Skip to main content
sharethis

รอง ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ ขอนแก่น แนะ สปสช.อยากเห็นระบบหลักประกันสุขภาพเดินหน้าไปไกล "ใจต้องถึง" ควรกระจายอำนาจออกแบบระบบบริการตามบริบทพื้นที่ เลิกขี้เหนียวจ่ายเงินยาก ทำงานคล่องตัว ให้มองที่เป้าหมายหลักมากกว่ายึดมั่นกับกฎเกณฑ์จนเกินไป

24 ส.ค.2563 ทีมสื่อ สปสช. รายงานว่า รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธาน Service Plan Stroke เขตสุขภาพที่ 7 กล่าวบรรยายในเวทีประชุม "หลักประกันสุขภาพคนไทย ฝันให้ไกล ไปให้ถึง" ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างหนึ่ง สามารถแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ลดความไม่เท่าเทียม ลดภาระหนี้สิน ลดปัญหาการล้มละลายจากการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม การบอกว่าฝันให้ไกล ใจต้องถึงด้วย โดยมี 5 ประเด็นดังนี้

1. Decentralized เรื่องนี้ตนคิดว่าเป็นปัญหาหลักของระบบของ สปสช. คือต้องการให้ทุกคนใส่ชุดแบบเดียวกัน ทั้งที่ปัญหาของเขตสุขภาพต่างๆ ไม่เหมือนกัน ความเสมอภาคไม่ได้ตีความว่าทุกคนต้องเหมือนกันทุกอย่างแต่ควรจะตีความว่าเขาสามารถเข้าถึงระบบสุขภาพได้เท่าเทียมกันเมื่อมีความจำเป็นต้องเข้าถึง แต่ไม่ใช่ทุกอย่างต้องเหมือนกัน ไม่ใช่กำหนดโรคนี้ DRG เท่านี้ ตนเชื่อแต่ละเขตสุขภาพมีต้นทุนไม่เท่ากัน ไม่ควรจะต้องไปแปลงตามระดับของโรงพยาบาลว่าต้องเท่ากันทั้งหมด แต่ต้องบริหารออกมาให้มีความสมดุลกัน

2. Redesign สปสช. คือเจ้านายที่เข้มงวด ขี้เหนียว จ่ายค่าแรงน้อย จ่ายไม่ตรงเวลา แต่บังคับให้โรงพยาบาลต้องส่งข้อมูลภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ แต่ทำไมไม่ปรับระบบใหม่ให้คิดว่าผู้ให้บริการเป็นคนในครอบครัวเดียวกันเพราะต่างคนก็ต่างมีหน้าที่เดียวกันคือทำให้คนไทยนั้นมีสุขภาพที่ดี

3. Easy ตนคิดว่าปัจจุบันการทำงานกับ สปสช. ตรงกันข้ามกับคำว่า Easy ทั้งหมด มีแต่ Difficult ทุกอย่าง จะเขียนโครงการก็ยากมาก บอกว่าไม่มีงบ จะทำวิจัยก็บอกว่าในกฎหมายไม่ให้ สปสช.ทำวิจัย ทั้งที่ข้อมูลที่ Reimbursement ใน สปสช. มีมโหฬาร เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติได้อย่างมาก หรือการประเมินต่างๆ ตามที่หน่วยบริการเข้าใจคือประเมินเพื่อเอาเงินคืน ประเมินเพื่อไม่จ่ายเงิน ไม่ใช่ประเมินเพื่อคุณภาพ ตนคิดว่าตรงนี้ต้องปรับ

4. Agility ต้องมีความคล่องตัวยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนง่าย ยกตัวอย่างเช่น stroke fast track ปีนี้ไม่ทราบว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างไร จังหวัดสุพรรณบุรีเปิด Node เรียบร้อย ให้ยาเรียบร้อยแต่เบิกจ่ายไม่ได้ เพราะบอกว่าทำ CT ไม่ครบทั้งก่อนและหลังให้ยาแบบนี้ไม่ทันสมัย เพราะปัจจุบันมีการให้ยาที่โรงพยาบาลเครือข่ายแล้ว Refer มาให้โรงพยาบาลหลักดูแลต่อ แต่ สปสช.ไม่เบิกจ่ายให้ทั้งๆ ที่รักษาคนไข้จนหาย แถมบางครั้งยังไม่ยอมขึ้นทะเบียนให้อีก ตนไปกระตุ้นบางโรงพยาบาลให้ทำ stroke fast track แต่จนตอนนี้ สปสช.ก็ยังไม่ขึ้นทะเบียนให้ โดยบอกว่าหลักฐานในการประเมินยังไม่ครบ

"จะเอาทำไมกับหลักฐานเมื่อคุณหมอเขาอุตส่าห์ทุ่มเท เสียเวลารักษาคนไข้จนหายแล้ว ระหว่างที่รอขึ้นทะเบียนรักษา stroke ได้ คุณจะเอาคนไข้มาเป็นพยานหรือจะเอากระดาษ 1 แผ่น เรื่องพวกนี้มันต้องมีความคล่องตัว เราควรจะกำหนดเป้าหมายหลัก อย่าไปกำหนด process ครับ กำหนด process มันไม่เกิดอะไรขึ้น แต่ตอนนี้เราก้าวจุดไหนแล้ว มันกำหนดที่เป้าหมาย" รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

รศ.นพ.สมศักดิ์ ยังยกตัวอย่างโครงการรับยาใกล้บ้าน มีโมเดลที่ 1 โมเดลที่ 2 โมเดลที่ 3 ตนถามว่าทำโมเดลที่ 7 ได้หรือไม่เนื่องจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ไปโรงเรียนแพทย์ โมเดลที่มีให้ไม่ตอบโจทย์การรักษาเพราะมีคนไข้เข้ามาจากจังหวัดอื่นๆ นอกเขตสุขภาพ จะส่งยาไปเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นไม่ได้ แต่ก็ถูกบอกว่าทำโมเดล 1 2 3 ให้สำเร็จก่อน แบบนี้ตนคิดว่ายังไม่ใช่ เพราะควรมองเป้าหมายเป็นหลัก ไม่ใช่มองแต่ขั้นตอนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขอแค่ให้ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดค่าเดินทางของคนไข้และคนไข้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม

5. Mindset ต้องทำงานด้วยใจ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำต้องให้ถึงเป้าหมายหลัก อย่าทำเพราะขั้นตอน 1 2 3 4 5 และไม่อยากให้เห็นเวลาที่ตอบหนังสือว่าคุณไม่ทำเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ สปสช. ฉะนั้นรักษาคนไข้หายก็ถือว่าทำบุญไป อย่าง stroke fast track รายละแสนบาทก็ทำบุญไป นอกจากนี้เรื่องงบประมาณ ต้องปรับเป็นงบประมาณที่มีความเหมาะสม เบิกจ่ายรวดเร็ว ตอนนี้ก็ดีขึ้นมากแต่สิ่งที่อยากเห็นคือควรมีการจัดทำโครงการเฉพาะพื้นที่ เพราะปัญหาของคนไข้แต่ละเขต แต่ละจังหวัด ไม่เหมือนกัน และตนมั่นใจว่าต้องมีระบบร่วมจ่าย แต่ไม่ใช่จ่ายที่สถานบริการ แต่จะร่วมจ่ายด้วยระบบภาษีหรืออย่างอื่นก็ได้เพื่อที่จะได้เพิ่มเงินในระบบ

6. Reimbursement ต้องเบิกจ่ายต้องเป็นธรรม ถ้าให้การรักษาไปแล้วก็ต้องจ่ายค่ารักษา อย่าบอกว่าผิดระเบียบแล้วไม่จ่ายหรือจะเอาเงินคืน ส่วนระบบการ audit ต้องมีเป้าหมายอย่างสร้างสรรค์ มิใช่ audit เพื่อจับผิด ต้อง audit เพื่อให้เกิดการปรับค่ารักษาพยาบาล ปรับเป้าหมายต่างๆ ไม่ใช่ว่าถ้าไม่ทำตามมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในเอกสารการเบิกจ่ายแล้วจะไม่จ่าย ซึ่งแบบนี้เป็นการทำลายระบบสุขภาพมากกว่า

7. All Thai อยากเห็นว่าสิทธิ์การรักษาต้องมีระบบเดียวสำหรับคนไทยทุกคน

8. Vision สปสช.ถูกกำหนดว่าเป็นผู้ซื้อการบริการให้กับคนไทย โรงพยาบาลเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกเพราะถ้าอยู่ในฐานะผู้ซื้อ เราก็พยายามอยากได้ของถูกที่สุด ฉะนั้นต้องเปลี่ยนใหม่เป็นผู้ร่วมออกแบบระบบสาธารณสุขสำหรับคนไทยทุกคน

9. Exit สปสช.ควรจะเป็นทางออกของระบบปัญหาระบบสุขภาพทั้งหมด เป็น Exit ของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น

"ฉะนั้นถ้าเราอยากจะฝันให้ไกลไปให้ถึงเนี่ย ผมว่าใจเราต้องถึงก่อน ฝันให้ไกลแต่ใจไม่ถึง ถ้าไม่มีใจนำ ไม่คิดว่าต้องชนะ ไม่คิดว่ามันจะต้องแก้ไข มันก็ไม่มีทางสำเร็จครับ" รศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net