Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเผยแพร่หนังสือถึงประธานศาลฎีกา ขอให้สถาบันตุลาการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่ให้กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นและคุกคามผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หลังมีการจับกุมนักกิจกรรมประชาธิปไตยหลายคนจากการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ

จดหมายที่ถูกส่งวันที่ 24 ส.ค. 2563 ระบุว่า การชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นการใช้สิทธิที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งไทยเป็นภาคีสมาชิกมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ไม่ควรถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด

การออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมโดยไม่ออกหมายเรียกก่อน อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างเลือกปฏิบัติ กลั่นแกล้ง (Judicial Harassment) หรือจงใจใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อยับยั้งผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองจากรัฐบาล

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระบุในหนังสืออีกว่า การกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว โดยห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดี อาจถูกมองได้ว่าเป็นการละเมิดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากยังไม่มีคำพิพากษาว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด รวมถึงการตั้งข้อหาก็มีลักษณะเป็นไปเพื่อยับยั้ง ปิดกั้นการแสดงออกว่าเห็นต่างจากรัฐบาล หากศาลไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว ในที่สุดจะก่อให้เกิดก่อวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นพิจารณาคดี เช่นเดียวกับวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรง ที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นเจ้าพนักงานในขณะนี้

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอให้ประธานศาลฎีกา ในฐานะประมุขฝ่ายตุลาการแสดงบทบาทตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร เพื่อยับยั้งไม่ให้กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นและคุกคามผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

วันที่ 24 สิงหาคม 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ส่งหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ขอให้สถาบันตุลาการดำรงไว้ซึ่งบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เสริมสร้างนิติธรรมให้เข้มแข็ง

การออกจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว สืบเนื่องมาจากกรณีการชุมนุมสาธารณะของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563  โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ประการ คือ 1. ประกาศยุบสภา 2. รัฐหยุดคุกคามประชาชน 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งในวันดังกล่าวมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับเข้าจับกุม นายอานนท์ นำภา และ นายภานุพงศ์ จาดนอก ผู้ที่เข้าร่วมปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยไม่มีการออกหมายเรียกบุคคลดังกล่าวมาก่อน ด้วยอ้างเหตุว่าโทษสูงสุดของความผิดที่ระบุในหมายจับ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งมีโทษเกินกว่า 3 ปี อันสามารถเป็นเหตุให้ออกหมายจับได้โดยที่ไม่ต้องออกหมายเรียกก่อน ต่อมานายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ก็ถูกจับกุมตามหมายจับ จากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเช่นเดียวกัน และภายหลังยังมีการจับกุมนักกิจกรรมประชาธิปไตยอีกหลายคนจากการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ อีกทั้งในกรณีการออกหมายจับนายอานนท์ นายภานุพงศ์ และนายพริษฐ์นั้น เจ้าพนักงานตำรวจได้ยื่นคำร้องขอฝากขังเป็นเวลา 12 วันต่อศาล ซึ่งในภายหลัง ศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก มิฉะนั้นจะให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรทางกฎหมายที่ทำงานส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การใช้กฎหมายบนพื้นฐานการเคารพหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย จึงมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

การชุมนุมสาธารณะของกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศนั้น ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือ เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ทั้งในมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อที่ 19 และข้อที่ 21 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม และการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศได้รับรองไว้ ไม่ควรเป็นพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด

การออกหมายจับ ก่อนการออกหมายเรียก ถึงแม้ว่าโทษสูงสุดของความผิดที่ระบุในหมายจับ คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งมีโทษเกินกว่า 3 ปี อันสามารถเป็นเหตุให้ออกหมายจับได้โดยที่ไม่ต้องออกหมายเรียก แต่บุคคลที่ถูกออกหมายจับดังกล่าวนั้นไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และมีที่อยู่ชัดเจนที่สามารถติดต่อได้ อีกทั้งการดำเนินคดีความผิดมาตรา 116 กรณีอื่นก็ปรากฏว่าตำรวจใช้วิธีการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาให้มาพบพนักงานสอบสวนก่อน เมื่อผู้ถูกกล่าวขัดขืน พนักงานสอบสวนจึงขออนุมัติให้ศาออกหมายจับ การออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมโดยพนักงานสอบสวนไม่ออกหมายเรียกก่อน เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยกระบวนการยุติธรรมโดยไม่สมควร อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างเลือกปฏิบัติ กลั่นแกล้ง (Judicial Harassment) หรือเป็นการจงใจใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อยับยั้งผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองจากรัฐบาล

คำสั่งของศาลที่กำหนดเงื่อนไขห้ามแกนนำที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้น อาจถูกมองได้ว่าเป็นการละเมิดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อันบุคคลจะต้องถูกสันนิษฐานว่าไม่ได้กระทำความผิด จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด เนื่องจากยังไม่มีกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีจากศาลว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน อันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น ทั้งเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยาน อันจะมีผลทำให้การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเสียหายแต่อย่างใด การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การผูกพันเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวไว้กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้สัดส่วน และเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ไม่ชอบด้วยมาตรา 112 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ความผิดที่ได้นำมาใช้กล่าวหานักกิจกรรมประชาธิปไตยที่ออกมาแสดงออกเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุม หรือความผิดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เป็นต้น อาจเห็นว่าเป็นความผิดแต่ละส่วนแยกออกจากกัน แต่กลับถูกนำมาใช้ประกอบกันเพื่อยับยั้งและปิดกั้นผู้ที่แสดงออกว่าเห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ความผิด แต่กลับเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ทั้งในด้านความคิด ความเชื่อในทางการเมืองที่แตกต่าง และการแสดงออก ซึ่งความคิด ความเชื่อของตนและ การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสันติ รวมทั้งการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบและโดยปราศจากอาวุธ การที่รัฐบาลใช้เจ้าหน้าที่และกฎหมายมาเป็นเครื่องมือคุกคามผู้ที่เห็นต่าง หากศาลไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว ในที่สุดจะก่อให้เกิดก่อวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นพิจารณาคดี เช่นเดียวกับวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรง ที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นเจ้าพนักงานในขณะนี้

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงขอนำเรียนประธานศาลฎีกาในฐานะประมุขฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ได้แสดงบทบาทในการเป็นส่วนสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น และให้ดำรงไว้ซึ่งบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้มาตรการทางกฎหมายกลั่นแกล้งประชาชนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างจากรัฐบาล ปิดกั้นการแสดงออก โดยขอให้ศาลได้โปรดเป็นเสาหลักในการดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ถ่วงดุลและยับยั้งไม่ให้กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการปิดกั้นและคุกคามผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หรือผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net