Skip to main content
sharethis

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อรูปธรรมของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ประกาศออกไปเมื่อ 10 สิงหาคม 2563 จนกลายเป็น 1 ความฝันในการประท้วงของกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อ 16 สิงหาคม 2563 เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมบางส่วน ‘ช็อค  อึ้ง ทึ่ง เสียว’ และรู้สึกเป็นห่วงอนาคตของเยาวชนรวมถึงอนาคตของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่เยาวชนจำนวนมากและนักวิชาการบางส่วนยืนยันเสียงแข็งแบบไม่ลดลาวาศอกว่า ข้อเสนอไม่ได้รุนแรง ไม่ใช่การล้มล้าง ทั้งยังจะช่วยปกป้องให้สถาบันอยู่คู่สังคมไทยในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้

จากการตรวจสอบเบื้องหลังแนวคิดข้อเสนอดังกล่าว พบว่า หนังสือและบทความจำนวนหนึ่งน่าจะเป็นตัวการหรือเป็นต้นกำเนิดของการก่อการในครั้งนี้ แน่นอนว่า หลายต่อหลายเล่ม สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็นผู้จัดพิมพ์ สอดคล้องกับที่สายข่าวรายงานว่า ยอดขายหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองของฟ้าเดียวกันในยุคนี้พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและลูกค้าหลักก็อายุลดลงเรื่อยๆ  ‘ฝ่ายความมั่นคง’ จึงรวบรวมนำเสนอเพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษาที่มีความรักในประเทศชาติบ้านเมือง ‘ไล่ล่า’ หนังสือเหล่านี้ อนึ่ง ลิสต์นี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น คาดว่ายังมี ‘ตัวการร่วม’ อีกมาก

ข้อสังเกตหลักอีกประการคือ บุคคลที่น่าจะมีอิทธิพลต่อนักศึกษามากที่สุดคนหนึ่งคือ สศจ หรือ สมเจียม หรือ สมศักดิ์ เจียม หรือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศสหลังรัฐประหาร 2557 อาจารย์คนนี้เป็นอดีตผู้นำนักศึกษายุค 6 ตุลาฯ และมีบทบาทในการศึกษาเรื่องบทบาทสถาบันในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเข้มข้นมากสุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของ ร.8

เดือนกรกฎาคม 2562 สมศักดิ์โพสต์เฟสบุ๊คนำเสนอข้อเสนอ 7 ข้อ (ก่อนหน้านี้เขาเคยเสนอ 8 ข้อ เนื้อหาคล้ายๆ กันในปี 2553 ดูได้ที่นี่)

“ความเห็นของผมจริงๆ ปัญหาใหญ่ของการเมืองไทยที่พูดกันมาตลอด 2 อย่างคือ เรื่องสองมาตรฐาน กับ เรื่องนักการเมืองไม่มีคุณภาพ ต้องแก้ปัญหาที่สถาบันกษัตริย์ เพราะอะไร เพราะตราบที่มันมีปัญหาเรื่องสองมาตรฐานกับสถาบันกษัตริย์ คุณพูดเรื่องสองมาตรฐานเรื่องอื่นไม่ได้ มีแต่คุณทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ในมาตรฐานเดียวกับคนทุกคนในประเทศไทยแค่นั้น คุณถึงจะ apply เรื่องการมีมาตรฐานเดียวกันได้ หัวใจของข้อเสนอของผมง่ายมาก ประยุกต์หลักการที่ใช้กับคนทุกคน ใช้กับสถาบันกษัตริย์อย่างเท่าเทียมกัน แค่นั้นเอง ง่ายๆ มีแต่คุณทำอย่างนี้เท่านั้นถึงจะแก้ปัญหาเรื่องสองมาตรฐานทั้งหมดไปได้ แล้วปัญหาเรื่องนักการเมืองเลว ลองคิดดูดีๆ พอมีรัฐประหารก็มีคนมาเชียร์เพราะอะไร เพราะคุณไปสร้างภาพ ฝรั่งเรียก ภาพ perfect ที่มันไม่เป็นจริง สร้างภาพ perfect ว่าคุณมีสถาบันกษัตริย์ที่วิเศษทุกประการ ไม่มีข้อติเลย คุณก็จะมีข้อเปรียบเทียบเสมอว่า นักการเมืองมันอย่างนู้นอย่างนี้ คุณทำไมไม่ตั้งคำถามก่อนว่าภาพที่คุณสร้างไว้มันผิดหรือเปล่า ถ้ามันไม่มีปัญหาเรื่องการสร้างภาพแบบนี้ตั้งแต่ต้นก็ไม่ต้องมาบ่นเรื่องนักการเมือง คนทุกประเทศเวลาเขาไม่พอใจนักการเมือง เขาหมั่นไส้ เขาเกลียด เขาก็จัดการตามประสามนุษย์มนา เพราะประเทศเขาไม่มีการสร้างภาพเทวดาไว้เปรียบเทียบกับคน” 

“ที่ผมเสนอนี่คือ minimum แต่บางคนบอกว่ามากเกินไป การยกเลิกแค่ ม.112 ไม่มีประโยชน์คุณต้องยกเลิกพร้อมกันทั้งชุด ยกเลิกมาตรา 8 (ต่อมาเปลี่ยนเป็น มาตรา 6)  การประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด” สมศักดิ์เคยกล่าวไว้ในปี 2553

(1) ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพิ่มเติมมาตราในลักษณะเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (สภาฯพิจารณาความผิดของกษัตริย์)
(2) ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
(3) ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 แบ่งทรัพย์สินออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน (ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง)
(4) ยกเลิก ส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่ขาดความจำเป็นให้ยกเลิก (องคมนตรี), หน่วยงานที่มีหน้าที่ (หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์, ฯลฯ) ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น
(5) ยกเลิกการบริจาค/รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด
(6) ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความเห็นการทางการเมือง
(7) ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันฯทั้งหมด

10 ปีผ่านมา หากเทียบกับเวอร์ชั่นของนักศึกษา พบว่าข้อเสนอของนักศึกษามีเพิ่มเติมมาอีก 3 ข้อคือ เรื่องการลดงบประมาณให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ, การสืบหาข้อเท็จจริงการเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบัน, การไม่ลงพระปรมาภิไธยหากมีการรัฐประหาร

นักศึกษาเยาวชนน่าจะถูกชักจูงทางการเมืองด้วยการติดตาม สศจ.ทางเฟสบุ๊ค/ทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะปิดกั้นแม้ทางการจะพยายามอยู่หลายครั้ง ส่วนแหล่งที่รวบรวมงานของ สศจ.ไว้อย่างเป็นระบบก็คือ http://somsakj.blogspot.com/ (บล็อกของสมศักดิ์ถูกผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบางเจ้าปิดกั้นการเข้าถึง หากเข้าไม่ได้ผู้อ่านอาจทดลองเปลี่ยนเครือข่ายหรือใช้ url https://somsakj.blogspot.com/) บล็อกนี้เขียนบทความหลากหลายเรื่องซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครเขากล้าเขียนกันในเวลานั้น รวมถึงมีบันทึกกระทู้ที่สมศักดิ์เคยเขียนไว้ตามเว็บบอร์ดเมื่อทศวรรษก่อน มุ่งเน้นวิพากษ์วิจารณ์นักวิชาการ-ขบวนเคลื่อนไหวภาคประชาชนในช่วงก่อนและหลังการรัฐประหาร 2549 ซึ่งเกี่ยวพันกับมุมมองและการจัดการกับ “ระบอบทักษิณ” อย่างไรก็ตาม ‘ฝ่ายความมั่นคง’ คาดว่าเรื่องนี้เยาวชนตามไม่ทันและไม่ได้สนใจมากนัก

สำหรับข้อเสนอของเยาวชนมีดังนี้

ข้อ 1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

  • เล่มสำคัญที่สุดซึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนคึกคะนองคงหนีไม่พ้น นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง โดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล ไปนั่งไล่ ‘อ่าน’ การอภิปรายจัดทำรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2475 จนปัจจุบันแล้วแสดงให้เห็นว่า การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ อำนาจ และการตรวจสอบสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่เลื่อนไหลมาก ที่สำคัญ ในอดีตเราเคยอภิปรายเรื่องนี้กันมาแล้วทั้งสิ้นและดูจะหนักหน่วงกว่าปัจจุบันด้วยซ้ำ
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ ว่าด้วยข้อความ “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”
  • ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็เป็นอีกคนที่เขียนเรื่องนี้สมัยที่ยังเป็นนักวิชาการ ชิ้นสำคัญอยู่ในวารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับ โลกราชาธิปไตย มกราคม-มิถุนายน 2555 บทความชื่อ ‘องค์กษัตริย์มิอาจถูกละเมิดได้’ คืออะไร?
  • ปิยบุตร สมัยเป็นนักวิชาการยังเคยอภิปรายสาธารณะพูดถึงการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ ในปี 2555 บทเรียนรอบโลก การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์
  • อีกเล่มที่อาจไม่เกี่ยวโดยตรงแต่มีการอ้างกันว่าเป็นฐานสำคัญในการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ของประเทศไทยที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองและเศรษฐกิจโลกคือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย ของกุลลดา เกษบุญชู มี้ด รวมไปถึงงานเลื่องชื่อ ปากไก่และใบเรือ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่หักล้างคำอธิบายประวัติศาสตร์ไทยก่อนหน้า หรืองานชิ้นเบิ้มๆ ของทักษ์ เฉลิมเตียรณ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ซึ่งนอกจากจะชำแหละระบอบทหารในไทยแล้วยังพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบราชการกับสถาบันกษัตริย์ ยังไม่นับรวมชุดงานรื้อความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมแบบไทยของธงชัย วินิจจะกูล และความเข้าใจแบบใหม่เกี่ยวกับคณะราษฎรและการอภิวัฒน์ 2475 จากสำนักของชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ข้อ 2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

  • เว็บไซต์ freedom.ilaw.or.th เป็นเว็บที่รวบรวมคดีลักษณะนี้ไว้อย่างกว้างขวาง เป็นถังข้อมูลที่แอบซ่อนตัวอยู่เงียบๆ มายาวนาน เป็นไปได้ว่าเยาวชนน่าจะค้นหาข้อมูลต่างๆ จากเว็บไซต์นี้ เช่น สถิติคดี 112 ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี 2557- 2560
  • หนังสือ ห้องเช่าหมายเลข 112 ไอลอว์จัดทำ เป็นบทบันทึก “ชีวิต” ของคนที่โดนคดีนี้หรือผลกระทบต่อครอบครัวผ่านสายตาของเจ้าหน้าที่ภาคสนาม ว่ากันว่าเป็นบันทึกอารมณ์ความรู้สึกของคนทำ(แต่)ข้อมูล
  • หนังสือ รักเอย ตีพิมโดยสำนักพิมพ์อ่าน เล่าเรื่องราวชีวิตป้าอุ๊ ภรรยาของ ‘อากง’ ที่เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 ในเรือนจำ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเล่มที่เรียกน้ำตาผู้คนได้มากมาย
  • หนังสือ ก้าวข้ามความกลัว เล่มนี้ ‘คุณแม่ปวิน’ ผู้ทรงอิทธิพลของคนรุ่นใหม่เป็นผู้รวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้น เหตุสืบเนื่องจากการตายของ ‘อากง’ นั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นก้าวแรกที่ทำให้คุณแม่เลิกแอ๊บว่าเรียบร้อย ว่าเป็นเด็กดี
  • มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ผลงานของศิลปินตัวแสบ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ที่ใช้ชีวิตในคุก 2 ปีกับคู่คดีเพราะไปกำกับ/เล่นละครเสียดสี สายข่าวรายงานว่าเยาวชนหลายคนมีอาการน่าเป็นห่วงเมื่ออ่านเล่มนี้ เดี๋ยวหัวเราะ เดี๋ยวร้องไห้
  • เว็บประชาไท สื่อเถื่อนที่มีอายุยืนยาวกว่าทศวรรษ เป็นอีกช่องทางที่มักรายงานข่าวคดีมาตรา 112 อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และมีบทวิเคราะห์หนักๆ ที่มอมเมาเยาวชน คือ
    1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 1: สถิติและความเป็น ‘การเมือง’ ของคดีหมิ่นฯ
    1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 2: ‘ความแปลกใหม่’ หลังรัฐประหารและรัชสมัยใหม่
    1 ทศวรรษคดี 112 ตอนที่ 3: ปัญหาอยู่ที่วิธีคิดหรือความกลัวของศาล? กฎหมายหรือระบอบ?
  • แม้เว็บไซต์ของคณะนิติราษฎร์จะเข้าไม่ได้แล้ว แต่ดูเหมือนข้อเสนอต่างๆ ของกลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์กลุ่มนี้ยังค้นหาได้อยู่ นิติราษฎร์ ฉบับ16: ปัญหากฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ ข้อเสนอการรณรงค์ยกเลิก ม.112
  • หนังสือเล่มสำคัญที่บอกเล่าผลกระทบมาตรา 112 โดยเคลือบไว้ด้วยมุมมองและภาษาวิชาการคือ หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถอดความจากเวทีวิชาการซึ่งหลายมหาวิทยาลัยร่วมกันจัดขึ้นที่ธรรมศาสตร์ ในปี 2552
  • Truth on Trial in Thailand : Defamation, treason, and lèse majesté เล่มนี้ก็ไม่ธรรมดา นักวิชาการฝรั่งชื่อ David Streckfuss ศึกษาและรวบรวมข้อมูลประจานกระบวนการยุติธรรมไทยต่อคดี 112
  • ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการปากจัดที่สุดคนหนึ่งของไทยได้ทำวิจัยวิธีคิด ความสัมพันธ์ระหว่างศาลกับสถาบัน และรากที่มาของปัญหา ‘สองมาตรฐาน’ ผ่านปาฐกถาวิชาการที่แอบแรงมาก ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม

ข้อ 3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

  • นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ พอพันธุ์ อุยยานนท์ งานศึกษาเผยแพร่ในปี 2549 ก่อนการรัฐประหารเล็กน้อย เปเปอร์ชื่อ Thailand Crown Property and Its Investment สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ งานชิ้นนี้ถูกอ้างถึงในหลายที่และอ้างต่อมาจนปัจจุบัน เรียกว่าเป็นมาสเตอร์ พีซ ก่อนเขาจะเสียชีวิต
  • สำนักข่าวบีบีซีเคยทำรายงานเรื่องนี้ไว้เช่นกัน เปิดงานวิจัย ความเป็นมา "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" หลังจากมี พ.ร.บ.ใหม่ - พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2560
  • สำนักข่าวประชาไทก็เคยรายงานเรื่องนี้ไว้และอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับบทบาทสถาบันในทางการเมือง ซ่อนๆ อยู่ในรายงานชื่อเพลนๆ 2019: สำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทยช่วง ‘รอยต่อ’
  • วารสารฟ้าเดียวกัน เล่ม ‘ส่งเสด็จ’ ฉบับกรกฎาคม-ธันวาคม 2560 มีนักวิชาการหลายคนเขียนเรื่องเหล่านี้เช่น การศึกษาการจัดงบประมาณและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลังการปฏิวัติ ศึกษากรณีอังกฤษกับสยาม ของปราการ กลิ่นฟุ้ง ฯลฯ
  • แต่ไม่มีเล่มไหนจะหนักหนาสาหัสเท่า พระพรหมช่วยอำนวยให้ฝนฉ่ำ เศรษฐกิจการเมืองว่าด้วยทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลัง 2475 ตีพิมพ์ในปี 2557 เป็นการแจกแจงตั้งแต่โบราณกาลว่าทรัพย์สินมาจากไหน ไล่ตั้งแต่พระคลังข้างที่ พระคลังมหาสมบัติ การจัดการในช่วงต้นของประชาธิปไตย มีสายสืบรายงานว่า ตัวเลขหลายส่วนทำให้เยาวชนจำนวนหนึ่งยกให้เป็นหนังสือสุด ‘ปังปุริเย่’ เล่มนี้มีนักวิชาการเขียนหลายคน รวมทั้ง สศจ.ศัตรูหมายเลข 1 ด้วย

ข้อ 4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

  • ประชาไทเคยรายงานงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันไว้เมื่อปี 2563
  • ย้อนไปปี 2558 พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในชิ้น งบประมาณแผ่นดินสำหรับรักษาเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๕๘
  • อีกเล่มที่ไม่ได้เกี่ยวโดยตรงแต่ให้ภาพความเข้าใจทุนสำนักทรัพย์สินในทศวรรษ 2520 ได้ นั่นคือ วิทยานิพนธ์ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เรื่อง ลักษณะการสะสมทุนของชนชั้นนำทางธุรกิจระหว่างปี พ.ศ.2516-2540 จัดทำสำเร็จในปี 2552 โชคดีว่ามีการห้ามเผยแพร่ไปแล้ว นักศึกษาน่าจะหาอ่านไม่ได้ (หรือว่าได้?) ความคิดรวบยอดของธนาธรเรื่องทุนใหญ่ในประเทศไทยปรากฏอีกครั้งในเวทีเสวนาเมื่อปี 2556 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ: ทุนไทยหลัง 14 ตุลา

ข้อ 5 ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก

ข้อ 6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

  • เรื่องนี้ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ยังไม่พบชิ้นงานหรือหนังสือที่กล่าวถึงอย่างเป็นระบบ
  • เรื่องที่ไม่เกี่ยวโดยตรง แต่ลิสต์ไว้ก่อน คือ เมื่อใต้เท้าอยู่ใต้ทุน:สถาบันกษัตริย์กับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทุนนิยมในมุมมองของสมิธ เฮเกลและมาร์กซ์ ของปวงชน อุนจะนำ ในวารสารฟ้าเดียวกันฉบับส่งเสด็จ

ข้อ 7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

ข้อ 8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

ข้อ 9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

  • เรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะข่าวการอุ้มหายอย่างอุกอาจในกรณีของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่ก่อนหน้านั้นก็มีผู้ลี้ภัยที่จัด ‘วิทยุใต้ดิน’ วิจารณ์สถาบันหายตัวไปหลายคน ไม่ว่า ลุงสนามหลวง สยาม ธีรวุฒิ สุรชัย แซ่ด่าน ฯลฯ และกระทั่งเจอศพ ชัชวาลย์ บุปผาวัลย์ และกาสะลอง ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมลอยในแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางคดี 

ข้อ 10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net