Skip to main content
sharethis

พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวเปิดเอกสารลับจีทูจีซื้อเรือดำน้ำ ระบุอาจเป็นโมฆะเหตุซื้อเรือดำน้ำกับบริษัทเอกชน 'พล.ร.อ.ลือชัย' ไม่มีอำนาจลงนามในนามรัฐบาลไทย เตรียมขอมติใหม่ในที่ กมธ.งบฯ ชุดใหญ่ 26 ส.ค.นี้


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

23 ส.ค. 2563 นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2564 เปิดเผยถึงกรณีที่ประชุมอนุกรรมาธิการมีมติเห็นชอบงบจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน ของกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาทว่า ที่ประชุมอนุกรรมาธิการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในตอนแรกมีมติเสมอกัน 4 ต่อ 4 แต่สุดท้าย นายสุพล ฟองงาม ประธานอนุกรรมาธิการฯ ก็ลงมติเห็นชอบ ทั้งที่ตำแหน่งประธานไม่ควรลงมติ เนื่องจากต้องวางตัวเป็นกลาง แต่นายสุพล กลับมาลงอีกเสียงหนึ่งเสียง ทำให้มติเป็น 5 ต่อ 4 ที่เห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำ

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ต่อมาก็มีการตั้งคำถามว่า มีการล๊อบบี้ในคณะอนุกรรมาธิการฯ หรือไม่ ซึ่งครั้งแรก กองทัพเรือเข้ามาเสนองบประมาณ แต่อนุกรรมาธิการฯ เห็นว่า หากการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปแล้ว และไม่ได้ผูกพันลำที่สองและสาม ก็ขอให้ชะลอไว้ก่อน อย่าเพิ่งซื้อ แต่กองทัพเรือไม่ยอม ดึงดันให้ซื้อให้ได้ สุดท้ายงบประมาณก็ถูกแขวนไว้ ไม่ให้ผ่าน เพราะอนุกรรมาธิการ มีเสียงเป็นเอกฉันท์ว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่จำเป็นในขณะนี้ และมีกรรมาธิการคนหนึ่งที่ออกเสียงไม่ซื้อเรือดำน้ำ ถึงกับบอกในห้องประชุมว่า ลองให้ทหารถอดเครื่องแบบแล้วถามชาวบ้านในต่างจังหวัด ก็จะพบว่า ชาวบ้านไม่ยอมให้ซื้อเรือดำน้ำแน่นอน แต่สุดท้าย การลงมติอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กรรมาธิการคนดังกล่าวนี้ก็โหวตให้ซื้อเรือดำน้ำ ดังนั้น จึงเชื่อว่ามีการล๊อบบี้จากผู้ใหญ่ในรัฐบาลอย่างแน่นอน

นายยุทธพงศ์ ยังได้แสดงเอกสารบันทึกข้อตกลงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือต่อสื่อมวลชนที่มีการระบุว่า เป็นสัญญาจีทูจี โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า แต่เมื่อมาตรวจสอบ กลับพบว่า ไม่ใช่สัญญาจีทูจี แต่เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลง และสัญญาที่เซ็นไป ก็เป็นเพียงแค่การจัดซื้อเรือดำน้ำ 1 ลำเท่านั้น ไม่มีลำที่ 2 หรือ 3 ไม่มีข้อผูกพันอะไร ขณะเดียวกัน เอกสารที่ลงนามสัญญา ฝั่งไทยคือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ณ ขณะนั้นในปี 2560 และฝั่งจีนที่ลงนามด้วยคือ บริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลจีน

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า จุดนี้ จะนำไปสู่หนังม้วนยาว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมปกปิดเอกสารมาโดยตลอด ซึ่งหากเป็นสัญญาแบบจีทูจีจริง ผู้ลงนามฝั่งไทย ก็ไม่มีอำนาจลงนามแทนรัฐบาลไทย เพราะผู้มีอำนาจ คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อีกทั้งยังไม่มีหนังสือมอบอำนาจจากรัฐบาลไทยด้วย และตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ก็ไม่สามารถรับมอบอำนาจได้ คนที่รับมอบอำนาจได้ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงต้องเป็นโมฆะ แต่เรื่องนี้ ในคณะอนุกรรมาธิการฯ กองทัพเรือไม่สามารถชี้แจงได้เลย อ้างแต่เรื่องความมั่นคงทางทะเล ทั้งที่ความอดอยากของประชาชนทั้งภัยพิบัติ น้ำท่วมในขณะนี้ สำคัญกว่าเรือดำน้ำ

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า แนวทางต่อไปที่จะต่อสู้ คือ ในวันพุธที่ 26 ส.ค. 2563 13.00 น.คณะกรรมาธิการงบประมาณชุดใหญ่ จะให้อนุกรรมาธิการฯ ชี้แจงเรื่องเรือดำน้ำ และตนจะเสนอให้กรรมาธิการชุดใหญ่ทบทวนเรื่องนี้ พร้อมขอให้กองทัพเรือนำหนังสือสัญญามาแสดง หากแสดงไม่ได้ สัญญาจะต้องเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่มีความโปร่งใส มีความไม่ชอบมาพากล ทั้งนี้ หากคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ดึงดันให้ผ่าน ตนจะเสนอให้มีมติในคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ โดยให้กรรมาธิการลงชื่อเป็นรายบุคคลแบบเปิดเผยชื่อ เพื่อดูว่า ใครเห็นความสำคัญของเรือดำน้ำ มากกว่าความอดอยากของประชาชน แต่หากโหวตแล้วยังแพ้เสียงส่วนใหญ่ในซีกรัฐบาล ตนก็จะเดินหน้าต่อไปเพื่อฟ้องกับประชาชน เพราะเรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลอย่างมาก

ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยประกาศว่า เลือกเรือดำน้ำจีน เพราะได้คุณภาพดีในราคาประหยัด อีกทั้งยังซื้อ 2 แถม 1 นั้น นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า แล้วทำไมวันนี้ กลายเป็นว่าซื้อเรือดำน้ำทั้งหมด 3 ลำ แปลว่าอะไร

นายยุทธพงศ์ ระบุอีกว่า หากนายกรัฐมนตรียังดึงดันที่จะซื้อเรือดำน้ำ เชื่อว่า จะเป็นจุดจบของรัฐบาล และหากรัฐบาลเดินหน้าต่อ ตนจะขอเชิญชวนประชาชนให้ออกไปร่วมการชุมนุมกับนิสิตนักศึกษาเพื่อขับไล่รัฐบาล ตนขอถามนายกรัฐมนตรีว่าหัวใจทำด้วยอะไร นายกไทยหัวใจเรือดำน้ำจีน

เมื่อถามว่า มีบุคคลใกล้ชิดรัฐบาลเป็นนายหน้าใช่หรือไม่ นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า จะต้องเจาะลึกในรายละเอียดต่อไป

ด้านนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการฯ ระบุว่า หลังจากที่พวกตนโหวตแพ้ ก็ได้ตั้งข้อสังเกตไว้และบันทึกไว้ว่า จะนำไปต่อสู้ในที่ประชุมสภาฯขณะลงมติวาระที่ 2-3 และจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไป เพราะเรื่องนี้เหมือนเป็นใบสั่ง ตอนแรกทุกคนอภิปรายไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายก็โหวตเห็นด้วย

“ผมไปนอนคิดสองวัน ผมว่า รัฐบาลป่วยแล้ว ลืมประชาชน ลืมสิ่งที่พูดไว้ว่า พี่น้องประชาชนต้องรัดเข็มขัด ต้องประหยัด แต่ก็มาดันเรื่องนี้ ผมว่า รัฐบาลไม่ได้เป็นง่อย แต่ป่วย เรื่องนี้ ผมยืนยันว่า วาระ 2 เชื่อว่า เพื่อนร่วมฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการจะมาร่วมแจมด้วย เพียงแต่วันนั้น 4 ท่านในอนุกรรมาธิการคือโทรมาประสานได้ง่าย เดี๋ยวได้พิสูจน์กันว่าคนเป็นผู้แทนในภาวะวิกฤติ หากยังแบกหามรัฐบาลอยู่ ก็เชิญตามสบาย หากเห็นว่าพร้อมยุบสภาไหม ผมพร้อม วันนี้คนไทยกำลังโดนต้ม 2 แถม 1 บ้าง ทำเอ็มโอยูบ้าง ทั้งที่จริง ๆไม่มีอะไรเลย เรื่องนี้ไม่จบแน่ ผมเดินหน้าเตรียมฟ้องประชาชน” นายครูมานิตย์

โฆษกกระทรวงกลาโหมปัดล็อบบี้โหวตผ่านเรือดำน้ำ

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยถึงกรณีที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2564 ระบุถึงการลงมติ ผ่านการจัดซื้อเรือดำน้ำของคณะอนุกรรมการ มีคนในรัฐบาลระดับนายพล บิ๊ก ป.โทรศัพท์มาล็อบบี้ เพื่อให้คณะอนุกรรมการโหวตผ่านเห็นชอบ ว่า คงไม่เป็นความจริง เพราะเป็นการตัดสินใจของคณะอนุกรรมาธิการฯ และเป็นเอกสิทธิ์ในการที่จะลงมติ คงไม่มีการชี้นำเกิดขึ้น ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯก็คงพิจารณาเรื่องเหตุผลและความจำเป็น ดังนั้นต้องไปสอบถามเหตุผลของคณะอนุกรรมาธิการฯ แต่ละคนที่ได้ลงมติดังกล่าว ส่วนที่ล่าสุด นายยุทธพงศ์ได้เปิดเผยเอกสารลับ ที่เป็นข้อตกลงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ของกองทัพเรือ ที่ส่อว่าจะเป็นโมฆะ พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ต้องไปถามรายละเอียดกับกองทัพเรือ

ด้าน พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ และโฆษกกองทัพเรือ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีนายยุทธพงศ์ ออกมาเปิดเผยเอกสารลับที่เป็นสัญญาการซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งส่อเป็นโมฆะ โดยระบุเพียงสั้น ๆ ว่า ต้องสอบถามกับผู้ที่ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ ซึ่งมีเสนาธิการทหารเรือ เป็นประธาน

สุพล ปัด 'บิ๊ก ป.' ล็อบบี้ให้โหวตผ่านเรือดำน้ำ

นายสุพล ฟองงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2564 เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า ไม่เคยรับโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ในรัฐบาลระดับนายพลที่มีชื่อว่า บิ๊ก ป.เพื่อให้ลงมติเห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำตามที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ระบุ เพราะในขณะประชุมตนปิดโทรศัพท์ ตนเป็นประธานในที่ประชุมจะเปิดโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับใครได้อย่างไร ตนมองว่าคนพูด เป็นคนไม่มีมารยาท ปั้นน้ำเป็นตัว ตนเห็นแต่นายยุทธพงศ์โทรศัพท์ตลอด ไม่รู้โทรศัพท์หาใครในที่ประชุม

ส่วนที่ต้องลงมติเห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำ ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งประธานอนุกรรมาธิการนั้น นายสุพล กล่าวว่า ตนวางตัวเป็นกลางมาโดยตลอด แต่เมื่อข้อบังคับการประชุมกำหนดว่า หากคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานจะต้องเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งในขณะที่เจ้าหน้าที่ของสภาชี้แจงเรื่องข้อบังคับการประชุมข้อนี้ นายยุทธพงศ์ ก็นั่งอยู่ตอนนั้น ก็ต้องได้ยินเต็มสองหูว่า เมื่อคะแนนเท่ากันประธานจะต้องชี้ขาด แล้วผมจะชี้ขาดให้ฝ่ายค้านได้หรือ เพราะผมเป็นรัฐบาล

นายสุพล กล่าวว่า การชี้แจงของกองทัพเรือมีเหตุผล เพราะถ้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเดิม จะทำให้เกิดความเสียหายระหว่างประเทศ การลงทุนและการเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพเรือให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียและเวียดนาม ก็มีเรือดำน้ำหลายลำ แม้กระทั่งกัมพูชาก็มีเรือดำน้ำ 2 ลำ ประเทศเมียนมาร์ก็มีเรือดำน้ำ เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ทางทะเลของชาติ ทั้งการปิโตรเลียม การประมง การเดินเรือทางทะเลต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ ดังนั้นกองทัพเรือต้องพัฒนาขีดความสามารถ

นายสุพล กล่าวว่า ส่วนเรื่องความเสียหายที่จะไปกระทบต่อประชาชนนั้น กองทัพเรือ ได้ชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า ไม่กระทบ เพราะเป็นงบประมาณในส่วนของกองทัพเรือ ไม่ได้ขอเพิ่มจากส่วนอื่น ไม่ได้กระทบกับส่วนที่ช่วยเหลือประชาชน ที่สำคัญคือแบ่งจ่ายเป็นงวด สั่งเรือดำน้ำวันนี้ อีก 7 ปีถึงจะได้ ไม่ได้จ่ายทีเดียว 20,000 กว่าล้านบาท ตนก็ฟังอยู่ เมื่อเขามีเหตุผล ก็เป็นการใช้ดุลพินิจและเป็นสิทธิ์ของกรรมาธิการแต่ละคนที่จะลงมติ หากใครไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงมันเท่ากันก็เป็นสิทธิ์ของประธานตามข้อบังคับ ที่จะต้องชี้ขาด

นายสุพล กล่าวว่า หากไม่เดินตามข้อตกลงเดิม ก็จะเสียหายต่อประเทศ เป็นข้อตกลงเดิมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่า เป็นโครงการเก่า งบประมาณปี 2563 ทางกองทัพเรือนำเงินที่ได้จัดสรรงบประมาณเมื่อปี 2563 ไปให้รัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 จึงได้ไปขอเจรจากับจีน และจีนก็เลื่อนให้ ว่าปี 2564 ค่อยจ่ายเงินในส่วนของปี 2563 และปี 2564 ก็ตั้งงบประมาณเพื่อไปใช้หนี้จ่ายงวดของปี 2563 ซึ่งหลังจากจบเรื่องนี้ในชั้นอนุกรรมาธิการแล้วก็สามารถไปขอทบทวนได้ในคณะกรรมาธิการชุดใหญ่

ส่วนที่นายยุทธพงศ์ ระบุว่า เอกสารสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำอาจจะเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่ใช่สัญญาแบบจีทูจี และผู้ลงนามในขณะนั้นไม่มีอำนาจในนามรัฐบาล นายสุพล กล่าวว่า นายยุทธพงศ์จะเอาความเห็นของตัวเองไปตัดสินว่าไม่เป็นจีทูจีและเป็นโมฆะไม่ได้ ต้องให้ผู้ที่มีหน้าที่เป็นคนตัดสิน เพราะนายยุทธพงศ์คือหนึ่งในความเห็นของกรรมาธิการ ให้คนที่มีหน้าที่ตัดสิน แล้วจะบอกว่าเป็นโมฆะหรือไม่นั้น ก็ไม่ใช่อำนาจของนายยุทธพงศ์ ซึ่งตนก็มองว่า วันนี้ยังเป็นจีทูจีอยู่ แล้วก็ยังมีผลอยู่ เพราะเป็นกฎหมายงบประมาณปี 2563

รองหัวหน้า ปชป.จี้ทบทวนซื้อเรือดำน้ำ

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียนในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2564 มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ผ่านงบฯ จัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาทว่า ไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินจำนวนมากไปซื้อเรือดำน้ำในขณะที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาเรื่องโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนจำนวนมาก

นายองอาจ กล่าวว่า เราควรยอมรับความจริงว่า ขณะนี้เศรษฐกิจฝืดเคือง คนหาเช้ากินค่ำมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก ชักหน้าไม่ถึงหลัง คนจำนวนมากวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่สถานการณ์โควิด-19 ยังต้องอยู่กับเราไปอย่างไม่มีกำหนดแน่นอน ว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่ ขณะที่ในประเทศไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีวัคซีนใช้ได้เมื่อไหร่ รวมถึงอาจมีโควิด-19 ระบาดรอบสอง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนมากขึ้นไปอีก การใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์ของภาครัฐ จึงควรใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดในการรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคมที่ไม่ปกติอยู่ในปัจจุบัน

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถึงแม้กองทัพเรือจะอ้างว่าการมีเรือดำน้ำเป็นความจำเป็นทางด้านความมั่นคง แต่ในขณะที่บ้านเมืองยังมีปัญหาโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม ซ้ำเติมประเทศชาติและประชาชนอยู่แบบนี้ ควรนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนจะดีกว่า จนกว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติค่อยพิจารณากันใหม่ได้

ส่วนที่มีความกังวลว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนนั้น นายองอาจ กล่าวว่า ไม่น่าจะกังวลแต่อย่างใด เพราะจีนก็ทราบดีว่าไทยได้รับผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 อย่างไร จีนน่าจะเข้าใจและเห็นใจประเทศไทยมากกว่า จึงขอเรียกร้องให้ทบทวนชะลอการซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาทออกไปก่อน เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอย่างมากอยู่ขณะนี้

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net