Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านกลุ่มรักษ์โตนสะตอที่ชุมนุมค้านสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่วหน้าทำเนียบรัฐบาลไปร้องเรียนมหาดไทยมีคนไปขู่ที่บ้านว่าถ้ากลับไปเข้าพื้นที่จะ "อยู่ไม่เป็นสุข"และ "ถูกเก็บ"

2 ก.ย.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ชาวบ้านจากพัทลุง กลุ่มรักษ์โตนสะตอ ยังคงปักหลักชุมนุมคัดค้านการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่วอยู่รอพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีจะลงนามระงับโครงการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง หลังจากเมื่อคืนวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2564 ได้มีมติตัดงบโครงการสร้างเขื่อนดังกล่าวนี้ไปแล้วด้วยมติ 22 ต่อ 21 เสียง

เวลาประมาณ 13.00 น. พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ พร้อมนักกิจกรรมได้ร่วมกันเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งให้โครงการพินาศไปกับการเผาพริกเกลือนี้

ต่อมาเวลา 13.30 น. ทางผู้ชุมนุมแจ้งว่าในวันนี้จะไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้ปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่ขณะนี้ได้ข่มขู่คุกคาม สะมะแอ ยามา ชาวบ้านในพื้นที่ที่ขณะนี้มาร่วมชุมนุมอยู่ในกรุงเทพฯ  

ชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมแสดงท่าสัญลักษณ์ของการต่อต้านโครงการดังกล่าว

เวลาประมาณ 15.00 น. สะมะแอ ยามา และพริษฐ์ ชีวารักษ์ พร้อมชาวบ้านคนอื่นๆ เดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่กระทรวงมหาดไทยถึงรัฐมนตรีและปลัดกระทรวง ในเรื่องที่ครอบครัวของตนถูกคุกคามในระหว่างที่ตัวเองขึ้นมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ จึงขอให้มีการปราบปรามกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่มาข่มขู่

สะมะแอ ยามา

วรา จันทร์มณีที่เดินทางมาด้วยกล่าวว่าในพื้นที่มีการใช้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วมามากดขี่ข่มเหงและข่มขู่ ซึ่งการข่มขู่คุกคามนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการกราดยิงชาวบ้านทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวซึ่งเหตุการณ์แบบนี้จะทำให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริไม่สง่างาม

สะมะแอ เล่าเรื่องที่ตนถูกคุกคามว่าเมื่อวานนี้ลูกสาวโทรมาบอกว่าผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบอกว่าใครไปคัดค้านเขื่อนที่กรุงเทพเมื่อกลับไปบ้านแล้วจะอยู่ไม่เป็นสุขจะเก็บหมด โดยเป็นการบอกผ่านเพื่อนบ้านของตนมาอีกทีแล้วก็มาเล่าให้ลูกสาวฟังภายหลัง เพราะว่าตอนเกิดเหตุตนเองและลูกสาวก็ไม่ได้อยู่ที่บ้าน ลูกสาวก็บอกว่ากับตนว่าให้ระวังไปพักที่อื่นก่อนก็ได้อย่ากลับมา

สะมะแอบอกว่าการข่มขู่ลักษณะนี้หลายครั้งแล้ว อย่างปีที่แล้วเป็นครูมาขู่ท้ายิงเลย ซึ่งครูคนนี้เป็นคนในพื้นที่ที่ไปสอนนอกพื้นที่ และก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2557 ผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่แต่ตอนนั้นซ่อนอยู่ในโรงเรียนซึ่งตอนนั้นเป็นเสวนาเพื่อทำความเข้าใจกับเจ้าบ้านในพื้นที่ ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นคนยิง โดยในพื้นที่มีผู้มีอิทธิพลเยอะแต่ตำรวจไม่ทำอะไร

สะมะแอเล่าต่อว่าในพื้นที่ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งฝ่ายสนับสนุนก็คือก็คือเจ้าของที่ดินที่ได้เวนคืนที่ดินไปแล้ว

สะมะแอเล่าว่าอยู่ในพื้นที่เหมืองตะกั่วมากว่า 50 ปีแล้ว ต่อให้ได้เวนคืนก็ไม่ย้าย สมัยตนอยู่ป่าปราบคอมมิวนิสต์ถูกสอนให้รักษาป่ารักษาธรรมชาติไว้อย่าทำลาย

จากนั้นชาญชัย วีระชิงชัย หัวหน้าฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ออกมารับหนังสือและรับว่าจะประสานเรื่องให้

สะมะแอ(ซ้าย) และชาญชัย วีระชิงชัย (ขวา)

ก่อนจะเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ เดชา เหล็มหมาด ชาวบ้านในพื้นที่เกี่ยวกับที่มาที่ไปของโครงการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่วนี้ เขาเล่าว่าจากที่ศึกษาย้อนกลับไปพบว่าตั้งแต่ 2533 ประธานสภาจังหวัดพัทลุงในเวลานั้นเป็นคนเสนอเรื่องเพื่อขอโครงการเขื่อนแต่ก็เงียบไปแล้วกลับมาอีกทีตอนปี 2546 มีช่างชลประทานเข้ามาคุยกับนายก อบต. หนองธง บอกว่าถ้าจะสร้างเขื่อนก็สร้างได้แล้วขาดแต่เพียงหารายชื่อทำขั้นตอนให้ถูกต้องตามกฎหมาย นายก อบต.ก็เลยรับปากว่าจะไปจัดประชุมสภาก็มีคนเข้าร่วมประชุม 10 กว่าก็มีลงมติให้มีการสร้างเขื่อน แต่จะต้องทำประชาคมด้วยทั้งนี้สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ทำ  ต่อมา อบต.ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อยื่นฎีกาให้รับเขื่อนเหมืองตะกั่วนี้เป็น “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หลังจากนั้นไม่นานปี 2548 ก็มีการรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เดชาเล่าต่อว่าข้อมูลตรงนี้จริงๆ แล้วมันเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จเนื่องจากมีการใส่ข้อมูลว่าชาวบ้านของทั้ง 9 หมู่บ้านจำนวน 7,000 กว่าคนต้องการให้มีการสร้างเขื่อนเพื่อให้สำนักราชเลขาธิการเข้ามาช่วยรับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แต่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลยว่าเป็นโครงการอะไร มีประโยชน์อะไรบ้างและมีผลกระทบอะไรบ้าง ชาวบ้านทราบเพียงว่าเป็นโครงการของในหลวง

“เขาก็ลงมาทำแล้วก็บอกว่าไม่มีใครค้านได้บางคนก็บอกว่าใครค้านโครงการนี้ถึงขั้นหัวขาด คือค่อนข้างรุนแรงผู้ใหญ่บ้านก็บอกว่าถ้าใครค้านก็จะโดนจับ มันจะเป็นลักษณะแอบอ้างพวกนี้เยอะ” เดชากล่าว

เขื่อนที่สร้างมาก่อนก็สร้างปัญหา

เดชากล่าวว่าตอนนี้ทั้งจังหวัดมี 4 เขื่อน และที่สำคัญก็คือจุดที่จะสร้างเขื่อนที่เป็นประเด็นห่างออกไปเพียง 3 กม.ก็มีอ่างเก็บน้ำป่าบอนอยู่แล้ว ซึ่งตอนสร้างอ่างเก็บน้ำป่าบอนก็อ้างว่าสร้างเพื่อเอาน้ำเข้ามาในตำบลหนองธง แต่ว่าพอสร้างเสร็จตำบลหนองธงก็ขาดน้ำเพราะว่ามีการเอาคอนกรีตไปขวางลำคลองแล้วก็ทำให้น้ำมันน้อยลง จนทำให้ความชุ่มชื้นในพื้นที่ก็น้อยลงไปด้วย

เดชาอธิบายถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่า “ถ้าพูดถึงตัวโครงการทั้งหมด คือเขาจะสร้างทั้งหมด 21 อ่าง คือเยอะมากถ้าเราเทียบพื้นที่พัทลุงตามแนวยาวของเทือกเขาบรรทัดเนี่ย 80 กม. ก็เท่ากับเฉลี่ยแล้ว 4 กม.ต่อ  1 อ่าง แล้วการสร้างในพื้นที่ของพัทลุงก็ไม่เหมือนที่อื่นเพราะมีการใส่ว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาแอบอ้างเพื่อที่จะมาเอาไม้ออกจากป่าไปขาย ซึ่งคนพัทลุงรู้ดีว่าการสร้างเขื่อนไม่ได้สร้างเพื่อแก้ปัญหา แล้วจะเห็นว่าทั้ง 4 เขื่อนที่มีอยู่แล้วประโยชน์ค่อนข้างน้อยมากคนในพื้นที่แทบจะไม่ได้ใช้น้ำจากเขื่อนเลย”

เดชาอธิบายต่อว่าในพัทลุงมีน้ำตกกว่ายี่สิบแห่ง แล้วก็เป็นเทือกเขาที่ยาวจากเหนือจนถึงใต้ประมาณ 80 กม. สายน้ำจะไหลจากทิศตะวันตกไปตะวันออกลงทะเลสาบสงขลา ซึ่งเขาจะไปสร้างเขื่อนบนภูเขาตรงจุดที่มีน้ำตกทุกสาย ซึ่งมันกระทบกับปลายน้ำแน่นอนเมื่อไหร่ที่กั้นน้ำเยอะจะทำให้ไม่มีน้ำจืดไปไล่น้ำเค็มที่ทะเลสาบสงขลา

ประโยชน์ของใคร?

เดชากล่าวว่าในพื้นที่มีนายทุนใหญ่อยู่แล้วก็ไม่มีใครทำอะไรได้ ซึ่งไม้ที่อยู่ในพื้นที่เป็นต้นไม้ใหญ่มีเนื้อแข็งซึ่งต้นไม้ทุกชนิดขายได้หมดทั้งต้น และยังสามารถเอาพวกดินหินทรายไปขายได้ ซึ่งก่อนที่จะสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเขาก็จะขุดเอาไปหมด

เดชากล่าวอีกว่า “นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีพื้นที่ 188 ไร่ อีก 290 ไร่เป็นป่าสงวน ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดเป็นของรัฐ มันก็แปลกว่าทำไมพื้นที่ทั้ง 478 ไร่ มีชื่อหมดแล้วว่าใครไปปลูกต้นไม้อยู่ แล้วพอดูรายชื่อจริงๆ ก็มี 106 ราย ที่มีทรัพย์สินอยู่ในพื้นที่ของรัฐ โดยเป็นชื่อของคนในพื้นที่แค่ 20 กว่าคน ส่วนที่เหลือเป็นชื่อของคนนอกพื้นที่ ก็เลยเป็นที่สงสัยว่ากลุ่มนายทุนที่มาซื้อมันผิดกฎหมายอยู่แล้วมันสามารถที่จะตรวจสอบเพื่อหาคนผิดได้”

เดชาระบุอีกว่า ประเด็นหนึ่งคือตรงส่วนที่มีน้ำท่วมถึงคือจะกินพื้นที่ถึง 1000 ไร่ ก็จะมีการสัมปทานป่าขนาด 1000 ไร่ นี้ในความเป็นจริงคือบริษัทที่ได้รับสัมปทานก็จะไปตัดเพิ่มอีก ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่เพราะถ้าตัดต้นไม้ออกไปหมดแล้วก็จะไม่มีน้ำเติมเข้ามาในเขื่อน โดยเขายกกรณีอ่างเก็บน้ำป่าบอนที่ไม่มีน้ำจนกลายเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ให้ถ่ายรูปว่าเป็นทุ่งหญ้ามีม้ามีวัวไปกินหญ้า ซึ่งไม่คุ้มค่าที่จะไปสร้างทุ่งเลี้ยงสัตว์แล้วต้องใช้งบถึง 650 ล้าน

“ชาวบ้านที่มาเขาก็ต้องหาเช้ากินค่ำก็ต้องเสียสละเวลามาเป็นสิบวันมันต้องสูญเสียอิสรภาพสูญเสียรายได้แล้วก็ต้องมีปัญหาครอบครัว คือพอเขาขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้ทำงานญาติพี่น้องที่อยู่ที่บ้านก็ต้องเดือดร้อนแต่ว่าตั้งใจแล้วว่าการก้าวออกจากบ้านว่าจะต้องเป็นการสูญเสียอิสรภาพแต่เพื่อสิ่งที่ดีกว่าของลูกหลานในอนาคต พวกเขายอมหมดแล้วที่จะทำทุกอย่างให้นายกรัฐมนตรีรีบเซนยกเลิกโครงการให้พวกเขากลับบ้านได้กลับไปทำมาหากินปกติ ชาวบ้านไม่ได้มีพื้นที่ในพื้นที่ของรัฐเลยแต่ก็ต้องปกป้องเพื่อรักษาผืนป่าและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ” เดชากล่าวทิ้งท้าย

เต๊นท์ของชาวบ้านที่ปักหลักชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net