“เราเรียกร้องเพื่อให้อำนาจที่กดทับในทุกมิติพังลง” ม็อบในมุมของ ‘แรปเตอร์’

ชวนคุยกับ ‘แรปเตอร์’ ผู้ดำเนินรายการกลุ่มประชาชนปลดแอกเล่าถึงปรากฏการณ์ที่ผู้หญิงและ LGBT ในม็อบมีบทบาทเพิ่มขึ้น ยืนยันไม่โดนล้างสมอง เพียงแต่เกิดคำถามกับแบบเรียนและสภาพสังคมที่เป็นอยู่ พร้อมภาพฝันที่อยากให้เกิดความเท่าเทียมในทุกมิติ

 


 

"หน้าหนูดูง่วงไหมคะ เมื่อคืนหนูไป สภ.คลองหลวงมา หนูก็เลยจะเปื่อยๆ นิดนึง"

แรปเตอร์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกคณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มเสรีเทยพลัส ผู้ดำเนินรายการของหลายม็อบในช่วงที่ผ่านมาถามเราระหว่างถ่ายสัมภาษณ์

เธอหมายถึงเมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม 'ไมค์-ระยอง’ หรือ ภาณุพงศ์ จาดนอก ผู้ขึ้นปราศรัยในงานชุมนุม 'ธรรมศาสตร์จะไม่ทน' เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ซึ่งหลังจากมีการจับกุมก็มีประชาชนหลายคนเดินทางไปให้กำลังใจไมค์ที่ สภ. แรปเตอร์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น

เมื่อเจอแรปเตอร์ขณะที่ยังไม่แต่งองค์ทรงเครื่อง หรือที่เรียกว่าการแต่ง 'แดร็กควีน’ เราแทบจำไม่ได้ว่าเธอคือคนเดียวกับผู้ดำเนินรายการเอนเนจี้แรง ตลก สนุกสนานที่มาพร้อมสาระและประเด็นเฉียบมัดใจผู้ชุมนุมอยู่หมัด ตั้งแต่ 'ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล' จนมาถึงม็อบใหญ่ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา

เรามีหลายเรื่องที่อยากคุยกับเธอ ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งน่าสนใจที่คนรุ่นนี้ไม่ได้มีการชุมนุมแบบเดิมที่เคยเป็นภาพจำของเราอีกต่อไป ไม่ใช่การชุมนุมยาวนานนอนค้างอ้างแรม หรือภาพลักษณ์ปราศรัยของผู้ชุมนุมที่เน้นความจริงจัง เข้มแข็ง เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป การชุมนุมรอบนี้คือแฟลชม็อบ ที่มีธีมการชุมนุมตามป็อปคัลเจอร์ ตั้งแต่หอแต๋วแตก แฮมทาโร่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนผู้มีความสนใจตามธีมอันหลากหลายนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรม

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือปรากฏการณ์ที่ผู้เข้ารวมชุมนุม ผู้ขึ้นปราศรัย หรือผู้ดำเนินรายการ มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้หญิงและกลุ่ม LGBT ขยับขึ้นมีบทบาทและส่วนร่วมในการชุมนุมไม่แพ้ผู้ชาย

กลุ่มผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมก็มีหลากหลายอัตลักษณ์และประเด็นของกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้หญิงปลดแอกที่พูดประเด็นทำแท้งถูกกฎหมาย กลุ่มเปอร์มาสที่พูดถึงปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) ที่พูดเรื่องปัญหาที่ทำกินกับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงที่เข้าร่วมชุมนุมในฐานะคนเสื้อแดงด้วยความภาคภูมิใจ

“เราคิดว่ามันคือการรวมคนทุกกลุ่มเข้ามา ปรากฏการณ์สำคัญคือการพูดถึงคนเสื้อแดงอีกครั้ง มัน 10 ปี พอดีกับการล้อมปราบคนเสื้อแดง หลังจากที่เขาถูกลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ถูกเรียกเป็นควายแดง เขาถูกทาสีให้กลายเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นภาพของความรุนแรง เราเคยคุยกับพี่น้องเสื้อแดงหลายคน ตอนนั้นเขาต้องซ่อนตัว เอาเสื้อไปเผาทิ้ง เอาพร็อบต่างๆ ตีนตบ ผ้าผูกผม ไปเผาทิ้งหมดเลย เพราะมันถูกตีตราหนักมากในสังคม ตอนนั้นใครประกาศตัวเป็นเสื้อแดงอยู่ยากมาก

"แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เรากลับมาโอบรับและพูดถึงคนเสื้อแดงในฐานะที่เขาเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาก่อนเรา เรากลับมาให้คุณค่า และชื่นชมวีรกรรมของพวกเขาในฐานะที่พวกเขาเคยถูกกดขี่ เคยถูกความอยุติธรรมทำร้ายมาก่อน เคยถูกตีตรามาก่อนว่าเป็นคนชังชาติ เหมือนที่เราโดน เป็นการโอบรับคนทุกกลุ่มในสังคมที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มาต่อสู้ด้วยกัน โดยที่เราไม่ได้ลบตัวตนของเขาออกไป ไม่ใช่ว่ามาอยู่ตรงนี้แล้วเรากลายเป็นสิ่งใหม่ แต่เราเอ็มพาวเวอร์คนทุกกลุ่ม เราอยู่ตรงนี้ในฐานะความหลากหลายของผู้คน ที่ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันในแง่ของอัตลักษณ์ แต่เป็นหนึ่งเดียวกันในแง่ของอุดมการณ์และการต่อสู้ ซึ่งอันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและทำให้มีพลังมากในยุคนี้” แรปเตอร์แสดงความเห็น

เราชวนเธอคุยยาวๆ ถึงปรากฏการณ์ของการชุมนุมในภาพใหญ่ที่เกิดขึ้น วิธีคิดของคนรุ่นใหม่ ภาพฝันของสังคมนี้ของเธอ และความกลัว ความกังวลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

 

 

เคยทำอะไรมาก่อน มาเข้าร่วมกับการชุมนุม เป็นผู้ดำเนินรายการได้ยังไง

หลังจากวันที่ 18 ก.ค. ที่มีแฟลชม็อบของกลุ่มเยาวชนปลดแอก แล้วก็มีแฟลชม็อบตามมาเรื่อยๆ มีแฮชแท็กขึ้นมาในทวิตเตอร์คือ #ไอเดียออกม็อบ เราก็เลยทวีตไปเล่นๆ ว่าถ้าเราจะทำม็อบ LGBT จะมีธีมอะไรให้เข้ากับวัฒนธรรมเควียร์ในไทย ก็เลยกลายเป็นม็อบหอแต๋วแตกขึ้นมา คนรีทวีตไปเยอะ แล้วก็มีคนชวนว่าลองมาทำจริงกัน เลยเกิดเป็นม็อบ 'ไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล' ขึ้นมาในวันที่ 25 ก.ค. ซึ่งตอนนั้นเราก็เป็นเอ็มซี (ผู้ดำเนินรายการ) ก่อนหน้านั้นเราก็ได้ฝึกสกิลการเป็นเอ็มซีจากงานตั้งแต่สมัยม.ปลาย ถึงมหาวิทยาลัย งานรับน้องต่างๆ

หลังจากวันนั้นเราก็คิดว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ก็มีการรวมตัวของกลุ่มกิจกรรมหลายกลุ่ม ตั้งเป็นคณะประชาชนปลดแอกขึ้นมา แล้วเราก็ได้เป็นเอ็มซีในงานใหญ่วันที่ 16 ส.ค. ด้วย

 

จุดเริ่มต้นของแนวคิดทางการเมืองเริ่มจากไหน

ถ้าย้อนกลับไป แนวคิดทางการเมืองเราค่อนข้างพลิกผัน ตอนแรกเราไม่ได้สนใจกิจกรรมทางการเมืองเลย ใช้ชีวิตวันๆ แต่อยู่ดีๆ ก็มาเป็นนักกิจกรรมเลยอย่างงงๆ จาก แฮชแท็กไอเดียออกม็อบ

มุมมองทางการเมือง ตอนแรกเราก็คงเป็นพวก ignorant (เพิกเฉย) กลายๆ เราทุกคนในประเทศไทยถูกสอนว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก เป็นเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ เป็นเรื่องอำนาจ การช่วงชิงผลประโยชน์ ซึ่งเราไม่ชอบ แต่พอม.ปลาย เรามีครูสอนประวัติศาสตร์ที่พาให้เราตั้งคำถามกับหลายๆ อย่างในประวัติศาสตร์ เราเริ่มตั้งคำถามว่าหรือจริงๆ สิ่งที่เราเชื่อมาตลอดมันไม่ใช่ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น มีมุมมองต่อสถาบันทางการเมืองต่างๆ มากขึ้น เริ่มรู้สึกว่าเราซับพอร์ทฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ยังไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร

เราขึ้นม.ปลายตอนมีการรัฐประหารพอดี มันเลยเหมือนเราโตมากับรัฐบาลนี้ เราอยู่มาเรื่อยๆ เรารู้สึกว่ามันปกติ เพราะเราเป็นชนชั้นกลาง เรามี privilege (อภิสิทธิ์) มากพอที่จะอยู่ได้โดยไม่ลำบากมาก จนมาถึงช่วงโควิดที่เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันแย่ลงมากๆ ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ตัวเราอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่เราเห็นเพื่อนๆ เราเริ่มออกมาต่อสู้ ต่อต้าน เราได้อ่านคอนเทนต์หลายๆ อันที่พูดถึงความลำบากในช่วงโควิด โดยเฉพาะคนทำมาค้าขายที่เขาลำบากมาก ขายไม่ได้ หลายคนต้องหยุดงานไปเลย เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ละ แต่ยังไม่รู้จะแสดงออกยังไง จนกระทั่งมีม็อบขึ้นมา แล้วเราก็เห็นว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้างให้สังคม อาจจะพูดได้ว่าช่วงโควิดเป็นช่วงจุดประกายทางการเมืองเหมือนกัน ทำให้เราเห็นการบริหารที่ไม่ได้คุณภาพของรัฐบาล

 

การมีคนอย่างสมเจียม ปวิน มันทำให้เราตั้งคำถามว่าสิ่งที่เรารู้มาในประวัติศาสตร์หลักสูตรกระทรวงมันเป็นเรื่องจริงไหม แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลของสมเจียม ปวินเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว แต่มันทำให้เราได้ตั้งคำถาม ได้เห็นมุมมองอื่น ที่มันก็มีเหตุผลเหมือนกันในการรับรู้ประวัติศาสตร์... เพราะฉะนั้นอย่าเรียกว่าล้างสมองเลย เขาจุดประกายให้เราตั้งคำถามมากกว่าให้เราเชื่อตามเขา

 

เวลาผู้ใหญ่บอกว่าเด็กพวกนี้ถูกล้างสมองจากธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ปิยบุตร (แสงกนกกุล) สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ปวิน (ชัชวาลพงศ์พันธ์)  เราคิดยังไง

ถ้าใช้คำว่าล้างสมอง มันเหมือน mind control (ควบคุมจิตใจ) ซึ่งมันไม่ใช่ แต่ต้องยอมรับว่าเขามีอิทธิพลต่อเราในแง่ว่าทำให้เรามองโลกในมุมที่ต่างออกไป

ที่ผ่านมาสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้หลายๆ คนสิ้นหวัง โลกที่เราอยากอยู่แม่งไม่มีทางเกิดขึ้นจริงหรอก ช่างแม่ง ใช้ชีวิตไปวันๆ หลายคนอยากออกจากประเทศไทยไปเลย การเกิดขึ้นมาของพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เยาวชนหลายคนที่เป็น first voter รวมทั้งเราเห็นว่าจริงๆ แล้วมีสิ่งที่เราสามารถสร้างได้ เราเห็นโลกที่เราอยากจะอยู่ขึ้นมาได้ ไม่ได้หมายความว่าการเกิดขึ้นมาของพรรคอนาคตใหม่ทำให้เราเห็นความหวัง แต่มันทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วการเมืองสามารถเป็นเรื่องของทุกคนได้ เราสามารถมีสิทธิมีเสียงทางการเมืองได้ อุดมการณ์สามารถเกิดขึ้นจริงได้

สมศักดิ์เจียม หรือปวิน เขาก็ให้ข้อมูลแบบที่ไม่ใช่ความรู้ประวัติศาสตร์กระแสหลัก เราโตมากับหลักสูตรของกระทรวง ซึ่งมันก็รับใช้รัฐบาล หลักสูตรการศึกษามันก็เป็นการเมืองแบบหนึ่งที่เลือกจะปลูกฝังแนวคิดบางอย่างกับเยาวชน การมีคนอย่างสมเจียม ปวิน มันทำให้เราตั้งคำถามว่าสิ่งที่เรารู้มาในประวัติศาสตร์หลักสูตรกระทรวงมันเป็นเรื่องจริงไหม แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลของสมเจียม ปวินเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว แต่มันทำให้เราได้ตั้งคำถาม ได้เห็นมุมมองอื่น ที่มันก็มีเหตุผลเหมือนกันในการรับรู้ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ไทยสอนให้เราจำ ให้เราท่อง ให้เรารับอย่างเดียว แต่ไม่สอนให้เราคิด ทั้งที่เขาก็สอนเรื่องกระบวนการทางประวัติศาสตร์ ต้องวิเคราะห์ สังเคราะห์ แต่มันไม่เกิดแบบนั้นขึ้นในกระบวนการเรียน แต่อาจารย์ทั้งสองท่านทำให้เราตั้งคำถาม วิเคราะห์สิ่งที่เราเรียนมาตามกระบวนการทางประวัติศาสตร์มากกว่า เพราะฉะนั้นอย่าเรียกว่าล้างสมองเลย เขาจุดประกายให้เราตั้งคำถามมากกว่าให้เราเชื่อตามเขา

เรารู้สึกว่าสังคมแบบนี้เป็นสังคมที่เราไม่อยากอยู่ เป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่สำหรับเรา เราตัดสินทุกคนตลอดเวลา ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกคนมีเกียรติ มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากับเรา โลกในอุดมคติของเราคือทุกคนเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน

สิ่งที่ประชาชนปลดแอกต้องการคือล้างตัวระบบนี้ใหม่ เอา ส.ว. ออกไป ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้แก้ได้ทุกหมวด มาตรา เพื่อปลดล็อกให้เสียงของประชาชนทุกคนถูกรับฟังอย่างแท้จริง และพาเราไปสู่ภาพฝันที่เราต้องการได้

 

เราฝันอยากเห็นการเมืองแบบไหน ประเทศแบบไหน เหมือนหรือต่างไหมกับข้อเรียกร้อง จุดยืน ความฝันของประชาชนปลดแอก

จริงๆ แล้วเราอยากเห็นโลกที่ทุกคนเท่าเทียมกันไม่แบ่งแยกโดยปัจจัยหลายอย่าง เช่น อย่างเราขับเคลื่อนเรื่องเพศเป็นหลัก เราก็ไม่อยากเห็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ เราพูดถึงการสมรสเท่าเทียม เราพูดถึงการทำให้อาชีพขายบริการทางเพศถูกกฎหมาย เพราะสังคมเราเป็นสังคมที่ทำให้เกิดการกดขี่ตีตราได้ง่ายมาก ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือพนักงานบริการทางเพศอยู่ในสังคมอย่างไร้เกียรติ

เรารู้สึกว่าสังคมแบบนี้เป็นสังคมที่เราไม่อยากอยู่ เป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่สำหรับเรา เราตัดสินทุกคนตลอดเวลา ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกคนมีเกียรติ มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากับเรา โลกในอุดมคติของเราคือทุกคนเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ทุกคนเท่าเทียมกัน 

ในช่วงม็อบ กปปส. ก็มีคนบอกว่า คนจะเลือกตั้งได้ต้องมีใบปริญญา ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เลย คุณกำลังเอามุมมองของคุณไปตัดสินคนอื่น คุณกำลังลดทอนคุณค่า สิทธิเสรีภาพของคนอื่น เพียงเพราะเขาไม่เหมือนกับคุณ เขาไม่มี privilege เหมือนกับคุณ

หรือเรื่องชนชั้นทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เพื่อให้เราอยู่ได้อย่างมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ก้าวหน้าไปพร้อมกันได้ 

ถามว่าสอดคล้องกับข้อเรียกร้อง จุดยืน ความฝันของประชาชนปลดแอกรึเปล่า ต้องบอกว่าข้อเรียกร้อง จุดยืน ความฝันของกลุ่มมีเพื่อทำให้สังคมที่ยังเหลื่อมล้ำ ยังถูกกดขี่อยู่มันพังลง เราเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แม้คุณจะเคลมว่ารัฐธรรมนูญนี้ผ่านการทำประชามติมา แต่คุณใช้กฎหมายในการไล่ปิดปากคนที่ออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ เราจะเห็นว่าเสียงสะท้อนของประชาชนไม่ได้ถูกรับฟังในรัฐบาลชุดนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สิ่งที่ประชาชนปลดแอกต้องการคือล้างตัวระบบนี้ใหม่ เอา ส.ว. ออกไป ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้แก้ได้ทุกหมวด มาตรา เพื่อปลดล็อกให้เสียงของประชาชนทุกคนถูกรับฟังอย่างแท้จริง และพาเราไปสู่ภาพฝันที่เราต้องการได้

โดยส่วนตัวแล้วเราเคยเจอประสบการณ์โดนเหยียดเพศไหม

เราโชคดีที่เกิดมาเป็นชนชั้นกลาง มี privilege และเราตรงสเตอร์ริโอไทป์ (การเหมารวม) ในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เราตลก กล้าแสดงออก แต่งหญิง เพราะฉะนั้นเราจะใช้ชีวิตง่ายกว่าคนที่ไม่ตรงสเตอร์ริโอไทป์ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ถูกคาดหวังให้เราจะต้องไปเป็นตัวตลก ต้องไปทำสิ่งนู้นสิ่งนี้ตามที่เขาคาดหวัง ซึ่งโอเคเราทำได้ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราพอใจจะทำ การเหยียดที่เกิดขึ้นกับเราจึงไม่ใช่การยี้ แต่คือการถูกคาดหวังจากสังคมว่าให้เราเป็นแบบนั้นแบบนี้

ขณะเดียวกันเราก็ได้รู้จักเพื่อนพี่น้องของเราที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่เขาซัฟเฟอร์จากการถูกเหยียด เช่น หลายคนถูกพ่อแม่พูดไม่ดีใส่ ถ้าจะเป็นก็ออกจากบ้านไปเลย หลายคนถูกเลือกปฏิบัติ ถูกล้อเลียน ถูกบูลลี่ 

เราไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับรุ่นต่อๆไป เราอยากให้สังคมปลอดภัยกับเขา

ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศนี้มันไปด้วยกันกับประเด็นที่กลุ่มอื่นๆ ออกมาเรียกร้องไหม

เราคิดว่าสอดคล้องกัน เรากำลังเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มันคือสิทธิมนุษยชน คือคุณค่าที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะมีในตัวเอง โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เพราะฉะนั้นในทุกมิติที่มีการเรียกร้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือเรื่องเพศ คนหลายกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจได้ คนที่อำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่าก็เข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีได้มากกว่า เข้าถึงแหล่งที่สามารถสร้างทุนให้ตัวเองได้มากกว่า มันเป็นเรื่องของอำนาจที่มันกดทับอยู่ในทุกมิติ

เป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อทำให้การเรียกร้องสิ่งเหล่านี้เดินต่อไปได้ และมันคือเป้าหมายของระบอบการปกครองที่ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีสิทธิเท่าเทียมกัน ก้าวต่อไปได้ในทางของตัวเอง

สังคมที่มันกดเราตลอดเวลา พ่อแม่จะหาว่าเราเถียงเวลาเราแสดงความคิดเห็น ครูว่าเราเวลาเราตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นหลายคนไม่เคยถูก encourage (ให้กำลังใจ) empower (เสริมพลัง) ให้รู้จักสิทธิของตัวเอง เราถูกสอนให้รู้จักแต่หน้าที่ เพราะฉะนั้นเราจะถูกสั่งให้ทำนู่น ทำนี่ ทำนั่น ตลอดเวลา เราไม่เคยถูกบอกเลยว่าจริงๆ แล้วเรามีสิทธิอะไรบ้าง เราเรียกร้องอะไรได้บ้าง 

 

การเกิดขึ้นของทวิตเตอร์ หรือปรากฏการณ์เฟมทวิต มันทำให้คนรู้สึกว่าเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง หรือกล้าที่จะออกมาเรียกร้อง ทวิตเตอร์จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการที่ผู้หญิงและ LGBT ออกมาต่อสู้เรียกร้อง และออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นในเวทีทางการเมือง

การมีผู้หญิงและกลุ่ม LGBT ออกมานำการเคลื่อนไหวมากขึ้น เรามองว่ายังไง

ภาพการเคลื่อนไหวทางการเมืองมันเป็นภาพของผู้ชายมาโดยตลอด เป็นโลกของผู้ชายมากๆ เพราะ norm ของสังคมก็ยังมองว่าเรื่องของอำนาจ การปกครอง เป็นเรื่องของผู้ชาย เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือผู้หญิง ไม่ถูกได้ยินเสียงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เคยมีสิทธิมีเสียง ไม่ได้ถูกพูดถึงอย่างมีความสำคัญในทางการเมือง

กระทั่ง ส.ส. ผู้หญิงที่เข้าไปในสภาก็ยังถูกเรียกว่าเป็น ส.ส. ไม้ประดับ หรืออย่างคุณยิ่งลักษณ์ก็ถูกโจมตีในเรื่องเพศมากกว่านายกฯ ที่เป็นเพศชาย อย่างคำว่า "กะหรี่เร่ขายตัว หญิงชั่วเร่ขายชาติ" เพราะฉะนั้นกลุ่ม LGBT ที่ผู้หญิง บทบาททางการเมืองจะถูกด้อยค่ากว่าผู้ชายมากๆ ในเวลาที่ผ่านมา

สังคมที่มันกดเราตลอดเวลา พ่อแม่จะหาว่าเราเถียงเวลาเราแสดงความคิดเห็น ครูว่าเราเวลาเราตั้งคำถาม เพราะฉะนั้นหลายคนไม่เคยถูก encourage (ให้กำลังใจ) empower (เสริมพลัง) ให้รู้จักสิทธิของตัวเอง เราถูกสอนให้รู้จักแต่หน้าที่ เพราะฉะนั้นเราจะถูกสั่งให้ทำนู่น ทำนี่ ทำนั่น ตลอดเวลา เราไม่เคยถูกบอกเลยว่าจริงๆ แล้วเรามีสิทธิอะไรบ้าง เราเรียกร้องอะไรได้บ้าง

การเกิดขึ้นของทวิตเตอร์ หรือปรากฏการณ์ 'เฟมทวิต' (การเคลื่อนไหวของคนที่มีแนวคิดสตรีนิยมในทวิตเตอร์) มันทำให้คนรู้สึกว่าเรามีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง หรือกล้าที่จะออกมาเรียกร้อง ทวิตเตอร์จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการที่ผู้หญิงและ LGBT ออกมาต่อสู้เรียกร้อง และออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นในเวทีทางการเมือง

ทวิตเตอร์อาจจะเรียกว่าเป็นสังคม echo chamber (สังคมที่สะท้อนแต่เสียงของฝ่ายตัวเอง) แบบหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับการ encourage empower รู้สึกว่ามีความสามารถที่จะออกมาได้เหมือนกัน และความเร็วของสื่อออนไลน์ก็ทำให้การขยายตัวของคนกลุ่มนี้เร็วมากขึ้นเรื่อยๆ

ม็อบที่เกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.ค. ก็อาจจะยังเรียกว่าเป็นม็อบแบบยุคเก่า คือขึ้นปราศรัย เป็นผู้ชายส่วนใหญ่ มีเอนเนจี้ความเป็นชายสูงมาก ตอนที่เราทำม็อบของเราเองเราจึงอยากเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีสิทธิมีเสียงทางการเมือง

นักกิจกรรมหลายคนก็เป็นกลุ่ม LGBT และเขาไม่ได้ปฏิเสธ เพียงแต่เขาถูกซ่อนไว้ภายใต้ภาพลักษณ์ความเป็นนักกิจกรรม เราก็อยากจะเปิดเผยอัตลักษณ์เหล่านี้ไปพร้อมกับที่สามารถพูดเรื่องการเมืองไปได้ด้วย ม็อบของเราก็เลยเป็นม็อบแบบนั้น กลิ่นของกิจกรรมทั้งหมดก็เป็นเควียร์คัลเจอร์ในไทย และมีการแตะหลายประเด็นที่อาจไม่ได้ถูกพูดถึงมากในเวทีอื่น เช่น เรื่องบริการทางเพศ เรื่องการเกณฑ์ทหาร เรื่องความหลากหลายทางเพศ ม็อบของเราทำให้หลายๆ คนเห็นว่าผู้หญิง LGBT ก็สามารถลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อสังคม การเมืองได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องสมาทานคุณค่าความเป็นชายเพื่อจะได้มีตัวตนในกลุ่มนักเคลื่อนไหว

หลังจากม็อบเราก็มีม็อบแฮมทาโร่ ซึ่งคนที่เป็นต้นไอเดียก็เป็นน้องผู้หญิงมัธยมด้วย จะเห็นว่าการขับเคลื่อนการเมืองในยุคใหม่ผู้หญิงเยอะขึ้น LGBT เยอะขึ้น ขณะเดียวกันแนวทางบางอย่างก็เปลี่ยนไป กลิ่นบางอย่างเปลี่ยนไป มีความ Healthy มากขึ้น สนุกสนานมากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างที่เขาเรียกว่าเป็นม็อบป็อปคัลเจอร์

เป็นบรรยากาศที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เคยเห็นภาพการเมืองเก่าว่ามันจะต้องรุนแรง มีการล้อมปราบ มีการฆ่ากัน ยิงกัน ปะทะกัน รู้สึกปลอดภัย ทำให้หลายคนกล้าจะออกมามากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงและ LGBT ที่ norm (บรรทัดฐาน) ของผู้หญิงจะต้องระวังตัว ดูแลตัวเอง ไม่รุนแรง ภาพการเมืองเก่าที่มันเป็นผู้ชายมากๆ มันไม่ปลอดภัยสำหรับเขา พอเป็นภาพใหม่ๆ ที่มีความปลอดภัย สนุกสนาน คนกลุ่มนี้ก็เลยรู้สึกว่าออกมาได้

เราต้องทำลายกรอบคิดเรื่องเพศของเขา วิธีการพูดแบบตลกของเราต้องไม่ถูกลดทอนเพียงเพราะเราไม่ได้พูดอย่างเข้มแข็ง

 

แต่บทบาทของ LGBT ที่ออกมาเรียกร้อง มองไหมว่ามันก็ยังเป็นบทบาทที่ต้องออกมาสนุกสนาน ตลก อย่างเดียวเท่านั้น

เราคิดว่ามันยังมีปัญหาอยู่ การออกมาเรียกร้องของเราที่แต่งหญิงขึ้นเวทีก็ยังถูกโจมตีแม้กระทั่งกับฝ่ายเดียวกันว่ามันดูไม่สุภาพ ดูไม่เรียบร้อย ดูไม่ขึงขัง ดูไม่จริงจัง ซึ่งภาพลักษณ์ขึงขัง จริงจังแบบนั้นมันเป็นภาพลักษณ์ที่ผูกติดกับความเป็นชาย ขณะเดียวกันเขาก็ลดทอนประเด็นหรือคุณค่าของสิ่งที่เราพูด ว่ามันเป็นเรื่องไม่จริงจัง เป็นเรื่องตลกไร้สาระ 

ไม่ต้องพูดถึงกลุ่มที่ต่อต้าน เขาก็โจมตีเราว่าฟังไปได้ยังไง พวกวิปริตผิดเพศ มีคนอย่างมึงสังคมมันถึงวิปริตขนาดนี้ เราว่ามันเป็นปัญหาใหญ่มากที่ยังคงอยู่

เราเองก็มีความสเตอริโอไทป์ ตลก เสียงดัง กล้าแสดงออก เราก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ในการเป็นเอ็มซี ทำให้คนไม่เบื่อจนเกินไป มันทั้งมีประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน ความตลกของเราก็ทำให้บรรยากาศมันผ่อนคลาย ขณะเดียวกันก็ถูกลดทอนประเด็นที่เราพูด และถูกคาดหวังว่าจะต้องตลก ซึ่งเราคิดว่าคุณคาดหวังได้ แต่คุณไม่มีสิทธิ์มาสั่งให้เราต้องกลายเป็นตัวตลก

เราต้องทำลายกรอบคิดเรื่องเพศของเขา วิธีการพูดแบบตลกของเราต้องไม่ถูกลดทอนเพียงเพราะเราไม่ได้พูดอย่างเข้มแข็ง

 

เวลาเป็นผู้ดำเนินรายการ เคยมีเหตุการณ์ไหนที่เราต้องแก้ปัญหาอย่างฉุกเฉินไหม

พอเป็นการชุมนุม มันเป็นสถานการณ์ที่เราต้องอิมโพรไวซ์ตลอดเวลา เราคาดการณ์อะไรไม่ได้เลย ม็อบวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมาก็จะมีโพยเช่น ให้ผู้ชุมนุมถอยไปข้างหลัง ให้ลงถนน มีใครมาแล้ว เบี่ยงทางหน่อย คือเกิดขึ้นตลอดเวลา เราทำได้แค่อยู่กับสถานการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าตลอดเวลา ไม่คาดหวังมาก เพราะงานแบบนี้อาจจะทำให้เราผิดหวังถ้าเรายิ่งคาดหวัง

หรือเวลาเราเห็นมวลชนเริ่มเหนื่อยแล้ว เริ่มเบื่อแล้ว เราทำยังไงให้เขาไปต่อกับเราได้ ยังฟังคำปราศรัยต่อไปได้ มันเป็นเรื่องที่ต้องรับส่งพลังจากสถานการณ์เฉพาะหน้า แก้ยังไง ส่งยังไง ดึงยังไง

 

กลัวไหมว่าจะเกิดการปะทะ

อันนั้นคือสิ่งที่เรากลัวที่สุดเลย เรากลัวการปะทะ ความรุนแรง มากกว่าโดนจับอีก พอเกิดสถานการณ์แบบนั้นมันจะยากมากในการควบคุม ลองคิดดูถ้าทุกคนชุมนุมอยู่แล้วเกิดเสียงปืน ปั้ง! ขึ้นมา เราไม่อยากให้ภาพการเมืองมันกลับไปเป็นแบบเดิมที่คนรู้สึกว่ามันจะต้องรุนแรง จะต้องมีการฆ่ากัน 

และสิ่งที่คนจัดงานคิดเป็นเรื่องแรกสุดเลยคือความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเสมอ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเตรียมการเรื่องความปลอดภัยสูงสุดเสมอ มีคนดูแลสถานการณ์ วิเคราะห์สถานการณ์ ดูแลมวลชน ดูแลหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

เคยถูกคุกคาม เคยถูกตามหรือยัง

เรายังไม่เคยถูกคุกคามเป็นการส่วนตัว เพราะเขาอาจจะจำเราไม่ได้ (หัวเราะ) ขึ้นเวทีเราแต่งหญิง พอใช้ชีวิตปกติเราไม่ได้แต่งหญิง มันก็เปลี่ยนหน้าพอสมควร เราเลยคิดว่าหรือตำรวจจะจำเราไม่ได้ แต่เขาเห็นสัมภาษณ์นี้เขาก็รู้แล้วว่าเราเป็นใคร (หัวเราะ)

แต่มีบ้างที่เราเช็คฟีดแบ๊คในสื่อออนไลน์ ก็มีคนแชร์เอาไปด่าบ้าง เราก็แคปไว้บ้าง เผื่ออันไหนเราจะฟ้องเรียกเงินได้ (หัวเราะ)

 

...เรารู้สึกว่า โอเค เรากังวล แต่เราก็มีศักยภาพที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่ออนาคต เพื่อสังคมที่เราอยากจะอยู่ต่อไป เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองและสังคมในอนาคต แต่อย่างน้อย ณ เวลานี้เราต้องทำอะไรบ้างให้อนาคตที่เราอยากจะอยู่มันใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

 

ตอนนี้มีความกลัวอะไรบ้าง

เรากลัวเรื่องความรุนแรงเป็นอันดับหนึ่ง เรานึกภาพไม่ออกว่าถ้าวันหนึ่งเราเป็นเอ็มซีอยู่แล้วมีคนโดนยิงตายต่อหน้าเรา แล้วเขาเป็นคนที่เราเรียกให้ออกมาแสดงพลังกับเรา เราคงรู้สึก trauma (บาดแผลทางใจ) ไปทั้งชีวิต

เรื่องโดนจับโดนหมายเราไม่ได้กลัว แต่เรากังวลเรื่องอนาคต เพราะทุกคนก็จะบอกว่าการมีหมายจับจะทำให้ประวัติไม่ดีนะ หางานทำไม่ได้นะ แล้วตอนนี้เราอยู่ปี 4 แล้ว ก็กังวลว่าอนาคตจะเป็นยังไงต่อ แล้วตอนนี้เราก็มีเวลาให้การเรียนน้อยลง

แต่เรารู้สึกว่า โอเค เรากังวล แต่เราก็มีศักยภาพที่จะทำอะไรบางอย่างเพื่ออนาคต เพื่อสังคมที่เราอยากจะอยู่ต่อไป เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองและสังคมในอนาคต แต่อย่างน้อย ณ เวลานี้เราต้องทำอะไรบ้างให้อนาคตที่เราอยากจะอยู่มันใกล้เข้ามาเรื่อยๆ เรามองไม่เห็นอนาคต แต่เราเห็นปัจจุบันว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราก็เลยเลือกที่จะสู้กับปัจจุบันดีกว่า เราอยากกำหนดอนาคตของตัวเอง สร้างสังคมที่เราอยากจะอยู่ด้วยตัวเอง เราก็ทำมันเท่าที่จะทำได้ ในวิธีการที่เราทำได้

 
 

เล่าอาชีพในฝันให้ฟังหน่อย

เราเรียนละครเวที อาชีพในฝันจริงๆ คืออยากทำละครเวทีต่อ เราชอบเขียนบทกับแสดง เราอยากให้วงการละครเวทีโตต่อไปในไทย มันเป็นหนึ่งในภาพฝันที่เราอยากจะอยู่ ประเทศที่วงการศิลปะมันเฟื่องฟูขึ้นมากกว่านี้

อีกความฝันคือเราอยากเป็นนางโชว์ อยากเป็นแดร็กควีน ซึ่งวงการมันก็ยังแคบตอนนี้ อยู่ในช่วงที่ต้องโตต่อไป

ซึ่งทั้งสองอย่างดูเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงทั้งคู่ (หัวเราะ) โดยเฉพาะอยู่ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ มันก็โตยาก แล้วรัฐบาลที่ปิดปากประชาชน แม้แต่ศิลปะก็พูดได้น้อยลง แคบลง ล่าสุดก็มีการคุกคามศิลปิน Rap Against Dictatorship และกลุ่มลานยิ้มการละครก็โดนคุกคาม ดังนั้นการเคลื่อนไหวมันก็ทำเพื่ออนาคตของเราด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท