Skip to main content
sharethis

โรงงานผลิตถุงลมนิรภัย เออรี่รีไทร์ พนง. 305 คน ออร์เดอร์ลด ไร้โอที

29 ส.ค. 2563 มีรายงานข่าวว่า บริษัทสหเซเลน จำกัด ในเครือสหพัฒนพัฒน์กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ผลิตถุงลมนิรภัย พบมีพนักงาน จำนวนมากมาเข้าแถวยื่นเรื่องโครงการสมัครใจลาออกจากงาน จากการสอบถามสรุปความได้ว่า จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ และช่วงโควิด-19 โรงงานได้รับผลกระทบ ออร์เดอร์จากตลาด ได้มีการให้พักงานพนักงาน และไม่มีการทำงานล่วงเวลา

ล่าสุด ทางบริษัทฯ ได้มีประกาศแจ้งเพิ่มเติม เกี่ยวกับโครงการสมัครใจลาออกจากงาน เพื่อให้แสดงความเข้าใจโดยทั่วถึงกัน จึงขอประกาศชี้แจงเพิ่มเติมให้พนักงานทุกคนทราบดังต่อไปนี้

พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการ "ออกจากด้วยความเต็มใจ" จำนวน 305 คน ได้รับการอนุมัติทั้งหมดทุกคน แต่รายชื่อบริษัทไม่สามารถติดบอร์ดประกาศได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสิทธิ์ส่วนบุคคลเพราะพนักงานบางคนไม่ประสงค์จะให้คนอื่นทราบ พนักงานท่านใดที่ยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการไว้แล้ว ไม่มีการมาขอยกเลิก เพราะท่านได้รับการอนุมัติให้ออกตามโครงการนี้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป

พนักงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการออกจากงานด้วยความสมัครใจทั้ง 305 คน จะสิ้นสุดสถานะการเป็นพนักงานของ บริษัททันที การจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินเพิ่มพิเศษ ซึ่งผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะได้รับตามสิทธิ ตามอายุงาน บริษัทจะจ่ายโอนเข้าบัญชีเงินเดือนของพนักงานในวันที่ 31 ส.ค.

สำหรับพนักงานที่มีสิทธิ์พักร้อนคงเหลือ บริษัทจะจ่ายสมทบเป็นรายได้อื่นๆรวมอยู่ในยอดจ่ายเงินเดือน ใบสลิปเงินเดือนจะใช้ร่วมกับการจ่ายเงินเดือนปกติ แต่จะแยกจ่ายจากช่องเงินเดือนปกติ ไม่รวมกันเป็นก้อน เพื่อให้พนักงานเช็คได้ ในวันที่ 28 จะมีเจ้าหน้าที่สํานักงานประกันสังคม มาชี้แจงเกี่ยวกับการยื่นขอประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน หรือเกษียณอายุและการใช้สิทธิสมัครประกันสังคม มาตรา 39 มาตรา 40 และอื่นๆ ให้กับพนักงานที่สมัครใจลาออก

ในส่วนของหนังสือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด บริษัทจะดำเนินการออกเอกสารแจ้งทางสำนักงานประกันสังคมปราจีนบุรีให้ พนักงานไม่ต้องถือหนังสือเลิกจ้างไปยื่นที่ประกันสังคม กรณียื่นว่างงาน สำหรับเอกสารส่วนบุคคลของพนักงานแต่ละคน เช่นใบผ่านงาน ให้หัก ณ ที่จ่ายพนักงานสาวมารถรับด้วยตัวเองที่ฝ่ายบุคคล ตั้งแต่ วันที่ 7 ก.ย.63 เป็นต้นไป (ลงชื่อ นายปองพล สกุลลาเลิศ ผจก.ทรัพยากรบุคคล)

เงินพิเศษ สำหรับผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จะได้รับสิทธิดังนี้ พนักงานที่มีอายุงานไม่ครบ 1 ปี ได้เงินช่วยเหลือ 30 วัน ของค่าจ้างคิดเป็นอัตรารายวัน และเงินเพิ่มอีก10,000 บาท พนักงานที่มีอายุงานครบ 1 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือ 90 วันของค่าจ้าง คิดเป็นอัตรารายวัน และเงินเพิ่มพิเศษ 1,5000 บาท พนักงานที่มีอายุงาน 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้เงินช่วยเหลือ 240 วัน ของค่าจ้างรายวัน และเงินพิเศษ 20% ของเงินช่วยเหลือพนักงานที่มีอายุงาน 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือ 300 วันของค่าจ้าง และเงินเพิ่มอีก 20% ของเงินช่วยเหลือ พนักงานที่มีอายุงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือ 300 วัน ของค่าจ้างรายวัน และเงินพิเศษอีก 20% 2.6 พนักงานที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือ 400 วัน เงินเพิ่มพิเศษอีก 20%ของเงินช่วยเหลือ

บริษัทดังกล่าวผลิตถุงลมนิรภัย อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจึงจัดให้มีโครงการ "สมัครใจลาออกจากงาน" มีพนักงานกว่า 700 คน นายสุรพล (ขอสงวนนามสกุล) พนักงานกล่าวว่ารู้สึกใจหายแต่ก็ต้องสมัครใจลาออก จากนี้ไปก็จะค่อยๆหางานเลี้ยงครอบครัว ตรงกับเพื่อนๆพนักงานคนอื่นๆจะประกอบอาชีพค้าขายและการงานทำ บางคนบอกไปสมัครงานล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ต้องรอดูอีกที

ที่มา: บ้านเมือง, 29/8/2563

แรงงานไทยจากอุซเบกิสถาน 23 ราย ได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ รวม 345,000 บาท

28 ส.ค. 2563 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย รัฐบาลสนับสนุนให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองดูแลอย่างเต็มที่ ทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างทำงาน และเมื่อกลับจากต่างประเทศ

โดยเมื่อเดินทางไปทำงานแล้วยังให้ความคุ้มครองดูแลอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งกรณีของแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ตรวจสอบแล้วพบว่า มีแรงงานไทย 23 ราย ที่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศก่อนออกเดินทาง ไปทำงานโดยการจัดส่งของบริษัทจัดหางานเวิร์ล พาวเวอร์ เซอร์วิส จำกัด ในโครงการก่อสร้างโรงงานพลังงานก๊าซธรรมชาติที่สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน แต่ต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบสัญญาจ้างเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับการสงเคราะห์จากองทุนฯ

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับพี่น้องแรงงานไทยทุกคน และได้มอบหมายให้ตนดูแลพี่น้องแรงงานไทย ซึ่งทุกคนเหมือนคนในครอบครัว และตนที่เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัวจะดูแลคนในครอบครัวทุกคนอย่างใกล้ชิด และครอบคลุมที่สุด อย่างไรก็ดี ขณะนี้พ้นระยะกักตัว14 วัน (State Quarantine) ตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมควบคุมโรคแล้ว จึงเร่งประสานเพื่อมอบเงินช่วยเหลือ" นายสุชาติกล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ซึ่งกรมการจัดหางานมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไป

ที่มา: คมชัดลึก, 28/8/2563

สธ.สั่งชะลอนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้าน หลังโควิด-19 ในเมียนมาระบาด

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดรอบใหม่ในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา ที่พบการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไทยจะต้องเฝ้าระวังมากขึ้น ในพื้นที่ชายแดน ป้องกันการลักลอบเข้าประเทศ

ขณะที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ประเด็นการนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้าน เตรียมเสนอ ศบค.อนุมัติการนำเงินกองทุนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มาช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายกักตัวตามหลักเกณฑ์การควบคุมโรค ก่อนอนุญาตให้แรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานกว่า 40,000 คน เข้ามาทำงานก่อสร้าง เกษตร และแปรรูปอาหาร จากประเด็นสถานการณ์โควิด-19 เพื่อนบ้าน และหลายประเทศทั่วโลก ยังน่าเป็นห่วง

ล่าสุด นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ระบุ ล่าสุด รัฐบาลตัดสินใจยังไม่เริ่ม ภูเก็ตโมเดล ที่เป็นนโยบายนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ขอให้ชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวชาวไทยสบายใจได้ โดยโครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือในรายละเอียดอีกมาก

ที่มา: ช่อง 7, 28/8/2563

PwC ชี้ 20% ของบริษัทไทยใช้นโยบายทำงานจากที่บ้าน คาดจ้างงานชั่วคราว-เอ๊าต์ซ้อร์ซมากขึ้น หากโควิด-19 ยืดเยื้อ

PwC ประเทศไทย เผย 20% ของบริษัทไทยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำงานจากที่บ้านเป็นการถาวร เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสร้างความปลอดภัยให้กับพนักงาน อีกทั้งช่วยลดต้นทุนค่าเช่าและสาธารณูปโภคจากการเช่าสำนักงาน แต่คาดหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ อาจเห็นบริษัทไทยหันมาพิจารณาการจ้างลูกจ้างชั่วคราว (Contingent Workforce) การจ้างหน่วยงานหรือพนักงานจากภายนอก (Outsource) รวมไปถึงการจ้างผู้มีอาชีพอิสระ (Freelance) มากขึ้น เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารกำลังคนและต้นทุน

ดร. ภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปสู่การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น จนกลายเป็นความปกติแบบใหม่ของการทำงานไปโดยสิ้นเชิง

“เราประเมินว่า 20% ของบริษัทไทยปัจจุบันมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้เป็นการถาวร เพื่อดูแลความปลอดภัยของพนักงาน และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสำนักงาน ซึ่งนอกเหนือไปจากนโยบายนี้ ยังมีอีกหลายองค์กรด้วยที่เลือกใช้วิธีผสมผสานให้พนักงานสามารถเลือกทำงานที่บ้าน หรือเข้าออฟฟิศเพื่อประชุมหรือเวิ้ร์กฉ็อป เพราะการทำงานอยู่ที่บ้านเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดความเครียด และไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ โดยจากข้อมูลเราพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ชอบที่จะทำงานที่บ้านอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์” ดร. ภิรตา กล่าว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจ CEO Panel Survey ของ PwC ที่ทำการสำรวจมุมมองซีอีโอจำนวน 699 รายใน 67 ประเทศทั่วโลก ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2563 ถึงรูปแบบของธุรกิจเกิดใหม่และแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า 78% ของผู้นำธุรกิจเชื่อว่า จะหันมาใช้นโยบายการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Working) มากขึ้น ขณะที่ 76% พึ่งพาการใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ และ 61% ควบคุมความหนาแน่นของสถานที่ทำงาน

อย่างไรก็ดี คุณภาพของงานและประสิทธิภาพของการทำงานจากที่ไหนก็ได้ กลายเป็นความท้าทายที่ผู้นำธุรกิจจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญ ดังนั้น ดร. ภิรตา แนะนำว่า องค์กรจะต้องมีระเบียบปฏิบัติ และเครื่องมือเข้ามาช่วยในการวัดผลการทำงานแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้จัดการหรือหัวหน้างานให้สามารถติดตามงาน เห็นผลลัพธ์ของงาน หรือสามารถช่วยลูกน้องแก้ไขปัญหาของงานได้ทันท่วงที หรือในงานบางอย่าง ก็อาจนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย

นอกจากนี้ การสร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของพนักงานที่แม้จะทำงานอยู่ที่บ้านนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงโดยฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ในการทำงานรูปแบบใหม่ให้กับพนักงาน รวมทั้งหาโอกาสในการพบปะสังสรรค์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และเครือข่ายสังคมกับพนักงาน และอาจต้องกำหนดระเบียบปฏิบัติสำหรับเวลาพักระหว่างวันและส่งเสริมวัฒนธรรมการเข้า-ออกงานตามเวลา เป็นต้น

“หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ และยังไม่แน่นอนว่าจะยุติลงเมื่อไหร่ ก็เป็นไปได้ว่า บริษัทไทยอาจหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานไปสู่การจ้างลูกจ้างชั่วคราว ที่เรียกว่า Contingent Workforce การจ้างบริษัทหรือพนักงานแบบเอ๊าต์ซ้อร์ซ หรือการจ้างฟรีแลนซ์ เข้ามาทำงานบางงาน หรือบางโปรเจกต์มากขึ้น เพื่อช่วยให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารกำลังคนและต้นทุน เพราะรูปแบบการจ้างงานเหล่านี้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับพนักงานประจำในระยะยาวได้ดี สอดรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง” ดร. ภิรตา กล่าว

ดร. ภิรตา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน หรือวิธีการจ้างงานอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของพนักงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Flexibility and Adaptability) จะเป็นทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้บุคลากรขององค์กร สามารถเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการทำงานและปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทันและเหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ขณะ

ที่มา: RYT9, 27/8/2563

แรงงานไทยติด COVID -19 เสียชีวิตในซาอุดีอาระเบีย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนาวาตรีวิทวัส กู้ประเสริฐ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด)ว่า เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานกรุงริยาด ได้รับการประสานงานจาก สอท. ณ กรุงริยาด ว่าได้รับแจ้งจากโรงพยาบาล Jubail Government Hospital ว่ามีแรงงานไทยรายหนึ่ง อายุ 67 ปี ซึ่งเข้ารับการรักษาจากการติดเชื้อ COVID-19 และได้เสียชีวิตลงแล้ว จากการตรวจสอบพบว่า แรงงานไทยรายนี้ เป็นชาว จ.ลำปาง ทำงานกับนายจ้างชื่อ AL-OSAIS CONTRACTING & TRADING เมืองจูเบล

ที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สนร. ริยาด รายงานอีกว่า ได้สอบถามไปยังหัวหน้างานเบื้องต้นทราบว่า แรงงานรายนี้ทำงานในตำแหน่งช่างทั่วไป และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลข้างต้นตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้รายละเอียดเกี่ยวกับการทำงาน เงินเดือนและการเริ่มทำงานนั้น หัวหน้างานไม่ทราบรายละเอียด จึงได้ขอให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทดำเนินการคำนวณเงินสิ้นสุด ตามจำนวนเวลาที่ทำงาน ค่าจ้างค้างจ่าย และเงินอื่นๆแล้วนำไปรับรองที่ Labour Office ก่อนส่งให้สำนักงานกรุงริยาด ตรวจสอบความถูกต้องเพื่อที่จะได้นำส่งให้กับทายาทของแรงงานไทยรายนี้

ส่วนการให้ความช่วยเหลือ รมว.แรงงาน ได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สำนักงานกรุง ริยาด ติดตามสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้าง และสิทธิอื่นๆ ตามกฎหมาย นอกจากนี้งสั่งการให้แรงงานจ.ลำปาง และหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่ไปติดต่อญาติ เพื่อแจ้งข้อมูลให้ญาติทราบและให้กำลังใจแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต

ส่วนการจัดการศพนั้น เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการเกี่ยวกับศพของผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยนำไปฝังตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข ของประเทศซาอุดีอาระเบียกำหนดต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 27/8/2563

อิสราเอลอนุญาตให้แรงงานไทย จำนวน 99 คน เดินทางกลับไปทำงานภาคเกษตร หลังโควิด-19 คลี่คลาย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ทางการอิสราเอลได้อนุญาตให้แรงงานไทย จำนวน 99 ราย ที่เดินทางไปทำงานภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) เดินทางกลับไปทำงานภาคเกษตร ตามความต้องการของนายจ้างในรัฐอิสราเอล โดย PIBA ได้ออกหนังสือรับรองการอนุญาตให้แก่แรงงานในการเดินทางเข้ารัฐอิสราเอลเป็นรายบุคคลแทนการตรวจลงตรา (Visa) ณ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย

"สำหรับแรงงานกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่เคยเดินทางไปทำงาน และต้องเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย นายจ้างในรัฐอิสราเอลจึงต้องการให้แรงงานไทย เดินทางกลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง ทั้งนี้เพราะแรงงานไทยมีทักษะเป็นที่ต้องการ รวมทั้งประเทศไทยมีนโยบายการบริหารจัดการโรคโควิด-19 เป็นที่ยอมรับ" รมว.แรงงาน กล่าว

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 26/8/2563

สอวช. เปิดผลสำรวจตลาดแรงงานหลังโควิดใน 12 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เผยผลสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานที่สำคัญซึ่งเป็นที่ต้องการของ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศในช่วง 5 ปี (63-67) มุ่งเน้นตำแหน่งงานระดับสูงที่ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยมีความต้องการกำลังคนรวมทั้งสิ้น 177,606 ตำแหน่ง ประกอบด้วย

1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Industrial Robotics) มีความต้องการกำลังคนรวม 10,020 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Data Scientist มีความต้องการ 2,697 ตำแหน่ง Robotic Controls Engineer มีความต้องการ 1,869 ตำแหน่ง และ Mechanical Engineer มีความต้องการ 1,862ตำแหน่ง

2) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hubs) มีความต้องการกำลังคนรวม 17,732 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Clinical Investigator มีความต้องการ 1,505 ตำแหน่ง Bioprocess engineer / technician มีความต้องการ 1,354 ตำแหน่ง และ Biomedical engineer มีความต้องการ 273 ตำแหน่ง

3) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation & Logistics) มีความต้องการกำลังคนรวม 29,289 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Ground Services Officer มีความต้องการ 7,914 ตำแหน่ง Warehouse Officer / Inventory Controller มีความต้องการ 3,920 ตำแหน่ง และ Project Engineer มีความต้องการ 2,356 ตำแหน่ง

4) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Bioenergy & Biochemicals) มีความต้องการกำลังคนรวม 9,836 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Biologist มีความต้องการ 2,860 ตำแหน่ง Mechanical engineer มีความต้องการ 1,550 ตำแหน่ง และ Agricultural Specialist, Mechanic Technician มีความต้องการตำแหน่งละ 1,230 ตำแหน่ง

5) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) มีความต้องการกำลังคนรวม 30,742 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Data Scientist มีความต้องการ 5,767 ตำแหน่ง Full-Stack Developer มีความต้องการ 5,287 ตำแหน่ง และ Mobile Developer มีความต้องการ 2,405 ตำแหน่ง

6) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advanced Agriculture and Biotechnology) มีความต้องการกำลังคนรวม 14,907 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Marketing Specialist มีความต้องการ 3,221 ตำแหน่ง Aerospace Engineer มีความต้องการ 2,686 ตำแหน่ง และ Laboratory Technician มีความต้องการ 1,863 ตำแหน่ง

7) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food For The Future) มีความต้องการกำลังคนรวม 12,458 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Food Scientist มีความต้องการ 2,054 ตำแหน่ง Regulatory Scientist มีความต้องการ 1,361 ตำแหน่ง และ Packaging Technologist มีความต้องการ 466 ตำแหน่ง

8) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Future Mobility) มีความต้องการกำลังคนรวม 12,231 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Product Specialist มีความต้องการ 4,080 ตำแหน่ง Commercial Designer มีความต้องการ 2,049 ตำแหน่ง และ Automation Engineer มีความต้องการ 1,880 ตำแหน่ง

9) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics) มีความต้องการกำลังคนรวม 6,434 ตำแหน่งโดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Electrical Engineer มีความต้องการ 1,588 ตำแหน่ง Mechanical Engineer มีความต้องการ 1,316 ตำแหน่ง และ Industrial Engineer มีความต้องการ 816 ตำแหน่ง

10) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (High Wealth & Medical Tourism)มีความต้องการกำลังคนรวม 15,432 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Digital Marketing Specialist มีความต้องการ 4,313 ตำแหน่ง Customer Service Specialist มีความต้องการ 3,614 ตำแหน่ง และ Digital Platform Developer มีความต้องการ 3,176 ตำแหน่ง

11) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (National Defense) มีความต้องการกำลังคนรวม 5,219 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น Material Engineer มีความต้องการ 811 ตำแหน่ง Weapon Mechanic มีความต้องการ 711 ตำแหน่ง และ Aerospace Engineer มีความต้องการ 600 ตำแหน่ง

12) อุตสาหกรรมพัฒนาทักษะและกำลังคน (Workforce and Education) มีความต้องการกำลังคนรวม 13,306 ตำแหน่ง โดยเป็นความต้องการบุคลากรสำหรับสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษา รวม 12,254 ตำแหน่ง มีตำแหน่งงานที่สำคัญ เช่น IT Instructor มีความต้องการ 1,881 ตำแหน่ง และ Digital Competency Instructor มีความต้องการ 1,615 ตำแหน่ง และ Career and Skill Development Counsellor มีความต้องการ 532 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ยังมีความต้องการบุคลากรสายวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาทั้งสิ้น 1,052 ตำแหน่ง

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 26/8/2563

เทสโก้ โลตัส เตรียมจ้างพนักงานชั่วคราว 1 หมื่นตำแหน่ง คนสูงวัยก็สมัครได้

24 ส.ค. 2563 นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส และคณะได้ให้การต้อนรับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะที่เดินทางมาเยี่ยมชมธุรกิจเทสโก้ โลตัส ณ สำนักงานใหญ่ เพื่อพบปะและพูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการสร้างงานท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

นายสมพงษ์ เปิดเผยว่า เทสโก้ โลตัส พร้อมจ้างงานพนักงานแบบชั่วคราวรายชั่วโมงเพิ่มเติมเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสาขาทั่วประเทศ และรองรับการเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่องถึง 10,000 อัตราในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า

หากมีการออกกฎหมายแรงงานอนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส มีการจ้างงานทั่วประเทศกว่า 50,000 อัตรา และมีการจ้างนักเรียน นักศึกษา และผู้เกษียณอายุภายใต้โครงการ 60 ยังแจ๋ว อีกด้วย

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 24/8/2563

เกาหลีใต้อนุญาตให้แรงงานวีซ่า E-9 ที่สิ้นสุดสัญญาจ้างงานแล้ว สามารถสมัครทำงานภาคเกษตรได้อีก 3 เดือน

กระทรวงแรงงานและการจ้างงาน สาธารณรัฐเกาหลี (MOEL) ได้แจ้งประกาศเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2563 อนุญาตให้แรงงานวีซ่า E-9 ที่สิ้นสุดสัญญาจ้างงานแล้ว สามารถสมัครทำงานภาคเกษตรได้อีก 3 เดือน ระหว่างที่ยังเดินทางกลับประเทศไม่ได้ เพื่อทดแทนแรงงานชาวต่างชาติตามฤดูกาลที่ยังไม่อนุญาตให้เดินทางเข้ามาทำงานในขณะนี้ ดังนี้

1. อนุญาตให้แรงงาน E-9 ที่จะสิ้นสุดสัญญาจ้างงานตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน – 31 สิงหาคม 2563 หรือแรงงานที่ได้รับการขยายระยะเวลาการพำนักจากกระทรวงยุติธรรมยังไม่เกิน 50 วัน หรือได้รับการขยายระยะเวลาเดินทางออกจากเกาหลี (ยกเว้นผู้ที่ทำงานในภาคเกษตร/ปศุสัตว์ อยู่ในรอบสุดท้าย) สามารถสมัครเพื่อทำงานภาคเกษตรได้อีก 3 เดือน โดยไปติดต่อได้ที่ศูนย์จัดหางานในพื้นที่ด้วยตนเอง หรือสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.eps.go.kr หรือกรอกแบบคำร้องส่งไปที่ศูนย์จัดหางานโดยทางโทรสาร หรือไปรษณีย์ ได้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม – 7 กันยายน 2563 แบบคำร้องดาวน์โหลดได้ที่ https://korea.mol.go.th/download/form-agricul-temp

2. เมื่อแรงงานได้รับคัดเลือกให้ทำงานแล้ว จะได้รับการเปลี่ยนวีซ่าเป็นประเภท G-1 ให้ชั่วคราว โดยจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนวีซ่าซึ่งปกติต้องจ่าย 220,000 วอน และจะถูกส่งไปทำงานในพื้นที่ชนบทที่มีกำลังแรงงานตามฤดูกาลไม่เพียงพอ

3. แรงงานต่างชาติที่ทำงานตามฤดูกาลครบกำหนด สามารถเดินทางเข้ามาทำงานด้วยวีซ่า E-9 อีกครั้งได้ หากสมัครเข้าสอบภาษาเกาหลีพิเศษ จะได้รับคะแนนเพิ่มอีก 10 คะแนน และเสนอชื่อให้นายจ้างเลือกจ้าง เป็นอันดับแรก นอกจากนี้ หากแรงงานจะเปลี่ยนสถานะวีซ่าเป็น E-7-4 จะได้รับคะแนนเพิ่ม 1 – 3 คะแนน อีกด้วย

ที่มา: สำนักงานแรงงานไทย ณ กรุงโซล, 24/8/2563

สมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี ร้องรัฐ-ศบค.เปิดทางแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม ต.เทพนิมิต อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ประจำจุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา พร้อมรับฟังปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะความต้องการของประชาชนในพื้นที่ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร ที่จะมีขึ้นที่ จ.ระยอง ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค.นี้

โดยมี นายพงษ์พัฒน์ วงศ์ตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ และผู้แทนสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน สมาคมชาวสวนลำไย รวมทั้งตัวแทนเกษตรกรและผู้นำท้องถิ่นให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี และสมาคมชาวสวนลำไย จ.จันทบุรี ได้ร้องขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร โดยต้องการให้รัฐบาล และ ศบค.เร่งผ่อนปรนและอนุญาตให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายกลับเข้ามาในประเทศไทย เพื่อให้ทันต่อการเก็บลำไยนอกฤดูที่กำลังมีผลผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศรวมหลายล้านบาท จากผลผลิตรวมที่จะได้กว่า 300,000 ตัน

โดยในเบื้องต้น สมาคมชาวสวนลำไยได้ประชุมร่วมกับจังหวัดจันทบุรี และได้ทำหนังสือถึงรัฐบาล รวมทั้ง ศบค.เพื่อขอให้มีการผ่อนปรนเรื่องการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการเกษตร และขอให้รัฐบาลกำหนดมาตรการปฏิบัติในการนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่สถานที่กักตัว หรือ State Quarantine รวมทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน

ขณะที่ นายประภัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือมาเป็นอย่างดี ในวันนี้จึงต้องมีความระมัดระวังเรื่องการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ เพราะหากพบว่าเกิดอาการป่วยด้วยโรคดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้

ดังนั้น รัฐบาล และ ศบค.จึงต้องพิจารณามาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบ อย่างไรก็ดีตนเองพร้อมที่จะนำข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของสมาคมชาวสวนลำไย เข้าสู่ที่ประชุมใน ครม.สัญจร เพื่อหาทางช่วยเหลือภาคการเกษตรต่อไป

นายประภัตร ยังบอกอีกว่า การลงพื้นที่ จ.จันทบุรี ในวันนี้ยังได้รับทราบปัญหาในเรื่องภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่แนวชายแดน และได้เตรียมที่จะหาแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะ ยังได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมสอยดาว บ้านทับช้าง อ.สอยดาว พร้อมพบปะพูดคุยกับสมาชิกเกษตรกร ก่อนเดินทางไปรับทราบปัญหา อุปสรรคและติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาแหล่งน้ำทางด้านปศุสัตว์ และการเกษตร ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์จังหวัดจันทบุรี ต.วังแซ้ม อ.มะขาม อีกด้วย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/8/2563

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net