Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวในห้วงเวลานี้ของขบวนการนักศึกษาและคณะประชาชนปลดแอกที่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลสามข้อ คือ 1) รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย 2) รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง และ 3) รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง ภายใต้สองเงื่อนไขคือ การไม่ให้มีการรัฐประหารและจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และหนึ่งความฝัน คือ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง (อันคือการปรับและระงับข้อเสนอ 10 ข้อ ที่มาแทรกกลางปล้องหรือระหว่างบรรทัด เพื่อการเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติของสถาบันกษัตริย์ ให้เป็นความฝันแทน) นั้น เกิดขึ้นเสมือนการจรรโลงการปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2475 นับเป็นการเคลื่อนไหวที่สำคัญหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย

ข้อความที่แสดงออกและคำปราศรัยในหลายๆโอกาสของผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมหรือแกนนำ ชวนให้ขบคิด ถึงความไม่เป็นเอกภาพในระบบการคิดเพื่อการเคลื่อนไหว เช่น “เราไม่ต้องการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ” แต่บางครั้งแกนนำก็แถลงว่าข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้ง 10 ข้อ คือการพยายามปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้เป็นไปตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง การแสดงความเห็นที่ต้องการปลดแอกเงื่อนไขที่แรงงานร่วมสร้างไว้กับเผด็จการและกลายเป็นโซ่ตรวนผูกล่ามแรงงานให้สูญสิ้นไป การประกาศคำขวัญว่า “แรงงานปฏิวัติ สองมือที่ทำงานหนักจะปักหลักต้านเผด็จการ” และการปลุกเร้าให้สลายพันธนาการของความเป็นชนชั้นระหว่างนายทุนและแรงงาน เป็นต้น วาทกรรมเหล่านี้เป็นวาทกรรมที่ค่อนไปในทางทฤษฎีการปฏิวัติสังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ดั้งเดิม (Orthodox Marxism) ที่ต่อมาพัฒนาไปเป็นทฤษฎีหรือลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ แห่งการปฏิวัติที่เป็นจริงอันสำคัญของฝ่ายซ้าย

ข้าพเจ้าทึ่งและชื่นชมต่อความกล้าหาญของเธอทั้งหลาย แต่ขอบ่นดังๆ อย่างเป็นข้อสังเกตและเป็นห่วงว่า แกนนำนักศึกษาและผู้นำแรงงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ กำลังผูกมัดตนเองเข้ากับทฤษฎีปฏิวัติแบบมาร์กซิสต์ (หรืออาจจะพัฒนาต่อไปถึงขั้นมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์) มากเกินไปหรือเปล่า ขออภัยนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่ชื่นชอบทฤษฎีนี้ เนื่องจากแม้มันจะมีคุณค่าในการวิเคราะห์การกดขี่ขูดรีดในสังคมและในระบบทุนนิยม แต่ก็มีพลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อความก้าวหน้าและอย่างยั่งยืนต่ำ และเป็นทฤษฎีของฝ่ายซ้ายแห่งการล้มล้างปรปักษ์ฝ่ายขวาเพื่อการไปสู่สังคมนิยม (เช่น ใช้กับการล้มล้างศักดินา เผด็จการ และนายทุน) ด้วยความรุนแรงและหรือบังคับให้เป็นไป ไม่ผ่านระบบรัฐสภาแบบประชาธิปไตย แต่ก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าทฤษฎีนี้ผิดพลาดโดยส่วนใหญ่แม้จะไม่ทั้งหมด มีความเป็นสุดโต่ง ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆที่คาดไม่ถึงตามมา และผลของการพัฒนาสู้ประเทศต่างๆ ที่ใช้ทฤษฎีอื่นๆในการพัฒนาการเมืองการปกครองและการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้

นอกจากนี้ หากการชุมนุมเรียกร้องสนับสนุนโดยทฤษฎีเบื้องหลังที่ส่งเสริมความรุนแรงหรือการบังคับ หรือจากหลักการเพื่อการเปลี่ยนแปลงแบบอนาธิปไตยเสรีนิยมหรือตามหลักคิดการต่อสู้แบบถอนรากถอนโคนอื่นๆ พัฒนากลายไปเป็นการต่อสู้แบบฮ่องกงโมเดล ที่ฮ่องกงกำลังกลายเป็นสังคมที่ล่มสลายจากการประท้วงของฝ่ายประชาธิปไตยต่อฝ่ายรัฐบาลที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำกับอยู่ข้างหลัง แต่ยังไม่สามารถประนีประนอมกันได้ ทั้งหากขบวนการนักศึกษาและคณาจารย์ของเรา มีการเคลื่อนไหวหนักขึ้นๆไปในทางปฏิวัติวัฒนธรรม โดยไปทำลายวัฒนธรรม ประเพณี และสัญลักษณ์ ดั้งเดิมที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนอกครอบครัวและในครอบครัว โดยหลายๆเรื่องถูกวินิจฉัยว่าล้าหลังอย่างใช้อารมณ์ก้าวร้าว รวดเร็ว และรุนแรง ขาดความรอบคอบ คล้ายกับเยาวชนเรดการ์ดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สมัยที่เหมาเจ๋อตงเรืองอำนาจ ในช่วงปี 2509-2510 ซึ่งกล่าวกันว่าการทำลายล้างเยาวชนเรดการ์ดแบบใช้อารมณ์ผสมอุดมการณ์มาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ มีผู้คนล้มตายกว่า 10 ล้านคน เมืองไทยก็จะพบกับความสูญเสียในสิ่งที่ไม่สมควร โดยสิ่งที่มีคุณค่าแท้ในระยะยาวและชีวิตผู้คน อาจถูกทำลายพร้อมกันไปด้วย – เราพึงจะระวังและป้องกันปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร

ทั้งนี้ วิกิพีเดียของไทย แปลเรื่องเยาวชนเรดการ์ดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนดังที่กล่าวถึงนั้น จากวิกิพีเดียภาษาอังกฤษไว้ดังนี้  https://th.wikipedia.org/wiki/ยุวชนแดง (21-8-2563)

ยุวชนแดง (อังกฤษ: Red Guards) หรือ หงเว่ยปิง (จีนตัวย่อ: 红卫兵; จีนตัวเต็ม: 紅衛兵; พินอิน: Hóng Wèi Bīng) เป็นขบวนการทางสังคมกึ่งทหารของนักศึกษาเยาวชนซึ่งถูกเรียกระดมโดยเหมา เจ๋อตุง ในปี พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2510 ในช่วงระหว่างการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ตามที่ผู้นำยุวชนแดง ได้มีเป้าหมายของขบวนการ มีดังนี้

ท่านประธานเหมาได้กำหนดอนาคตของเราในฐานะองค์กรยุวชนนักปฏิวัติติดอาวุธ...ดังนั้นถ้าประธานเหมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพแดงของเรา และพวกเราเป็นยุวชนแดงของเขา ใครจะหยุดพวกเราได้? ก่อนอื่น เราจะทำให้ประเทศจีนนับถือลัทธิเหมาจากภายในสู่ภายนอก และจากนั้นเราจะช่วยให้ประชาชนทำงานจากประเทศอื่นๆที่จะทำให้โลกเป็นสีแดง และจากนั้นก็ทั่วทั้งจักรวาล.

แม้ว่าจะพบกับการต่อต้านมาแต่เนิ่นๆ ยุวชนแดงได้รับการสนับสนุนอย่างส่วนตัวจากเหมา และขบวนการได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมาได้ใช้กลุ่มนี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อและบรรลุเป้าหมาย เช่น ทำลายสัญลักษณ์ของจีนในอดีตก่อนยุคคอมมิวนิสต์ รวมถึงศิลปวัตถุโบราณและสุสานของบุคคลสำคัญของจีน ยิ่งไปกว่านั้น, รัฐบาลได้ปล่อยให้ยุวชนแดงทำตามอำเภอใจอย่างมากและยังได้อนุญาตให้ยุวชนแดงทำร้ายต่อผู้คนที่ถูกมองว่า เป็นพวกที่ไม่เห็นด้วย ขบวนการได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะควบคุม ได้เกิดความขัดแย้งกับผู้มีอำนาจและคุกคามความมั่นคงของประชาชนบ่อยมากขึ้นจนกระทั่งรัฐบาลได้พยายามที่จะหาวิธีการควบคุมในยุวชน กลุ่มยุวชนแดงยังได้รับความยากลำบากจากการต่อสู่เช่นเดียวกับฝ่ายพัฒนาในท่ามกลางหมู่ของพวกเขา ในช่วงท้ายของปี ค.ศ. 1968 กลุ่มขบวนการอย่างเป็นทางการก็ได้ลบเลือนหายไป

 ข้าพเจ้าจึงหวังว่าการเคลื่อนไหวแนวปลดแอก ซึ่งก็คือการปลดปล่อยการครอบงำของรัฐเผด็จการปัจจุบันต่อประชาธิปไตยและในสังคมไทย โดยขบวนการนักเรียน-นักศึกษา-คณาจารย์ และขบวนการแรงงาน รวมทั้งการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ที่จะมีในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 จะเร้าใจ แต่ไม่สื่อหรือเป็นเงื่อนไขไปในทางที่ก่อให้เกิดการโต้กลับ และถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากรัฐบาลหรือถูกทำร้ายจากกลุ่มประชาชนอื่นที่เห็นตรงกันข้าม แต่ได้รับการพิจารณาจากประชาชนกลุ่มต่างๆที่มิได้เข้าร่วมอย่างมีขันติธรรม รัฐบาลและรัฐสภาให้การตอบสนองในทางบวกยอมรับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และส่งเสริมสันติวิธีในการแก้ปัญหา และมีการจัดการจากรัฐและกลไกรัฐต่างๆ อย่างเห็นคุณค่า รวมทั้งผู้ปกครองรัฐใช้หลักรัฐศาสตร์นำหน้านิติศาสตร์ในการดูแลการประท้วง เพื่อไม่ให้การประท้วงพัฒนาตนไปสู่การต่อต้านและต่อสู้ในขั้นอันน่าหวาดหวั่นดังกล่าว หรือเกิดสภาพอนาธิปไตยที่ปฏิเสธรัฐอย่างสิ้นเชิง อันอาจนำไปสู่การรัฐประหารรอบใหม่ แต่มุ่งเน้นให้เป็นการเคลื่อนไหวและตอบรับกันในแนวสันติธรรมอย่างเต็มที่ของทุกฝ่าย เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงกติกาที่ไม่เป็นธรรมและล้าหลังหรือไม่เหมาะสมกับยุคสมัยให้ค่อยๆเป็นจริง ทั้งในภาพรวมของการเมืองการปกครอง การเรียนการศึกษา การทำงานและประกอบอาชีพต่างๆ และความสัมพันธ์ต่างๆของทุกภาคส่วนในสังคม


ข้อวิพากษ์

ประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน ไม่ถึงกับขาดแคลนหรือไม่มี แต่มันเป็นประชาธิปไตยที่กลับมาถูกควบคุมโดยเผด็จการ และยังเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบและด้อยคุณภาพ จึงต้องการการพัฒนาให้ถูกต้องตามหลักการสากลและมีความยั่งยืน การใช้ทฤษฎีหรือชุดความคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มใดหรือการรวมตัวโดยพันธมิตรประชาชนต่างๆก็ตาม จึงสมควรเหมาะสมกับสถานะของประเทศไทยในโลกปัจจุบันและอนาคต และเป็นไปอย่างมีจังหวะที่ไม่สุดโต่งและร้อนแรงเกินไปด้วย

ข้าพเจ้าใคร่จึงขอเสนอให้ท่านและเธอทั้งหลายทั้งที่เป็นแกนนำและมิใช่แกนนำ และท่านผู้ให้คำปรึกษาแกนนำการเคลื่อนไหว ได้พิจารณาใคร่ครวญอย่างจริงจังดังนี้

1. ทฤษฎีมาร์กซิสต์หรือมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ เป็นทฤษฎีซ้ายจัด (Far-left) ที่สนับสนุนการอธิบายสังคมและส่งเสริมการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงแบบสุดโต่งแนวปฏิวัติ และมักจะนำไปสู่ความรุนแรงและการบังคับประชาชนในรัฐในระยะยาว ทั้งจากฝ่ายที่อิงทฤษฎีและฝ่ายโต้ตอบ ทำให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างผู้คนได้มาก อาจจะพัฒนาหนักกว่าการต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงก่อนหน้านี้ หากไม่ระมัดระวังกันตั้งแต่เนิ่นๆ การเรียกร้องอย่างสันติปราศจากอาวุธที่เป็นอยู่ อาจเปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม โดยอาจมีการทำร้ายกันถึงขั้นนองเลือดหรือเกิดจลาจลหรือสงครามกลางเมือง ในการพยายามโค่นล้มฝ่ายตรงข้าม นอกกลไกของรัฐสภาและกฎหมาย การปฏิวัติในทางการเมืองโดยทั่วไปในวงกว้างนั้น มุ่งสู่การเปลี่ยนที่รวดเร็ว รุนแรง และบังคับให้เป็นไป ไม่ได้ให้หลักประกันความยั่งยืนในความฝันหรือเป้าหมายของการเปลี่ยนปลงที่จะดำเนินไปอย่างสมัครใจหรือตกลงกันได้อย่างสันติ (ดูตัวอย่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงจากระบบกษัตริย์และเผด็จการทหารเป็นสังคมคอมมิวนิสต์หลายประเทศในยุโรปและลาตินอเมริกา รวมทั้งที่เหลืออยู่ เช่น จีน คิวบา เกาหลีเหนือ เวียดนาม และลาว ว่า ผลของการปฏิวัติเป็นอย่างไรและในที่สุดแล้วต้องปรับตัวใหม่ให้เป็นอย่างไร และดูตัวอย่างความไม่ก้าวหน้าและก้าวไกลของประชาธิปไตยไทยอย่างแท้จริง จากวิธีการและผลกระทบของการปฏิวัติแบบคาบลูกคาบดอกโดยคณะราษฎร การถูกปราบปราบของขบวนการนักศึกษาในและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนต้องเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหรือพคท. และความล้มเหลวของการพยายามปฏิวัติสังคมไทยของพคท.ในที่สุด) แต่ทฤษฎีการปฏิรูปเหมาะกับสันติวิธีของการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปรองรับหลักประกันที่ยั่งยืนกว่าในความฝันหรือเป้าหมายของการเปลี่ยนปลง (ดูตัวอย่างความแข็งแกร่งของประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย โดยพวกนักเคลื่อนไหวแนวสังคมประชาธิปไตยที่ใช้แนวทางปฏิรูปเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงประเทศโดยระบบรัฐสภา และความล้มเหลวของการพยายามทำปฏิวัติ แต่การปฏิรูปมากกว่าที่ประสบชัยชนะของหลายประเทศในยุโรปกลางในทศวรรษ 1880-1920 ที่ดำเนินการในระยะเวลาใกล้เคียงแต่ตรงกันข้ามกับการปฏิวัติรัสเซียนำโดยเลนินที่แม้จะสำเร็จ แต่ในที่สุดก็ต้องล้มเลิกการรักษาการปฏิวัติถาวรและโซเวียตรัสเซียแตกสลาย)

2. การปลดแอกอันหมายรวมถึงการปลดพันธนาการของการกดขี่ขูดรีด ในความหมายของมาร์กซิสต์ดั้งเดิม (และกลายเป็นมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ต้นแบบของทฤษฎีและการปฏิวัติที่เป็นจริงในเวลาต่อมา) ก็คือ การล้มล้างความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่สำคัญ ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน หรือ นายทุนกับกรรมกร/แรงงาน คือ ล้มล้างให้ชนชั้นนายทุนให้หมดไป โดยบังคับ ให้เหลือแต่ชนชั้นแรงงานฝ่ายเดียว ประเทศก็จะปกครองโดยเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ แต่ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศที่ทำเช่นนี้ เป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ยากจนข้นแค้นหนักเข้าไปอีก ประเทศจีนเองที่เคยใช้แนวทางการพัฒนาประเทศเช่นนี้ร่วม 30 ปี หลังปฏิวัติ ก็กำลังกลับมาอยู่กับระบบทุนนิยมเสรี เสียแต่ว่าอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคๆเดียวคือพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประชาชนขาดเสรีภาพทางการเมือง และได้รับการจำกัดทางสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่มีทั้งชนชั้นนายทุนและแรงงานอยู่ร่วมกันได้ และความสำเร็จในการพัฒนาในสถานประกอบการและในสังคมที่นำไปสู่ความเสมอภาคและรัฐสวัสดิการของประเทศ อย่างน่าอัศจรรย์ กลับเป็นประเทศที่ชนชั้นนายทุนและแรงงานสลายพันธนาการแห่งการกดขี่ โดยวิธีการการร่วมมือกันของทั้งสองชนชั้นต่างหาก สำหรับประเทศไทยของเรา หากแรงงานจะก้าวหน้ามากขึ้นในการต่อกรกับนายจ้าง ก็คือการรุกไปสู่การร่วมบริหารและหรือเป็นเจ้าของกิจการ โดยมิใช่การทำปฏิวัติ แต่โดยการทำปฏิรูป (แบบก้าวกระโดด!) ให้ได้เป้าหมายและกติกาที่ไปไกลกว่าการปรึกษาหารือร่วมและการเจรจาต่อรองร่วมที่มีอยู่แล้วในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปัจจุบันนั่นเอง หาใช่การปฏิวัติแบบทฤษฎีมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์แล้ว จะสร้างรัฐสวัสดิการตามที่ใฝ่ฝันได้  

3. ข้าพเจ้าสนับสนุนการเติบโตของฝ่ายซ้ายในการเมืองไทยสมัยปัจจุบัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายขวาที่ครองอำนาจมายาวนานในหลายรัฐบาลและตลอดระบบการเมืองไทยในรอบกว่าแปดทศวรรษ (โปรดดูบทความเรื่อง “ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในทางการเมืองกับรัฐธรรมนูญไทยฉบับใหม่” ในประชาไท https://prachatai.com/journal/2020/02/86328) แต่การเติบโตและมีอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายซ้ายพึงเป็นไปอย่างสันติ การพึ่งพิงทฤษฎีมาร์กซิสต์หรือมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ ที่โดยพื้นฐานสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง จำเป็นต้องใช้อย่างจำกัด เพื่อการวิเคราะห์ให้เห็นปัญหา และปลุกเร้าการตื่นตัวพอประมาณ แต่มิใช่เพื่อปฏิบัติการสุดโต่งเพื่อการล้มล้างที่รุนแรงและฉับพลันต่อฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้น หากยอมรับประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมตามระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภากันจริง ภาพของการต่อกรกันของคู่ปรปักษ์บนเส้นทางสันติภาพในห้วงเวลานี้ น่าจะเป็น “ซ้ายทะนงองอาจกับขวาสุขุมคัมภีรภาพ”
 

ข้อเสนอแนะ

หากการเคลื่อนไหว จะสนใจชุดความคิดจากทฤษฎีเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ทั้งฝ่ายขวาและซ้ายใช้ร่วมกัน และทฤษฎีฝ่ายซ้ายสันติวิธีต่อไปนี้ ก็จะมีคุณค่าต่อประชาชนและสังคมไทยอย่างยิ่ง - นั่นคือ

  1. ทฤษฎีหลักประชาธิปไตยสากล อาทิ ขององค์การสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ ที่มุ่งให้เกิดการยึดถือร่วมกันของกติกาสากล และทำให้ประชาธิปไตยของทุกประเทศเป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง อันเน้นถึง ค่านิยมร่วมกันของสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองที่จะใช้สิทธิภายใต้เงื่อนไขของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ ด้วยความเคารพต่อทัศนะที่หลากหลาย และประชาธิปไตยเป็นทั้งอุดมคติ และวิถีแห่งการเป็นรัฐบาลที่พึงจะนำไปประยุกต์ตามแบบแผนที่สะท้อนถึงความหลากหลายของประสบการณ์ และลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมโดยต้องไม่ละทิ้งหลักการ บรรทัดฐาน และมาตรฐาน ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลเหล่านั้น เป็นต้น (ดูเพิ่มในบทความของผู้เขียน เรื่อง “สากลนิยมของประชาธิปไตย และหลักการประชาธิปไตยสากล” ในประชาไท https://prachatai.com/journal/2017/09/73263)
     
  2. ทฤษฎีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ริเริ่มโดย Jean-Jacques Rousseau (ฝรั่งเศส) ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการร่วมตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และแก้ไขกติกาที่ไม่ชอบธรรม ด้วยการทำให้ประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนแสดงออกมีชีวิตชีวามากขึ้น  และบูรณาการเข้ากับประชาธิปไตยทางอ้อมที่รับผิดชอบโดยสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงกลไกการบริหารนโยบายสาธารณะของรัฐที่กำกับโดยรัฐบาลรวมทั้งองค์การอิสระ โดยดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพ ปฏิบัติการสำคัญของประชาธิปไตยทางตรงอย่างสันติของประชาชนคือ การทำประชามติ (ในระดับชาติ และเฉพาะพื้นที่หรือสาขา) การชุมนุมประท้วงที่ปราศจากความรุนแรง การเสนอกฎหมายโดยประชาชน การร่วมถกแถลงหรือสุนทรียสนทนาระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย อย่างไม่ครอบงำแต่เคารพกันและกัน และที่ผ่านช่องทางสื่อและเวทีแลกเปลี่ยนหรือสนทนาต่างๆ ที่ให้คุณค่าประชาธิปไตยแบบสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือก แต่เสริมการร่วมตัดสินใจของประชาชน
     
  3. ซ้ายสังคมเชิงวิพากษ์ (Critical Social Theory) ของกลุ่มมาร์กซิสต์ใหม่ (Neo-Marxist) สำนักคิดทางสังคมฟังเฟิร์ต (เยอรมนี) ในครรลองของฝ่ายซ้ายใหม่ (New Left) ที่วิพากษ์และแสวงหาการปลดปล่อยการครอบงำแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จของชนชั้นปกครอง รวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย ทั้งยังให้คุณค่ากับการรังสรรค์ให้มีการเปิดกว้างของบรรยากาศสาธารณะเพื่อการสื่อสารปฏิบัติการ (Communicative action) และเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (Opened-Public Sphere) เพื่อปลดปล่อยการครอบงำของอำนาจรัฐเผด็จการดั้งเดิมอย่างสันติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและค่านิยมใหม่ในสังคมให้สมเหตุสมผลมากขึ้น
     
  4. ซ้ายสังคมประชาธิปไตย (Democratic Socialism) ที่พรรคสังคมประชาธิปไตยและพรรคแรงงานในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนใช้กัน (เกิดก่อนซ้ายสังคมเชิงวิพากษ์) เป็นความคิดแบบฝ่ายซ้ายกลางที่สนใจการมีส่วนร่วมและยอมรับการเข้าร่วมตัดสินใจนำพาสังคม กับ ฝ่ายผู้ครองอำนาจกลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มก้าวหน้าต่างๆ (ในยุคสมัยที่ใกล้เคียงกับการปฏิวัติรัสเซียโดยเลนิน ค.ศ. 1910-1920) ผ่านระบบรัฐสภาแบบเลือกตั้ง การจัดตั้งพรรคการเมืองของแรงงาน การรักษาจุดยืนของขบวนการแรงงาน การเสริมสร้างประชาธิปไตยของแรงงานในการทำงานที่สืบเนื่องมาจากประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในทางการเมืองของประเทศ และการหาทางยกระดับอำนาจการตัดสินใจของตนให้สูงขึ้นๆ ตามศักยภาพและกาลเวลา
     
  5. ซ้ายประชาสังคมและแรงงานประชาธิปไตย ความคิดบางส่วนในทางสังคมนิยมสันติวิธีของ Antonio Gramsci (อิตาลี) ที่พยายามปลดเปลื้องการครอบงำ (Hegemony) ในทางอุดมการณ์ของรัฐ และการเชื่อมต่อประชาธิปไตยในระบบการเมืองและการตื่นตัวของประชาสังคมในวงกว้าง เข้ากับปฏิบัติการการเรียนรู้ในทางประชาธิปไตยของแรงงานในสถานประกอบการ เพื่อเป็นถนนสู่สังคมนิยม เช่น คณะกรรมการของคนงาน (Worker’s commission) ในการเรียนรู้ระบบการจัดการของระบบทุนนิยม และการรวมตัวในเขตเมืองต่างๆเพื่อเสริมสร้างพลังร่วมกัน นับว่าสอดคล้องมิใช่น้อยกับความคิดประชาธิปไตยในทางอุตสาหกรรม (Industrial democracy) ของกลุ่มสังคมนิยมเฟเบียน (อังกฤษ)
     
  6. ซ้ายเปลี่ยนแปลงโลกแบบไม่ยึดอำนาจ (Change the World Without Taking Power) ของ John Holloway จากบทเรียนที่พบเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนในหลายๆประเทศและวิกฤติของตัวแนวคิดการปฏิวัติเอง เมื่อพิจารณาในระดับลึกถึงความเป็นมนุษยชน การทำงาน ทุนนิยม องค์การ และการต่อต้านต่างๆ การได้อำนาจมาแบบไม่ยึดอำนาจนั้น ต่างหากคือสิ่งสำคัญ
     
  7. ซ้ายสิทธิมนุษยชน (ครอบคลุมปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติ ทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองและวัฒนธรรม และการขับเคลื่อนขององค์การประชาสังคมระหว่างประเทศจำนวนมาก) เช่นการปฏิบัติการของมาร์ติน ลูเธอร์คิง (สหรัฐอเมริกา) สามารถช่วยให้ประชาชนผู้ถูกละทิ้งมีพลังอำนาจมากขึ้นในการต่อรองกับผู้กุมอำนาจในโลกและในประเทศ และการได้รับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับความยุติธรรมและความทุกข์ระทมในอดีต เช่น จากการเข่นฆ่านักศึกษาสมัย 14 ตุลาคม 2519 และประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และการปราบปรามประชาชนคนเสื้อแดงในปี 2551-2553 เป็นต้น
     
  8. ซ้ายแบบอหิงสา แบบ Mahatma Gandhi (อินเดีย) คือ การต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่ผู้ทุกข์ยาก และถูกกดขี่ เพื่อแก้ไขกติกาที่ไม่ยุติธรรมตามหลักอหิงสธรรม อารยะขัดขืน (มุมกลับของการปฏิวัติแบบไม่ยึดอำนาจและปราศจากความรุนแรง) และเชิงสัญลักษณ์ ไม่กระทำการที่รุนแรง แต่สันติวิธีและยอมรับการถูกลงโทษตามกฎหมายของรัฐแม้กฎหมายนั้น จะด้อยในความเป็นอารยะกติกาที่ประชาชนอยากเขียนใหม่ก็ตาม
     
  9. ซ้ายว่าด้วยความยุติธรรมในสังคมของ John Rawls (อเมริกา) สำหรับสังคมนิยมเสรี (Liberal socialism) ที่การต้องการการดำรงอยู่ของความยุติธรรมซึ่งก็คือความเป็นธรรม (Justice as Fairness) ในระบอบประชาธิปไตยและไม่สามารถละเมิดหรือลบล้างได้ เพื่อให้หลักประกันในสิ่งนี้แก่ทุกคนในทุกชนชั้นของสังคมพหุวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยที่อาจจะถูกละเลย และไปด้วยกันได้กับความคิดของมิเชล ฟูโกต์ (ฝรั่งเศส) เพื่อเสริมสร้างอำนาจของผู้ที่เปราะบาง ด้อยโอกาส และถูกกดขี่ทั้งหลายในสังคมให้ได้รับความยุติธรรมมากขึ้น
     
  10. ซ้ายธรรมิกสังคมนิยมของพุทธทาส (ไทย) เน้นการปฏิบัติตามหน้าที่อันสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ และกำกับควบคุมกิเลสและตัณหาตามหลักพุทธธรรม และการเข้าถึงความเป็นสากลระหว่างศาสนา การส่งเสริมประชาธิปไตยที่ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ พร้อมกับการให้คุณค่ากับการพึ่งพาอาศัยกันและกันในสังคม การสหกรณ์ รวมทั้งการลดละและสละการกอบโกยกำไรส่วนเกินจากการประกอบการของนายทุนเพื่อนำไปบำรุงการอยู่ดีกินดีของแรงงาน/คนทำงานในอาชีพต่างๆอย่างยุติธรรม

นอกจากนี้ หากไตร่ตรองเชิงวิพากษ์อย่างจริงจัง ตามชุดความคิดข้างต้นที่เสนอนั้น การชูสามนิ้วตามแนวการการปฏิวัติฝรั่งเศสและหนังเรื่อง Hunger Games จะไม่เพียงพอ เราควรก้าวหน้ามากกว่านั้น ไปสู่สี่หรือห้านิ้ว เพราะตามสัญลักษณ์สามนิ้ว คือ เสรีภาพ เสมอภาค และ ภราดรภาพ นั้น เพราะในสังคมฝรั่งเศสยุคเริ่มสร้างสาธารณรัฐในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ขาดสิ่งทั้งสามเหล่านี้ แต่จะว่าไปแล้ว ในประเทศคอมมิวนิสต์ก็เป็นรัฐที่เป็นเช่นสามสัญลักษณ์นิ้วดังกล่าว เพียงแต่มีเสรีภาพอย่างจำกัดมากกว่าในประเทศเสรีประชาธิปไตย นิ้วที่ขาดหายไปในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ก็คือหลักประชาธิปไตย (ที่ประชาชนมีส่วนร่วม) คือ เพิ่มนิ้วก้อยเข้าไปด้วย แต่เรียงใหม่ดังนี้ ประชาธิปไตยอันหมายถึงการปกครองตนเองของประชาชนคือนิ้วชี้ เสรีภาพคือนิ้วกลาง เสมอภาคคือนิ้วนาง และ ภราดรภาพคือนิ้วก้อย หรือการจะชูทั้งห้านิ้ว ก็ควรเป็นหลักความยุติธรรม โดยเพิ่มนิ้วหัวแม่มือที่หมายถึงความยุติธรรมเข้าไปด้วย เพื่อจรรโลงการดำรงอยู่ของหลักการทั้งสี่เหล่านั้น และประเทศไทยก็ยังไม่มีเรื่องนี้อย่างแท้จริง ดังหลายเหตุการณ์ที่ทราบกันดี


ปัจฉิมวรรค

การปฏิรูป มิใช่ตัดขาดจากการปฏิวัติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากจัดการให้ถูกทาง ทั้งสองอย่างเกื้อกูลกันได้เพื่อรังสรรค์ความรุ่งเรืองของชาติในทุกมิติ การปฏิวัติจึงมิใช่ไม่มีความหมายเอาเสียเลย แต่ทฤษฎีการปฏิวัติแบบดั้งเดิมนั้น ควรใช้แบบวิเคราะห์และวิพากษ์เบื้องต้น และในเชิงปลุกเร้าอย่างจำกัดขอบเขตที่ไม่สื่อไปในทางการก่อให้เกิดปฏิบัติการเพื่อทำลายล้างโต้กลับ หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ที่รุนแรงตามแนวทฤษฎีการปฏิวัติแบบดั้งเดิม และที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณค่าแท้

ฉะนั้น หากเอาการปฏิรูปเป็นใหญ่และการปฏิวัติ (ในความหมายที่เป็นอารยะขัดขืน หากจำเป็นจริงๆ สำหรับปฏิบัติการที่ไม่รุนแรง) เป็นรองหรือเสริมในบางจุดของการเปลี่ยนแปลงในขอบเขตที่จำกัดของสังคม พื้นที่ ชุมชน หรือองค์การ เพื่อการปรับเปลี่ยนอย่างใหม่ที่อยู่ในวิสัยที่จะควบคุมได้ พลังความร่วมมือระหว่างประชาธิปไตยทางอ้อมโดยสภาผู้แทนราษฎร และพลังประชาธิปไตยทางตรงของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย พร้อมๆกับความเข้มแข็งมากขึ้นของพลังฝ่ายซ้ายสันติในการอยู่ร่วมกับฝ่ายขวาสันติ ในครรลองของอริยรัฐพัฒนา ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าความรุ่งเรืองจะบังเกิดขึ้นกับระบอบประชาธิปไตยและสังคมไทยโดยรวมอย่างก้าวกระโดด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net