ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ป.พ.พ. ม.1448 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ว่าด้วย เงื่อนไขแห่งการสมรส ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ตามคำร้องขอให้ส่งของผู้ร้องทั้งสอง

 

31 ส.ค.2563 สำนักกฎหมายเอ็นเอสพี รายงานผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ NSP LEGAL Office ของตนเองว่า วันนี้ (31 ส.ค.63) ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดไต่สวนคำร้อง กรณีผู้ร้องขอให้มีคำสั่งให้รับจดทะเบียนสมรส ตาม พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 15 โดยมีทนายความจากสำนักกฎหมายเอ็นเอสพี ผู้ร้องทั้งสอง มาศาล นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ รวมถึงองค์กรเครือข่าย ที่มาร่วมติดตามผลในวันนี้

 

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448...

โพสต์โดย NSP LEGAL Office เมื่อ วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2020

 

เนื่องด้วยผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนี้ว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 และ มาตรา 27 หรือไม่ ซึ่งศาลจะนำมาใช้บังคับกับคดีนี้ไม่ได้ตาม มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 มาก่อน จึงขอให้ศาลส่งคำโต้แย้งของผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 212

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้มีหนังสือถึงสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป และให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 21 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

สำหรับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 บัญญัตไว้ว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้" 

ส่วน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 และ มาตรา 27 บัญญัติไว้ด้งนี้

มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน

มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา 25 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจํากัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพที่จะทําการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้

บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทําความผิดอาญา ของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัต

มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทํามิได้

มาตรการที่รัฐกําหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออํานวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

บุคคลผู้เป็นทหาร ตํารวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กร ของรัฐย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จํากัดไว้ในกฎหมายเฉพาะในส่วนที่ เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท