สุรพศ ทวีศักดิ์: เพดานสูงสุดของกระบวนการประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถามว่าข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในคำปราศรัยของอานนท์ นำภา, ข้อเสนอ 10 ข้อ ในคำปราศรัยของรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) เพนกวิน (พริษฐ์ ชีวารักษ์) และมวลชนที่ยืนยันข้อเสนอดังกล่าว ถือเป็นการยกระดับกระบวนการประชาธิปไตยในการเคลื่อนไหวของมวลชนแตะ “เพดานสูงสุด” แล้วหรือยัง 

คำตอบน่าจะเป็นว่า หากเทียบกับกระบวนการต่อสู้ของมวลชนที่ผ่านๆ มา ก็ต้องถือว่าได้แตะเพดานสูงมากกว่าที่ผ่านๆ มาแล้ว โดยวัดจากการยกประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยขึ้นมาอภิปรายสาธารณะและเสนอทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายคือทำให้สถาบันกษัตริย์เป็น “สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)” ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จจริง ซึ่งเป็นข้อเสนอภายใต้กรอบของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและภายใต้หลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม ถ้าถือตามหลักสากลว่าเพดานสูงสุดของกระบวนการประชาธิปไตยคือ การใช้เสรีภาพในการพูดและการแสดงออกได้ “ทุกเรื่อง” แล้ว ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ภายในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขดังกล่าวข้างต้นนั้น ก็ยังไม่ถึงเพดานสูงสุดของการมีเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกได้ทุกเรื่อง เพราะตามหลักเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกได้ทุกเรื่องในระบอบเสรีประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้น ย่อมรวมถึงถึงเสรีภาพในการพูด, การเสนอระบอบสาธารณรัฐได้ด้วย

เช่น ในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบของประชาชนอย่างประเทศอังกฤษ ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการพูด การเสนอ และการรณรงค์ได้ทุกเรื่อง เช่น มีเสรีภาพในการพูด การเสนอ การรณรงค์ให้คงระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ได้ หรือจะพูด เสนอ รณรงค์ให้ยกเลิกระบบประมุขของรัฐแบบสืบสายเลือดในระบบกษัตริย์ โดยให้มีประมุขของรัฐที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแบบระบอบสาธารณรัฐก็ได้ด้วยเช่นกัน

ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งรวมอยู่ใน 3 ข้อเสนอ (หยุดคุกคามประชาชน, ยุบสภา, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่) 2 จุดยืน (ไม่เอารัฐประหารและรัฐบาลแห่งชาติ) และ 1 ความฝัน (มีระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง) จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับกระบวนการทางการเมืองให้สามารถจะมีเสรีภาพในการพูดได้ “ทุกเรื่อง” อย่างแท้จริง นั่นคือ ถ้ามีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นเสรีประชาธิปไตยได้สำเร็จ ประชาชนย่อมจะมีเสรีภาพในการพูดได้ทุกเรื่องเหมือนในสังคมอารยะอย่างอังกฤษเป็นต้น

พูดให้ชัดขึ้นอีกคือ ในสังคมสมัยใหม่ กระบวนการทางการเมืองที่จะถือว่าเป็น “กระบวนการประชาธิปไตย” ได้จริง ต้องเป็นกระบวนการที่มี “เสรีภาพในการพูด (freedom of speech) ได้ทุกเรื่อง” พูดแบบ John Stuart Mill คือ เสรีภาพในการพูดหรือการอภิปรายสาธารณะหมายถึง ถ้ามีคนเพียงหนึ่งคนคิดต่างจากคนทั้งหมดในสังคม เขาย่อมมีเสรีภาพที่จะพูดได้เต็มที่ คนทั้งหมดจะใช้อำนาจปิดปากเขาไม่ได้ หรือถ้าคนคนเดียวนั้นมีอำนาจเขาก็ใช้อำนาจปิดปากคนทั้งหมดที่คิดต่างจากเขาไม่ได้เช่นกัน ถ้าพูดแบบสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลคือ การมีเสรีภาพหมายความว่าเราต้องพูดได้ทุกเรื่องตั้งแต่ A-Z ถ้ากำหนดเพดานให้พูดได้เพียงเรื่อง B-Z ห้ามแตะเรื่อง A หรือเรื่องสถาบันกษัตริย์เรื่องเดียวก็ย่อมไม่มีเสรีภาพจริง

ทีนี้ในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพพูดได้ทุกเรื่อง นอกจากประชาชนจะใช้เสรีภาพตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ได้แล้ว ยังมีเสรีภาพที่จะเสนอและรณรงค์ให้ไม่มีหรือยกเลิกสถาบันกษัตริย์ได้ด้วย นี่คือการมีเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกอย่างเต็มตามกรอบคิดหรือตาม “ขอบเขต” ของการมีเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะหรือสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

แต่ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของมวลชนเวลานี้ ยังเป็นเพียงข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือเป็นข้อเสนอเพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงเท่านั้น ไม่มีใครหรือกลุ่มใดเสนออย่างเป็นสาธารณะว่าต้องไม่มีสถาบันกษัตริย์ หรือเสนอว่าประเทศไทยต้องเป็นสาธารณรัฐ ดังนั้น ข้อเสนอของมวลชนจึงไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ดังที่ถูกกล่าวหาด้วยความมดเท็จแต่อย่างใด

พูดชัดๆ คือ ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นข้อเสนอเพื่อให้สังคมไทยสามารถสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เป็นจริงได้ โดยต้องยุติการทำรัฐประหาร การคุกคาม และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในนามการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ด้วยการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและการกำกับตรวจสอบด้วยกลไกของระบอบประชาธิปไตยอย่างประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเขาปฏิบัติกัน 

ดังนั้น ถ้ายึดตามหลักสากลที่ว่า กระบวนการทางการเมืองจะมีความเป็นประชาธิปไตยได้จริง จะต้องเป็นกระบวนการที่มีเสรีภาพในการพูดได้ทุกเรื่อง ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของมวลชน ณ เวลานี้ จึงเป็นการยกระดับกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของมวลชนให้มีความเป็นประชาธิปไตยได้จริง

ถ้ากระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของมวลชนถูกกำหนด “เพดาน” ไว้ว่าให้พูดได้เฉพาะเรื่อง “B-Z” ห้ามพูดเรื่อง A หรือเรื่องสถาบันกษัตริย์ กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองภายใต้เพดานเช่นนี้ย่อมไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในตัวมันเอง และย่อมไม่ใช่กระบวนการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เป็นประชาธิปไตยได้จริง

การยกเพดานการต่อสู้ทางการเมืองในภาคมวลชนให้สูงขึ้น ด้วยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยนัยสำคัญหนึ่ง ย่อมทำให้เราเห็นจัดเจนว่า กระบวนการทางการเมืองในภาคนักการเมือง พรรคการเมือง หรือกระบวนการทางการเมืองในระบบสภาที่มีประเพณีกำหนดเพดานห้ามแตะหรือห้ามอภิปรายการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น ย่อม “ไม่ใช่กระบวนการทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย” ได้จริง

ดังนั้น แม้เราจะมีสภา มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่กระบวนการทางการเมืองในสภาที่แตะประเด็นปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยไม่ได้เลย ก็คือกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นกระบวนการที่ถูกกำหนดถูกบล็อกให้ไม่สามารถจะเป็นประชาธิปไตยได้จริงมายาวนาน

วันนี้ กระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของมวลชนได้ยกระดับให้มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมากแล้ว คำถามสำคัญคือ เมื่อใดกระบวนการทางการเมืองในสภาจึงจะมีนักการเมือง พรรคการเมืองที่แสดงให้เห็นถึงการมี “ภาวะผู้นำประชาธิปไตย” ด้วยการยกระดับกระบวนการทางการเมืองในสภาให้มีความเป็นประชาธิปไตยสูงขึ้นอย่างสอดรับกับกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของมวลชน เพื่อไม่ให้ “ภาระความเสี่ยง” ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยตกอยู่บนบ่าของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนมากจนเกินไป หรือปล่อยให้สายเกินไปแบบประวัติศาสตร์หลายๆ ที่ผ่านมาที่รอคอยให้เกิดการสูญเสียแล้วกระบวนการสภาจึงทำงาน แต่ก็ไม่ใช่การทำงานเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริงได้เลย

ย้ำอีกครั้ง ถ้าเราถือมาตรฐานของสังคมสมัยใหม่ที่ยึดหลักสากลว่า กระบวนการทางการเมืองในและนอกสภาจะมีความเป็นประชาธิปไตยได้จริง ต้องมีเสรีภาพที่จะพูดหรืออภิปรายสาธารณะได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนรวม การที่กระบวนการทางการเมืองในสภาตกอยู่ใน “ความกลัว” ที่จะอภิปรายประเด็นสถาบันกษัตริย์ ก็ย่อมชัดเจนว่ากระบวนการทางการเมืองในสภายังติดอยู่ในกับดักความคิดแบบก่อนสมัยใหม่ (pre-modern) อันเป็นความคิดซึ่งยืนยันการห้ามแตะอำนาจที่กดทับเสรีภาพและปิดโอกาสของการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริง

พูดอีกอย่าง ขณะที่กระบวนการทางการเมืองภาคมวลชนยืนยันความคิด คุณค่า อุดมการณ์เสรีภาพและประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่ชัดเจนแล้ว แต่กระบวนการทางการเมืองในสภายังติดกับดักอำนาจแบบก่อนสมัยใหม่มายาวนาน 

ภายใต้สถานการณ์ที่มวลชนยึดคุณค่า หลักการ อุดมการณ์เสรีภาพและประชาธิปไตยสมัยใหม่ ขณะที่กระบวนการทางการเมืองในสภาถูกกำหนดให้อยู่ใต้ระบบคิดและอำนาจแบบก่อนสมัยใหม่ ในอีกด้านหนึ่งกลับมีมวลชนอ้างและใช้สัญลักษณ์สถาบันกษัตริย์ต่อสู้ทางการเมืองเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ มีการทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยในนามปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้ รัฐบาลจากรัฐประหารตั้งคณะบุคคลและสภา (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ขึ้นมาเขียนรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายต่างๆ เพิ่มอำนาจสถาบันกษัตริย์ได้ กระทั่งใช้กฎหมาย ใช้กลไกอำนาจรัฐ กระบวนการยุติธรรมในทางคุกคามและละเมิดเสรีภาพในการพูด การแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในแนวทางที่ต้องการปฏิรูปให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมที่เป็นประชาธิปไตย และ ฯลฯ 

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยร้าวลึก ซับซ้อนมาก และไร้ทางออก หากทุกภาคส่วนของสังคมไม่ร่วมกันยืนยันที่จะนำประเด็นสถาบันมาอภิปรายสาธารณะและเสนอแนวทางปฏิรูปเพื่อให้สังคมเรามีเสรีภาพและประชาธิปไตยได้จริง

คำถามจึงพุ่งไปที่นักการเมืองและพรรคการเมืองในฐานะ “ตัวแทนประชาชน” ที่กินเงินเดือนและได้รับสวัสดิการต่างๆ จากภาษีประชาชนว่า ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด ต้องให้มวลชนเสียสละตัวเองอีกกี่ครั้ง ตัวแทนประชาชนเหล่านั้นจึงจะมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะแสดง “ภาวะผู้นำประชาธิปไตย” ให้สามารถตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของประชาชนในการสถาปนาหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยให้เป็นได้จริงเสียที 

  
ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/thai/thailand-53808143

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท