนทุกกลุ่มทุกวัยทุกสาขาอาชีพ การเลือกตั้งทางตรงอาจจะไม่ตอบโจทย์หรือไม่ และ ส.ส.ร.ควรแบ่งเป็น 2 ส่วนหรือไม่

“มีทั้งทางตรงและทางอ้อม จากนักเรียน นักศึกษาและกลุ่มสาขาอาชีพโดยใช้วิธีการเลือกไขว้ ส่วนเงื่อนเวลาของการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. อาจใช้เวลา 6 เดือน ตั้งแต่กันยายน 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2564 แต่หากให้เวลาส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญแค่ 4 เดือนหรือ 120 วันตามที่นายสุทินคาดการณ์ ผมมองว่าเร็วเกินไป เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้เวลาประมาณ 13 เดือน และส.ส.ร.เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อรับฟังความคิดเห็น หากจำกัดเวลา ส.ส.ร.แค่ 4 เดือน จะเป็นการเร่งรัดให้ส.ส.ร.ทำงานเร่งรัด เร่งรีบเกินไป ยืนยันผมไม่ได้เรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญยาวนาน 11 ปีเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แค่มองถึงความเหมาะสม ที่ควรให้เวลาส.ส.ร. 10 เดือนถึง 1 ปีร่างรัฐธรรมนูญ” นายภราดร กล่าว

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่าตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่มีแนวคิดมาตลอดว่าต้องการให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยการตั้ง ส.ส.ร. ต้องยกเลิกมาตรา 269-272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ที่มาจาก คสช.อย่างเป็นทางการ แต่ให้ใช้วุฒิสภาปกติต่อไป ยกเลิกการกำหนดว่ากฎหมายปฏิรูปประเทศต้องประชุมร่วมรัฐสภา และมาตรา 272 การให้อำนาจส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีต้องยกเลิก รวมถึงมาตรา 279 ที่รับรองคำสั่งของ คสช. ขณะที่ ส.ส.ร.ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด ไม่ต้องมาจากทางอ้อมหรือแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพื่อไม่ให้ส.ส.ร.บางคนมีอิทธิพลเหนือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนบางจังหวัดที่ประชากรมากและมี ส.ส.ร.ได้มากกว่า 1 คน ควรใช้วิธีการเลือกแบบวันแมนวันโหวต สำหรับหลักเกณฑ์อายุของ ส.ส.ร.คือ 18 ปีขึ้นไป เพราะมีความคิดความอ่านทางการเมืองชัดเจน นอกจากนี้ ไม่ควรกำหนดว่าห้ามแก้รัฐธรรมนูญในหมวดใดหมวดหนึ่ง แต่ควรเปิดกว้าง

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อย่าเพิ่งมองว่าใครเป็นคนร่าง ใครเป็นคนใช้ ขอให้หันกลับมามองสาระของรัฐธรรมนูญ ต่อให้ไม่มีการชุมนุม รัฐธรรมนูญก็ยังต้องแก้ไข เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีมติชัดเจนว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ ก็ต้องเคารพและเดินตามกติกา แต่ความตั้งใจไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะเมื่อพรรคไปร่วมรัฐบาลก็มุ่งเป้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 256 ทั้งนี้ ยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญเพียงลำพัง เพราะมีเสียงเพียง 52 เสียง ซึ่งการยื่นญัตติต้องใช้ 98 เสียง จึงต้องแสวงหาความร่วมมือจากพรรคอื่น อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบกับหมวด 1-2

“ส่วน ส.ส.ร.พรรคประชาธิปัตย์วางไว้ว่า 200 คน ควรมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และ 50 คน มาจากการสรรหาวิชาชีพ ทั้งนักกฎหมายมหาชน ด้านรัฐศาสตร์ ด้านการเมืองการปกครอง และครอบคลุมเยาวชนนิสิต นักศึกษา เกณฑ์อายุขั้นต่ำ 18 ปีผ่านกระบวนการภายในสถานศึกษา และพร้อมเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาในฐานะที่เป็นผู้ใช้รัฐธรรมนูญโดยตรงเข้าร่วมเป็น ส.ส.ร.ในฐานะประชาชนได้ โดยที่ ส.ส.ร.ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ควรทบทวนบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ ส.ว.มีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เชื่อว่าเดือนกุมภาพันธ์น่าจะได้เห็นหน้าตาของ ส.ส.ร. ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของรัฐบาล” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอร่างแก้ รธน. 26 ส.ค. นี้

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณายื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา ว่าวันจันทร์ที่ 24 ส.ค. นี้ แต่ละพรรคร่วมรัฐบาลจะนำร่างแก้ไขของแต่ละพรรคทั้งพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์มาหารือร่วมกัน ก่อนจะนำเนื้อหาของแต่ละพรรคมารวมกันให้เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับพรรคร่วมรัฐบาลฉบับเดียว โดยจะเร่งส่งญัตติถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาให้ทันภายใน 26 ส.ค. นี้

'ปิยบุตร' ในฐานะ กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ คาด 1 ก.ย. 2563 ประชุมรัฐสภาพิจารณาญัตติแก้ รธน. เชื่อหาก ส.ส.-ส.ว. เห็นตรงกันต้องแก้ รธน. อาจพิจารณา 3 วาระรวด

เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 นายปิยบุตร แสงกนกกุล กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ว่าทั้งมติของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือร่วมกันถึงจำนวนและที่มาของ ส.ส.ร. ส่วนองค์ประกอบเห็นว่าสัดส่วนของฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่เป็นฉันทามติร่วมกันของสังคม และทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน 

นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่าส่วนตัวมองว่าการมี ส.ส.ร. ยังไม่เพียงพอเพราะไม่ทราบว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้นานเท่าไหร่ ผ่านวาระ 1 แล้ววาระ 3 อาจไม่ผ่านหรือผ่านวาระ 3 แต่ไม่ผ่านประชามติ จึงเห็นว่า ระหว่างนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้คิดสืบทอดอำนาจ จึงขอเสนอให้ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. จำนวน 250 คน ตามบทเฉพาะกาล คือมาตรา 269-272  

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า คาดว่าในวันที่ 1 ก.ย. นี้ จะมีการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเสนอให้สภาฯ พิจารณา ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันเรื่อง ส.ส.ร. และหากผ่านความเห็นชอบของสภาฯ ก็จะเข้าสู่วาระ 2 ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา จึงมองว่า หาก ส.ส. และ ส.ว. มีเจตจำนงร่วมกันจริงว่าต้องการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เชื่อว่าจะพิจารณา 3 วาระรวดเดียวจบได้

เทพไท หนุนแก้ไข รธน.ปี 2560 ตามบทเฉพาะกาล ม.269 -272 มองตอบโจทย์ข้อเรียกร้องการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา

นายเทพไท เสนพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  (ส.ส.) จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มาตรา 256 และเสนอให้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า เป็นความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีมติเห็นชอบร่วมกันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 และให้มีการเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามพรรคร่วมรัฐบาล  ซึ่งสามารถกระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มาตรา256 (1) 

นายเทพไท กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ต้องมี ส.ส.ลงชื่อจำนวน 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คือ ประมาณ 100 คน แต่ถ้าหากมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามคณะรัฐมนตรี จะไม่ต้องมี ส.ส. ลงชื่อในญัตติ ซึ่งสามารถอธิบายเหตุผลต่อสังคมได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อรัฐบาลไม่มีความพร้อม และปฎิเสธการเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามคณะรัฐมนตรี ก็เป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องเสนอญัตติและให้ ส.ส. ลงชื่อในญัตติต่อไป

นอกจากนี้ ส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 ถึงมาตรา 272 เพื่อลดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สามารถตอบโจทย์ข้อเรียกร้องการชุมนุมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาได้ เพราะมองว่า มาตรา 269 - 272 อาจจะเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อย่างแท้จริง ดังนั้น ตนพร้อมสนับสนุนการแก้ไขมาตราดังกล่าว ขณะเดียวกันเห็นว่า หากไม่มีการแก้ไขในกรณีนี้อาจขัดต่ออุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย 

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] | สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net