Skip to main content
sharethis

เสวนาผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ในมุมมองนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย 'สามชาย ศรีสันต์' แนะชิงทำประชามติก่อน ย้อนใช้ฉบับปี 2540 ชั่วคราว 'ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ' ชี้การเมืองประชาธิปไตยมาจากสามัญสำนึก ไม่ใช่การเมืองของนักกฎหมายที่ต้องตีความแล้วตีความอีก

29 ส.ค. 2563 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดงานเสวนาวิชาการ “ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย: ไม่แก้ไข เขียนใหม่เท่านั้น” เพื่อเป็นเวทีในการสรรค์สร้างสังคมประชาธิปไตย และหาทางออกเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วม โดยในเวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ 'ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ในมุมมองนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย'

รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุที่ต้องยกร่างทั้งฉบับ เพราะมาตราต่างๆ ถูกโยกจนสร้างสังคมอีกแบบขึ้นมา จำเป็นต้องให้ความเห็นพ้องต้องกันมากที่สุดของคนในสังคม ไม่ใช่คนที่มีอำนาจกระจุกตัว

สิ่งสำคัญที่สุดคือ 1.รัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อประชาชน แต่ดีไซน์มาเพื่อใครบางคน ไม่ว่าจะองค์กรอิสระ หรือความเสื่อมถอยของกระบวนการยุติธรรม สถาบันทางสังคมที่ดำเนินอยู่เริ่มเสื่อมถอย ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีเสรีภาพ และยึดถือหลักการต่างๆไม่ได้  มีการประดิษฐ์คำใหม่ๆ เพื่อใช้ในการสร้างความชอบธรรมในการตีความเหล่านั้น เช่น บัตรเขย่ง หรือการถวายสัตย์ไม่ครบ ก็ให้เหตุผลเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนสองกลุ่ม ดำเนินการด้วยเรื่องทางการ ทำสิ่งต่างๆ ได้จากการตีความของเขาเอง

มีการตีความเรื่องทรัพยากร กำลังคน กำลังทหาร สถาบันชาติถูกทำให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว ตามความพึงพอใจ นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 60 ดีไซน์ขึ้นมา การให้เหตุผล เลือกนายก กลายเป็นนิยามใหม่ของ ส.ว. หน้าที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีให้มีอำนาจต่อไป

2. ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมทหาร ที่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาสูงสุด กฎระเบียบไม่เท่ากับคำสั่งของผู้บังคับบัญชา สั่งห้ามโต้แย้ง ถูก-ผิดไม่ต้องคิด แต่ต้องทำ เราจะพบคำว่า "ความมั่งคง" 17 คำ ในรัฐธรรมนูญ "ความมั่นคงของรัฐ" 10 คำ "สิทธิของประชาชน" มี 2 คำ หมายความว่าเป็นไปเพื่อความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก และความมันคงนี้้เองที่ทำให้ทหารสอดแทรกเข้าไปในทุกระดับของสังคม

การให้สิทธิ เสรีภาพกับประชาชน อยู่ภายใต้เงื่อนไขความมั่นคงของรัฐ เมื่อคุมไว้ แค่นี้ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะการชุมนุม ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับความมั้นคงของรัฐ การตรากฎหมายเช่นนี้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่คุ้นเคยคือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ออกมาเป็นประกาศ เพื่อไม่ให้กระทำ หรือสั่งให้ทำ ทหารเข้าไปแทรกแซงการจัดการที่ดิน ทรัพยากร ไม่ให้ใช้น้ำ ที่ใช้อำนาจนี้ได้ เพราะ พ.ร.บ.ความมั่งคงภายในราชอาณาจักร ให้อำนาจกับ กอ.รมน. โครงสร้างของทหารแทรกแซงในกระบวนการจัดการความมั่นคง ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น แผนแม่บทที่ทำลายทรัพยากร อย่าง "ทวงคืนผืนป่า" เอาคนออกจากป่า ซึ่งไม่เป็นข่าวเพราะถูกสกัดกั้นตั้งแต่ในพื้นที่ คือกระบวนการแทรกแซงในทุกระดับ ซึ่งกระทบกับชีวิตประจำวัน บางคนมีเอกสารสิทธิ์ลักษณะให้ยืมใช้ ก็ประกาศทับที่ชาวบ้าน ให้บริษัทเข้าไปจัดการในรูปแบบสัมปทาน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ เข้าไปควบคุมชาวบ้านไม่ให้มีปาก มีเสียง หรือออกมาชุมนุม นี่คือเรื่องหลักที่เขาพูดด้วยอารมณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก

รศ.ดร.สามชายกล่าวต่อว่า คำสั่งที่ลงมา ทำให้กระบวนการดำเนินไปจนหลักการต่างๆ สั่นคลอน ทหารเข้าไปแทรกแซงในแง่การเคลื่อนไหว ซึ่งมีช่วงที่เข้าไปในห้องเรียนด้วยซ้ำ แต่มีหลายกรณีที่สะท้อนว่า ในห้องเรียนไม่มีใครเป็นสลิ่ม มีแต่ครูเป็นสลิ่ม จึงคิดต่อไปว่า มหาวิทยาลัยที่ผลิตครูมากที่สุด ก็รับวินัยแบบทหาร ตั้งสถิติ 1 วินาที ให้รับปริญญากี่คน ล่าสุด 35 คนต่อนาที ซึ่งการแข่งทำสถิติ มีกระบวนการที่เชื่อมโยงกับวิธีคิดของทหาร ด้วยคำว่า วินัย เมื่อผลิตครูแบบนี้ เยาวชนก็ถูกกดทับ นี่คือภาพสะท้อนจากการกดทับไว้นาน 10 กว่าปีที่ผ่านมาทำให้เขาออกมาเรียกร้อง เพราะพึ่งพาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไม่ได้ 

ลามไปถึงระบบในมหาวิทยาลัย ปลูกฝังอำนาจนิยมต่อไปเรื่อยๆ เกิดกระบวนการวิปริต เหมือนทหารในบ้านที่จัดการทุกอย่าง แพทย์ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือคน กลับไปทำหน้าที่ไล่ล่าคนเห็นต่างกับตัวเอง ตั้งองค์กรไล่ลา ตำรวจแทนที่จะรักษาความปลอดภัย กลับไปคุกคาม เฝ้านักศึกษาหน้าหอพัก จนต้องจัดเวรยามมาดูแลกันเอง เกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อหนึ่งกลายเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ บ้านกะเหรี่ยง 200 กว่าปี ที่ถูกเผา เรือดำน้ำเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คือความวิปริตที่เราพูดไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะรัฐธรรมนูญเขียนยึดโยงไว้ ทั้ง มาตรา 3 มาตรา 6 มาตรา 7 ซึ่งสิทธิอำนาจ ต้องมากับหน้าที่ หน้าที่ต้องมากับความรับผิดชอบ แต่ผู้มีอำนาจไม่เคยรับผิดชอบ นี่คือปัญหา

รัฐธรรมคือตัวแบ่งอำนาจชัดเจน ไม่มีองค์กรใดเหนือรัฐธรรมนูญ ที่คณะราษฎรวางบรรทัดฐานไว้ แต่ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่ นี่คือรัฐธรรมนูญนิยมเผด็จการ โดยใช้วาทศิลป์ แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของประชาชน เพื่อประชาชน 

"ข้อเสนอที่ทำได้เร็วสุด คือ การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที ใช้เสียงของประชาชน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอธิปไตย ที่เป็นของประชาชน แสดงเจตจำนงแก้ไข เสียงออกมาเป็นอย่างไร ให้ผู้แทนดำเนินการให้เป็นไปตามผลการประชามติ คาดการณ์ว่า ส.ว.ก็ต้องทำตามเสียงประชามติ จะได้หมดข้ออ้างว่ารัฐธรรมนูญ 60 ผ่านการทำประชามติ ก็เริ่มที่ทำประชามติก่อนเลย โดยอาจใช้ รัฐธรรมนูญ 40 ชั่วคราวไปก่อน ยุบสภา และจัดการเลือกตั้ง ให้มี ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" รศ.ดร.สามชายกล่าว

'ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ' ชี้การเมืองประชาธิปไตยมาจากสามัญสำนึก ไม่ใช่การเมืองของนักกฎหมายที่ต้องตีความแล้วตีความอีก

ด้าน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญกับมุมมองประวัติศาสตร์ ว่าการรัฐประหาร นับแต่ปี 90 ยุติระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญหมดสิ้น นำไปสู่การมีพรรคการเมืองประชานิยมจนถึงปัจจุบัน โดยรัฐธรรมนูญ 40 เป็นการเข้าสู่ระบอบยอมรับหลักการ ปรับปรุงระบบต่างๆ เพื่อให้ระบอบการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สันติ และมีกิจกรรมได้อย่างชาวโลกเสียที

ปัญหาไม่ได้เกิดหลังจากการประท้วงของ พันธมิตร แต่เกิดจากความขัดแย้งของคณะราษฎร กับ ประชาธิปัตย์ฝ่ายอนุรักษนิยม ประชาชนไม่มีส่วน เวทีนี้จำกัดเฉพาะชนชั้นนำ หรือมาจากระบอบจารีตเก่า วิธีการจึงค่อนข้างแคบ และตัดสินกันได้ไม่ยาก แต่พันธมิตรเปิดเวทีการต่อสู้ทางการเมืองอีกระนาบ จากทุกภาคส่วนของสังคมหลังโลกาภิวัฒน์เติบใหญ่ มีทรัพยากร และจานดาวเทียม ทำให้การต่อสู้นั้นยืดเยื้อ หมุดหมายทางการเมืองก็ไม่ใช่การเมือง

การรัฐประหารที่แม้จะรุนแรง ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รุนแรงด้วยการนองเลือด เปลี่ยนรัฐบาลและเริ่มใหม่ แต่หลังพันธมิตรเวทีขยายไปมาก จุดหมายจึงไม่สามารถยุติลงได้ในวันสองวัน นานเข้าเกิดความเชื่อว่าจุดจบของการประท้วงคือ โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการสู้กันระหว่างอำนาจอธิปไตย และอำนาจของประชาชน เถียงกันได้ และจบลงด้วยการล้ม รัฐบาลด้วยกำลังรุนแรง ผลคือ หทารออกมายึดอำนาจ ไปเสริมให้ความขัดแย้งที่ไม่มีทางออกจบลง ด้วยการล้ม

"ต่อมามีการประท้วงของคนเสื้อแดงต่อต้าน ล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์อีกเช่นกัน ทั้งหมดมาในแพทเทิร์นดียวกัน คือ ไม่มีใครสามารถอ้างหลักการอันใดได้ แม่แต่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใด ก็อ้างไม่ได้ เมื่อใช้อำนาจในระบบไม่ได้ก็ใช้นอกระบบ ทั้งหมดนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ซี่งคนไม่พอใจ เพราะมีที่มาไม่ถูกต้อง จึงฟื้นความขัดแย้งระนาบเดิม คนที่ขวางต้องเอาออกหมด ดังนั้น จึงจะต้องมีเสถียรภาพ และคนยอมรับกฎหมายพื้นฐานในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเอาพลังการต่อรองสร้างระบอบที่ไปด้วยกันไม่ได้ จะเกิดการต่อต้านจากอีกฝ่าย ก็จะไม่จบ ตัวอย่างนั้น ทำให้ใครก็ตามที่เข้ามาสู่อำนาจ อยู่ไม่ได้ เหมือนที่ คสช.เผชิญอยู่ตอนนี้ ไม่ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่าผลจะมาเร็วขนาดนี้ นึกว่าอีกสัก 10 ปี แต่มันมาแล้ว" ศ.ดร.ธเนศกล่าว

ศ.ดร.ธเนศกล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เริ่มต่างจากวิธีการของสีเสื้อต่างๆ คือไม่ได้ต้องการใช้ปริมาณล้มรัฐบาล ที่สหรัฐอเมริกา ที่ไม่มีใครฉีกกฎหมาย เพราะทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าคือหลักการที่ยอมรับได้ เราควรจะเข้าสู่ระบบที่การใช้อำนาจ โดยต้องมีหลักการที่คนส่วนใหญ่รับรู้ ไม่ใช่ตีความกันเอง อย่างเช่น ศาลสูงสุดของอเมริกา เวลาตีความ จะตีความโดยดู 'มติมหาชน' เช่น เรื่องทำแท้ง ที่แม้จะเปลี่ยนกันไปมา แต่ระบอบการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญต้องผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ที่ไม่ผลัดกันไม่มีในประเทศไหนในโลก ต้องเป็นคอมมิวนิสต์แบบสีจิ้นผิงไป ไม่ต้องไปไหน อยู่บ้านดูทีวีช่องเดียว ไม่ใช่พอมีการเดินขบวนก็ไปตามจับ มันไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลา

"ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับต่อไปสามารถสร้างฐานการยอมรับได้ กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ เช่น สิทธิ เสรีภาพ การได้มาของรัฐบาล ที่วิญญูชนทุกคนยอมรับได้ การเมืองประชาธิปไตยมาจากสามัญสำนึก ไม่ใช่การเมืองของนักกฎหมาย ที่ซับซ้อน อ่านแล้วต้องตีความแล้วตีความอีก นั่นเป็นคณาธิปไตย หรือ การปกครองเฉพาะกลุ่มนักกฎหมาย สำคัญคือ ต้องเอามาทำ ไม่ใช่เขียนเพื่อลงโทษคนอื่น" ศ.ดร.ธเนศกล่าว

ชี้ข้อเรียกร้อง จุดยืน และความฝัน (คณะประชาชนปลดแอก) คือฉันทามติโดยนัย คือธงนำที่ต้องแบกไปให้ถึงฝั่ง

รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่ารัฐธรรมนูญในหลายประเทศมีหลักการพื้นฐานเป็นที่ยอมรับ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกคัดค้านตั้งแต่ก่อนประกาศใช้ ฉายารัฐธรรมนูญปราบโกง เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นแบบนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำ 2 อย่าง คือ 1.ทำให้ความวิปริตผิดเพี้ยนกลายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นกรรมการเลือก ส.ว. ผลัดกันเลือกตัวเองไปเป็น ส.ว. ไม่ต้องพูดถึง ป.ป.ช. กกต. และศาลรัฐธรรมนูญมีเรื่องให้ด่าจนเอือม และ 2.รัฐธรรมนูญนี้ไม่ยอมหรือขัดฝืนต่อความเปลี่ยนแปลง ถ้าต้องการแก้ไขแทบไม่เปิดช่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซึ่งหัวใจของรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ในโลก ระบบต้องเปิดโอกาสให้แก้ไขง่ายพอสมควรถ้ามีปัญหา รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกายังแก้ไข 20 กว่าครั้ง รัฐธรรมนูญปัจจุบันเปลี่ยนแปลงยากมาก มีกับดักหลุมพรางเต็มไปหมด จาก ส.ว. ผ่านไปอาจเจอศาลรัฐธรรมนูญอีก กินเวลาแน่นอน ต้องตั้งฉายารัฐธรรมนูญนี้ว่ากำลังทำให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟ

รศ.ดร.สมชาย ยังกล่าวถึงข้อสังเกตในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะประชาชนปลดแอกว่า 1.ข้อเรียกร้องหยุดคุกคามประชาชนและการไม่เอารัฐประหารนั้น เห็นได้ชัดการคุกคามยังมีอยู่ รัฐประหารจะมีหรือไม่ไม่รู้ กระบวนการเคลื่อนไหวต้องเตรียมรับมือ อย่างการที่นักเรียนควรไปหน้ากระทรวงศึกษาธิการ หากมีการคุกคาม การหยุดเรียนเพื่อรักษาสวัสดิภาพของนักเรียนเป็นสิ่งพึงกระทำ และลองเสนอมาตรการตอบโต้การรับประหาร เพราะการเผชิญหน้าระบอบอำนาจนิยมต้องมีตระเตรียม การใช้ความรุนแรงสู้รัฐไม่ได้

2. เราคงเคยได้ยินคำว่าสงครามครั้งสุดท้าย ถ้า นายกฯ และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกเรื่องไม่จบ รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลาออกไม่จบ ออกไปทั้งรัฐบาลไม่จบ เราจะขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จังหวะที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่การโค่นล้มรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ต้องจำแนกเป้าหมายระยะสั้นระยะยาว ทั้งการต่อสู้เชิงโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรม ไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย

3. ต้องแยกมิตรแยกฝ่ายตรงกันข้าม เราเห็นคนจำนวนไม่น้อยที่ยืนตรงข้ามประชาธิปไตย หันกลับมามีจุดยืนประชาธิปไตย นี่คือความสำเร็จของความเคลื่อนไหว การขยายแนวร่วมโดดเดี่ยวเผด็จการเป็นเรื่องจำเป็น การแยกกันเดินตีกันเองอย่าให้เกิด รายละเอียดต่างกันได้ต้องจำแนกให้ได้ พวกชัยชนะเสียงข้างน้อยอยู่ได้ยาวนาน เพราะเหนียวแน่นผิดถูกกอดกันไว้ก่อน กลุ่มเสียงข้างมากอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

4. ข้อเรียกร้อง จุดยืน และความฝัน (คณะประชาชนปลดแอก) คือฉันทามติโดยนัย คือธงนำที่ต้องแบกไปให้ถึงฝั่ง 

ส่วนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมชาย กล่าวว่า แนวทางแรกการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการนี้ใช้เวลาแน่นอน เกินปี 2 ปี และสุดท้ายต้องกลับไปลงประชามติ ผลก็อาจเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง แนวทางที่สองแก้ไขรายมาตรา อาจพุ่งเป้าสำคัญในประเด็นที่ไม่ต้องทำประชามติ เช่นเรื่อง ส.ว. ที่ถูกพุ่งเป้า ระบบเลือกตั้งที่พิศวง ความเห็นขัดแย้งในการแก้ไขไม่ใช่เรื่องแปลก รัฐธรรมนูญตั้งใจร่างไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ขณะที่การเคลื่อนไหวล่าลายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ สามารถระดมชื่อได้มากในเวลาอันสั้น สะท้อนความไม่พอใจของสังคม ถ้าเราได้รายชื่อเป็นแสนยิ่งดี มีส่วนกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ที่เราขยับมาได้จนถึงขณะนี้เพราะการเมืองนอกสภามีความสำคัญ เราจะรักษาให้หนักแน่นกว้างขวางมากขึ้นอย่างไร ให้รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขได้

ด้าน ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดจากแรงกดดันทางการเมือง ความเปราะบางทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องยอมถอยออกมา เพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี โดยแบ่งออกช่วงแรก 4-5 เดือน ซึ่งรัฐบาลยอมถอยให้มีการตั้ง สสร. แม้รัฐบาลจะไม่เต็มใจให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เท่าไหร่ แต่ก็เชื่อว่าถ้ารัฐบาลมีโอกาสพลิกเกมส์ได้เขาจะทำอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องพยายามรักษาบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ไว้เพื่อ สสร. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ อย่างไรก็ตามสำหรับ สสร. จึงต้องมีการเลือกตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างกติการ่วมกันเพราะเราไม่อยากเป็นผู้ชนะเพียงฝ่ายเดียวในระยะที่ 2 คือการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี โดยมีเนื้อหาหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไขโดยเฉพาะการเลือกตั้ง ในฝั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ หน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน​แห่งชาติ ​(กสม.)​ รวมถึง ส.ว.มีความจำเป็นว่าต้องยังมีอยู่หรือไม่ เป็นต้น จากนั้นก็เข้าสู่ระยะสุดท้ายคือการมีรัฐบาลใหม่ภายใต้กติกาของประชาชนผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย สสร.

ที่มาเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์ [1] [2] | กรุงเทพธุรกิจ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net