Skip to main content
sharethis

เชื่อหรือไม่เชื่อว่า อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องไปหารัฐธรรมนูญในฝันที่ไหนเลย รัฐธรรมนูญในฝันเคยถูกเขียนเอาไว้อย่างเรียบง่ายที่สุดและเป็นภาษามนุษย์อย่างที่สุดว่า "อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร"

'กลุ่ม CARE' ตั้งวง 13 คน ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของปชช. 'คำ ผกา’ ย้ำต้องฉีก ‘รธน.ฉบับวัฒนธรรม’, 8 ส.ค. 2563

CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน [YouTube]

"CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ช่วง "รัฐธรรมนูญในฝัน" ลักขณา ปันวิชัย หรือ 'คำ ผกา' คอลัมนิสต์ พิธีกร และผู้ประสานงานกลุ่ม CARE กล่าวสรุปช่วงท้าย โดยเริ่มกล่าวถึงรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบโดยยกเรื่องคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1776 ที่ระบุตอนหนึ่งถึง สิทธิที่จะแสวงหาเสรีภาพและการแสวงหาความสุข

อีกสิ่งหนึ่งที่ใกล้เคียงกับคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาคือคำประกาศของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 จากคำประกาศเจตนารมณ์ของคณะราษฎรก็นำไปสู่ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่ประกาศวันที่ 27 มิ.ย. 2475 มาตราที่ 1 เขียนไว้เรียบง่ายที่สุด ชัดเจนที่สุดว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร”

“เชื่อหรือไม่เชื่อว่า อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องไปหารัฐธรรมนูญในฝันที่ไหนเลย รัฐธรรมนูญในฝันเคยถูกเขียนเอาไว้อย่างเรียบง่ายที่สุดและเป็นภาษามนุษย์อย่างที่สุดว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร”

อย่างไรก็ตามประเทศผ่านการรัฐประหารและร่างรัฐธรรมนูญใหม่บ่อยครั้ง แต่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญไทยที่แท้จริงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่เป็นสำนึกแห่งความเป็นไพร่เป็นทาส และความงมงายอย่างเหนียวแน่นที่ก่อรูปเป็นวาทกรรมฝังอยู่ในรูปการณ์จิตสำนึกของคนไทยว่าประเทศไทยนี้ไม่ใช่เป็นของราษฎร ซึ่งอุดมการณ์ที่ซ่อนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้มีพลังที่ทำให้การรัฐประหารในประเทศประสบความสำเร็จ มีความชอบธรรม และรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไม่เคยถูกฉีกทิ้งทำลายหรือท้าทายทั้งสิ้น

“รัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับสุดท้ายจะเกิดขึ้นได้ รัฐธรรมนูญฉบับที่จะไม่ถูกฉีกทิ้งอีกต่อไปจะมีได้ก็ต่อเมื่อเราฉีกรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้สำเร็จ เราจะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้สำเร็จได้อย่างไร สำหรับดิฉันเห็นว่าเมล็ดพันธุ์แรกที่ต้องถูกรื้อฟื้นขึ้นมาทุกครั้งที่เราพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็คือ เราต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่อาจมีได้โดยปราศจากคำประกาศเอกราชและคำประกาศอิสรภาพของประชาชนเป็นเบื้องต้น”

ลักขณา กล่าวว่า เธอนั้นเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่สามารถทำให้คนไทยตระหนักว่าขั้นตอนของการประกาศเอกราชและอิสรภาพของเรายังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะขั้นตอนของการประกาศอิสรภาพของคณะราษฎรนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และขั้นตอนนี้สำคัญเสียยิ่งกว่าการไปชำแหละรายมาตราของรัฐธรรมนูญที่เราต้องการแก้ไข

ลักขณา กล่าวถึงสิ่งที่ กลุ่ม CARE จะทำต่อไปว่า คือการลงมือฉีกรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยนี้ลงไปให้ได้และสำเร็จ เราจะเรียกร้องบทสนทนาว่าด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

“เราจะต้องสร้างและรักษาห้วงเวลาของรัฐธรรมนูญให้มันมีชีวิตอยู่กับเราเรื่อยไปทุกๆ วัน ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ห่วงเวลาแห่งรัฐธรรมนูญของประชาชนจะต้องอยู่ในบทสนทนาและต้องอยู่ในทุกลมหายใจของเราตราบเท่าที่เรายังสร้างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นมาเป็นรูปธรรมไม่ได้” ลักขณา กล่าว

หลังจากนี้สิ่งที่กลุ่ม CARE จะทำต่อไปคือจะผลิตเนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของประเทศไทยและประวัติศาสตร์ว่าด้วยการทำลายอิสรภาพของคนไทยผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญ เช่น คลิปต่อเนื่องผ่านแพนเพจกลุ่ม CARE เป็นเนื้อหาที่เรียบง่ายเข้าใจง่าย หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาว่าด้วยรัฐธรรมนูญในมิติที่ไกลกว่าการเป็นข้อกฎหมาย ภาษากฎหมาย ที่ยิ่งกีดกันประชาชนออกไปจากชีวิตของรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น กลุ่ม CARE หวังว่าจะสร้างบทสนทนาว่าด้วยรัฐธรรมนูญที่พึงมีพึงเป็นของสังคมไทยให้กว้างที่สุดเท่าที่ทำได้

ภายในสิ้นปีนี้ ลักขณา ยืนยันว่า กลุ่ม CARE หวังว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญในฝันขึ้นมาและหวังว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นวรรณกรรมคู่บ้านคู่เมืองสืบไป ยาวไม่เกิน 30 หน้ากระดาษ เราเรียกร้องชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจกับรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอาจจะเป็นคนละเรื่องกัน ในการเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญเราจะต้องละเอียดอ่อนเรื่องนี้ด้วย

“หากเราฉีกรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมลงไม่สำเร็จ แล้วเราให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน เราอาจจะได้รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรที่ซ้ำรอยฉบับวัฒนธรรมที่ยังไม่ถูกทำลายก็เป็นได้” ลักขณา กล่าวย้ำ

สำหรับการอภิปรายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ เมื่อ 8 ส.ค. 63 โดยกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ร่วมกับสำนักข่าวประชาไท เพื่อร่วมคิดหาหนทางออกจากหุบเหวมหาวิกฤติ ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย ให้เป็น "ฉบับสุดท้าย" ของประเทศไทย และให้มันเกิดขึ้นที่รุ่นเราจริงๆ เสียที โดยใช้แฮชแท็กในงานว่า #รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย #ให้มันเกิดที่รุ่นเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net