Skip to main content
sharethis

29 ส.ค. 2563 คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนตำบลสะเอียบ ได้เปิดเผยจดหมายเปิดผนึกเรื่อง 'ขอคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง, ขอคัดค้านโครงการเขื่อนแม่น้ำยมที่กระทบต่ออุทยานแห่งชาติแม่ยมและชุมชนตำบลสะเอียบ, ขอให้ถอดถอนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ออกจากแผนเจ้าพระยาเดลต้า 2040, ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง โดยมีมติ ครม. รับรอง' ถึงนายกรัฐมนตรี ต่อสื่อมวลชน 

โดยในจดหมายเปิดผนึกระบุว่าจากการที่นายธรรมนัส พรหมเผ่า และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีในรัฐบาลของท่าน ได้เสนอให้ปลุกผีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง รวมทั้ง กรรมาธิการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยา และอนุกรรมาธิการฯ นำโดยนายวีระกร คำประกอบ และคณะฯ ได้มาลงพื้นที่จังหวัดแพร่ และได้ผลักดันการสร้างเขื่อนในจังหวัดแพร่ในแม่น้ำยมทั้ง 8 เขื่อนนั้น

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอคัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ขอคัดค้านโครงการเขื่อนแม่น้ำยมที่กระทบต่ออุทยานแห่งชาติแม่ยมและชุมชนตำบลสะเอียบ ขอให้ถอดถอนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ออกจากแผนเจ้าพระยาเดลต้า 2040 ขอให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง โดยมีมติ ครม. รับรอง

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ ยืนยันว่าเรามีทางออกในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมลุ่มน้ำยม ทั้ง 14 แนวทาง โดยเฉพาะ “สะเอียบโมเดล” ที่หน่วยงานราชการ และประชาชน ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงเมื่อ 12 มี.ค. 2561 ซึ่งมีทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ รองอธิบดีกรมชล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม ผู้พันจากกองทับภาคที่ 3 ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้แทนชาวบ้านชุมชนลุ่มน้ำยม ทั้ง 12 รายนาม

นายธรรมนัส พรหมเผ่า และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีในรัฐบาลของท่าน คณะกรรมาธิการน้ำเจ้าพระยาฯ อนุกรรมาธิการฯ และ กรมชลประทาน กำลังทำลายข้อตกลงเดิมที่สร้างขึ้นจากหลายภาคส่วน โดยการรื้อฟื้นปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น และเร่งผลักดันเขื่อนทั้ง 8+4 เขื่อนในแม่น้ำยม ทั้งที่อ่างเก็บน้ำห้วยแม่สะกึ๋น 2 และอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ที่เป็นแผนงานในสะเอียบโมเดลได้ทำอีไอเอเสร็จแล้ว แต่กลับไม่ผลักดันและไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการให้ลุล่วงตามที่ได้ตกลงกันไว้

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จึงขอให้ท่านได้ตรวจสอบการทำงานของ นายธรรมนัส พรหมเผ่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายวีระกร คำประกอบ คณะกรรมาธิการน้ำเจ้าพระยาฯ อนุกรรมาธิการฯ และ นายพรมงคล ชิดชอบ กรมชลประทาน ที่ละเมิดข้อตกลง และขอให้รัฐบาลยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง โดย ครม. มีมติรับรอง ถอดถอนโครงการแหล่านี้ออกจากแผนเจ้าพระยาเดลต้า 2040 รวมทั้งขอให้รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการสร้างอ่างห้วยแม่สะกึ๋น 2 และอ่างห้วยเป้า ตามที่ได้ตกลงกันไว้

นอกจากนี้คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ ยังได้เสนอ 'แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 14 แนวทาง โดยไม่ต้องสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เขื่อนเตาปูน อ่างเก็บน้ำเตาปูน ประตูระบายน้ำเตาปูน (ปตร.) โครงสร้างเตาปูน ฯลฯ' โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลไดออกไซด์ ช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังช่วยฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งมวลมนุษยชาติ อีกด้วย

2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น

3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า

4.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนให้ทุกชุมชนได้พัฒนา ฟื้นฟูระบบการจัดการน้ำชุมชน ให้ องค์กรท้องถิ่นสนับสนุนการสร้างแผนการจัดการน้ำชุมชน ใช้สะเอียบโมเดลเป็นแผนการจัดการน้ำชุมชนต้นแบบ

5.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า ซึ่งกรมชลประทานสำรวจพบแล้ว 26 จุด ซึ่งสามารพัฒนาได้เลยโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

6.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

7.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะสามารถลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝนตกที่ไหนน้ำเข้าที่นั่น กระจายทั่วทั้งลุ่มน้ำ ไม่ใช่รอให้ฝนตกเหนือเขื่อนเท่านั้น ซึ่งเราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้

8.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

9.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน

10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ

11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู

12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม

13.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ และมีบทลงโทษในการพัฒนาที่ผิดพลาด ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งส่งเสริมมาตรการลงโทษทางสังคมต่อผู้ใช้อำนาจการตัดสินใจ ผู้วางแผนงาน การบริหารประเทศ การพัฒนาที่ผิดพลาด ไม่ให้มีโอกาสเข้ามามีอำนาจอีกเจ็ดชั่วโคตร

14.ส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูก รองรับสิทธิชุมชน ให้สิทธิชุมชนในการ ปกป้อง รักษา และใช้ประโยชน์ในทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อากาศ แร่ ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net