สุรพศ ทวีศักดิ์: ต้องให้นักเรียน ม.ต้นสอน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปรากฏการณ์ตื่นตัวทางการเมืองของ “เยาวชนปลดแอก” ที่ยกระดับมาเป็น “ประชาชนปลดแอก” ภายใต้ข้อเสนอ 3 ข้อ คือ หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขณะที่มีการยกระดับเพดานการต่อสู้สูงขึ้นด้วยการปราศรัยปัญหาสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะโดยอานนท์ นำภา และยกเพดานสูงขึ้นไปอีกด้วยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกัตริย์ 10 ข้อ ในเวที “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมิ่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 จากนั้นอาทนนท์และเพนกวินหรือ พริษฐ์ ชีวารักษ์ ได้เดินสายปราศรัยประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยและข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อยืนยันว่า ปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยต้องนำมาพูดได้อย่างเป็นสาธารณะ

ความสำคัญของการยืนยันว่า “ปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยต้องนำมาพูดได้อย่างเป็นสาธารณะ” คือการยืนยันว่า สังคมไทยต้องมี “เสรีภาพในการพูด” (freedom of speech) หรือ “เสรีภาพในการแสดงออก” (freedom of expression) อันเป็นสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องมี การยืนยันเช่นนี้เท่ากับชี้ให้สังคมรู้แจ้งว่า การปิดกั้นเสรีภาพ การข่มขู่คุกคามประชาชนด้วยวิธีการใดๆ และการใช้กฎหมายเอาผิดบุคคลใดๆ ที่นำปัญหาสถาบันกษัตริย์มาพูดอย่างเป็นสาธารณะตั้งแต่อดีตจวบปัจจุบัน คือการละเมิดหลักเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ขาดไม่ได้ของสังคมประชาธิปไตย

ดังนั้น การกดปราบ ไล่ล่า จับคนเข้าคุก อุ้มหาย อุ้มฆ่า และกดดันให้ต้องลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ก็คือการกระทำที่ละเมิดหลักเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยในนามการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า การปกป้องสถาบันกษัตริย์คือการทำลายหลักการประชาธิปไตย ยิ่งการทำรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ยิ่งชัดเจนว่าการล้มระบอบประชาธิปไตยเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ก็ทำกันได้จนเป็นประเณี

การที่สังคมไทยมีการปกป้องสถาบันกษัตริย์ด้วยการละเมิดหลักเสรีภาพก็ได้ และทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยก็ได้ ย่อมแสดงชัดเจนว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นั้น “ประมุข” สำคัญกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” ถึงขนาดที่ต้องทำลายหลักเสรีภาพด้วยการห้ามประชาชนใช้เสรีภาพตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ และถึงขนาดทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยโดยอ้างการปกป้องสถาบันกษัตริย์ก็ได้ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในความหมายเช่นนี้ จึงไม่สามารถจะมีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยได้จริง

ยิ่งกว่านั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ ก็ถือกันว่ากษัตริย์ทรงปกครองโดยธรรม หรือโดยทศพิธราชธรรม แต่คำถามคือ การปกป้องสถาบันกษัตริย์ด้วยการละเมิดเสรีภาพในการพูด การแสดงออก การคุกคาม การใช้กฎหมายเอาผิด ไล่ล่า กดปราบประชาชนที่เห็นต่าง กระทั่งทำรัฐประหารเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ไม่ขัดแย้งหรือทำลายล้างหลักการทศพิธราชธรรมหรอกหรือ เพราะหลักทศพิธราชธรรมถือว่า กษัตริย์ต้องมี “อักโกธะ” คือต้องไม่ใช้อำนาจด้วยความโกรธ และ “อวิหิงสา” ต้องไม่ใช่อำนาจเบียดเบียน หรือใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อประชาชน การทำรัฐประหารและการละเมิดเสรีภาพด้วยวิธีการใต้ดินและบนดิน ย่อมขัดหลักทศพิธราชธรรมอย่างชัดเจน

ดังนั้น คำถามสำคัญก็คือว่า ทำไมประเทศนี้จึงมีการปกป้องสถาบันกษัตริย์ด้วยการทำลายหลักเสรีภาพ ประชาธิปไตย กระทั่งหลักทศพิธราชธรรมเสียเอง! 

ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ คือข้อเสนอให้ประเทศไทยมีเสรีภาพได้จริง เป็นประชาธิปไตยได้จริง โดยมีสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน เหมือนสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่ใช้อำนาจสาธารณะ ภาษี และทรัพยากรสาธารณะอื่นๆ ของประชาชน จึงไม่ใช่เป็นการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่เป็นการทำให้ประเทศนี้มีเสรีภาพและประชาธิปไตยได้จริง และยุติการทำลายหลักเสรีภาพในการพูด การแสดงออก และการทำรัฐประหารในนามการปกป้องสถาบันกษัตริย์ตลอดไป

ยากที่จะคาดเดาว่า การยกระดับเพดานการต่อสู้ทางการเมืองขึ้นสูงสุดเช่นนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ที่แน่ๆ หากเกิดความรุนแรงใดๆ ขึ้น ก็ย่อมไม่ได้เกิดจากฝ่ายประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย เพราะในประวัติศาสตร์และที่เห็นอยู่เวลานี้ ฝ่ายที่ผูกขาดการใช้ความรุนแรงเสมอมาคือฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐและอนาจปืน

แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเดิมๆ และอำนาจปืน แม้ฝ่ายเผด็จการจะกุมอำนาจรัฐไว้ได้ผ่านการทำรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ทว่ากลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการครอบงำทางความคิด ความผิดพลาดชัดเจนอย่างหนึ่งคือการใช้กฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 ปิดปากประชาชนที่พูดความจริง ทำให้นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากต้องหนีออกนอกประเทศ แต่การณ์กลับไม่เป็นแบบยุคเก่าที่เคยกดดันคนอย่างปรีดี พนมยงค์หนีออกนอกประเทศ เพราะนักวิชาการอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และบุคคล, กลุ่มบุคคลอื่นๆ กลับใช้สื่อโซเชียลพูดความจริงได้สะดวกขึ้น และมีผู้ติดตามมากขึ้นๆ 

ในอีกด้านหนึ่งการครอบงำของฝ่ายเผด็จการที่ทำกันมายาวนานและทำเพิ่มมากขึ้นๆ กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เราได้เห็น “พานไหว้ครูล้อการเมือง” ของนักเรียนมัธยมที่มีเนื้อหาตีแสกหน้าทหารที่ทำรัฐประหาร, ศาลยุติธรรมต่อเนื่องมาหลายปี และปรากฏการณ์อื่นๆ เช่น การล้อเลียนเสียดเสียความคิด ตรรกะแบบสลิ่มผ่านพื้นที่ต่อสู้ของการเมืองวัฒนธรรม ขณะที่ชนชั้นนำฝ่ายเผด็จการก็ยิ่งใช้ความคิดและตรรกะแบบสลิ่ม คือความคิด ตรรกะแบบ “บิดเบี้ยว” หรือ “บิดเบือน” ความจริงอย่างทื่อๆ เสมอๆ เช่น ประชาชนชังเผด็จการก็หาว่า “ชังชาติ” ชู 3 นิ้ว ต้านเผด็จการก็ว่าแสดง “สัญลักษณ์ลูกเสือ” เป็นต้น ยิ่งใช้ความคิดและตรรกแบบสลิ่ม ยิ่ง “เรียกแขก” ให้เยาวชนออกมามากยิ่งขึ้นๆ เพราะพวกเขาทนไม่ได้กับการถูกครอบงำกดขี่จากกลุ่มคนที่มีความคิดล้าหลัง ไร้หลักการ เหตุผล และความชอบธรรม

จนวันนี้นักเรียน ม.ต้น และ ม.ปลายต้องออกมาประท้วงว่า สอนให้พวกเขา “รู้หน้าที่” แต่ผู้ใหญ่กลับทำรัฐประหารที่เป็นการทำผิดหน้าที่ บอกว่าเด็กๆ ไม่ควรยุ่งการเมือง แต่ทหารกลับไปนั่งหน้าสลอนในสภา ครูอาจารย์บอกต้อง “เป็นกลาง” ทางการเมือง นักเรียน นิสิต นักศึกษาถามว่าจะเป็นกลางอย่างไรระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย ฯลฯ

ปรากฏการณ์ชู 3 นิ้วร้องเพลงชาติและผูกโบว์สีขาวประท้วงต่อต้านเผด็จการกระจายไปทั่ว ข้อเรียกร้องหลากหลาย มีทั้งการต่อต้านระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน คุณภาพการศึกษาที่แย่ ตำราเรียนเหยียดเพศ วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ การเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศ และอื่นๆ ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่เชื่อว่า รากฐานของปัญหาต่างๆ คือการไม่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย อันเกิดจากการทำรัฐประหารซ้ำซากของกองทัพ และทำในนามการปกป้องสถาบันกษัตริย์เสมอมา 

ปัญหาทั้หลายทั้งปวงจึงเชื่อมโยงไปสู่ “ปัญหาแกนกลาง” คือปัญหาตำแหน่งแห่งที่ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่ขัดกับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย จึงต้องปฏิรูปตามข้อเสนอ 10 ข้อ 

ในสถานการณ์วิกฤต ความคิดเก่า อำนาจครอบงำกดขี่แบบเก่าๆ ที่ผุพังและกำลังจะตายไปพยายามดิ้นรนจะมีชีวิตเป็นอมตะ ขณะที่ความคิดใหม่พยายามดิ้นรนต่อสู้ปลดแอกความคิดเก่าที่ครอบงำกดขี่มายาวนานจากบ่าของตนเพื่อผุดบังเกิดระบบโครงสร้างทางสังคมการเมืองแบบใหม่ที่ให้หลักประกันเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ และประชาธิปไตยได้จริง เราได้เห็นกลุ่มตัวแทนอำนาจแบบเก่าตอบโต้คนรุ่นใหม่ด้วยความคิดและตรรกะที่บิดบิ้ว การข่มขู่ คุกคามสารพัด 

ที่น่าเศร้ายิ่งขึ้นไปอีก เราได้เห็นบรรดากวี ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต นักเขียนรางวัลซีไรท์จำนวนหนึ่ง ออกอาการดิ้นพล่านเหมือนสิ่งเก่าที่กำลังจะตาย หรืออยู่ๆ ก็ดิ้นขึ้นมาตายน้ำตื้นต่อหน้าต่อตาเยาวชนรุ่นใหม่ด้วยการแสดงความคิดสวนทางกับความก้าวหน้า ที่เราเคยอ่านงานของพวกเขาและคิดว่าก้าวหน้าในยุคนั้น เช่น เพียงความเคลื่อนไหว, ใบไม้ที่หายไป, คนทรงเจ้า, คำพิพากษา เป็นต้น เราคงหลงคิดไปว่าพวกเขามีความคิด อุดมการณ์เสรีภาพและประชาธิปไตยแบบในตัวหนังสือที่อ่าน แต่วันนี้เราช็อคว่าคนเหล่านั้นทำไมถึงตามเยาวชนรุ่นใหม่ใหม่ทัน

ทั้งๆ ที่สิ่งที่นักเรียน ม.ต้น ม.ปลาย นิสิตนักศึกษาสอนก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย แค่สอนว่าถึงวาระของประชาชนทุกคนต้องลุกขึ้นยืนตัวตรงยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และประชาธิปไตย โดยเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างทางการเมืองของประเทศให้ทุกอำนาจสาธารณะอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน อยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อยุติรัฐประหารตลอดไป และเพื่อให้ประชาธิปไตยมั่นคงเป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาและอื่นๆ ให้ก้าวหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นธรรมแต่ประชาชนส่วนใหญ่ได้จริง

 

 

ที่มาภาพ: https://news.trueid.net/detail/m1Gz2EmE35ey?utm_source=grf-eng&utm_medium=partner&utm_campaign=giraff.io

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท