Skip to main content
sharethis

คุยกับแอมมี่ The Bottom Blues ผู้ได้รับคำนิยามจาก ต้อม-ยุทธเลิศ ว่าคือศิลปินผู้ต่อสู้กับการสาดกระสุนด้วยการสาดสีเข้าสู้อย่างสร้างสรรค์ ถึงปฏิบัติการพิเศษสาดสีใส่ตำรวจ อะไรอยู่เบื้องหลังการโต้กลับตัวแทนกระบวนการยุติธรรม และความหมายของ ‘สีน้ำเงิน’ คืออะไร พร้อมเผยเหตุผลที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะต้องการ “ปกป้องพี่น้องเรา”

28 สิงหาคมที่ผ่านมา คือวันที่กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม และศิลปินแร็ปซึ่งถูกออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหากรณีเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม คนที่ติดตามข่าวสารในวันนั้นน่าจะยังจำปฏิบัติการพิเศษได้เป็นอย่างดีคือ การพังแนวแผงเหล็กกั้น และการสาดสีทั้งถังใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยืนอยู่หลังแผงเหล็ก ที่นำโดยไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottom Blues ศิลปินชื่อดัง

แน่นอนว่าการเดินทางไปยัง สน.สำราญราษฎร์ครั้งนี้แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ก่อนหน้านี้ทุกครั้งที่มีคนถูกจับกุมตัวมายังสถานีตำรวจ จะมีมวลชนเดินทางมาปักหลักผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย และให้กำลังใจกับกลุ่มผู้ถูกจับกุม รอการส่งตัวผู้ถูกจับกุมไปยังศาลอาญาเพื่อฝากขัง มวลชนก็เคลื่อนย้ายตามไปที่นั่นต่อ เพื่อรอการประกันตัวในชั้นศาล เมื่อได้รับการประกันตัวผู้ถูกจับกุมก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน จากนั้นผู้ชุมนุมและผู้ถูกจับกุมต่างก็แยกย้ายไปพักผ่อน และจัดเวทีชุมนุมต่อไป จนสุดท้ายก็ปรากฏข่าวการจับกุมขึ้นอีกครั้ง ภาพซ้ำๆ เดิมๆ แบบนี้เกิดขึ้นบนหน้าสื่อหลายครั้ง แตกต่างก็เพียงชื่อของคนที่ถูกจับกุม และมูลเหตุแห่งคดีที่พวกเขาได้รับจากกระบวนการยุติธรรม

อย่างไรก็ตามภาพของปฏิบัติการสาดสีที่ออกมานั้นนำไปสู่การถกเถียงครั้งสำคัญโดยเฉพาะในกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตย หลายคนมองว่านี่คือการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นการกระทำต่อตำรวจชั้นผู้น้อยที่จำใจมาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่านี่คือการโต้กลับที่ไม่เกินเลย และยังถือว่าอยู่ในกรอบของการต่อต้านอำนาจด้วยแนวทางสันติวิธี

หลายคนมองการกระทำนี้ต่างกันไป แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ แอมมี่ มองสิ่งที่ตัวเองทำอย่างไร อะไรคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ เรานัดคุยกับเขาแทบจะทันทีที่เขาสาดสีใส่ตำรวจ แม้คิวงานในวันถัดมาของเขาจะอัดแน่นจากช่วงเช้าไปถึงดึก แต่ก็ยังพอมีเวลาว่างช่วงหนึ่งสำหรับการพูดคุยระหว่างรอเล่นคอนเสิร์ตเต็มวงในร้านเหล้าย่านลาดกระบัง ร้านซึ่งขายบัตรหมดภายใน 5 นาทีหลังจากเปิดขาย เราเดินเข้าไปในห้องพักที่ร้านจัดเตรียมไว้สำหรับศิลปิน เขากล่าวทักทาย พร้อมถามว่า กินอะไรมาหรือยัง ทีมงานในวงอีกคนยื่นแก้วเครื่องดื่มให้ดับกระหาย จากนั้นบทสนทนาก็เริ่มขึ้น

000000

เริ่มต้นที่คำถามแรกซึ่งคาดว่าเป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้คือเหตุผลเบื้องหลังที่เขาถือถังสีเข้าสาดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สน.สำราญราษฎร์ ในวันนั้นคืออะไร แอมมี่พูดออกมาคำหนึ่งว่า “เหตุผลเหรอ...” เขานิ่งเงียบไป 30 วินาที แล้วยกแก้วเบียร์ขึ้นมาจิบหล่อเลี้ยงการสนทนา ก่อนที่คำตอบจะค่อยๆ รินไหลลงสู่เครื่องบันทึกเสียง

“จริงๆ แล้วมันเปี่ยมไปด้วยอารมณ์กว่าเหตุผลอีกนะ สิ่งที่เราทำเราคิดว่า เราอยากพูดถึงมันอย่างกว้างๆ ก่อนว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไร

วันนั้นเราไปชุมนุมกันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เรื่องที่กระแทกใจเราตอนแรก และเป็นสิ่งเซอร์ไพรส์ คือเราไม่รู้มาก่อน ตอนที่เราเล่นดนตรีอยู่ ผู้ชุมนุมก็ชูป้ายบุคคลสูญหายสีเหลืองๆ  ปกติเวลาเราโชว์เราจะมีสคริปต์แบบจริงจัง พอเราพูดจบกำลังจะลงเวที อยู่ดีๆ มือกีตาร์ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ของเราด้วย ก็เดินมาหยิบป้ายนั้นไปโชว์ให้คนดู แล้วก็บอกว่า นี่แหละครับญาติผม ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ชื่อในป้ายคือ สมชาย นีละไพจิตร ซึ่งนามสกุลเดียวกับมัน

บวกกับก่อนหน้านี้เราเห็นการจับกุม HOCKHACKER เรารู้สึกว่านี่มันคือการตัดกำลังกัน ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมอีกต่อไปแล้ว และบวกกับความเหนื่อยล้าจากการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เราเดินทางไปชุมนุม ไปขึ้นเวทีร้องเพลง ไปเล่นดนตรีให้น้องๆ ฟังกว่า 20 เวที และเราเห็นแล้วว่า เขายังเพิกเฉย ต่อให้เรายังยืนอยู่ในระเบียบตะโกนให้เสียงดังสุดเสียง เขาก็จะเพิกเฉยต่อไป เราทำเหมือนเดิมเราก็ได้ผลลัพธ์แบบเดิม

ฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือการสร้างสัญลักษณ์ในการทวงความยุติธรรม ทวงถามความชอบธรรม และต้องการสื่อสารให้พวกเขาหยุดคุกคามประชาชนเสียที เพราะต่อไปนี้ไม่ใช่คุณแล้วที่จะคุกคามเราอย่างเดียว ถ้าคุณทำพี่น้องเรา เราก็มีสิทธิที่จะทำคุณเหมือนกันด้วยชั้นเชิงทางศิลปะ”

อย่างไรก็ตามการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจของแอมมี่ถูกมองจากผู้เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแตกออกไปสองทาง ด้านหนึ่งเห็นว่าสิ่งที่เขาทำคือความรุนแรง และเป็นการกระทำต่อนายตำรวจชั้นผู้น้อยที่อาจจะคิดเห็นเหมือนกับฝ่ายประชาธิปไตย แต่จำใจปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ขณะที่อีกด้านหนึ่งเห็นว่า สิ่งที่แอมมี่ทำนั้นยังคงอยู่ในกรอบการต่อสู้อย่างสันติวิธี แต่สำหรับแอมมี่ เขามองการกระทำของตัวเองว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยวเท่านั้น หาใช่การกระทำเพื่อดูถูกลดทอนศักดิ์ศรีของคนที่อยู่ภายใต้เครื่องแบบสีกากีไม่

“เรื่องตำรวจชั้นผู้น้อยที่มีหลายคนพูดถึง ยอมรับว่าผมเองเห็นใจนะ แต่มันคนละเรื่องกัน นี่คือการต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่การต่อสู้กับตำรวจชั้นผู้น้อย และสิ่งที่ผมทำมันคือการป้ายสี ซึ่งสีที่ถือไปในวันนั้นก็เป็นแค่สีที่เหลือจากการเขียนป้ายผ้า จุดประสงค์หลักที่เราทำก็เพื่อขยับเพดานของการชุมนุม เพราะว่าเรามาถึงทางตันแล้วจริงๆ สิ่งที่เราคุยกันหลังจากชุมนุมคืนนั้นจบ ผมก็ยืนยันเหมือนเดิมว่า ต่อให้เราออกไปเล่นดนตรีอีกกี่เวที ต่อให้เราทำโชว์ให้ดีที่สุด คนออกมาเฮในที่ชุมนุม คนออกมาชูสามนิ้วกันทุกครั้งที่มีคนถูกจับไป สน. มีคนออกมาให้กำลังเพื่อนที่ถูกจับทุกครั้ง ถามว่าสิ่งเหล่านี้เราทำได้ไหม เราทำได้แน่นอน แต่แล้วยังไงต่อล่ะ ในเมื่อเขาเพิกเฉย

การกระทำที่เกิดขึ้นผมยอมรับว่าผมทำด้วยตัวผมเอง มันเป็นความคิดของผมเองแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีน้องๆ มาขอให้ทำ หรือใครมาสั่งให้ไปทำ และไม่ได้ทำมันไปในฐานะของแกนนำ หรือผู้นำในการชุมนุมใดด้วยซ้ำ เรื่องนี้คุณก็น่าจะเห็น แต่ก็ยอมรับว่าแอคชั่นวันนั้นมีจุดอ่อน จุดบกพร่องเยอะ แต่เราก็ได้ขยับเพดานแล้วจริงๆ และมันเกิดกระบวนการประชาธิปไตยอย่างหนึ่งคือ การถกกันว่าสิ่งที่เราทำมันคืออะไร”

ระหว่างการสนทนา แอมมี่พูดถึงทางตันในการชุมนุม แน่นอนว่านับจากช่วงที่มีการชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 มีการชุมนุมเวทีเล็กใหญ่เกิดขึ้นทั่วประเทศนับไม่ถ้วน คำถามที่ส่งต่อไปยังเขาคือ เท่าที่ผ่านมานอกจากการเพิกเฉยของรัฐแล้ว รู้สึกหรือไม่ว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นยังไม่สร้างการกดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากพอ แอมมี่ไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะเขามองว่าการชุมนุมคือการออกมาแสดงตัว ออกมาแสดงความคิดเห็น จากความถี่ และจำนวนผู้คนที่ออกมาบนท้องถนนนั้นเป็นสิ่งที่กดดันรัฐบาลโดยตัวมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่รัฐเลือกที่จะเพิกเฉยต่อเสียงของประชาชน

“คือโดยส่วนตัวผมชื่นชมจอมพล ป. เขามีความเป็นชายชาติทหาร และรักชาติ กระทำของจอมพล ป. ไม่ว่าจะมีความขัดแย้งกับอาจารย์ปรีดีเยอะขนาดไหน หรืออะไรก็ตาม จุดประสงค์ของเขาก็เพื่อพาประเทศชาติไปข้างหน้า ในมุมหนึ่ง ผมเห็นความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นชายชาติทหารอย่างแท้จริง หากเป็นคนแบบนี้เขาไม่เพิกเฉยหรอก เขาจะแก้ไข และทำอะไรสักอย่าง แต่ที่เป็นอยู่มันไม่ใช่แล้ว เขาต้องการจะเข้ามาโกงกินให้ได้เยอะที่สุดในวันที่เขาอยู่ในฐานะจอมพล เพื่อความมั่งคั่งของเขา และคณะ นี่นับรวมไปถึงกลุ่มนายทุนที่อยู่ข้างเผด็จการมาตลอดเวลา พูดง่ายๆ คือไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร แต่การที่ประชาชนเขาออกมาส่งเสียงว่าไม่เอาคุณขนาดนี้ ความเป็นลูกผู้ชายมันควรจะมี”

แอมมี่เล่าต่อไปถึงการชุมนุมค้างคืนที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา คืนนั้นว่า เขาได้พูดคุยกับเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) และไผ่ (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน) เป็นครั้งแรกแล้วรู้สึกว่า มันเป็นการพบกันครั้งแรกที่น่าประทับใจ และสวยงาม ราวกับโลกนี้ตั้งใจเหวี่ยงคนสายแอคชั่น คนบ้ามาเจอกัน  กับสองคนนี้ แอมมี่ไม่ได้รู้จักพวกเขาเป็นการส่วนตัว แน่นอนในช่วงที่ผ่านมาเขาเห็นเพนกวินตามเวทีชุมนุม ตามสื่อต่างๆ แต่กับไผ่ เขาเพิ่งเคยเจอครั้งแรกที่ศาลอาญาในวันที่มีการจับกุมตัว HOCKHACKER และคนอื่นๆ

“วันนั้นก็รู้แค่ว่าคนนี้ชื่อ ไผ่ จนมาชุมนุมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก็เจอมันอีก ก็รู้แค่ว่า คนนี้ชื่อไผ่ คือเราไม่รู้นะว่าคนนี้เป็นใคร แต่เรารู้จักเรื่องราวของ ไผ่ ดาวดินนะ เราก็มานั่งคิด แล้วก็มาเสิร์ชดูอีกทีว่า ไผ่ ดาวดินหน้าตามันเป็นยังไง อ้าวทีนี้รู้เลยว่ามันคนเดียวกัน คืออย่างนี้นะการไปชุมนุมสำหรับเรามันไม่ได้ไปแค่ไปขึ้นเวทีดนตรีเสร็จแล้วก็กลับ แต่เราตั้งใจไปพูดคุยกับคน และวันนั้นเราพูดเรื่องไอเดียสาดสีไปกับคนหลายคน บางคนพูดไปเขาก็ลุกหนีเลย จริงนะ ถึงจะเป็นพี่แอมมี่ก็เถอะ ชอบเรามาถ่ายรูปกับเรา แต่พอเราเล่าไอเดียนี้มีคนลุกหนี คนเขาก็จะมองเราอยู่สองอย่างคือ มึงบ้าแล้ว ไม่ก็มึงคลั่งแล้ว มึงร้อนแล้ว แต่พี่ดีใจที่เพนกวิน ไผ่ และน้องๆ อีกหลายคน มันรับฟัง มันเห็นแววตากัน ตอนที่พี่เล่าในวงที่เรานั่งคุยกันคืนนั้น พี่สังเกตได้ว่าคนก็ค่อยๆ ลุกกันไปทีละคน ในหนึ่งวันเรามองเห็นว่าใครเป็นยังไง จากการสัมผัสและมองเข้าไปในแววตา

สิ่งที่เราเห็นจากตาเพนกวินคือ ความเหนื่อยล้า เหนื่อยแบบลากไส้เลยว่ะ มันมาสุดทางของมันแล้ว มันก็ขยับเพดานการพูดในม็อบของมันแล้ว แต่แล้วยังไงละ มันก็เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง ไผ่ก็เป็นอีกคนที่เอาตัวเองมาเสี่ยงอีกครั้งโดยการพูด แต่แล้วยังไงละ สำหรับเราคิดว่า แอคชั่นมันดังกว่าการที่เราพูดออกลำโพงว่ะ มันดังกว่าการพูดไปเรื่อยๆ มันดังกว่าการมายืนในที่ชุมนุมให้คนถ่ายรูป เราไม่ได้ออกมาเพราะอยากจะถ่ายรูปกับคนเท่าไหร่ เราออกมาเพราะเราอยากชนะ และเราไม่ได้สั่งให้น้องมันทำตาม เราเพียงแค่ทำให้ดูเท่านั้น”

ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังของการสาดสี แต่เหตุผลที่เลือกใช้สีน้ำเงินคงเป็นอีกเรื่องที่คนอยากรู้ แอมมี่เล่าว่า สีนี้คือ สีที่เเข็งแรงมากในสังคมไทย เพราะเป็นสีที่หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์

“สีน้ำเงินเป็นสีที่แข็งแรงมาก เพราะเป็นสีของสถาบันพระมหากษัตริย์อันศักดิ์สิทธิ์ นั่นหมายความว่า สีที่เราสาดมันคือ น้ำมนต์ และการโดนน้ำมนต์มันไม่ได้น่ากลัว มันต้องเป็นสิ่งที่ดีสิ คุณต้องไม่กลัว คุณต้องไม่รังเกียจสีน้ำเงินสิ มันเหมือนกับการที่นักเรียนยืนชูสามนิ้วตอนร้องเพลงชาตินั่นแหละ เดิมเขายึดคำว่าประชารัฐจากเพลงชาติไทยไปจากเรา การชูสามนิ้วตอนเพลงชาติก็คือการยึดคืนประชารัฐกลับมาให้ประชาชนอย่างแท้จริง สีน้ำเงินก็เช่นกัน ถ้ามันดี มันยังเป็นสีที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ ก็อย่าไปกลัวสีนี้กันเลย มาใช้สีนี้กันเถอะ”

จะว่าไปแล้วที่ผ่านมาผู้คนรู้จักแอมมี่ในฐานะศิลปิน นักร้องนำวง The Bottom Blues หรือในฐานะนักร้องเดี่ยว แต่เมื่อเดินมาถึงวันนี้คนอาจจะมองแอมมี่ไม่เหมือนเดิม อาจจะเป็นนักร้องหัวร้อน ไม่ใช่พี่แอมมี่ที่น่ารักของน้องๆ อีกแล้ว หรือบางคนอาจจะมองเห็นแอมมี่เป็นคนกล้าที่น่าชื่นชม เรายิงคำถามต่อไปว่า แล้วแอมมี่ในวันนี้มองเห็นว่าตัวเองคือใคร เขาหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเช็คข้อความในไลน์ หัวเราะ และส่งยิ้ม

“คือเราก็กำลังดูคำนิยามตัวเอง แบบที่คุณถาม พี่ต้อม (ยุทธเลิศ สิปปภาค) เพิ่งจะส่งคำนิยามมาให้โคตรยาว คือบทบาทเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากคนที่มองเราในช่วงที่ผ่านมา แต่มันก็เป็นเรื่องจริงแหละนะทั้งลักษณะนิสัยส่วนตัวของเรา จากสิ่งที่เราทำ บางทีก็เป็น แอมมี่1 2 3 4 5 I LOVE YOU ต่อมาก็เป็นแอมมี่เก็บรัก แอมมี่-ไอด้า เป็นอะไรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ก็แอมมี่ชูสามนิ้ว แต่ล่าสุดพี่ต้อมนิยามว่า มึงคือ ศิลปินผู้ต่อสู้กับการสาดกระสุนด้วยการสาดสีเข้าสู้อย่างสร้างสรรค์ แต่คนทั่วไปก็อาจจะจำเราในนาม แอมมี่สาดสี

เราก็ไม่ได้สนใจว่าใครจะมองเราแบบไหน เราวางเรื่องชื่อเสียง เงินทอง สวัสดิภาพของเรา และความปลอดภัยของเราไว้ข้างหลังแล้ว ตั้งแต่เราตัดสินใจโพสต์รูปแรกที่เป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเราทุ่มหมด เราอยากชนะ เราไม่ได้ออกมาสู้เพื่อผลประโยชน์ของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราเชื่อในตัวเพนกวิน กับไผ่ อย่าหลอกเรานะเว้ย เพราะเรามาด้วยพลังงานบริสุทธิ์ เราเชื่อ เราอยากปกป้องเยาวชน เราอยากปกป้องพี่น้องเรา ไม่ต้องสนเลยนะว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา สู้ต่อ ไม่ต้องโศกเศร้า เปลี่ยนมันเป็นพลัง”

ระหว่างพูดคุยมีศิลปินคนหนึ่งจากวง HEE MEN CROW เดินเข้ามาทักทายแอมมี่ “เขาพูดว่า เป็นไงบ้างพี่ สู้ๆ นะ พี่เป็นตัวแทนพวกผม ใครไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ผมชอบว่ะ ผมเอาด้วยอยู่แล้ว” ด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และแววตาที่จริงจัง

หลังจากรุ่นน้องศิลปินเดินจากไป เราถามแอมมี่ต่อว่าเขาเริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบที่ได้คือ  เริ่มต้นมาตั้งแต่การเข้าเรียนที่กรุงเทพคริสเตียน ด้วยความที่เป็นโรงเรียนเอกชน การเรียนการสอนเรื่องประวัติศาสตร์จึงไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องเป็นแบบเรียนตามที่กระทรวงศึกษากำหนดให้ เขาได้เรียนรู้เรื่อง 2475 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ แบบจริงจังมาตั้งแต่มัธยม จึงค่อนข้างอินและเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองมาตลอด ทั้งอย่างใกล้ชิดบ้าง แต่ก็มีบางช่วงที่รู้สึกพ่ายแพ้และหายไปบ้าง

เมื่อถามว่า ตั้งแต่ออกมาชุมนุม ขึ้นเวทีจนมาถึงวันนี้ มีผลกระทบกับงานบ้างไหม แอมมี่ตอบทีเล่นทีจริงว่า ก็มีนะ อย่างวันนี้ร้านเขาก็ขายบัตรหมดภายใน 5 นาที จากเดิมอาจจะต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะหมด ส่วนเรื่องการจ้างงานความถี่ก็ยังปกติ และยังไม่มีการยกเลิกงานเกิดขึ้น(31 ส.ค. แอมมี่โพสต์ผ่านเพจเฟสบุ๊กว่า เขาถูกยกเลิกงานแล้ว 1 งาน โดยทางผู้จัดแจ้งว่า “ผู้ใหญ่ไม่สบายใจ”) ส่วนโชว์ที่จะขึ้นเล่นวันนี้ ก็จะสอดแทรกเพลงที่เล่นในม็อบเข้าไปด้วย โดยจะเปิดวงด้วยฮาร์โมนิก้าทำนองเพลงชาติ และชูสามนิ้ว จากนั้นก็จะแทรกเพลงเพื่อมวลชน ของจิ้น กรรมาชน เข้าไปในโชว์ด้วย

“เราไม่รู้ว่าคนจะอินมากน้อยแค่ไหน แต่นี่คือสิ่งที่เราจะทำต่อไปหลังจากนี้”

จากคำตอบนี้หลังจากสัมภาษณ์พูดคุยเสร็จ เราได้มีโอกาสเข้าไปในร้านที่แอมมี่กับทีมขึ้นแสดง แม้ที่นั่งจะไม่มีเหลือแล้ว แต่ด้วยความที่อยากรับรู้บรรยากาศ และอารมณ์ของคนดู เราเข้าไปขอกับเจ้าของร้านว่า ที่ว่างยืนตรงหน้าบาร์น่าจะพอยืนได้ ขอเราเข้าไปดูแอมมี่แสดงสดเต็มวงหน่อยได้ไหม หลังจากสืบสาวราวเรื่องกันจบ เมื่อรู้ว่าเป็นสื่อมวลชนที่ตามมาสัมภาษณ์ เขาอนุญาตให้เราไปยืนดูได้ จากสิ่งที่เราเห็น ในร้านมีคนไม่ต่ำกว่า 200 คน พวกเปิดวงด้วยทำนองเพลงชาติ แน่นอนว่ามีคนชูสามนิ้ว และมาตามที่บอกเขาแทรกเพลงเพื่อมวลชนเข้าไปในโชว์ โดยที่มีคนดูจำนวนหนึ่งร้องเพลงนี้ตามพวกเขา

จบโชว์แอมมี่เดินลงจากเวทีพร้อมเสียงปรบมือ ไชโย โห่ร้อง เขามีเวลาพัก 10 นาที ก่อนก็จะออกมาถ่ายรูปกับน้องๆ ที่มาต่อคิวขอถ่ายรูปด้วย เรามีโอกาสตามเขากลับไปที่ห้องพักอีกครั้ง เราถามเขาว่า “คนมารอถ่ายรูปเต็มเลย คิดท่าโพสไว้บ้างยัง” เขาตอบด้วยการชูสามนิ้วให้เราดู

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net