การสร้าง “คอนเนคชั่น” อย่างเป็นระบบในภาครัฐไทย: บทวิพากษ์และข้อเสนอแนะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหมาะสมของการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดทำหลักสูตรอบรมของศาลรัฐธรรมนูญ โดยขอให้เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงถึงการใช้งบประมาณจำนวน 7 ล้านกว่าบาทไปใช้ในการจัดหลักสูตร “นิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” ว่าเหมาะสมหรือไม่ที่หน่วยงานอิสระที่ต้องคงความเป็นกลางมาจัดหลักสูตรอบรมที่นำมาสู่เครือข่ายเหล่านี้ โดยเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว[1]

ปัญหาเกี่ยวกับความเหมาะสมของการทำหลักสูตรอบรมที่สร้างเครือข่ายขององค์กรอิสระนั้นได้มีการพูดกันมานานแล้วทั้งประเด็นความคุ้มค่าของงบประมาณที่ต้องจ่ายให้ผู้เข้ารับการอบรมเดินทางไปดูงานต่างประเทศ และการปัญหาความขัดกันของผลประโยชน์

โดย วิษณุ เครืองาม ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาล คสช. เคยได้ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อต้นปี 2559 เกี่ยวกับปัญหาการทำหลักสูตรระดับสูงขององค์กรอิสระต่างๆ ว่ารัฐบาลส่งเสริมการทำหลักสูตรที่พัฒนาบุคลากรภายในหน่วยงาน “แต่ที่รัฐบาลเป็นห่วงคือ 1. ไปเรียนแล้วเสียเวลา 2. เรียนแล้วเปิดรับคนภายนอกเข้ามาเรียนจนเกิดคอนเนคชั่นที่อาจจะนำไปสู่การประพฤติมิชอบได้ 3. เรียนแล้วมีการไปดูงานต่างประเทศแล้วคุ้มหรือไม่ 4. เรียนแล้วสังสรรค์จัดงาน ลงขันกัน มีการไปขอรับบริจาค ขอสปอนเซอร์มาจัดงานกันเป็นล้าน”[2]

รายงานการวิจัย เรื่อง “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง : เครือข่ายทางการศึกษา” (2555) ของ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาหลักสูตรระดับสูง 6 หลักสูตร พบว่า เป้าหมายร่วมของทุกหลักสูตรคือ การสร้างรูปแบบความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างบุคคลระดับนำของสังคม โดยผู้เข้ารับการอบรม “จะเป็นบุคคลที่มีส่วนในการตัดสินใจนโยบาย มีความสำคัญในการออกกฎกติกาต่างๆ หรือมีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร หรือผลประโยชน์ต่างๆ”[3]

เป็นที่รู้กันดีในหมู่ข้าราชการทั่วไปว่า หลักสูตรอบรมระดับสูงของส่วนราชการต่างๆ นั้นออกแบบขึ้นมาเพื่อสร้างเครือข่าย หรือ “คอนเนคชั่น” ให้กับคนที่เข้าร่วมอบรม หลักสูตรเหล่านี้มักกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการอบรม ให้มีทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ อัยการ นักการเมือง นักธุรกิจ โดยช่วงหลังมีการกำหนดรวมข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วย  

ผู้จัดทำหลักสูตรอธิบายเหตุผลความจำเป็นของหลักสูตรเหล่านี้ว่า ในการขับเคลื่อนภารกิจระดับนโยบายให้ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องมีการประสานความร่วมมือ หรือ “บูรณาการ” การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างกรม ต่างกระทรวง ต่างสถาบัน ถ้าจะให้ประสานผ่านหนังสือราชการอย่างเดียวอาจทำให้การทำงานล่าช้าจนอาจทำให้งานล้มเหลว แต่หากผู้บริหารสามารถยกโทรศัพท์พูดคุยกับเพื่อนร่วมรุ่นที่รู้จักคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ก็จะทำให้การทำงานรวดเร็วและนำไปสู่ผลสำเร็จได้มากกว่า ดังนั้น การมีเครือข่ายการทำงานอยู่ในวงการต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารในภาครัฐ ดังที่ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อธิบายว่า“เอกลักษณ์พิเศษของสังคมไทย คือสังคมที่ไม่เป็นทางการ กล่าวคือทุกอย่างเกิดขึ้นจากการพูดคุย เจรจานอกรอบจนเรียบร้อยแล้ว จึงค่อยนำมารับรองอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง”[4]

จนทำให้มีการกำหนดเป็นคุณสมบัติของผู้ที่สามารถดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ซึ่งหมายถึงตำแหน่งรองอธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป จะต้อง “ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของสำนักงาน ก.พ. หรือผ่านการอบรมหลักสูตรใดๆ ที่ ก.พ. พิจารณาให้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเสมือนได้ผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของสำนักงาน ก.พ. ...”[5]

ดังนั้น ข้าราชการผู้ที่หวังจะเข้าสู่ตำแหน่งบริหารจึงต้องพยายามพาตัวเองเข้าไปอบรมในหลักสูตรระดับสูงต่างๆ เหล่านี้ให้ได้ และเมื่อใดก็ตามที่มี Super VIP เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรพิเศษก็จะมีการแย่งชิงกันเข้าไปเป็น “เพื่อนร่วมรุ่น” จนถึงขั้นที่มีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานหนึ่งโดนสั่งย้ายเพราะไม่สามารถทำให้เจ้านายเข้าอบรมในรุ่นเดียวกับบุคคลสำคัญของประเทศได้

เราคงไม่อาจปฏิเสธความสำคัญของ “คอนเนคชั่น” ในวัฒนธรรมการทำงานของไทยได้ แต่การทำหลักสูตรระดับสูงเหล่านี้กลับพบปัญหาความขัดกันของผลประโยชน์ จากการนำบุคคลที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบหรือถ่วงดุลกันมาร่วมอบรมให้เป็นพวกเดียวกัน ดังที่ วิษณุ เครืองาม และ รศ.ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ ระบุ ลองนึกภาพเล่นๆ ว่า หากเราต้องเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งมีเพื่อนเรานั่งเป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ เราจะสามารถตรวจสอบได้ตรงไปตรงมาหรือไม่

นอกจากนี้ การสร้างคอนเนคชั่นผ่านการทำหลักสูตรนั้นมีการใช้งบประมาณค่อนข้างสูงมากในแต่ละหลักสูตร เพราะต้องมีการจองโรงแรมเป็นสถานที่อบรม มีการศึกษาดูงานต่างประเทศ โดยยิ่งระดับสูงยิ่งดูงานไกล อย่างน้อยๆ ก็ต้องยุโรป อเมริกา ซึ่งคอนเนคชั่นดังกล่าว อยู่ติดตัวกับบุคคลที่เข้ารับการอบรม

หากเรายอมรับว่าคอนเนคชั่นนั้นสำคัญกับการบริหารในภาครัฐไทย คำถามที่ควรพิจารณา คือ แทนที่เราจะเอางบประมาณหลายสิบล้านแต่ละปีมาสร้างคอนเนคชั่นให้บุคคล เราลองมาสร้างคอนเนคชั่นให้กับระบบการทำงานดีกว่าหรือไม่? 

ผู้เขียนอยากนำเสนอแนวทางในการทำงานในภาครัฐที่จำแนกตามประโยชน์ของการมีคอนเนคชั่น ดังนี้

ประการแรก การมีคอนเนคชั่นช่วยให้การทำงานเร็วขึ้น ดังนั้น การทบทวนกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานจึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอันดับแรก

ประการสอง คอนเนคชั่นช่วยให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานง่ายขึ้น กรณีนี้ควรปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม “สร้างอาณาจักร” ของแต่ละหน่วยงาน ค่านิยมกรมใครกรมมัน การหวงข้อมูล หวงงบประมาณ หวงผลงาน เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การประสานงานระหว่างหน่วยงานเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัส

การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในที่นี้อาจเริ่มจาก (1) การชี้ให้ทุกคนที่เข้ามาสู่การทำงานร่วมกับภาครัฐต้องเข้าใจที่มาที่ไปของงบประมาณที่ไม่ว่าจะจัดสรรผ่านส่วนราชการ ก็ล้วนมาจากภาษีประชาชนหรือรายได้พึงได้ในภาพรวมของรัฐไทยทั้งสิ้น (2) เชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐให้เป็นระบบเดียว เพื่อให้ข้อมูลที่อยู่ในครอบครองของแต่ละหน่วยงานก็ต้องสามารถแบ่งปันกันได้ มิใช่ต้องรอให้มีการทำ MOU ข้ามกระทรวงก่อนจึงจะยอมแบ่งปัน เพราะการกำหนดนโยบายหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ควรอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยต้องสร้างความตระหนักตั้งแต่ระดับปฏิบัติการว่าสิ่งที่ทำตามหน้าที่รับผิดชอบนั้นเชื่อมโยงกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศอย่างไร ผ่าน (3) ปรับตัวชี้วัดการปฏิบัติงานของบุคลากรภาครัฐทุกระดับให้เป็นตัวชี้วัดที่วัดผลลัพธ์ (outcome) ตามกลุ่มภารกิจหรือแผนที่แต่ละตำแหน่งรับผิดชอบ ให้คนทำงานเห็นว่าสิ่งที่ตนเองดำเนินการเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างไร เพื่อให้การทำงานไม่ติดอยู่กับ “กับดัก” ภายใน และทำให้บุคลากรภาครัฐตระหนักในคุณค่าของตนเองต่อผลประโยชน์ของประชาชนด้วย

ประการสุดท้าย การใช้คอนเนคชั่นทำให้เกิดการตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น ซึ่งอยู่บนฐานของการมีทัศนคติที่ดีต่อกัน เพราะรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน กรณีนี้ควรมีการสร้างช่องทางให้บุคคลภายนอกสามารถสื่อสารทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการกับผู้บริหารหน่วยงานได้มากขึ้น ผู้บริหารภาครัฐควรมีกิจกรรมที่รับฟังกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงานอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองมากขึ้น เป็นผู้บริหารที่เข้าถึงง่าย เพื่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น และหากเป็นไปได้ กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของหน่วยงานควรมีการเปิดรับข้อมูลต่างๆ จากทุกกลุ่มเพื่อนำไปสู่การมองปัญหาที่รอบด้านและนำความต้องการของทุกกลุ่มมาพิจารณาได้ 

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงการพิจารณาการทำงานแบบไม่เป็นทางการจำเป็นกับการบริหารงานภาครัฐเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงการแก้ไขปัญหาการใช้คอนเนคชั่นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เนื่องจากการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ต้องตรวจสอบการทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย การป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ และถ่วงดุลมิให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดอยู่แล้ว ผู้ที่สามารถมาเป็นผู้บริหารองค์กรอิสระเหล่านี้ย่อมรู้ดีว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ 

 

อ้างอิง

[2] “เล็งจัดระเบียบหลักสูตรพิเศษ ‘องค์กรอิสระ’. (7 มกราคม 2559). กรุงเทพธุรกิจ: 14”

[5] สามารถดูหลักสูตรที่ ก.พ. รับรองได้จาก หนังสือที่ นร 1013/ว4 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 เรื่อง หลักสูตรการฝึกอบรมนักบริหารระดับสูงและผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงที่จัดโดยส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นที่ ก.พ. รับรอง ได้ที่ https://www.ocsc.go.th/csti/ses

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท