Skip to main content
sharethis

29 ส.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1 คน พบจากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,411 คน รักษาหายสะสม 3,242 คน เสียชีวิตสะสม 58 คน - สธ.เตือนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง หลังหลายประเทศกลับมาระบาดระลอก 2 - เผยนักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีน COVID-19 จากโปรตีนใบยาสูบ และแอนตีบอดียับยั้งไวรัส

29 ส.ค. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 30 ปึ อาชีพรับจ้าง เดินทางมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และเข้าพักใน State Quarantine ในจ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 26 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ

สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,411 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และตรวจพบในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 474 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,242 คน และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 111 คน ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

ด้านสถานการณ์ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 24,906,503 ราย อาการรุนแรง 61,188 ราย รักษาหายแล้ว 17,296,990 ราย ยอดผู้ เสียชีวิต สะสมรวม 841,290 ราย

สธ.เตือนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง หลังหลายประเทศกลับมาระบาดระลอก 2

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ขณะนี้ประเทศไทยจะไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว ขณะที่สถานการณ์การของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ยังคงพบการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง มีรายงานผู้ติดเชื้อทั่วโลกสะสม 24,906,503 ราย มีอัตราการการเพิ่มของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันกว่า 200,000 ราย ซึ่งประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด คือ สหรัฐอเมริกา, บราซิล และอินเดีย นอกจากนี้มีหลายประเทศกลับมาพบการระบาดในระลอกที่ 2 เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เวียดนาม เมียนมาร์ เป็นต้น

ดังนั้นความร่วมมือร่วมใจของประชาชนที่ตระหนักและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ไม่นำตัวเองไปสัมผัสกับความเสี่ยงต่างๆ เลี่ยงการไปอยู่ในสถานที่แออัดคนรวมกันจำนวนมาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ที่สำคัญคือเมื่อป่วยเป็นไข้ มีอาการระบบเดินหายใจ เช่น ไอ มีน้ำมูก ต้องอยู่บ้านพักรักษาตัวไม่ไปในสถานที่ต่างๆ ป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และลงทะเบียนเข้า-ออก สถานที่ในแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" ทุกครั้งที่เข้าใช้บริการในสถานที่ต่างๆ เพราะเมื่อหากพบผู้ติดเชื้อ จะใช้เป็นข้อมูลในการติดตามผู้สัมผัสนำเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคต่อไป

เผยนักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีน COVID-19 จากโปรตีนใบยาสูบ และแอนตีบอดียับยั้งไวรัส

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ไทยเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ว่า ล่าสุดนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย โดยบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และแอนติบอดีในการยับยั้งไวรัสได้สำเร็จ ซึ่งบริษัทใบยา ที่ถูกตั้งขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โดยตั้งบริษัทสตาร์ทอัพขึ้นจากการสนับสนุนหลายภาคส่วน ทั้งจุฬาฯ ศิษย์เก่าจากจุฬาฯ และ พันธมิตรต่างๆ ซึ่งการวิจัยพัฒนาได้ใช้เทคนิคการใส่รหัสพันธุกรรมลงไปในใบยาสูบชนิดพิเศษ ที่ไม่ใช่ยาสูบที่ใช้สูบทั่วไป หลังจากนั้นเมื่อใส่รหัสพันธุกรรมลงไป ใบยาสูบจะทำปฎิกิริยาและสร้างเป็นโปรตีนขึ้นมา

“จากการใช้เทคนิคดังกล่าวในการใส่รหัสพันธุกรรมในใบยาสูบจนได้โปรตีน ได้นำมาพัฒนาสำเร็จใน 2 ส่วน คือ 1.วัคซีนป้องกันโควิด -19 ซึ่งผ่านการทดลองในหนู และลิงเรียบร้อยแล้ว เหลือทดลองในคน เนื่องจากต้องนำมาทำให้บริสุทธิ์ก่อนฉีดคนมนุษย์ได้ โดยวิธีนี้แตกต่างจากเทคนิค mRNA และ 2.แอนติบอดียับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาในการรักษาผู้ที่มีอาการติดเชื้อ เบื้องต้นทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้วว่า สามารถยับยั้งไวรัสได้จริง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

เมื่อถามว่าความสำเร็จดังกล่าวมีการต่อยอดอย่างไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้องมีการผลิตให้บริสุทธ์ด้วยโรงงานที่มีศักยภาพ ซึ่งต้องลงทุนสูง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับภาครัฐ ขณะที่ตัวแอนติบอดียับยั้งเชื้อไวรัสนั้นผ่านการทดสอลในห้องทดลอง แต่ต้องผ่านการทดสอบระดับอื่นด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเช่นกัน

“ที่น่าเสียดายคือ โครงการนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเสนอทั้งกระทรวงสาธารณสุข หรือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ซึ่งจริงๆเรื่องนี้หากภาครัฐมาร่วมสนับสนุน จะทำให้สำเร็จได้มากขึ้น เพราะขณะนี้เดินมากว่าครึ่งทางแล้ว” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกจากการพัฒนามาจากใบยาสูบหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เทคนิคนี้มีการใช้มากกว่า 15 ปี แต่ทางเภสัชฯ จุฬาฯ โดย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ ดร. วรัญญู พูลเจริญ พร้อมด้วยทีมวิจัยมีการทำมากว่า 12 ปีแล้ว ซึ่งหลายคนไม่ทราบว่า จริงๆ ต้นไม้สามารถสร้างโปรตีนได้ เพียงแต่ต้องมีการชักนำด้วยใส่รหัสพันธุกรรมลงไป โดยต้นไม้อย่างใบยาสูบก็ต้องเป็นชนิดพิเศษอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทใบยา ไม่ได้ทำแค่เรื่องนี้ ก่อนหน้านี้ยังได้พัฒนาโปรตีนอื่นๆ เช่น ยาต้านอีโบลา ไข้สมองอักเสบ หรือเซรุ่มพิษสุนัขบ้า แต่เมื่อมีเรื่องโควิด-19 เข้ามา จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่หันมาทำเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติด้วย

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ [1] [2] | Hfocus

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net