Skip to main content
sharethis

ชนเชื้อสายมองโกเลีย ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ประท้วงต่อต้านกรณีรัฐบาลจีนให้ใช้ภาษาจีนกลางในการเรียนการสอนแทนภาษามองโกเลีย โดยมีกลุ่มนักเรียนรวมตัวกันประท้วงในเรื่องนี้ด้วย ด้านสำนักงานเขตการศึกษาของมองโกเลียในแถลงว่าบังคับใช้ภาษาจีนกลางเพียง 3 วิชาคือวรรณกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ ทั้งยังให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนการสอนด้วยภาษามองโกเลีย และภาษาเกาหลีซึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่

ประชาชนในเขตเมือง Ulanqab เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ภาพถ่ายปี 2008 (ที่มา: Wikipedia/Fanghong)

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวมองโกเลียเปิดเผยว่ามีการประท้วงในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของประเทศจีน เหตุมาจากการที่ชุมชนชาวมองโกเลียไม่พอใจที่ทางการจีนออกมาตรการใหม่บังคับให้ชั้นเรียนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของพื้นที่พวกเขาต้องสอนด้วยภาษาจีนกลางเท่านั้น โดยบังคับใช้กับสามวิชาคือ วรรณกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. นี้เป็นต้นไป

นักกิจกรรมบอกว่ามาตรการใหม่ของจีนนี้เป็นความพยายามค่อยๆ ลบเลือนภาษามองโกเลีย ในแบบเดียวกับที่รัฐบาลจีนเคยกระทำกับชาวเชื้อสายธิเบตและอุยกูร์ ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เหล่านี้ถูกตัดขาดจากภาษาที่เป็นรากเหง้าของพวกเขาเอง

ทั้งนี้มีกลุ่มเด็กนักเรียนในเขตมองโกเลียในร่วมประท้วงด้วย พวกเขารวมกลุ่มกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วร่วมกันประสานเสียงว่า "ภาษาแม่ของพวกเราคือภาษามองโกเลีย" และ "พวกเราคือชาวมองโกเลียจนกว่าชีวิตจะหาไม่" มีภาพการประท้วงเผยแรพ่ผ่านวิดีโอในยูทูบอัพโหลดโดยศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนมองโกเลียตอนใต้ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมที่มีฐานอยู่ในนิวยอร์ก

เองเกบาตู โตโกชอก ประธานกลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวมองโกลกล่าวว่า มีพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กทั่วพื้นที่เขตมองโกเลียในไม่พอใจในเรื่องแบบเรียนใหม่และจัดการประท้วงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ มีการเขียนจดหมายเปิดผนึกร้องเรียน และมีเด็กไม่เข้าชั้นเรียนเพื่อประท้วง

ในเมืองถงเหลียวที่มีชาวมองโกเลียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีพ่อแม่ผู้ปกครองมาล้อมโรงเรียนประจำขอรับตัวเด็กๆ กลับบ้าน และในตอนที่พวกเขาปะทะกับตำรวจในวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็มีเหตุที่เด็กนักเรียนคนหนึ่งกระโดดออกจากหน้าต่างชั้น 4 จนเสียชีวิต

อย่างไรก็ตามสำนักงานเขตการศึกษาของมองโกเลียในก็แถลงในวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมาว่ากฎใหม่ของทางการให้สอนด้วยภาษาจีนกลางกับ 3 วิชาเท่านั้น และยังคงให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนภาษามองโกเลียกับภาษาเกาหลีซึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่นี้

มีผู้อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเปิดเผยว่ามีความตึงเครียดเกิดขึ้นในพื้นที่ของพวกเขา ซึ่งโดยปกติแล้วในเขตมองโกเลียในจะไม่มีการสอนภาษาจีนให้พวกเขาจนกว่าจะถึงระดับชั้นประถมปีที่ 3 แต่ในตอนนี้พวกเขาจะเริ่มสอนภาษาจีนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 สิ่งที่ทำให้คนไม่พอใจคือมีการกำหนดให้ภาษาจีนกลายเป็น "ภาษาสื่อการสอน" และผลักให้ภาษามองโกเลียกลายเป็นวิชารอง ทำให้พวกเขากลัวว่าภาษามองโกเลียจะค่อยๆ ถูกทำให้หายไป

มีภาพการประท้วงแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นผู้ปกครองเด็กถือป้ายประท้วงตามท้องถนนและในจัตุรัสใจกลางเมืองตงเหลียว มีป้ายหนึ่งระบุว่า "การห้ามเรียนภาษามองโกเลียในเขตมองโกเลียในถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญจีน" อีกป้ายหนึ่งระบุว่า "มันเป็นสิทธิที่จะแยกออกจากบุคคลมิได้สำหรับชาวมองโกเลียในการเรียนรู้ภาษามองโกเลีย"

เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน อยู่ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีกลุ่มชนเชื้อสายมองโกล 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ถึงแม้ว่าในเชิงภาพลักษณ์ภายนอกจะแสดงให้เห็นว่ามีการรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่บ้าง แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วผู้นำและผู้กำหนดนโยบายจากทางการจีนก็กำลังตั้งคำถามกันว่าควรจะส่งเสริมการปกครองตนเองของพวกเขามากขึ้นหรือทำการหลอมรวมชนกลุ่มน้อยเหล่านี้

โดยในช่วงประมาณต้นคริสตทศวรรษที่ 1980 จีนมีนโยบายที่ค่อยข้างผ่อนปรนต่อเขตมองโกเลียในโดยการระบุในรัฐธรรมนูญเน้นให้มีการ "เคารพและเห็นคุณค่า" ของภาษาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่นี้ ทำให้ภาษามองโกเลียยังเป็นภาษาทางการในพื้นที่นี้คู่กับภาษาจีนกลาง

แต่ทว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนดูจะเอนเอียงไปในทางการเน้นหลอมรวมวัฒนธรรมชาวมองโกลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชาวจีน จากการที่ผู้นำสีจิ้นผิงส่งเสริมวัฒนธรรมแบบชาตินิยมจีนเชื้อสายฮั่นที่มีการจำกัดภาษาและการปฏิบัติตามหลักศาสนาของชาวทิเบตกับชาวอุยกูร์ ในกรณีของอุยกูร์นี้มีการคุมขังผู้คนจำนวนมากในค่ายกักกันปรับทัศนคติ คนที่สอนภาษาชนกลุ่มน้อยถูกตั้งข้อหาแบ่งแยกดินแดนและถูกลงโทษอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ในการนโยบายการศึกษาของจีน เจ้าหน้าที่รัฐยังเน้นพูดถึงการยกเครื่องการศึกษาเพื่อให้ส่งเสริมเรื่องการรักชาติในเขตปกครองที่มีความกระด้างกระเดื่องต่อพวกเขาอย่างซินเจียงและฮ่องกง แต่ในพื้นที่เหล่านี้ก็มีแรงต่อต้านโต้กลับทางการจีน

โตโกชอกกล่าวว่าพวกเขาสูญเสียอิสรภาพทางการเมืองไปแล้วและการทำให้เป็นเมืองจากรัฐบาลจีนก็ทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขาถูกทำลายไป สิ่งเดียวที่เป็นสัญญะหลงเหลืออยู่สำหรับตัวตนของพวกเขาคือภาษา

เรียบเรียงจาก

Chinese authorities face widespread anger in Inner Mongolia after requiring Mandarin-language classes, The Washington Post, 31-08-2020

Ethnic Mongolian Parents Strike Over China's New Language Policy in Schools, Radio Free Asia, 28-08-2020
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net