Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปรากฏการณ์การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่มีพัฒนาการมาหลังจากการยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แล้วมาสะดุดหยุดอยู่พักหนึ่งในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด แต่ก็กลับมาดำเนินการต่อและเพิ่มความร้อนแรงและจำนวนมากขึ้นเมื่อเกิดการอุ้มหายคุณวันเฉลิมและตามด้วยกรณีสั่งไม่ฟ้องคุณบอสทายาทกระทิงแดง

หลายคนวิเคราะห์หรือคาดการณ์ไปต่างๆนานา ทั้งอาศัยหลักวิชาการ และไม่ได้อาศัยหลักวิชาการโดยใช้วิธีคาดเดาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา16 หรือ 6 ตุลา 19 ตลอดจนพฤษภา35และ53 หรือแม้กระทั่งการใช้วิธีการทางโหราศาสตร์

ในส่วนของตัวผมเองในฐานะที่เป็นทั้งนักรัฐศาสตร์และนักนิติศาสตร์ และเคยได้ทันเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ 14 ตุลา 16 ผ่านการรัฐประหารและกบฏมาหลายชุด ก็อดที่จะวิเคราะห์ปรากฎการณ์ม็อบปี 63 นี้ไม่ได้ ส่วนจะถูกหรือผิดไม่สามารถรู้ได้ เพราะเหตุการณ์มันยังมาไม่ถึง โดยผมเห็นว่าโอกาสที่ม็อบปี 63 จะจบลงอย่างไรนั้นมีโอกาสขึ้นได้ ดังนี้

โอกาสที่ 1
รัฐบาลก็จะปล่อยให้ยืดเยื้อไปเรื่อยๆ โดยพยายามยื้อให้ไว้ให้นานที่สุด ชุมนุมได้ก็ชุมนุมไป โดยรัฐบาลประเมินว่าม็อบคงไม่คงไม่ขยายจำนวนหรือยกระดับไปสูงกว่านี้ และหากไม่ไหวจริงๆรัฐบาลก็อาจใช้วิธีการยุบสภาเพื่อลดอุณหภูมิลงโดยรัฐบาลก็จะอ้างว่าก็ทำตามข้อเรียกร้องคือการยุบสภาซึ่งเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องแล้ว ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะมีหน้าที่พิจารณาและก็มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว (ถ้าเป็นไปตามที่วิปรัฐบาลให้สัมภาษณ์) แม้สภาฯจะถูกยุบไปแล้วก็ตาม ส.ส.ร.ก็จะยังคงอยู่ และคงใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญ (คงเป็นปีโน่นแหละ) ส่วนประเด็นการยุติการคุกคามนั้นแน่อนอนว่ารัฐบาลย่อมปฏิเสธโดยอ้างว่าตนเองไม่ได้ทำอยู่แล้ว ซึ่งก็คงยื้อกันไปกันมาระหว่างม็อบกับรัฐบาลไปเรื่อยๆ

โอกาสที่ 2
ตั้งโต๊ะเจรจาแบบround table ซึ่งก็จะมีปัญหาในเรื่องของการยอมรับ เพราะม็อบเองก็มีหลายfaction เช่น เยาวชนปลดแอก ประชาชนปลดแอก ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ฯลฯ และวิธีนี้จะไม่ได้ผลเหมือนดังตัวอย่างเมื่อครั้งพฤษภา 53 ซึ่งไม่มีใครยอมใครเพราะมีการถ่ายทอดสู่สาธารณะ ครั้นจะเป็นการเจรจากันวงปิดก็จะถูกหาว่าไปงุบงิบกัน แต่ผมก็เชื่อว่าวิธีการเจรจา (ลับๆ) ก็คงต้องมีอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลเห็นว่าจะเป็นวิธีการแยกสลายแกนนำที่ได้ผล 

โอกาสที่ 3
รัฐบาลใช้วิธีการกดดันแบบที่จีนใช้กับม็อบฮ่องกง โดยการอดทนไม่ใช้วิธีการตอบโต้ม็อบที่ชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรงเหมือนที่ใช้ในแผ่นดินใหญ่ แต่ใช้มาตรการทางกฎหมายจับกุมแกนนำจนม็อบอ่อนกำลัง แล้วตามสอยที่เหลือทีหลังเช่นในปัจจุบัน

โอกาสที่ 4
รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงเหมือนกรณีเทียนอันเหมินหรือกรณี 8-8-88 ของพม่าและกรณี 6 ตุลา 19 ของไทยที่รัฐบาลเป็นฝ่ายชนะแต่จะมีคนตายจำนวนมาก

โอกาสที่ 5
ในกรณีนี้จะคล้ายๆกับข้อที่ 4 แต่จะมีการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ประกาศกฎอัยการศึก ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง มีการจับกุมแกนนำที่เป็นผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่การรัฐประหารครั้งนี้ผลที่ออกมาจะแตกต่างจากที่ผ่านมาในอดีต เพราะจะมีการออกมาต่อต้านเป็นจำนวนมากเหมือนกรณี 14 ตุลา 16  หรือกรณีกวางจู ของเกาหลีใต้

ที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อนั้นมีโอกาสเป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมในวันเวลานั้นๆ เช่น การวางแผนการจัดการกับม็อบของรัฐบาล หรือ ฝ่ายม็อบก็ขึ้นจำนวนคนและสถานที่ที่มีการจัดการชุมนุม แต่อย่างไรก็ตามจำนวนคนก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นมิใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะที่ผ่านมาในอดีตแม้ว่าจะมีม็อบออกมาเป็นจำนวนเป็นแสนก็ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ แต่รัฐบาลกลับถูกโค่นล้มด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ณ พ.ศ.นี้การล้มรัฐบาลโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอนเพราะมีแหล่งที่มาเดียวกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือกรณีที่อาจจะมีการจุดชนวนความรุนแรง เช่น การใช้อาวุธหรือมีการโยนระเบิดหรือมีม็อบชนม็อบที่ไม่ว่าจะมาจากมือที่ 3 หรือมือที่ 1 เองก็ตาม ล้วนแล้วแต่จะนำไปสู่ความพลิกผันของสถานการณ์ได้ทุกเวลา

สำหรับนักรัฐศาสตร์หรือนักสังเกตการณ์ทางการเมืองล้วนแล้วแต่เห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันเกือบทั้งหมดว่าสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่ล่อแหลมและน่าสนใจเป็นที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่ามีการเรียกร้องในประเด็นที่แตกต่างจากอดีตที่ไม่เคยมีใครเคยหยิบยกขึ้นมา คือ ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น /มีการนำรูปแบบflash mobมาใช้/ มีการนำเทคโนโลยีและsocial mediaมาใช้ในการรณรงค์ /มีมวลชนที่มีอายุน้อยจนถึงระดับมัธยมต้นออกมาเคลื่อนไหว ฯลฯ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาในอดีต ผลที่ออกมาจึงมีโอกาสเป็นไปได้ในเกือบทุกทางดังที่ผมวิเคราะห์ไว้ใน 5 ข้อข้างต้น

อย่างไรก็ตามการเมืองไทยเรานั้น นักรัฐศาสตร์ทั้งหลาย (รวมผมด้วย) ในอดีตต่างก็เคยฉีกตำราทิ้งมาแล้วทั้งนั้น เพราะปัจจจัยที่แทรกซ้อนและนอกเหนือจากคาดการณ์เยอะมาก กล่าวโดยสรุปคืออะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น “สิ่งไม่เคยได้เห็น ก็อาจจะได้เห็น, สิ่งที่ไม่เคยได้ยิน ก็อาจจะได้ยิน”น่ะครับ 

อย่ากระพริบตานะครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net