Skip to main content
sharethis

28 ส.ค. 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมของบติดต่อกัน 3 ปีงบประมาณ กว่า 388 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 ระงับกิจการเหมืองเมื่อปี 2559

หลังเว็บไซต์สำนักงบประมาณเผยแพร่เอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เล่มที่ 12 ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หน้า 111 หัวข้อรายละเอียดงบประมาณจำแนกตามงบรายจ่ายผลผลิต: ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ได้รับการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบการ ข้อ 3. งบรายจ่ายอื่น 1) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ไว้ 111,115,700 บาท ทำให้ข้อพิพาทเรื่องการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำกลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชน และถูกพูดถึงใน #เหมืองทอง

ทั้งนี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมเคยใช้งบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ บริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 60,000,000 บาท และปีงบประมาณ 2563 ใช้ 217,788,100 บาท รวมขอใช้งบใน 3 ปีงบประมาณ 388,903,800 บาท

ข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเข้ามาดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำที่ จ.พิจิตร กับประเทศไทย สืบเนื่องจากการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 ให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ถือเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557

เหตุผลในการออกคำสั่งดังกล่าวเนื่องจาก มีการร้องเรียนและคัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเนื่องจากการประกอบ กิจการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่โครงการทำเหมืองแร่ทองคำหลายแห่ง ซึ่งยังต้องรอการตรวจสอบ วิเคราะห์ และวินิจฉัยในข้อเท็จจริงและปัญหา จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันและระงับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งกำหนดมาตรการในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ

    บริษัท คิงส์เกท ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทย เมื่อ 5 พ.ย. 2560 เพื่อเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากมาตรการปิดเหมืองทำคำโดยมิชอบ เป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 23,355 ล้านบาท หากคิดจากอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 28 ส.ค. 2563 เนื่องจากการสั่งปิดเหมือง เป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 72/2559 ซึ่งนำมาสู่กรณีพิพาทครั้งนี้ กล่าวแก่สื่อมวลชนเมื่อ 29 ส.ค. 2560 ว่า "ที่ใช้มาตรา 44 ในประเทศนี้ ผมไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น ผมทำได้หมด ส่วนกฎหมาย อนุญาโตตุลาการ กฎหมายระหว่างประเทศ ก็ต้องสู้คดีกันไป แต่เมื่อผมใช้มาตรา 44 ผมไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะคุ้มครองผม แต่ประเด็นนี้มันเป็นเรื่องของต่างชาติด้วย แยกแยะหน่อยผมทำเพื่อใคร การนำคดีมาเทียบกันแบบนี้เท่ากับไม่ให้ความเป็นธรรมกับผมเลย" ก่อนจะกล่าวถึงประเด็นนี้อีกครั้ง เมื่อ 20 ต.ค. 2562 ว่า "ผมรับผิดชอบเอง"

    ส่วนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าแร่ เคยทำเอกสารชี้แจงผ่านไอลอว์ เมื่อ 1 ก.ย. 2560 ยืนยันว่า กิจการเหมืองแร่ทองคำมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำ แต่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำนั้นเป็นการทำลายระบบนิติรัฐ ทั้งในส่วนของอำนาจฝ่ายบริหาร  ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ ทั้งที่กฎหมายปกติ เช่น กฎหมายแร่ กฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือกฎหมายประกอบอื่นๆ ก็สามารถสั่งให้ปิดและฟื้นฟูเหมืองได้ดีกว่านี้

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net