Skip to main content
sharethis

4 ก.ย. 2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ เรียกร้องสถาบันตุลาการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของตำรวจ และทบทวนคำสั่งถอนการประกันตัวอานนท์และภาณุพงศ์ เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การกำหนดเงื่อนไขของศาลอาจละเมิดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และข้อหาที่นำมาใช้เป็นไปเพื่อปิดกั้นการแสดงออกที่เห็นต่างจากรัฐบาล หากศาลไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจนำมาสู่วิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม

แถลงการณ์สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ขอให้ศาลโปรดเป็นเสาหลักในการดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ถ่วงดุลและยับยั้งไม่ให้กระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นและคุกคามผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

จากกรณีศาลอาญามีคำสั่งถอนประกันตัวนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เนื่องจากศาลเห็นว่าการขึ้นปราศรัยของนายอานนท์ในการชุมนุมที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 และในการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นการกระทำในลักษณะเดียวกันกับการกระทำในคดีเยาวชนปลดแอก ที่ศาลให้ประกันตัวไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2563 ซึ่งนายอานนท์ไม่ขอใช้สิทธิในการประกันตัว และในกรณีนายภานุพงศ์ จาดนอก ศาลพิจารณาเพิ่มหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท และให้มารายงานตัวทุก 15 วัน ถ้าหากกระทำความผิดตามเงื่อนไขเดิม คือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้น จะถอนประกันตัวในทันที ซึ่งนายภานุพงศ์ไม่ขอใช้สิทธิเพิ่มวงเงินในการประกันตัว จึงเป็นผลให้ทั้งสองคนต้องถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยทันที

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรกฎหมายที่ทำงานปกป้องและส่งเสริมการรับรองคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย จึงมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า

1. การชุมนุมสาธารณะของกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือการชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศนั้น ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือ เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และเป็นสิทธิที่ถูกรับรองไว้ทั้งในมาตรา34 และ มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อที่ 19 และข้อที่ 21 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม และการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศได้รับรองไว้ ไม่ควรเป็นพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด

2. คำสั่งของศาลที่กำหนดเงื่อนไขห้ามแกนนำที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวกระทำการใด ๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้น อาจถูกมองได้ว่าเป็นการละเมิดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด เนื่องจากยังไม่มีกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีจากศาลว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริงหรือไม่ อีกทั้งการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวในบริบทที่ผู้ต้องหาทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการชุมนุมของประชาชนในช่วงที่ผ่านมาและจะมีต่อไปในอนาคตยังมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของจำเลยทั้งสองและประชาชน อันเป็นเสรีภาพพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวข้างต้น ทั้งเงื่อนไขดังกล่าวก็ไม่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดี อันจะมีผลทำให้การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเสียหายแต่อย่างใด การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะดังกล่าวอาจเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ  ทั้งยังเป็นการขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ  การกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้ ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ได้สัดส่วน และเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร ซึ่งน่าจะไม่ชอบด้วยมาตรา 112 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

3. ความผิดที่ได้นำมาใช้กล่าวหานักกิจกรรมประชาธิปไตยที่ออกมาแสดงออกเรียกร้องต่อรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นความผิด ตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุม หรือความผิดตามพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เป็นต้น อาจเห็นว่าเป็นความผิดแต่ละส่วนแยกออกจากกัน แต่กลับถูกนำมาใช้ประกอบกันเพื่อยับยั้งและปิดกั้นผู้ที่แสดงออกว่าเห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งการแสดงออกของประชาชนที่ผ่านมายังเป็นการชุมนุมทางการเมืองโดยสงบและโดยปราศจากอาวุธ หากศาลไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว ในที่สุดจะก่อให้เกิดก่อวิกฤติศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นพิจารณาคดี เช่นเดียวกับวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรง ที่ประชาชนมีต่อกระบวนการยุติธรรมชั้นเจ้าพนักงานในขณะนี้

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้องต่อสถาบันตุลาการ ดังนี้

1. ขอให้ศาลดำรงไว้ซึ่งบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นประชาชนที่มีความเห็นทางการเมืองต่างจากรัฐบาล โดยขอให้ศาลธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและนิติรัฐ ถ่วงดุลและยับยั้ง ไม่ให้กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการปิดกั้นและคุกคามผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

2. ขอให้ศาลทบทวนคำสั่งถอนการประกันตัวนายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก และพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา และนายภานุพงศ์ จาดนอก โดยปราศจากเงื่อนไขที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
4 กันยายน 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net