ชำนาญ จันทร์เรือง: ต้องแก้รัฐธรรมนูญฯหมวดการปกครองท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯปี 60 มีเรื่องต่างๆถูกยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นจำนวนมาก หนึ่งในเรื่องที่ถูกเรียกร้องมากที่สุดก็คือการปกครองท้องถิ่นหรือการกระจายอำนาจ ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ2560 ในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว เห็นว่ารัฐธรรมนูญได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นแตกต่างไปจากที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 โดยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปลี่ยนแปลงเรื่องการกำหนดทิศทางของการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปเป็นอันมาก

กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดทิศทางของการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น แต่รัฐธรรมนูญ 2560 มิได้บัญญัติถึงทิศทางในการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร อีกทั้งยังไม่ปรากฏถ้อยคำว่า “การกระจายอำนาจ” บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เลยแม้แต่คำเดียว

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับหลักการที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้บัญญัติให้รัฐต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองโดยเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560หลักความเป็นอิสระในการบริหารจัดการตนเองนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 249 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นและความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน” 

จึงจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมุ่งไปที่ความสามารถด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากรเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระบบการปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่อย่างใด ดังนั้น การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มุ่งเน้นถึงหลักความสามารถในด้านรายได้ก็จะทำให้หลักความเป็นอิสระในการบริหารจัดการตนเองขาดหายไปด้วย 

นอกจากนี้ มาตรา 250 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติว่า “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งการบัญญัติหลักการในลักษณะดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีหน้าที่ต่อเมื่อมีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียก่อน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงจะมีอำนาจที่จะดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาคอยู่แล้ว

การที่มาตรา 250วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติถ้อยคำในลักษณะดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะได้นั้น รัฐจะต้องเป็นผู้กำหนดหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียก่อน หลักการดังกล่าวเป็นการจำกัดขอบเขตอำนาจและความเป็นอิสระในการบริหารจัดการตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากการบริหารจัดการภายในท้องถิ่น รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความแตกต่างกัน ดังนั้น หากกำหนดให้รัฐเป็นผู้กำหนดหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ทางแก้ก็คือให้บัญญัติกลับหลักเสียใหม่ว่ากิจการไหนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำไม่ได้ เช่น กิจการทหาร การต่างประเทศ การเงินการคลังระดับชาติ ศาล ฯลฯ  นอกจากนั้นให้ทำได้หมดเหมือนดั่งในนานาอารยประเทศทั้งหลาย

ประเด็นเรื่องการควบคุมกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมาตรา 250 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริตและการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่าง

ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ ซึ่งโดยปกติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมิได้หมายความว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสังกัดกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด จึงเห็นว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ชัดเจนเกี่ยวกับหลักการกำกับดูแลองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นสามารถกระทำได้มากน้อยเพียงใด

ประเด็นเรื่องการตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรากฏว่าองค์กรที่มีอำนาจในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะการตรวจสอบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรตรวจสอบว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่การตรวจสอบในประเด็นความเหมาะสมและคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

ทางแก้อีกวิธีหนึ่งก็คือการจัดให้มี “จังหวัดจัดการตนเอง” ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคำว่า “ชุมชนจัดการตนเองหรือชุมชุมพึ่งตนเอง” ซึ่งในอดีตเคยมีแนวคิดในการจัดทำ “ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ....” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการรณรงค์จังหวัดจัดการตนเอง โดยต่อมาได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.นี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเมื่อปี 2556 แต่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและเกิดการรัฐประหารเสียก่อน จึงทำให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวตกไป อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจฯได้นำกลับมาศึกษาใหม่เพื่อเตรียมเสนอรายงานฯต่อสภาฯ จึงควรนำประเด็นเรื่องจังหวัดจัดการตนเองไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

อนึ่ง เป็นที่น่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุใดหลักการเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งถือว่าเป็นหลักการสำคัญที่ควรบัญญัติไว้ในตอนต้นของหมวดว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่กลับนำไปบัญญัติไว้ในส่วนท้ายของมาตรา 250 จึงควรต้องบัญญัติหลักการสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจนและนำไปบัญญัติไว้ตอนต้นของหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือนำไปบัญญัติไว้ในตอนต้นของรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น หมวด 1 บททั่วไป หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หรือหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อให้เป็นหลักการทั่วไปที่รัฐจะต้องกระทำและนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่นำไปบัญญัติแบบหลบๆซ่อนๆเช่นนี้

ไม่มีประเทศไหนในโลกหรอกครับที่จะเข้มแข็งได้ หากปราศจากการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็งน่ะครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท