พิภพ ธงไชย : 'กระแสการแก้รัฐธรรมนูญสุกงอม แต่กลไกการแก้รัฐธรรมนูญลำบากมาก'

จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองและภาคประชาชนมาอย่างยาวนาน พิภพ ธงไชย มองกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าสุกงอมแล้ว แต่ ส.ว. ยังเป็นด่านหินที่ยากจะฝ่าไป ขณะเดียวกัน เขาคิดว่าขบวนการประชาชนควรยึด 3 ข้อเรียกร้องหลักและเสนอรายละเอียดให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่

  • รัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหา ปมปัญหาใหญ่คือการมี ส.ว. แต่งตั้งและมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการแก้รัฐธรรมนูญ
  • พิภพเสนอว่าถ้าจะไปให้ถึงการแก้รัฐธรรมนูญ กลุ่มเรียกร้องต้องมีความชัดเจนว่าจะมีวิธีการแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร และรู้ว่าจะต้องกดดันไปที่ใคร
  • ควรยึด 3 ข้อเรียกร้องของประชาชนปลดแอกเป็นหลัก ไม่ควรปะปนกับข้อเสนอ 10 สิงหาคมบนเวที “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เพราะไม่มีความชัดเจนว่าเป็นข้อเสนอของใคร อีกทั้งยังจะไปกลบข้อเสนอ 3 ข้อ
  • ทหารไม่มีความจำเป็นต้องทำรัฐประหารเพราะมีอำนาจอยู่แล้ว

พิภพ ธงไชย

เมื่อเอ่ยเชื่อพิภพ ธงไชย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เลขาธิการอาสามูลนิธิเด็ก ในประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้ หลายคนคงนึกถึงเขาในฐานะ 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แต่ในอีกบทบาทหนึ่งก่อนหน้านั้น เขาคืออดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยหรือ ครป. ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2522 ครป. มีบทบาทไม่น้อยต่อการผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ผ่านการประสานเครือข่าย ออกแถลงการณ์ และยื่นข้อเสนอแนะ โดยมีหัวใจอยู่ที่การลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน

ในสถานการณ์แหลมคมทางการเมืองที่การเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังเป็นกระแสกว้างขวาง น่าสนใจว่าเมื่อมองผ่านสายตาของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและภาคประชาชนมากประสบการณ์อย่างพิภพ เขาคิดเห็นอย่างไร

‘ประชาไท’ เดินทางไปสนทนากับพิภพที่มูลนิธิเด็ก เพื่อฟังว่าการเคลื่อนไหวในเวลานี้จะก้าวต่อไปอย่างไร

กระแสธารประวัติศาสตร์การปฏิรูปการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ

ดังที่เกริ่นไปแล้วว่า ครป. มีบทบาทสำคัญในการผลักดันรัฐธรรมนูญปี 2540 ขณะที่ ณ เวลานี้การเรียกร้องให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เป็นกระแสที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ การย้อนประสบการณ์ในอดีตอาจช่วยให้เห็นเส้นทางในอนาคต

สำหรับพิภพ เขาไม่ได้มองว่ากระแสการปฏิรูปการเมืองโดยผ่านรัฐธรรมนูญเริ่มต้นหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เขาคิดว่ามันเริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา เป็นกระแสประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่อง

“พอคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยถูกตั้งขึ้นมาก็มีการเขียนรัฐธรรมนูญของ ครป. พิมพ์ออกมาเป็นเล่มว่ารัฐธรรมนูญควรเขียนอย่างไร เพราะถ้าจะรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยก็ต้องกลับไปที่รัฐธรรมนูญ ครป. ก็ทำรัฐธรรมนูญตัวอย่างให้ดู

“จนกระทั่งเกิดพฤษภาคม 2535 กระแสการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ 2517 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากประชาชนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ หลังจากมีการรัฐประหารก็เป็นรัฐธรรมนูญของทหารหมด แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2535 ซึ่งคุณมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเขียน พอสิ้นสุดพฤษภาคม 35 จึงได้มีการแก้รัฐธรรมนูญไม่ให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

“หลังจากคุณอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 แล้วก็ยุบสภาเพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง แต่ยังใช้รัฐธรรมนูญ 2535 ก็เกิดการกดดันเคลื่อนไหว รวมทั้ง ครป. ก็เคลื่อนไหวด้วย จนกระทั่งคุณบรรหาร ศิลปอาชายอมแก้มาตราวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ครป. ตั้ง “30 องค์กรประชาธิปไตย” เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา เราประชุมกันทุกวันอาทิตย์และแถลงข่าวพอถึงวันพุธ เราก็ไปยื่นกับท่านอดีตนายกอานันท์ซึ่งเป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญว่าควรจะแก้ไขมาตราไหนบ้าง โดยเราเอารัฐธรรมนูญมาเรียงให้ดู และเปรียบเทียบในสิ่งที่เราจะนำเสนอ แล้วก็เลยกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีองค์กรอิสระ มี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งมีมาตราที่ให้ประชาชนเสนอกฎหมายได้

ส.ว.แต่งตั้ง ปมปัญหาใหญ่รัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาหรือไม่? พิภพดูจะเห็นตรงกันกับกระแสที่ก่อตัวขึ้นตอนนี้ เขาตอบว่า

“มีสิ เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาที่สุด แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สืบทอดอำนาจทหาร รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่มีปัญหาคือสืบทอดอำนาจโดย ส.ว. 250 คน ถ้าไม่มีการตั้ง ส.ว. 250 คน ที่มีบทเฉพาะกาลออกมาทีหลัง โดยอ้างว่าถ้าจะใส่บทเฉพาะการต้องถามประชาชน ประชาชนก็ไม่ค่อยสนใจอยากจะได้รัฐธรรมนูญ ที่มันเป็นปมปัญหาก็เพราะให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ การเลือกนายกรัฐมนตรีควรเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น สว. จะมีอำนาจมากกว่า ส.ส. ไม่ได้ นอกจาก สว. มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถยึดโยงกับประชาชนได้ แต่จะมีอำนาจอย่างไรก็ต้องมาดูกันในรายละเอียด ตามหลักจะต้องให้ ส.ส. มีอำนาจมากที่สุด สว. ก็เป็นเพียงตรวจสอบ เป็นพี่เลี้ยง แต่ต้องมาจากการเลือกตั้ง”

การมี ส.ว. แต่งตั้งและมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีเป็น 2 ปมใหญ่ที่พิภพเห็นว่ามีปัญหาที่สุด ซึ่งจะเป็นอุปสรรคใหญ่ในการแก้รัฐธรรมนูญ

“กระแสการแก้รัฐธรรมนูญสุกงอม แต่กลไกการแก้รัฐธรรมนูญลำบากมาก เพราะมันต้องอาศัยเสียง ส.ว. ด้วยเพราะคุณมีชัยไปเขียนปมเงื่อนไว้ ดังนั้น ถ้า ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ การแก้ในสภาวะปัจจุบันจะทำไม่ได้

“ทีนี้การแก้รัฐธรรมนูญมันมีสองอย่าง หนึ่ง-แก้ในสภาปัจจุบัน ซึ่งก็แก้สัก 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือแก้วิธีการแก้รัฐธรรมนูญแบบคุณบรรหาร และ 2 แก้แต่ละมาตรา ไม่ตั้ง สสร. แต่ทั้งหมดนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. เพราะฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญเป็นกระแสแน่ ทีแรกไม่เป็น แต่พอมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มประชาชนปลดแอก ถ้าถามว่ากระแสการแก้รัฐธรรมนูญสูงไหม สูง แต่จะแก้ยังไง”

เสนอรายละเอียดให้ชัด

พิภพแสดงทัศนะว่า ข้อเสนอ 3 ข้อของกลุ่มประชาชนปลดแอก โดยเฉพาะเรื่องการยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังไม่มีการเสนอรายละเอียดว่าจะแก้อย่างไร ขณะที่เรื่องการยุบสภาก็ยังเป็นคำถามว่ายุบสภาเพื่ออะไร

“เรื่องยุบสภา มันก็จะไปชนว่ายุบสภาไปเพื่ออะไร เพื่อเลือกตั้งใหม่ เลือกตั้งใหม่เพื่ออะไร เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว. ยังอยู่ อำนาจของ ส.ว. ในรัฐธรรมนูญ 2560 ยังอยู่ ถ้ายุบสภาเนื่องจากกระแสสูง พรรคการเมืองทุกพรรคก็จะบอกว่าจะเข้ามาแก้รัฐธรรมนูญ แต่พอได้เป็น ส.ส. แล้ว พอจะลงมือแก้ มันก็ต้องแก้ในฐานของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เข้ารอบเดิมอีกคือ ส.ว. ต้องร่วมมือ แล้วจะแก้แบบไหน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะยุบสภาหรือไม่ยุบสภา วิธีการแก้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังเป็นเหมือนเดิม เป็นปัญหาวัวพันหลักอยู่นั่นแหละ

“แล้วต้องใช้เสียงถึง 80 กว่าเสียง ยังไม่มีทิศทางของ ส.ว. ว่าจะแก้หรือเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร แล้วปรากฏว่ากลุ่มประชาชนปลดแอกยังไม่ได้ไปกดดันที่ ส.ว. ยังไม่มีเงื่อนไขเสนอต่อ ส.ว. หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมือง แต่อยู่ที่ ส.ว. พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีออกมา มีแค่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยที่แสดงท่าทีออกมา สิ่งสำคัญคือประยุทธ์และวิษณุก็ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน ตอนนี้คุณวิษณุพูดแค่ว่าเห็นด้วยกับการแก้ แต่นายกฯ ประยุทธ์ ยังไม่พูด แต่คุณวิษณุก็ไม่บอกรายละเอียดการแก้ว่าจะแก้ยังไง แล้วตามอำนาจนายกฯ ประยุทธ์ สามารถสั่ง ส.ว. ได้ อย่าบอกว่าสั่งไม่ได้ แต่ตัวเองมีความคิดจะเขียนรัฐธรรมนูญแบบไหน ยังไม่ได้แสดงออกมาเลย

“ประเด็นของผมก็คือถ้าจะไปให้ถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องชัด พูดเรื่องวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะตอนนี้ไปทิ้งไพ่แค่ยุบสภาและแก้รัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่ได้พูดวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าผู้นำการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมจะต้องให้รายละเอียดเรื่องนี้ มันจึงจะไปต่อว่าจะไปกดดันใคร กดดันนายกรัฐมนตรีคนเดียวพอไหม กดดัน ส.ว. พอไหม กดดันทุกพรรคการเมืองทีละพรรคๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคร่วมฝ่ายค้านพอไหม แล้วคุณจะต้องชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแบบไหน ไม่ใช่เนื้อหานะ เนื้อหายังอีกไกล เอาวิธีการแก้รัฐธรรมนูญก่อน ให้ผ่านตรงนี้ก่อน”

3 ข้อเรียกร้องที่เยาวชนปลดแอกเสนอคือ 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. หยุดคุกคามประชาชน 3. และยุบสภา

ยึด 3 ข้อเรียกร้องเป็นหลัก

ประเด็นที่พิภพเห็นว่าจะทำให้เกิดความสับสนและไม่ชัดเจนคือการนำข้อเสนอ 10 สิงหาคมบนเวที ”ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาปะปนกับข้อเสนอ 3 ข้อ เขากล่าวว่า

“กลุ่มนักศึกษาเนื่องจากมีหลายกลุ่มและหลายเวที เวทีธรรมศาสตร์ก็ดันไปเสนอ 10 ข้อ มันก็เลยไปกลบ 3 ข้อ 10 ข้อก็เลยเด่นขึ้นมา แต่พอเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 10 ข้อไม่ถูกนำเสนอ คำถามที่ถามกันในหมู่ประชาชนแบบผมที่ไม่ได้อยู่วงในคือ 10 ข้อนั้นแกนนำเห็นด้วยหรือเปล่า  หรือจะเป็นเรื่องของธรรมศาสตร์ หรือเป็นเรื่องของคนสองคนเท่านั้นที่นำเสนอ อันนี้คือยังไม่ชัดเจน 10 ข้อนั้นเป็นของใคร มันยังไม่มีแถลงการณ์ออกมา ไม่เหมือนตอนพันธมิตรฯ ที่มีการแถลงการณ์ตลอด มีการยืนยันว่าอันไหนเป็นจุดยืน อันไหนไม่ใช่ แม้แต่ นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ก็มีคนนำชัดเจน

“แต่ของนักศึกษา ประชาชนเที่ยวนี้ มีความอิสระมาก ธรรมศาสตร์จัดชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ก็เป็นเรื่องของธรรมศาสตร์ จัดที่จุฬาก็เป็นเรื่องของจุฬาฯ จัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นกลางหน่อย มีหลายกลุ่ม แต่ก็ยังไม่มีแกนนำที่ชัดเจน รัฐบาลเพียงแต่เดาว่าคนนี้เป็นแกนนำแล้วก็จับ แต่ไม่ได้มีการประกาศเหมือนพันธมิตรฯ หรือ นปช. เพราะฉะนั้นปัญหาก็ต้องถามว่า 10 ข้อกับ 3 ข้อจะเอายังไง จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยืนยัน 3 ข้อการชุมนุม ในที่อื่น ๆ ก็ยังยืนยัน 3 ข้อ แม้แต่ที่ธรรมศาสตร์ ปัญหาก็คือว่าเราจะแยกระหว่าง 10 ข้อกับ 3 ข้อนี้ออกจากกันได้ไหม

“จากประสบการณ์ ผมคิดว่าเอา 3 ข้อนี้เป็นหลัก แต่ต้องลงรายละเอียดว่าจะแก้ยังไง ถ้าผมจะเสนอก็คือว่าขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญกับยุบสภาต้องทำเรื่องนี้ให้ชัด และในทางปฏิบัติจริง มันจะกลายเป็นวัวพันหลักไหม เพราะตอนนี้มันมีลักษณะวัวพันหลัก ยุบสภาแล้วก็กลับมาที่สภา สภาก็จะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้คือยังมี ส.ว. แต่งตั้งและถ้าไม่ยุบสภาก็ยังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้คือ ส.ว. ยังมีอำนาจอยู่”

10 ข้อเสนอปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ ของกลุ่ม ธรรมศาสตร์และการชุมนุม

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ทหารไม่มีความจำเป็นต้องทำรัฐประหาร

แน่นอนว่าย่อมมีฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีการยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง มิพักต้องกล่าวถึงข่าวลือรัฐประหารที่ดังแว่วออกมา จนกองทัพต้องบอกว่าไม่เป็นความจริง พิภพประเมินว่าสถานการณ์จะไม่ลุกลามบานปลาย

“ผมประเมิน ผมคิดว่าฝ่ายอำนาจรัฐ ไม่ได้ใช้คำว่ารัฐบาลแล้วนะ อำนาจรัฐก็ประกอบด้วยรัฐบาล ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร มีบทเรียนแล้ว ถ้าใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่มันจะบังคับให้ทหารทำรัฐประหาร ถามว่าในสถานการณ์ปัจจุบันทหารอยากทำรัฐประหารหรือเปล่า ไม่อยาก

“สอง-ทหารไม่มีความจำเป็นต้องทำรัฐประหารเพราะมีอำนาจอยู่แล้ว เขามีศักยภาพในการทำรัฐประหาร แต่คุณจะรักษาอำนาจจากรัฐประหารไว้ได้ไหม ผมคิดว่า ณ ตอนนี้ไม่ได้ เมื่อไม่ได้แล้วเขาจะทำไปทำไม คำว่าไม่ได้หมายถึงประชาชนอาจจะออกมาต่อต้านมหาศาล ซึ่งยังเดาไม่ได้ว่าจะออกมาแค่ไหน ผมคิดว่าทหารไม่มีความจำเป็นต้องทำรัฐประหารเลย เพราะในทางการเมืองยังมีทางออกอยู่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท