Skip to main content
sharethis

องค์การอนามัยโลก ประสาน สปสช. ส่ง “ยาต้านพิษดิฟธีเรีย แอนตี้ท็อกซิน” 300 โด๊ส รักษาผู้ป่วยโรคคอตีบในประเทศพม่า หลังมีผู้ป่วยจำนวนมากในพื้นที่ตะวันออกของรัฐฉาน ขาดแคลนยารักษา ด้าน สปสช.ประสานศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี จัดยาช่วยเหลือโดยด่วนแล้ว 

ทีมสื่อของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายงานว่า นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างเร่งมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงการเร่งศึกษาวิจัยเพื่อหายารักษาและวัคซีนป้องกัน แต่ยังมีโรคติดต่อที่ป้องกันได้ที่เกิดการแพร่ระบาดในบางพื้นที่และมีผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงการรักษา โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับการประสานจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศพม่า ผ่านองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เพื่อขอยืม “ยาต้านพิษดิฟธีเรีย แอนตี้ท็อกซิน” (Diphtheria anti-toxin : DAT) จำนวน 300 โด๊ส ในการนำไปรักษาผู้ป่วยโรคคอตีบที่เป็นผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากขณะนี้ในประเทศพม่าโดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันออกของรัฐฉาน ได้มีผู้ป่วยโรคคอตีบจำนวนมากและขาดแคลนยาในการรักษา

นพ.รัฐพล กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่ สปสช.ได้รับข้อมูลขอความช่วยเหลือนี้ ได้ประสานไปยังศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานด้านยาต้านพิษที่มีระบบการจัดการที่ดี โดยเป็นความร่วมมือ สปสช. องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดส่งยาต้านพิษดิฟธีเรีย แอนตี้ท็อกซินไปช่วยรักษาผู้ป่วยเด็กในประเทศพม่า โดยได้จัดส่งยาไปยังพม่าแล้วจำนวน 300 โด๊ส เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา เบื้องต้นจัดส่งไปที่โรงพยาบาลแม่สาย จังหวัดเชียงรายก่อน และทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย (สสจ.) ได้ดำเนินการจัดส่งต่อไปยังรัฐฉาน ประเทศพม่าแล้ว เรียกว่าเป็นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ประเทศไทยได้เคยจัดส่งยาเพื่อให้การช่วยเหลือในหลายประเทศแล้วตามหลักมนุษยธรรม และศูนย์พิษวิทยาฯ นี้ยังเป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกเพื่อป้องกันและดูแลด้านพิษวิทยา (WHO Collaborating Centre for the Prevention and Control of Poisoning)

ทั้งนี้ โรคคอตีบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย  (Corynebacterium diphtheriae) เป็นในระบบทางเดินหายใจ ต่อมทอนซิล ลำคอ กล่องเสียงหรือจมูก ติดต่อทางตรง โดยผู้ป่วยเป็นพาหะ จากละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย หรือจากน้ำนมที่มีเชื้อโรคโดยการใช้ขวดนมร่วมกันของเด็ก พบมากในแหล่งชุมชน สถานที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก เป็นต้น อาการโรคคอตีบจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน หลังผ่านระยะฟักตัวหรือเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายประมาณ 2-5 วัน บริเวณที่ติดเชื้อมีแผ่นเนื้อเยื่อสีเทาหรือสีขาว เกิดที่ผนังของหลอดคอและต่อมทอนซิล และรอบ ๆ แผ่นเยื่อสีเทานี้จะบวมแดงจากการอักเสบ อาการทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บในหลอดคอ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย ถ้าเป็นคอตีบของกล่องเสียง จะมีอาการบวมมาก อาจทำให้หายใจไม่ออก ทำให้เด็กเล็กๆ ตายได้ง่าย 

ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การรักษาแพทย์จะใช้ยาต้านพิษดิฟธีเรีย แอนตี้ท็อกซิน เพื่อหยุดพิษที่ผลิตจากแบคทีเรีย หรือใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลินเพื่อฆ่าและกำจัดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย อย่างไรก็ตามการป้องกันเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบตั้งแต่ช่วงทารกและวัยเด็ก รวมถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้นในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบให้กับเด็กไทยทุกคน โดยร่วมอยู่ในสิทธิประโยชน์วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคจากเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนเซ่ ชนิดบี 

“อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคติดต่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด นอกจากการให้วัคซีนกับเด็กไทยแล้ว เรายังมีเด็กข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยและตามพื้นที่ชายขอบที่ไม่ได้รับวัคซีน ด้วยงบประมาณจำกัดการดูแลเฉพาะคนไทยทำให้ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่ป้องกันได้อยู่ ซึ่งในอนาคตเราอาจต้องพิจารณาในส่วนนี้เพื่อให้การป้องกันโรคติดต่อของประเทศไทยมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น” นพ.รัฐพล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net