Skip to main content
sharethis

อัยการไม่ฎีกา 3 จำเลยคดีปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ คดีถึงที่สุด มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเรียกร้องตำรวจและอัยการยุติการนำแพะฟ้องต่อศาล

2 ก.ย.2563 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่าน ศาลจังหวัดหัวหินได้ออกหนังสือสำคัญเพื่อแสดงว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ ทอ.2/2560 หมายเลขแดงที่ ทอ.21/2561 ระหว่างพนักงานอัยการโจทก์ ที่ได้ฟ้อง ณัฐวัตร ธนัฏฐิกาญจนา กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ทำร้ายร่างกายและปล้นทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยมีอาวุธ ซึ่งศาลอุทธรณ์ ภาค 7 พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องนั้น เมื่ออัยการไม่ฎีกาโต้แย้ง คดีจึงถึงที่สุด  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดคดีว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2559 บริเวณริมถนนปราณบุรี-สามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ นักท่องเที่ยวชาวอิตาลีและโมรอคโค ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.สามร้อยยอด ว่าถูกคนร้ายใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ร่วมกันทำร้ายร่างกายและปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมณัฐวัตร ธนัฏฐิกาญจนา อภิศักดิ์ สีละมุด และ ศรัญญู สายน้ำเขียว รวมสามคน เป็นผู้ต้องหา ชั้นแรกณัฐวัตรให้การรับสารภาพและซัดทอดจำเลยอีกสองคน แต่ทั้งสองให้การปฏิเสธ 

ต่อมาณัฐวัตรได้กลับคำให้การและร้องเรียนมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนในชุดจับกุมซ้อมทรมานให้รับสารภาพ และให้ซัดทอดจำเลยอีกสองคน หลังจากตรวจสอบแล้ว มูลนิธิฯ พบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าณัฐวัตรถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมทรมานจริง ทั้งพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำมากล่าวหาผู้ต้องหามีพิรุจและไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นเมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดหัวหิน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงได้ร่วมกับ Innocence Project ให้ความช่วยเหลือจัดหาทนายความให้แก่จำเลยทั้งสามเพื่อต่อสู้ในคดีดังกล่าว

ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้องให้จำคุกจำเลยทั้งสามคน คนละ 18 ปี ปรับคนละ 900 บาท คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จึงลดโทษให้จำเลยที่ 1 คงจำคุก 12 ปี ปรับ 600 บาท ทีมทนายความจึงยื่นอุทธรณ์ ต่อมาในวันนี้วันที่ 20 ม.ค.2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคน โดให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์ มีเพียงคำรับสารภาพของนายณัฐวัตรและคำให้การของผู้เสียหายคือนักท่องเที่ยวต่างชาติคนหนึ่งที่ให้การในชั้นสอบสวนและชั้นสืบพยานก่อนฟ้องเท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ รวมทั้งลายพิมพ์นิ้วมือแฝงที่พบบนของกลางก็มิใช่ของจำเลย และไม่ปรากฎว่าพบดีเอ็นเอของจำเลยที่อาจกล่าวได้ว่าจำเลยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ประกอบกับจำเลยมีพยานหลักฐานว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุโดยมีกล้องวงจรปิดและพนักงานโรงแรมที่เป็นคนกลางยืนยัน จึงพิพากษายกฟ้อง คดีนี้ทีมทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้พนักงานอัยการไม่ฎีกา ต่อมาพนักงานอัยการไม่ฎีกา คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องจึงถึงที่สุด

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คดีนี้เป็นตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนยังคงใช้วิธีซ้อมทรมานเพื่อให้ผู้ต้องหาจำใจต้องรับสารภาพ ทั้งๆ ที่ตนเป็นผู้บริสุทธิ์ แทนที่เจ้าหน้าที่จะใช้ความพยายามและความรู้ความสามารถในการสืบสวนสอบสวน โดยเฉพาะโดยการรวบรวมพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา แต่กลับใช้วิธีซ้อมทรมาน ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากโดยเฉพาะคนยากจนหรือคนชายขอบ เช่นในคดีนี้ มักตกเป็น “แพะ” ของกระบวนการยุติธรรมเสมอ

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ยังกล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจควรสำนึกในคุณธรรมและจริยธรรมทางวิชาชีพว่า การจับกุม คุมขัง นำผู้บริสูทธิ์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นำมาซึ่งราคาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยและครอบครัวต้องจ่ายในหลายมิติ ทั้งความบอบช้ำด้านจิตใจ สูญเสียอิสรภาพ เสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี เสียชื่อเสียง และตกเป็นจำเลยในสังคม เจ้าหน้าที่พึงตระหนักว่าการจับแพะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมเสียหาย สังคมยังต้องตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะคนร้ายตัวจริงยังลอยนวลอยู่ ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนยุติธรรมทุกขั้นตอนลดน้อยถอยลงทุกที

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นตำรวจและอัยการ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเสาหลักที่สามารถให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนในสังคมประชาธิปไตยต่อไป ทั้งรัฐบาลต้องเร่งรัดการตรา พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย ซี่งร่างกฎหมายดังกล่าวภาคประชาสังคมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เพื่อให้เป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยังคงเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันในที่ต่างๆ ของประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net