รอบโลกแรงงาน สิงหาคม 2020

Nojima ห้างค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าในญี่ปุ่น ขยายอายุเกษียณของพนักงานจากเดิม 65 ปี เป็น 80 ปี

Nojima ห้างค้าปลีกสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขยายอายุเกษียณของพนักงานจากเดิม 65 ปี เป็น 80 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีประสบการณ์ ในยุคที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยโนจิมะกำลังพิจารณาให้พนักงานสูงอายุทำงานจากที่บ้านในแผนกฝ่ายขายทางโทรศัพท์ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์มากขึ้น จากการระบาดของ COVID-19 ขณะที่บริษัทอื่น ๆ มีแนวโน้มจะขยายอายุการปลดเกษียณของพนักงานด้วยเช่นกัน

ที่มา: investing.com, 3/8/2020

พบแรงงานเวียดนามติดเชื้อ COVID-19 ในเขตนิคมอุตสาหกรรม

ทางการเวียดนามเปิดเผยว่าการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นที่เมืองดานัง ได้แพร่ระบาดในโรงงานอย่างน้อย 4 แห่งที่มีแรงงานรวมกันราว 3,700 คน มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 4 คนที่โรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมอีกแห่งของเมืองดานัง ซึ่งมีแรงงานกว่า 77,000 คน

ที่มา: CNA, 3/8/2020

พบแรงงานในไต้หวันหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็นกว่า 27,000 คน

กระทรวงแรงงานไต้หวัน ประกาศสถิติล่าสุดเกี่ยวกับแรงงานหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างพบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 27,085 คน จาก 1,122 บริษัท เพิ่มขึ้น 1,877 คน 73 บริษัท  ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต 17,508 คนจาก 372 บริษัท ครองสัดส่วนสูงที่สุดตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นต้นมา รองลงมาคือ กิจการค้าปลีกและค้าส่ง 346 ราย ตามด้วยธุรกิจด้านการบริการเสริม อาทิ ธุรกิจการขนส่งและคลังสินค้า 80 ราย

นายหวงเหว่ยเชิน รองอธิบดีกรมเงื่อนไขแรงงานและความเสมอภาคในการทำงาน เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไต้หวันได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดในต่างประเทศ ซึ่งยังคงมีการล็อกดาวน์ในเมืองสำคัญหลายแห่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของผู้ประกอบการระดับปลายน้ำในไต้หวัน สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องมือกล สิ่งทอ ค้าปลีกและค้าส่ง

ที่มา: Radio Taiwan International, 4/8/2020

ช่วง COVID-19 คนญี่ปุ่นป่วยเป็นหวัดยังไปทำงานกว่า 62%

ญี่ปุ่น สำนักข่าวเกียวโดรายงานผลสำรวจที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนประมาณ 62% ในญี่ปุ่นที่มีอาการคล้ายไข้หวัดในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบแรกระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค. 2020 ยังคงเดินทางไปทำงาน แม้รัฐบาลจะขอให้คนที่ไม่สบายพักผ่อนอยู่กับบ้านก็ตาม

ที่มา: modafinil.news, 4/8/2020

สิงคโปร์เฝ้าระวังเหตุแรงงานต่างชาติฆ่าตัวตาย

กระทรวงแรงงานสิงคโปร์แถลงว่ากำลังเฝ้าระวังเหตุแรงงานต่างชาติฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายตามหอพัก และกำลังประสานกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเรื่องจัดโครงการดูแลสุขภาพจิตให้แก่แรงงานต่างชาติ ทั้งนี้หอพักแรงงานต่างชาติบางแห่งยังคงใช้มาตรการกักโรคมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2020 แรงงานต่างชาติหลายคนที่ได้รับการตรวจยืนยันว่าปลอดเชื้อยังคงถูกจำกัดการเดินทางและอนาคตการจ้างงานไม่แน่นอน

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่าแรงกดดันเหล่านี้ทำให้แรงงานต่างชาติบางคนเครียดจัดตามที่เห็นคลิปบางคนเดินบนหลังคาหรือขอบหน้าต่างคล้ายจะจบชีวิตตัวเอง เหตุชายวัย 36 ปีทำร้ายตัวเองจนเลือดอาบอยู่บริเวณเชิงบันไดกลายเป็นข่าวใหญ่ของสื่อสิงคโปร์เมื่อต้นเดือน ส.ค. 2020

ที่มา: CNA, 6/8/2020

แรงงานในออสเตรเลียวิตกวิกฤต COVID-19 ทำให้ต้องทำงานต่อไปหลังอายุเกษียณ

การสำรวจของโคโลเนียล เฟิร์ต สเตท แบงค์ (Colonial First State Bank) พบว่าชาวออสเตรเลียจำนวนมากวิตกว่าการระบาดใหญ่ของเชื้อ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเงินเกษียณของพวกเขาอย่างไร และไม่เพียงแค่ประชาชนสูงอายุเท่านั้นที่วิตก ประชาชนในวัย 35-49 ปี ถูกพบว่าเป็นประชาชนกลุ่มที่มีความกังวลสูงที่สุดเกี่ยวกับอนาคตทางการเงินของตน

ชาวออสเตรเลียที่ยังไม่ถึงวัยเกษียณก็รู้สึกกังวลเช่นกัน ว่าการตกต่ำลงของเศรษฐกิจจะส่งผลอย่างไรต่อรายได้หลังเกษียณของพวกเขา จากการศึกษาวิจัยของโคโลเนียล เฟิร์ต สเตท แบงค์ (Colonial First State Bank) พบว่า ชาวออสเตรเลียจำนวนมากคาดว่า พวกเขาอาจต้องทำงานต่อไปหลังอายุเกษียณเนื่องจากผลของการระบาดใหญ่ของเชื้อ COVID-19

ที่มา: SBS, 6/8/2020

แรงงานไทยในไต้หวัน เก็บหอยเชอรี่มากินจนต้องเข้า รพ. อีกแล้ว

Radio Taiwan International รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2020 ว่า 2 แรงงานไทยในโรงงานทำฉนวนเซรามิกที่เขตซู่หลิน นครนิวไทเป อาศัยช่วงหยุดพักในช่วงปลายเดือน พ.ค. 2563 ปั่นจักรยานประมาณครึ่งชั่วโมงไปเก็บหอยเชอรี่กว่า 50 ตัวที่ริมแม่น้ำใต้สะพานข้ามไปเขตปั่นเฉียว เพื่อนำมาทำก้อยหอยเชอรี่กิน หลังจากกินแล้วประมาณ 3 วัน เริ่มมีอาการปวดหัวและชาตามแขนขา แต่ไม่กล้าบอกนายจ้าง จนกระทั่งอาการหนักทนไม่ไหว จึงแจ้งให้นายจ้างทราบ นายจ้างสั่งล่าม บจง.พาไปรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเป็นอาการจากการกินหอยดิบ ไม่ได้บอกประวัติการกินหอย แพทย์ตรวจไม่พบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ได้แต่จ่ายยาแก้อาการปวดหัวและแขนขาชา

หลังทานยาที่แพทย์ให้มาแล้วอาการยังไม่หาย แถมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง บจง. พาไปรักษาที่โรงพยาบาลไถต้า ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันในไทเป แพทย์เจาะเลือดและตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบมีพยาธิปอดหนูชอนไชไปตามเส้นเลือด เข้าสู่กระดูสันหลังและเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการชาและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ต้องนอนรักษาที่โรงพยาบาลเป็นการด่วน เนื่องจากอาจมีอันตรายถึงขึ้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม อาการพยาธิไชขึ้นสมอง เป็นโรคที่พบน้อยมากในคนไต้หวัน แพทย์ไม่มีประสบการณ์และไม่มียาที่ใช้ในการรักษาโดยเฉพาะ จึงต้องใช้ยาพิเศษ นอกเหนือจากบัญชียาของกองทุนประกันสุขภาพ

หลังรักษาอยู่เป็นเดือน 1 ในจำนวนนี้อาการดีขึ้นเกือบจะเป็นปกติ สามารถทำงานต่อไปได้ แต่อีกหนึ่งคน คือนายคมสันต์ จากจังหวัดอุดรธานี แม้อาการดีขึ้นแต่ยังต้องทานยาเป็นประจำ จึงตัดสินใจยกเลิกสัญญาขอนายจ้างกลับประเทศไทยก่อนกำหนด เพื่อไปรักษาต่อที่ประเทศไทย โดยเชื่อว่าที่ไทยน่าจะรักษาง่ายกว่า เพราะโรคนี้เป็นโรคที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา เพิ่งจะมีแรงงานไทยในเขตหลงถาน นครเถาหยวน เมาสุราเก็บหอยโข่งหรือหอยเชอรี่จิ้มน้ำพริกกินดิบๆ พยาธิชอนไชเข้าสันเลือดกลายเป็นอัมพาต อาการเข้าขั้นโคม่า แต่โชคดีหลังนายจ้างย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลฉางเกิงที่หลินโข่ว อาการดีขึ้นและเดินทางกลับประเทศไทยไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา

นายคมสันต์ฝากประชาสัมพันธ์ประสบการณ์ของตนให้เพื่อนคนไทยในไต้หวันได้ทราบ โดยกล่าวว่า ตนได้ไปหาเก็บหอยเชอรี่มากินและกินดิบ หลังจากกินได้สามวันเริ่มมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงและเริ่มปวดไปตามแขนหลังและขา จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาร่วมสองเดือน อาการแค่ดีขึ้นแต่ไม่หายขาด เพราะติดเชื้อในเส้นเลือดและเยื่อหุ้มสมอง ต้องกินยาทุกวัน ทุกข์ทรมานมาก จึงฝากเตือนเพื่อนๆ ทุกคนในไต้หวันอย่ากินอาหารสุกๆ ดิบๆ เด็ดขาด โดยเฉพาะหอยโข่งหรือหอยเชอรี่

ที่มา: Radio Taiwan International, 7/8/2020

หลายบริษัทพบว่า 'ทำงานจากบ้าน' อาจไม่ 'เวิร์ค' ในระยะยาว

ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง เช่น ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ก หรือกูเกิล ตอบรับการทำงานจากบ้าน และอนุญาตให้พนักงาน work from home ระยะยาวได้แล้วนั้น หลายบริษัทกลับค้นพบปัญหา และอุปสรรคของการทำงานจากบ้านที่ปรากฎให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ

ปัญหาที่บริษัทและผู้บริหารหลายแห่งพบ คือ โปรเจคต์ต่าง ๆ ใช้เวลานานขึ้น การฝึกอบรม การทำให้พนักงานใหม่เป็นส่วนหนึ่งของทีมทำได้ยากขึ้น ตามการรายงานของ The Wall Street Journal

หลายบริษัทพบว่าความกระตือรือร้น และขยันขันแข็งของพนักงานในช่วงการทำงานจากบ้านในช่วงแรก ๆ นั้น มีแรงผลักดันมาจากความกลัวว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจเลวร้าย ส่งผลให้พวกเขาตกงานไปด้วย จึงพากันทำงานอย่างขันแข็ง

แต่ตอนนี้ พบว่าพนักงานเริ่มมีความเหนื่อยล้าจากการทำงานจากบ้าน โด Washington Post รายงานถึงการศึกษาของ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ (National Bureau of Economic Research) ที่ชี้ให้เห็นว่า การทำงานจากบ้านทำให้พนักงานทำงานนานขึ้น อาทิตย์ละเกือบ 50 นาที มีประชุมมากขึ้น 13% และต้องตอบอีเมล์มากขึ้นอีกด้วย

การศึกษาดังกล่าวเป็นการสุ่มเก็บข้อมูลจากพนักงานกว่า 3 ล้านคน ในบริษัท 21,000 แห่ง ทั่วโลก

บางบริษัทจึงลงความเห็นว่า การทำงานจากบ้านในระยะยาว ไม่สามารถตอบโจทย์ของบริษัท และประเภทของธุรกิจที่พวกเขาทำได้

ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารของบริษัทสตาร์ทอัพ Chef Robotics ในซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการบางอย่างของบริษัท ไม่สามารถทำให้เสร็จภายในเส้นตายที่เคยกำหนดไว้ เพราะหลายอย่างต้องอาศัยวิศวกรบริษัทนั่งทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน ปัญหาที่ปกติเคยแก้ไขได้ภายในหนึ่งชั่วโมง กลายเป็นหนึ่งวัน เป็นต้น

การพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงานก็ทำได้ยากขึ้น ซีอีโอของบริษัทการเงิน Stifel Financial Corp. ให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal เขาเป็นห่วงการเรียนรู้งานของพนักงานใหม่ ที่ยังด้อยประสบการณ์ เพราะการเรียนรู้บางอย่าง ต้องเรียนรู้กับผู้ที่อาวุโสและมีประสบการณ์มากกว่า ผ่านการนั่งดู หรือนั่งเรียนด้วยกัน หรือการถาม และขอคำอธิบายเวลามีอะไรที่พวกเขาไม่เข้าใจ เป็นต้น

เพื่อเป็นการแก้ปัญหา บางบริษัทตัดสินใจเช่าสำนักงานแห่งใหม่ เพื่อให้พนักงานสามารถนั่งทำงานและรักษาระยะห่างระหว่างสังคมได้สะดวกขึ้น ในขณะที่บางแห่งใช้การทำงานแบบผสมผสาน หรือ hybrid โดยให้พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศบางส่วน ตามความสมัครใจ ในขณะที่มีบางส่วนยังคงทำงานจากบ้าน

ที่มา: VOA, 8/8/2020

ผู้ว่างงานในสหราชอาณาจักรสูงทำลายสถิติปี 2009

จำนวนผู้ว่างงานในสหราชอาณาจักรช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2020 เพิ่มขึ้น 220,000 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009 เนื่องจากตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 แม้อัตราว่างงานจะยังคงที่ที่ 3.9% แต่นั่นเป็นเพราะคนที่ล้มเลิกการหางานทำนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ถูกนับว่าเป็นคนว่างงาน

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า อัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% ส่วนธนาคารกลางอังกฤษคาดว่าอัตราว่างงานอาจสูงถึง 7.5% เมื่อสิ้นปี 2020 ทั้งนี้ จำนวนคนว่างงานมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีก เนื่องจากมาตรการรักษาการจ้างงานของรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือน ต.ค. 2020 นี้

ที่มา: Euronews, 11/8/2020

สิงคโปร์เยียวยา COVID-19 เพิ่ม 7 เดือน เน้นแรงงานท่องเที่ยว-การบิน-ก่อสร้าง

รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศเพิ่มเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพิ่มถึง 8,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์(ราว 180,000 ล้านบาท) ในโครงการ 'Jobs Support Scheme' โดยแรงงานในประเทศสิงคโปร์กว่า 2 ล้านรายจะได้เงินเยียวยาก้อนดังกล่าวแตกต่างกันไป แต่ผู้ที่ได้รับเงินเยียวยามากที่สุดคือแรงงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยว การบิน และอตุสาหกรรมก่อสร้าง จะได้รับเงินเยียวยามากที่สุดถึง 50% ของเงินเดือนไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2021 ขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อาหาร ขนส่ง ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินเยียวยา 30% และแรงงานในภาคส่วนอื่น ๆ จะได้รับเงินเยียวยา 10%

สำหรับเงินเยียวยาของรัฐบาลสิงคโปร์นี้คาดหวังว่าธุรกิจมากกว่า 150,000 แห่ง จะช่วยให้พนักงานถูกปลดออกจากตำแหน่งน้อยที่สุด และรัฐบาลเองยังได้ให้คำแนะนำกับธุรกิจต่างๆ เสริมทักษะให้กับพนักงานเพิ่มเติม เพื่อที่หลัง COVID-19 แล้วจะสามารถฟื้นตัวได้ไวที่สุด

ด้านนาย Heng Swee Keat รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เผยว่าเงินเยียวยาดังกล่าวนี้ไม่สามารถที่จะให้ได้เท่าก่อนหน้านี้ได้ซึ่งสูงถึง 75% ของเงินเดือน ไม่อย่างนั้นแล้วเงินทุนสำรองของสิงคโปร์เองจะร่อยหรอลงไปซึ่งจะสร้างความเสี่ยงทันที นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เพิ่มเงินเยียวยาอีก 1,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพื่อเสริมการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่มีอนาคตสดใส เช่น ICT อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมด้านชีวะภาพ ซึ่งถ้าหากมีการจ้างงานชาวสิงคโปร์ด้วยกันเอง รัฐบาลจะช่วยเพิ่มเงินให้อีก 25% ของเงินเดือนในระยะเวลา 1 ปี

ที่มา: South China Morning Post, 18/8/2020

ไต้หวันประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเดือนละ 24,000 เหรียญ ราย ชม.เพิ่มเป็น 160 เหรียญ มีผล 1 ม.ค. 2021

คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำประกาศเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 ส.ค.นี้ หลังประชุมหารือกันเป็นเวลากว่า 4 ชม. โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากเดือนละ 23,800 เหรียญไต้หวัน เป็นเดือนละ 24,000 เหรียญ หรือคิดเป็น 0.84% ขณะที่ค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับแรงงานท้องถิ่นปรับขึ้นจากชั่วโมงละ 158 เหรียญเป็น 160 เหรียญ หรือคิดเป็น 1.26% นับว่าเป็นการปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่รัฐบาลปธน.ไช่อิงเหวินขึ้นบริหารประเทศเมื่อปี 2016 ซึ่งขณะนั้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่เดือนละ 20,008  เหรียญ และครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งจะมีผลใชับังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปีหน้าเป็นต้นไป โดยตามกฎหมาย แรงงานต่างชาติ (ยกเว้นผู้ช่วยงานบ้านและผู้อนุบาลในครัวเรือน) จะได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างทุกคน

ที่มา: Radio Taiwan International, 18/8/2020

มาเลเซียผ่อนคลายคำสั่งห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวหลังเศรษฐกิจทรุดเพราะ COVID-19

รัฐบาลมาเลเซียใช้มาตรการล็อคดาวน์ประเทศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้มีประชาชนมาเลเซียตกงานกว่า 300,000 คน ส่งผลให้กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซียต้องประกาศห้ามจ้างแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคการเกษตร ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มองค์กรด้านธุรกิจต่าง ๆ เตือนว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลมาเลเซียจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่มีคนทำงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ และเป็นงานที่ชาวมาเลเซียไม่ต้องการทำ เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และแรงงานก่อสร้าง

ขณะที่นักวิเคราะห์เสริมว่า แรงงานต่างชาติในมาเลเซียส่วนใหญ่มิได้แข่งขันกับชาวมาเลเซียในตำแหน่งงานเดียวกัน แต่จะเป็นไปในลักษณะสร้างงานสำหรับชาวมาเลเซียที่มีทักษะฝีมือสูงกว่า

มาเลเซียพึ่งพาแรงงานต่างชาติอย่างมากสำหรับงานที่อยู่ในกลุ่ม 3-D คือ Dirty, Dangerous and Difficult หรือ สกปรก อันตราย และยากลำบาก ซึ่งเป็นงานที่คนมาเลเซียไม่ต้องการทำ โดยแรงงานต่างด้าวเหล่านี้กลายมาเป็นส่วนสำคัญในการทำให้มาเลเซียกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซียระบุว่า ปกตินั้น แรงงานต่างชาติในประเทศมีอยู่ราว 2.1 ล้านคน โดยตัวเลขนี้ไม่ได้คิดรวมแรงงานผิดกฎหมายซึ่งคาดว่าจะทำให้ตัวเลขรวมสูงกว่าตัวเลขทางการอีกเท่าตัว

ท่ามกลางแรงกดดันและข้อโต้แย้งเรื่องนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์มาเลเซีย ได้ประกาศว่าทุกอุตสาหกรรมสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้ แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องและอยู่ในงานที่เคยทำมาแล้ว

บรรดาธุรกิจต่าง ๆ พากันยินดีต่อการผ่อนคลายนี้ แต่ก็ยังมีการร้องขอให้รัฐบาลช่วยผ่อนคลายข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตทำงานและการจำกัดให้ทำงานได้ภายในอุตสาหกรรมเดิมที่เคยทำ

ด้านนักวิเคราะห์เชื่อว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในไตรมาสที่สอง ซึ่งหดตัวลงมากกว่า 17% คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลต้องทบทวนมาตรการจำกัดแรงงานต่างชาติใหม่ดังกล่าว

ที่มา: VOA, 24/8/2020

ADB เผยแรงงานข้ามชาติจากเอเชียแปซิฟิกรายได้ลดลงเพราะ COVID-19

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) รายงานผลการศึกษาว่า รายได้จากแรงงานจากเอเชียแปซิฟิกที่ทำงานในต่างประเทศจะร่วงลงไปถึง 5.43 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เนื่องจากการว่างงานเป็นจำนวนมาก ตลอดจนการลดค่าจ้างในกลุ่มแรงงานต่างชาติจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 สัดส่วนของรายได้ที่ร่วงลงจะคิดเป็นสัดส่วน 19.8% ของเงินได้จากแรงงานที่ทำงานในต่างประเทศในภูมิภาคในปี 2018

จำนวนแรงงานที่มาจากเอเชียแปซิฟิกนั้น คิดเป็นสัดส่วน 33% ของแรงงานต่างชาติทั่วโลกในปี 2019 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก ขณะที่รายได้จากแรงงานที่ทำงานในต่างประเทศคิดเป็น 3.15 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2019 ซึ่งถือเป็นน้ำเลี้ยงที่สำคัญสำหรับครอบครัวที่ยากจนและครอบครัวที่มีความเปราะบาง

ที่มา: Asia Pathways, 25/8/2020

คนไทยในไต้หวันขอเดินทางกลับไทยแต่หลบหนีก่อนขึ้นเครื่องแถมยกเลิกการเดินทางอีกถึง 30 ราย

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป ซึ่งเป็นสำนักงานผู้แทนรัฐบาลไทย ประจำไต้หวัน ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กของสำนักงานฯ ระบุว่า ในวันนี้ (26 ส.ค.) ได้อำนวยความสะดวกให้คนไทยจำนวน 239 คน เดินทางกลับประเทศไทย โดยสายการบิน ไชน่า แอร์ไลน์ เที่ยวบิน ซีไอ 833 โดยจะเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิเวลา 09:45 น. ของวันเดียวกัน  เป็นแรงงานที่หมดสัญญาจ้าง คนป่วย และผู้มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยไม่มีชาวต่างชาติร่วมเดินทางไปด้วย

เฟซบุ๊ก สำนักงานการค้าฯ ระบุว่า เดิมมีผู้แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับจำนวน 271 ราย เต็มจำนวนที่นั่งของเที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาเดินทางกลับมีผู้ขอยกเลิกการเดินทางโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ปรากฏตัวที่สนามบิน (no show) จำนวน 30 คน ส่วนอีก 1 คนถูกจับกุมขณะเช็คอิน ข้อหาปลอมแปลงเอกสารการจ้างงาน นอกจากนี้ อีก 1 ราย ได้หลบหนีหลังการเช็คอินและส่งสัมภาระแล้ว โดยมิได้ผ่านกระบวนการ ตม. สร้างความยุ่งยากให้แก่ทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานการค้าฯ ที่ต้องประสานงานให้สายการบินรับทราบเพื่อนำสัมภาระของบุคคลดังกล่าวออกจากเครื่องบิน จนเป็นเหตุให้การเดินทางต้องล่าช้ากว่ากำหนดการจริงค่อนข้างมาก

สำนักงานการค้าฯ ระบุว่า ปัญหาที่เริ่มมีคนไทยทิ้งคิวการเดินทางมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เข้ามาทำงานอาชีพพิเศษ และเห็นว่า หากไม่เดินทางก็สามารถขอค่าบัตรโดยสารคืนได้ โดยเพียงชำระค่าธรรมเนียมเล็กน้อยเท่านั้น รวมทั้งอาศัยช่องโหว่ของการต่ออายุวีซ่าของฝ่ายไต้หวันเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ดี สำนักงานการค้าฯ ได้เตือนว่า การหลบหนีในลักษณะดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมืองของไต้หวัน หากถูกจับกุมต้องเข้าสู่กระบวนการตามกฏหมายของไต้หวันก่อนที่จะถูกเนรเทศออกจากไต้หวัน

ที่มา: Radio Taiwan International, 26/8/2020

'อเมริกัน แอร์ไลน์ส' เตรียมลดงาน 19,000 ตำแหน่ง หลังเงินช่วยเหลือหมดอายุ ต.ค. 2020

อเมริกัน แอร์ไลน์ส ซึ่งจ้างพนักงานมากกว่า 140,000 คนเมื่อเดือนมีนาคม มีข้อผูกพันห้ามปลดพนักงานจนถึงวันที่ 30 กันยายน ตามเงื่อนไขการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อปกป้องธุรกิจการบินในสหรัฐฯ

แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ทางอเมริกัน แอร์ไลน์ส ประกาศว่าจะต้องลดพนักงานลงในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งรวมถึงการพักงานพนักงานที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานจำนวน 17,500 คนโดยไม่ได้รับเงินเดือน รวมถึงนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตลอดจนพนักงานฝ่ายบริหารและจัดการอีก 1,500 คน

นอกจาก อเมริกัน แอร์ไลน์ส แล้ว สายการบินรายใหญ่อื่น ๆ ของสหรัฐฯ ต่างเตรียมลดพนักงานเช่นกัน รวมทั้ง เดลต้า แอร์ไลน์ส ที่มีแผนพักงานนักบินเกือบ 2,000 คน และยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ที่มีคำเตือนเมื่อเดือนที่แล้วว่าอาจลดพนักงาน 36,000 ตำแหน่ง

ที่มา: VOA, 26/8/2020

อินโดนีเซียทุ่ม 7 หมื่นล้านรูเปียห์ เยียวยาแรงงานในประเทศจาก COVID-19 เพิ่ม 2 เดือน

นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประกาศแผนเยียวยาด้วยแจกเงินให้แก่แรงงานชาวอินโดนีเซียจำนวน 15.7 ล้านราย ที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 5 ล้านรูเปียห์ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยแรงงานกลุ่มดังกล่าวจะได้รับเงินจำนวน 1.2 ล้านรูเปียห์ต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน โดยงบประมาณดังกล่าวมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านรูเปียห์

"รัฐบาลจะมอบเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานประกันสังคมด้านการจ้างงานของรัฐ (BPJS Ketenagakerjaan) โดยระยะแรกเงินอุดหนุนจะถูกแจกจ่ายแก่แรงงาน 2.5 ล้านคน ก่อนจะแจกจ่ายแก่แรงงานในระบบอื่นๆ ในระยะถัดไปจนครบ 15.7 ล้านคน ภายในสิ้นเดือน ก.ย. นี้" โจโกวี กล่าว

นอกจากนี้ จะมอบเงินสดอีกจำนวน 3 .72 หมื่นล้านรูเปียห์แก่ 19 ล้านครัวเรือนที่อาศัยอยู่นอกเมืองจาการ์ตา ขณะที่อีก 300 ล้านรูเปียห์จะจัดสรรให้แก่คนขับรถสาธารณะกว่า 197,000 ราย ในตลอดช่วง 3 เดือนนี้

ที่มา: Jakarta Globe, 28/8/2020

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท