Skip to main content
sharethis

ตรวจสอบที่มางบประมาณสร้างอาคารทางการแพทย์ หลังจากเพจ 'ซันนี่ ยูโฟร์' ออกมาโพสต์ว่าเงินมาจากสถาบันกษัตริย์ แต่ตรวจสอบพบที่มาหลากหลาย ส่วนใหญ่มาจากงบประมาณรัฐและการร่วมบริจาคของประชาชน จนถึงสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

27 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก 'ซันนี่ ยูโฟร์' โพสต์บทความที่ชื่อว่า 'ขอทำความเข้าใจเรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ ของประเทศไทย'ที่กล่าวถึงประเด็นหนึ่งเรื่องการก่อสร้างอาคารที่มีพระนามของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างๆ ว่า เป็นเงินที่ได้มาจากสถาบันพระมหากษัตริย์

"พุทโธ่เอ๋ย..ทราบกันบ้างไหมว่า "ตึกสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ที่ รพ.รามาฯ...ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินสักบาทเดียว " และมันกี่พันล้านกันล่ะ...เงินโดยเสด็จพระราชกุศล ทั้งนั้น และ ใครมีบารมีที่จะให้คนบริจาคได้ขนาดนี้.

ตึกใน รพ.ศิริราช กี่ตึกกัน ..ที่เป็นเงินบริจาคมาแต่สมัยพระปิตุลา..สมเด็จย่า... เครื่องมือทันสมัยกี่พันชิ้น ที่เป็นเงินส่วนพระองค์..." ข้อความตอนหนึ่งที่ 'ซันนี่ ยูโฟร์' โพสต์

บทความของซันนี่ นอกจากเผยแพร่ในเพจของซันนี่แล้ว สยามรัฐออนไลน์ และไลน์ทูเดย์ยังได้นำไปเผยแพร่ต่อด้วย

จากการตรวจสอบ พบว่าการก่อสร้างดังกล่าวมีดังนี้

มติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ก.ย.41 เรื่องขออนุมัติก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นกรณีพิเศษ ระบุว่า

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้มหาวิทยาลัยมหิดลก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตน ของ  
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ขนาด 9 ชั้น  ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น  ความสูงประมาณ 34 เมตร  ตามที่  
ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ โดยยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราช 
บัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ ให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปประกอบการ
พิจารณาด้วยว่า ในการก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ หากมหาวิทยาลัยประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขรูป  
แบบอาคาร โดยเฉพาะการลดขนาดและความสูงหรือประสงค์จะย้ายสถานที่ก่อสร้าง ก็ให้ดำเนินการไปได้ 
ตามความเหมาะสมและจำเป็น โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

หรือในเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ ระบุด้วยว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานเงินบริจาคที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นทุนก่อสร้างเริ่มต้น จำนวน 400,000,000 บาท ในปี พ.ศ. 2541

มติ ครม. 13 ธ.ค.54 อนุมัติให้ดำเนินโครงการอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ เพื่อการบริการการเรียนการสอนและการวิจัย (มหาวิทยาลัยมหิดล) วงเงิน 1,715.8359 ล้านบาท และโครงการจัดหาครุภัณฑ์ประจำอาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (มหาวิทยาลัยมหิดล) วงเงิน 399.8431 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้เร่งรัดการดำเนินการและเบิกจ่ายเงินตามโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.2554 รวมทั้งให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย

ในวาระเดียวกันยังอนุมัติ โครงการพัฒนาศิริรราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ ระยะที่ 2 (สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช) วงเงิน 1,543.1971 ล้านบาท โครงการพัฒนาบริการตติยภูมิศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์มะเร็ง และเครือข่ายบาดเจ็บแห่งชาติ (มหาวิทยาลัยมหิดล) วงเงิน 881.8298 ล้านบาท โครงการพัฒนาและยกระดับห้องปฏิบัติการวิจัยและการศึกษาเพื่อสนับสนุนความเป็นเลิศด้านแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล) วงเงิน 385.800 ล้านบาท โครงการพัฒนาการผลิตยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยเข้าสู่ระดับมาตรฐานสากล (มหาวิทยาลัยมหิดล) วงเงิน 48.225 ล้านบาท และโครงการพัฒนาและยกระดับการดูแลผู้ป่วยด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน (มหาวิทยาลัยมหิดล) วงเงิน 48.225 ล้านบาท

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.53 ครม. มีมติอนุมัติการออกสลากการกุศลงวดพิเศษ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หนึ่งในนั้นคือ ออกสลากการกุศลของมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นจำนวนเงิน 1,056 ล้านบาท โดยระบุว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ก่อสร้างอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ โดยจัดให้มีการให้บริการทางการแพทย์ครบวงจรและทันสมัย โดยจะเปิดให้บริการประมาณต้นปี พ.ศ. 2554 และในการดำเนินการจัดหาทุนเพื่อใช้ในการดำเนินงานมูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อหารายได้สนับสนุน และขณะนี้ได้รับเงินบริจาคแล้วประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ยังขาดงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยประมาณ 1,500 ล้านบาท จึงขอการสนับสนุนโดยการออกสลากการกุศลจำนวน 1,056 ล้านบาท ทั้งนี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ ไม่ได้มีข้อเสนอให้ใครเป็นผู้ดำเนินการ

งบฯจากรัฐ+บริจาค

หรือ โครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ตามรายงานของ brandbuffet.in.th ระบุที่ พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ ออกมาระบุ เมื่อ พ.ย.60 ถึงการระดมทุนเพื่อหารายได้สมทุนโครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่และโรงเรียนแพทย์ในเขตฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ว่าณะนี้การดำเนินงานก่อสร้างในส่วนอาคารโรงพยาบาลได้แล้วเสร็จไปกว่า 98 % ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 15,000 ล้านบาท แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล รวมทั้งเงินบริจาคผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์เฉพาะทางที่มีเทคโนโลยีทางการรักษาอันทันสมัย และมีราคาสูงให้เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยที่จะเข้ามารับบริการรักษาพยาบาลจำนวนมากได้ มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงมีความจำเป็นต้องจัดการระดมทุนเพื่อหารายได้

ขณะที่การก่อสร้างอาคารที่ รพ.ศิริราชพยาบาล ที่เป็นงบประมาณแผ่นดินนั้น ตัวอย่าง

  • อาคารศูนย์โรคหัวใจ : มติครม. 17 มี.ค.41 อนุมัติให้มหาวิทยาลัยมหิดลเปลี่ยนแปลงแบบรูปรายการ โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพิ่มจากวงเงินเดิม  เป็นจำนวน  217,644,484 บาท โดยใช้เงินบริจาคสมทบก่อนลงนามในสัญญาเปลี่ยนแปลงแก้ไขฯ  
  • ตึกผ่าตัดรวม : มติ ครม. 11 ส.ค.29 อนุมัติวงเงินโครงการก่อสร้างตึกผ่าตัดรวมโรงพยาบาลศิริราช เป็นเงิน 396,840,000  ล้านบาท  โดยขออนุมัติจ่ายจากเงินงบประมาณ 238,104,000 บาท และจ่ายจากเงินนอกงบประมาณ   158,736,000  บาท  พร้อมทั้งขอนุมัติทำสัญญาก่อสร้างใน ลักษณะก่อหนี้ผูกพันในปีงบประมาณ   2530 เป็นเงิน 90,000,000 บาท และในปีงบประมาณ 2531 เป็นเงิน 135,104,000 บาท  ตามที่ทบวงวิทยาลัยเสนอ
  • อาคารเก็บรักษาศพ : มติ ครม. 25 ก.ย.27 อนุมัติให้มหาวิทยาลัยมหิดลก่อหนี้ผูกพันงบประมาณ เพื่อก่อสร้างอาคารเก็บรักษาศพ ของคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล วงเงิน 5,318,000 บาท ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอ
  • อาคารโรงครัว : มติ ครม. 28 ก.ย.25 อนุมัติให้มหาวิทยาลัยมหิดลก่อหนี้ผูกพันงบประมาณปี 2526 และ 2527 เพื่อจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโรงครัว โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 1 หลังในวงเงิน 34,944,000 บาท  ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยเสนอต่ออายุสัญญาก่อสร้างอาคาร 72 ปีศิริราช : มติ ครม. 1 มิ.ย.14 มีมติเกี่ยวกับเรื่องการขอต่ออายุสัญญาก่อสร้างอาคาร 72 ปี ศิริราช ว่าผ่อนผันให้ปรับผู้รับจ้างเป็นเวลา 115 วัน ตามความเห็นของมหาวิทยาลัยมหิดล
  • ต่อเติมตึกผู้ป่วยนอก : มติ ครม. 7 เม.ย.14 มีมติ เกี่ยวกับการก่อสร้างต่อเติมตึกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดลโดยให้ประกวดราคาใหม่ในวงเงิน 11,641,500 บาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ว่าอาจสร้างเต็มตามแบบรูปได้ โดยให้ใช้เงินที่มีอยู่แล้วส่วนเงินที่ขาด จำนวน 6,187,000 บาท อนุมัติให้ผูกพันงบประมาณปี 2515 ได้
  • ตึกโรงพยาบาลศิริราช : มติ ครม. 6 ก.ย.03 มีมติ อนุมัติให้จ้างบริษัทสากลเนรมิตร จำกัด ทำการก่อสร้างตึกอายุรกรรม โรงพยาบาลศิริราช ในราคา 894,000 บาท โดยให้เรียกเงินมัดจำ 10% ได้  ตามที่มหาวิทยาลัย  แพทยศาสตร์เสนอ
  • ตึกกายภาพบำบัด : มติ ครม. 11 ก.ย.00 มีมติให้ส่งกรรมการพิจารณางบประมาณประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2501 พิจารณาต่อไปในเรื่องการอนุมัติเงินค่าก่อสร้างตึกกายภาพบำบัดโรงพยาบาลศิริราช
  • สร้างดัดแปลงตึกข้าวไทยอุทิศ : มติ ครม. 24 ก.ค.00 มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้จ่ายเงินค่าจำหน่ายแสตมป์ ก.ศ.ส.เพื่อสร้างดัดแปลงตึกข้าวไทยอุทิศ โรงพยาบาลศิริราช จำนวนเงินทั้งหมด 650,000 บาท
  • สร้างเสริมชั้น 3ตึกจักษุวิทยา : มติ ครม.24 ก.ค.00 มติเห็นชอบและอนุมัติเงินค่าจำหน่ายแสตมป์ ก.ศ.ส. จำนวน 1,370,000 บาท เป็นค่าสร้างเสริมชั้น 3 ตึกจักษุวิทยา โรงพยาบาลศิริราช
  • เป็นต้น

'ศิริราช' ลงทุนหมื่นล้าน สร้างตึกใหม่รับผู้ป่วย-ผู้สูงวัย

ขณะที่เมื่อ พ.ค. 62 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสภาพปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล ว่าส่งผล แพร่เชื้อก็จะมากจึงต้องเร่งขยายอาคาร เช่น ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ที่เปิดตัวไปเมื่อเดือน พ.ย. 2561 รับผู้ป่วยได้ 200 เตียงและจะลงทุนใหม่อีก 10,000 ล้าน 5 โครงการ

โครงการแรกเซ็น MOU กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา พัฒนาอาคารโรงพยาบาลบน “สถานีธนบุรี-ศิริราช” จุดต่อเชื่อมรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สายสีแดงอ่อน ตลิ่งชัน-ศิริราช และสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ โรงพยาบาลจะลงทุนสร้างอาคารเอง 2,000 ล้านบาท ซึ่ง 60% มาจากรายได้และเงินบริจาคอีก 40% มาจากการได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากรัฐ รูปแบบเป็นอาคารสูง 15 ชั้น ใต้ดิน 3 ชั้น สถานีรถไฟฟ้ามีพื้นที่ใช้สอย 48,191 ตร.ม. ชั้น 1-2 เชื่อมสถานีรถไฟฟ้ากับอาคารชั้น 3-4 ซึ่งเป็นคลินิกผู้ป่วยนอกชั้น 5 เป็นพื้นที่ของโรงพยาบาล ชั้น 6เป็นสำนักงานอาคารและห้องปฏิบัติการกลาง ชั้น 7 หอผู้ป่วยไอซียู 12 ห้อง ชั้น 7-M พื้นที่วิศวกรรมงานระบบและส่วนขยาย ชั้น 8-15 เป็นหอผู้ป่วย 126 เตียง ที่จอดรถ 95 คัน ขณะนี้เตรียมเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว คาดใช้เวลา 6 เดือน ถึงจะประมูล e-Bidding ก็ต้องมี 3 ปีถึงสร้างเสร็จ จะรับผู้ป่วยได้วันละ 10,000 คน

อีก 4 โครงการ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า กำลังศึกษารายละเอียด รวมถึงขอเปลี่ยนสีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้พื้นที่ภายในโรงพยาบาลศิริราช จากปัจจุบันเป็นสีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) มีข้อจำกัดความสูงของอาคารสร้างได้ไม่เกิน 5 ชั้น เป็นพื้นที่สีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ) เพื่อพัฒนาตึกสูงได้ทั้งมีแผนปรับปรุงอาคารผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อเป็นต้นแบบศูนย์การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของประเทศไทย กรอบวงเงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท พร้อมวางระบบคอมพิวเตอร์ให้ทันสมัย

หรืออาคารอื่นๆ ที่ใช้ชื่อของสถาบันกษัตริย์ก็มีที่มาหลากหลาย และโดยส่วนมากมาจากงบประมาณแผ่นดิน ตัวอย่าง อาคารเทพรัตน์วิทยรักษ์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 12,600 ตารางเมตร ได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน เพื่อการก่อสร้างระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2560 จำนวน 250 ล้านบาท เพื่อใช้รองรับกิจกรรมการเรียนการสอนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพพื้นฐานและสาธารณสุขศาสตร์  (ที่มา : หนังสือพิมพ์เปิดข่าว และเพจพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มทส.) เป็นต้น

หมายเหตุ : เวลา 22.00 น. วันนี้ 27 ส.ค.63 ประชาไทเพิ่มเติมข้อมูลตามมติครม. 13 ธ.ค.54 ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากเฟซบุ๊ก พูติกาล ศายษีมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net