'สหภาพแรงงานนักออกแบบ' ปราศรัยเวที 'แรงงานปฏิวัติ' ย้ำสู้ครั้งนี้ต้องคิดดอกเบี้ย ขอแบบเยอรมัน

ฉัตรชัย พุ่มพวง จากเครือข่ายสหภาพนักออกแบบ ปราศรัยเวทีแรงงานปฏิวัติ ย้ำสู้ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ระบอบประชาธิปไตย แต่ได้ประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจ ยกเยอรมันเป็นต้นแบบ มีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง สวัสดิการที่ดี แรงงานมีสิทธิมีเสียงในที่ทํางาน

22 ส.ค.2563 เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา หน้าสำนักงานสภายานยนต์แห่งประเทศไทย BTS ปู่เจ้า จ.สมุทรปราการ สมัชชาแรงงานแห่งชาติ และเครือข่ายแรงงานต่อต้านการคุกคามประชาชน จำนวน 109 สหภาพฯ จึดกิจกรรมชุมนุม #แรงงานปฏิวัติ เพื่อสนับสนุน #ประชาชนปลดแอก โดยมีผู้ใช้แรงงานทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพอิสระนักเรียนนักศึกษาผลัดกันขึ้นปราศรัยถึงปัญหาคุณภาพชีวิต ค่าแรง และเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการ

ฉัตรชัย พุ่มพวง จากเครือข่ายสหภาพนักออกแบบ

หนึ่งในผู้ขึ้นปราศรัยคือ ฉัตรชัย พุ่มพวง จากเครือข่ายสหภาพนักออกแบบ ปราศรัยว่าตนเห็นการเมืองมาตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตร กลุ่มเสื้อแดง และ กปปส. เห็นการรัฐประหารปล้นอำนานประชาชนมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้สนใจการเมืองจึงอ่านข้อมูลและไปรู้จักคณะราษฎรและการต่อสู้มาอย่างยาวนานระหว่างศักดินาเผด็จการทุนนิยมกับประชาชน 

"การต่อสู้ครั้งนี้หนักข้อขึ้น ผมเลยกังวลว่า เรากำลังจะขาดทุน เพราะข้อเรียกร้องในตอนนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมครับ แต่มันติดนิดเดียวคือเราควรได้มันมาตั้งแต่ 88 ปีแล้ว" ฉัตรชัย ปราศรัยพร้อมย้ำว่าตั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังถูกพวกศักดินา ทหารและนายทุนช่วงชิงประชาธิปไตยไปจากประชาชน

"การต่อสู้และเรียกร้องในครั้งนี้จึงต้องมีการคิดดอกเบี้ยกันเสียหน่อย ไม่เช่นนั้นมันไม่คุ้มและมันต้องเป็นดอกเบี้ยทบต้นด้วย โดยรวมๆ ออกมาแล้วสิ่งที่เราควรจะได้ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยในการปกครองเท่านั้น แต่เราต้องได้ประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจด้วย" ตัวแทนเครือข่ายสหภาพนักออกแบบ ปราศรัย และอธิบายประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจว่า เช่น การได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมในฐานะที่เป็นแรงงานที่ออกแรงสร้างสิ่งต่างๆ ในโลก ไม่ให้นายทุนฉกฉวยเอามูลค่าส่วนเกินไปเป็นกำไรของตนเองเพียงเพราะอ้างเป็นเจ้าของทุน 

"ไม่มีแรงงานไม่มีทุกอย่าง ไม่เชื่อลองหยุดงานพร้อมกันสัก 15 วันครับ ดูสิว่าตกลงเงินของนายทุนที่ว่าแน่จะสามารถทำให้เขาได้ไหม" ฉัตรชัย ปราศรัย

เขาย้ำต่อว่าจะทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและค่าตอบแทนที่เป็นธรรมได้นั้นประเทศเราต้องมีสหภาพแรงงานที่แข็งแรง ที่สามารถรวมตัวนัดหยุดงานและต่อรองกับนายทุนได้ 

"มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าเราได้การเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ต้องกลับไปถูกเอาเปรียบ ถูกกดขี่ข่มเหงในบริษัทที่เป็นทุนนิยมเผด็จการ" ฉัตรชัย ปราศรัย

เขาย้ำ 3 ข้อเรียกร้องที่ขออยู่ตอนนี้เป็นสิ่งที่ควรได้มานานแล้ว ดังนั้นมันต้องได้อะไรที่มากกว่าและก้าวหน้ากว่านี้ เช่น ระบบเศรษฐกิจแบบเยอรมันที่มีสหภาพแรงงานแข็งแรงกว่า แรงงานมีสิทธิเรียกร้องมากกว่า กฎหมายแรงงานดีกว่า สวัสดิการดีกว่า ค่าแรงที่ดีกว่า 

"เพราะเยอรมันเป็นประเทศที่ดี คนชอบไปอยู่ ประเทศไทยจึงควรประยุกต์ใช้สิ่งที่ดีจากเยอรมัน" ตัวแทนเครือข่ายสหภาพนักออกแบบ ปราศรัย

เขาอธิบายต่อว่าทีเยอรมัน แรงงานมีสิทธิมีเสียงในที่ทํางาน เพราะสามารถโหวตเลือกผู้บริหาร และผู้นำของตนได้  กฎหมายเยอรมันกําหนดให้ครึ่งหนึ่งของบอรด์บริหารต้องมาจากการเลือกของแรงงานในบริษัท ในกรณีที่บริษัทนั้นมีพนักงานมากกว่า 2,000 คน หรือหากน้อยกว่า 2,000 คน บอร์ด บริหาร 1 ใน 3 ก็ต้องมาจากการเลือกของแรงงาน ในบริษัทมันเหมือนการปกครองเพราะเมื่อผู้บริหารหรือ หัวหน้าเรามีนโยบายในการทํางานแบบใด มันก็ส่ง ผลถึงวิถีชีวิตของแรงงานทุกคนในบริษัท ระบบทีก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแบบเยอรมัน คือ “ดอกเบี้ย” ที่พวกเผด็จการศักดินาทุน นิยม ต้องจ่าย หลายคนมีภาพเพียงว่าแรงงาน คือกรรมกรก่อสร้าง, ภารโรง, รปภ, ชาวนา ทั้งที่ความเป็นจิรงทุกคนคือแรงงาน 99% ของโลกนี้เป็นแรงงาน สิ่งก่อสร้างและงานทุกประเภทในโลกนี้แรงงานคือผู้ขับเคลื่อน  ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน หรือแม่แต่ 425 บาทนั้นไม่ดี ค่าแรงขั้นต่ำควร 800-1,000 บาท ซึ่งทำได้ทันที แค่นานทุนลดกำไรของตัวเองลงและแบ่งส่วนอย่างมีมนุษยธรรมมาขึ้น 

เขาเล่าถึงความสำคัญของการมีสหภาพแรงงานว่า ทีสเปน โรงงานไฟฟาพลังงานน้ำตัดเงินเดือนพนักงานทุกคนเลยหยุดงานประท้วงกัน ซึ่งที่นั่นสหภาพแรงงานเข้มแข็งจึงสามารถรวมตัวนัดหยุดงานได้ ไปจนถึงสามารถร่วมมือกับสหภาพแรงงานอื่นทำให้เกิดการนัดหยุดงานทั่วไปในเมืองบาร์เซโลน่ากว่า 100,000 คน ทำให้เมืองอัมพาตไป 44 วัน จนรัฐบาลสเปนต้องออกมาแก้ปัญหาไม่ให้บริษัทตัดเงินเดือนไปจนถึงออกกฎหมายห้ามใช้แรงงานเกินวันละ 8 ชั่วโมงด้วย นำมาสู่กฎหมายชั่วโมงแรงงานครั้งแรกในโลก เมื่อ 100 ปีก่อน

ตัวแทนเครือข่ายสหภาพนักออกแบบ ปราศรัยทิ้งท้ายด้วยว่า ตนและเพื่อนๆ กำลังสร้างเครือข่ายสหภาพนักออกแบบให้เข้มแข็งเพื่อรณรงค์สร้างภาพจำของแรงงานให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และเพื่ออำนาจในการต่อรองค่าแรงในอนาคต เพื่อให้มีสหภาพแรงงานแห่งชาติในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท