สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 30 ส.ค.-5 ก.ย. 2563

นายกสภา มทร. กำชับอธิการบดีหาทางอุ้มนักศึกษา ย้ำห้ามผลักนักศึกษาพ้นสภาพ

ดร.วีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก สถานประกอบการ บริษัท ห้างร้านต่างๆ ต้องปิดกิจการลง ทำให้มีผู้ถูกเลิกจ้าง และกลายเป็นว่างงานจำนวนมาก แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบมายังตัวของนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ด้วย เนื่องจากอาจจะมีผู้ปกครองของนักศึกษาบางคนที่ต้องตกงาน และขาดรายได้ ดังนั้นตนจึงหารือ ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ว่าให้พยายามหาทางช่วยเหลือนักศึกษาที่ลำบากจริงๆ เช่น หากนักศึกษาไม่มีเงินที่จะมาจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนก็ควรผ่อนผัน หรือให้ทยอยผ่อนชำระได้ เป็นต้น จะต้องไม่มีนักศึกษาคนใดที่ถูกตัดสิทธิ์และพ้นสภาพการเป็นนักศึกษา เพียงเพราะผู้ปกครองเดือดร้อนจากการตกงานแล้วไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกหลานเด็ดขาด

ด้าน ผศ.ดร.สมหมาย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เชิญผู้ประกอบการหอพักเอกชนบริเวณรอบมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียงมาประชุมหารือเตรียมความพร้อมการกลับมาเรียนของนักศึกษากว่า 26,000 คน ที่ต้องกลับเข้าเรียนและพักอาศัยตามปกติหลังสอบกลางภาคในเดือน ก.ย.นี้ โดยขอให้แต่ละหอพักตระหนักถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ตามที่รัฐบาลได้ออกประกาศและมีแนวทางการป้องกันต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยเองก็ได้เตรียมมาตรการป้องกันไว้อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้ประกอบการธุรกิจหอพักภาคเอกชนในการมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และหอพักบางแห่งยังได้จัดให้มีส่วนลดพิเศษสำหรับนักศึกษาที่จะเข้าพัก อีกทั้งบางแห่งก็พิจารณาให้นักศึกษาเข้าพักฟรี และจากการประชุมหารือมหาวิทยาลัยยังได้ขอความร่วมมือในเรื่องการช่วยดูแลสอดส่องนักศึกษา กรณีหากมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง ไม่เหมาะสม หรืออาจก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อื่น ขอให้แจ้งทางมหาวิทยาลัยและผู้เกี่ยวข้องผ่านกรุ๊ปไลน์ที่ตั้งขึ้น

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 5/9/2563

บอร์ดประกันสังคม อนุมัติผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป ให้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แจ้งว่าบอร์ดประกันสังคม อนุมัติผู้ประกันตนอายุ 50 ปีขึ้นไป ให้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 ที่ประชุมเห็นชอบตามคณะกรรมการการแพทย์ที่เสนอให้ผู้ประกันตนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม อีก 2 สัปดาห์จะมีประกาศของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อแจ้งให้ผู้ประกันตนเข้ารับการฉีดวัคซีน คาดว่าโรงพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตนจะให้บริการได้ในปลายเดือน ต.ค. 2563 นี้

ที่มา: TNN, 4/9/2563

ยืนยันลดเงินสมทบผู้ประกันตน ม.33,ม.39 เหลือ 2% ก.ย.-พ.ย. 2563

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยกรณีเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 ครม.มีมติเห็นชอบให้ประกันสังคม เยียวยานายจ้าง ผู้ประกันตนต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในเดือน ก.ย.-พ.ย. 2563 ลดเงินสมทบมาตรา 33 เหลือร้อยละ 2 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ส่งเพียง 96 บาท โดยมีผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ 12.92 ล้านคน

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานกล่าวถึงการลดหย่อนเงินสมทบของผู้ประกันตนตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กระทรวงแรงงานเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดโควิด-19 โดยลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2 ของค่าจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 96 บาท จากที่จ่ายเดือนละ 432 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนก.ย.-พ.ย. 2563

สำหรับการลดหย่อนเงินสมทบครั้งนี้จะช่วยลดภาระให้แก่ผู้ประกันตนจำนวน 12.92 ล้านคน คิดเป็นเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท และนายจ้าง 4.87 แสนราย คิดเป็นเงินถึง 1.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 2.4 หมื่นล้านบาท และหากคิดเป็นจำนวนเงินที่จะประหยัดได้ของผู้ประกันตนมาตรา 33 เฉลี่ย 1,022 บาท และผู้ประกันตนมาตรา 39 เฉลี่ย 1,008 บาท

ทั้งนี้ขั้นตอนของการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันภายในกำหนด จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ภายใต้นโยบายเร่งด่วนของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนให้ตรงจุด และทันท่วงที เพื่อสร้างสรรค์หลักประกันที่มั่นคงและเป็นที่พึ่งอยู่เคียงข้างผู้ประกันตนตลอดไป

ที่มา: สยามรัฐ, 4/9/2563

ประกันสังคมเพิ่มสิทธิลาคลอดรับเงินชดเชยจาก 90 วันเป็น 98 วัน กรณีทุพพลภาพรับเงินทดแทนเพิ่มจากเดิมเป็น 70%

3 ก.ย. 2563 ณ สำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางมามอบนโยบายเนื่องในวันครบรอบ 30 ปี สำนักงานประกันสังคม โดยมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ พร้อมชูนโยบายเร่งด่วนและสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และทิศทางในการทำงานของสำนักงานประกันสังคมที่พร้อมก้าวสู่ปีที่ 31

ในโอกาสนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ตนได้มอบนโยบายให้สำนักงานประกันสังคมได้นำไปปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง โดยนำนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” เข้ามาดำเนินการ

รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแรงงานแห่งชาติ ภายในกระทรวงแรงงาน บูรณาการการทำงานร่วมกันและมุ่งเน้นทำงานเชิงรุก ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ตรงจุด ทันท่วงที

นอกจากนี้มอบนโยบายเร่งด่วน เพื่อเยียวยาความเจ็บปวดที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะ SMEs และประชาชนตกงาน โดยมีมาตรการในการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ใน 15 เดือน มีสิทธิรับเงินเยียวยา เป็นระยะเวลา 3 เดือน มาตรการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้นายจ้าง และผู้ประกันตน ลดอัตรา เงินสมทบจากนายจ้าง และผู้ประกันตน จากเดิมฝ่ายละ ร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2 ของค่าจ้าง (เดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2563)

มาตรการเชิงรุกให้ลูกจ้างที่ว่างงานได้รับสิทธิประโยชน์โดยเร็ว จ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม ถูกต้อง ครบถ้วน รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจต่างๆ ยังคงจ้างงานต่อไป และใช้วิกฤติพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพและแข่งขันได้

โดยจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน สำนักงานประกันสังคมร่วมกับธนาคารสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถานประกอบการ โดยมีวงเงินที่ให้ปล่อยกู้ 30,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องสถานประกอบการ และให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพที่จะรักษาการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า นโยบายสำคัญและทิศทางในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ตนได้กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมมีมาตรการส่งเสริม คุ้มครอง พัฒนา และสร้างหลักประกันทางสังคม สู่แรงงานนอกระบบโดยดำเนินการขับเคลื่อนเครือข่ายประกันสังคมทั่วไทย ผ่านกลไก “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน โรงงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน

รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 กรณีเสียชีวิต และกรณีทุพพลภาพ พร้อมทั้งศึกษารูปแบบความคุ้มครองกลุ่มอาชีพใหม่ โครงการ Safety & Healthy Thailand เพื่อผู้ประกันตน ผ่านกลไก 3H (Helping–Healthy–Harmless) ซึ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเชิงรุกในสถานประกอบการ รวมไปถึงการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ สังคม และรองรับสังคมสูงอายุ

ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ให้แก่ ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ เช่น เพิ่มค่าทำศพผู้ประกันตนมาตรา 33 จาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท การขยายอายุการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จากเดิมจำกัดที่อายุ 60 ปี เป็นอายุ 65 ปี และการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน โดยการแก้ไขกฎกระทรวงเพิ่มเหตุสุดวิสัยโควิด-19 และว่างงานจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย

สำหรับการดำเนินงานในปี 2564 สำนักงานประกันสังคมได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม และรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีทุพพลภาพ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง

กรณีคลอดบุตร เพิ่มระยะเวลาการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร จาก 90 วัน เป็น 98 วัน

กรณีสงเคราะห์บุตร ให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรต่อไปอีก 6 เดือน

กรณีค่าทำศพ กองทุนเงินทดแทน กรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานปรับจาก 40,000 บาท เป็น 50,000 บาท

การยกระดับคุณภาพในการให้บริการแก่นายจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชนทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น e–Service, Application, Web Application, Mobile Application เพื่อให้รองรับการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ของสำนักงานประกันสังคม ได้แก่ การเพิ่มช่องทางในการชำระเงินสมทบผ่านธนาคารและหน่วยบริการชั้นนำ

รวมไปถึงการยื่นแบบส่งเงินสมทบผ่านระบบ Internet การชำระส่งเงินสมทบผ่านระบบ E-payment ของธนาคารชั้นนำ 9 แห่ง และพิมพ์ใบเสร็จด้วยตนเองผ่านระบบ E–receipt การดำเนินการระบบแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานกองทุนเงินทดแทน (e-Compensate) การขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบ E-claim ให้บริการ ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 รวมทั้งบริหารจัดการรับ-ติดตาม เรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ยังมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ อาทิ ทะเบียนราษฎร์ กับกรมการปกครอง ข้อมูลนายจ้าง ผู้ประกันตน กับกรมสรรพากร ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ข้อมูลการล้มละลายของสถานประกอบการกับกรมบังคับคดี นายจ้างแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างผ่านระบบ WPD เป็นต้น

สำหรับการจัดงานวันครบรอบ 30 ปี ของสำนักงานประกันสังคม ในวันนี้ ช่วงเช้าเป็นพิธีสงฆ์ และพิธีมอบโล่รางวัลให้แก่ผู้สนับสนุน ส่งเสริม และทำคุณประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคม สถานพยาบาลในดวงใจ สถานประกอบการดีเด่น และบุคลากรดีเด่นด้านคุณธรรม จริยธรรม และองค์กรคุณธรรมของสำนักงานประกันสังคม จำนวน 135 ราย และในช่วงบ่ายได้จัดให้มีงานเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “การสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายประกันสังคม” จากวิทยากรภาครัฐ และวิทยากรภาคเครือข่ายประกันสังคม อีกด้วย

ที่มา: คมชัดลึก, 3/9/2563

ก.แรงงาน เร่งกำหนดมาตรฐานฯ 77 สาขา รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นเกณฑ์วัดระดับฝีมือ ความรู้ ความสามารถ ทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพในสาขาต่างๆ ผ่านกระบวนการฝึกอบรม ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ การรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจะมีระบบการทบทวน ปรับปรุงแก้ไข ให้มีความทันสมัยและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่เสมอ ซึ่งในปัจจุบันกพร. ได้จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติแล้ว 261 สาขา และตั้งเป้ากำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติรองรับ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพิ่มเติมอีก

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า กพร. มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดสาขาเพื่อจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ คือมาตรฐานที่จะจัดทำต้องเป็นกลุ่มอาชีพที่กำหนดอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต มีแรงงานจำนวนมากในตลาดแรงงาน จากข้อมูลผลการสำรวจความต้องการและระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชน สมาคม องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ระบุว่าต้องเร่งจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 77 สาขา เฉพาะในปี 2563 เร่งดำเนินการ 10 สาขา ได้แก่ สาขาช่างซ่อมเครื่องจักรกล CNC สาขาควบคุมเครื่องมือวัดความหยาบผิว สาขานักพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ไอโอที สาขาช่างควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สาขานักดูแลและบริหารระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สาขานักออกแบบแอนิเมชันสามมิติ สาขาช่างติดตั้งระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) สาขานักเขียนแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (งานระบบ) สาขาพนักงานชงกาแฟ และสาขานักคั่วกาแฟ คาดว่าจะประกาศใช้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้ในปี 2564

“การดำเนินจัดทำมาตรฐานแห่งชาติรองรับ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต วางเป้าหมายเพื่อเพิ่มสาขาสอดคล้องกับการประกาศอัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างตามทักษะฝีมือ กระตุ้นให้มีการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันกระทรวงแรงงาน ได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ไปแล้วจำนวน 83 สาขา” อธิบดีกพร. กล่าว

ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (อ้างใน RYT9), 3/9/2563

กพร. ร่วมมือออมสิน ช่วยเหลือแรงงานปลดหนี้นอกระบบ สร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง สู่คุณภาพชีวิตที่ดี

2 ก.ย. 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม เพื่อหารือโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบชีพ ระหว่างธนาคารออมสิน กับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมี ดร.ภาคิน สมมิตรธนกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้อำนวยการกองแผนงานและสารสนเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และ ผู้แทนจากธนาคารออมสิน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องแสงสิงแก้ว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

สำหรับโครงการฯ ที่จะจัดทำขึ้นนั้น เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือผู้ที่สนใจประกอบอาชีพอิสระ เข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือ ให้มีความรู้ ความสามารถ สามารถนำไปประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และรองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต รวมไปถึง เพิ่มช่องทางในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพอิสระ โดยธนาคารออมสินจะมีการจัดอบรมความรู้ทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ทางการเงินเบื้องต้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ รวมทั้งการสร้างทัศนคติทางการเงินที่ดี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายให้เหมาะสมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอาชีพจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน และป้องกันการเกิดปัญหาหนี้นอกระบบ ส่วนกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรมฝีมือแรงงานตลอดจนการออกวุฒิบัตร เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ผ่านการอบรมได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

นายธวัช กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ร่วมกับธนาคารออมสินอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการให้สินเชื่อแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หลักสูตรช่างเอนกประสงค์ โครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือผู้สนใจจะประกอบอาชีพอิสระ เพื่อให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าว มีเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพต่อไป

นางนฤมล กล่าวเพิ่มเติมว่ากระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือให้แรงงานทุกคน มีทักษะฝีมือแรงงาน มีอาชีพ มีรายได้ และเข้าถึงแหล่งบริการทางการเงิน เพื่อให้กลุ่มของแรงงานหลุดจากการเป็นหนี้นอกระบบ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/9/2563

บริษัทลูกการบินไทย 'วิงสแปนฯ' เลิกจ้างพนักงาน 2,600 คน

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายโอม พลาณิชย์ กรรมการและรักษาการ กรรมการผู้จัดการบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ได้ลงนามในประกาศบริษัท วิงสแปนเซอร์วิสเซส จำกัด ที่ 19/2563 เรื่องเลิกจ้างพนักงาน โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ธุรกิจสายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่งแรงงงานให้แก่สายการบินในประเทศไทยด้วย

ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ช่วยเหลือพนักงานให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีมาตรการปรับลดค่าใช้จ่ายทุกประเภท แต่สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด ประกอบกับแรงงานที่ยังคงได้รับการว่าจ้างมีอยู่จำนวนไม่มาก ทำให้บริษัทฯ มีรายได้ลดลง ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลพนักงานที่บริษัทฯ ให้หยุดงานชั่วคราวจำนวนมาก จนเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง ทางบริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องปรับลดค่าใช้จ่ายลงอีกให้เหมาะสม

ขณะเดียวกันผู้ว่าจ้างแรงงานหลักคือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ขณะนี้ประสบปัญหาการเงินและอยู่ในขั้นตอนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลาง จึงทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ถึงการกลับมาว่าจ้างแรงงานของผู้ว่าจ้าง และไม่มั่นใจว่าจะมีการว่าจ้างแรงงานในอนาคตหรือไม่

ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่สามารถว่าจ้างพนักงานที่บริษัทฯ ให้หยุดงานในปัจจุบันได้ และมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานที่บริษัทฯ ได้มีประกาศให้หยุดงานเพราะเหตุจำเป็นดังกล่าว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2563

ทั้งนี้ ไม่รวมถึงคณะกรรมการสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย และพนักงานปัจจุบันที่เป็นผู้พิการ หรือหากพนักงานยังไม่ประสงค์ให้เลิกจ้าง ให้พนักงานแสดงความจำนงขอลาหยุด โดยไม่รับค่าจ้างเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 8 เดือน และให้การลาหยุดโดยไม่รับค่าจ้างเริ่มตั้งแต่ 1ก.ย.2563 เป็นต้นไป

ในประกาศเลิกจ้างพนักงานของบริษัทฯ ยังระบุอีกว่า จะส่งหนังสือแจ้งให้พนักงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเป็นรายบุคคล พร้อมแจ้งรายชื่อพนักงานที่จะเลิกจ้างแก่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพื่อให้พนักงานที่มีสิทธิ ได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป โดยบริษัทจะทยอยจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างและเงินอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้พนักงานภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่การเลิกจ้างมีผล หรือเมื่อบริษัทฯ กลับมามีสภาพคล่องทางการเงินดีแล้วต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประกาศเลิกจ้างครั้งนี้ทำให้พนักงานบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ประมาณ 2,600 คน ถูกเลิกจ้างทันที ซึ่งบริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทลูกที่บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) จัดตั้งขึ้น โดยถือหุ้นในสัดส่วน 49% (หุ้นสามัญ) และบริษัท ครัวการบินภูเก็ต จำกัด โดยมีผู้แทนของบริษัท การบินไทยฯ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งการบินไทยจัดจ้างบริษัททั้ง 2 ให้ทำหน้าที่รับจ้างดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบริการที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทาง เช่น ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น ฝ่ายครัวการบิน ฝ่ายบริการอุปกรณ์ภาคพื้น ฝ่ายช่าง และฝ่ายคาร์โก้

ที่มา: Thai PBS, 1/9/2563

เครือข่ายแรงงานเผยตัวเลขหลังเปิดศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ COVID-19 แรงงาน 1.3 ล้านคน ร้องเรียนถูกเลิกจ้าง

31 ส.ค. 2563 หลังจากศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เป็นความร่วมมือกันของเครือข่ายแรงงานหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการสมาน ฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

ซึ่งจากการเปิดรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือน 5 เม.ย.ที่ผ่านมา พบจำนวนผู้ร้องทุกข์ทั้งหมด 1.3 ล้านคน เจอปัญหาหลายอย่าง เช่น หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 79/1 ถูกบีบ บังคับให้เขียนใบลาออก ถูกลด ค่าจ้าง ลดสวัสดิการและเปิดโครงการสมัครใจลาออก-เลิกจ้าง

จากการเปิดรับเรื่องดังกล่าว จึงยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วน โดยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห้ามมิให้นายจ้างปิดงาน และลูกจ้างนัดหยุดงานทั่วราชอาณาจักร ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อการจัดสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน

กรณีที่รัฐบาล หรือนายจ้างปิดงาน หรือลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากเหตุสุดวิสัยให้จ่ายค่าจ้าง ร้อยละ 75 ของค่าจ้างก่อนถูกปิดงาน ขอให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าที่อยู่อาศัย ให้กับผู้ประกันตนและประชาชนทั่วไปรายละ 1,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะพ้นวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และขอให้สถาบันการเงิน พักชำระหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ย กรณีที่กำลังผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ตลอดระยะเวลาจนกว่าจะพ้นวิกฤตโรค COVID-19

สำหรับข้อเรียกร้องดังกล่าวเครือข่ายแรงงานได้ยื่นรัฐบาลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. แต่พบว่าข้อเรียกร้องบางข้อยังไม่ได้รับการดำเนินการ ส่วนศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของเครือข่ายแรงงาน ได้ปิดลงแล้ว เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ที่มา: Thai PBS, 31/8/2563

ก.แรงงานเตรียมจัดงงาน ‘จ๊อบเอ็กซ์โปร์ 2020’ ก.ย. 2563 นี้ หวังช่วยคนตกงานล้านตำแหน่ง

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในตอนหนึ่ง ช่วงการบรรยายพิเศษ ในงานสัมนา การส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินการตามภารกิจขององค์กรระหว่าง คณะกรรมาธิการการแรงานกับกระทรวงแรงงาน เพื่อการเพิ่มผลิตภาพ และสร้างภาวะสันติสุขในสังคมอุตสาหกรรมของประเทศในทุกมิติในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงและเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ จ.นครนายก

นายสุชาติ กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อแรงงานในเวลานี้ คือ แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขผู้ประกันตนขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา จากฐานข้อมูลที่ชัดเจนมีตัวเลข จำนวน 933,367 คน คิดเป็นเงิน 14,982.717 ล้านบาท ( ข้อมูล ณ 25 ส.ค.63) และเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานทุกหน่วย เร่งขับเคลื่อนภารกิจช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประเด็นเร่งด่วนที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปีนี้ คือการจัดงาน Thailand Job Expo 2020 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2563 มีตำแหน่งงาน 1 ล้านตำแหน่ง จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ของทุกกระทรวงมารวมกันเพื่อ จับคู่กัน ระหว่างงานกับคน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนการจ้างงานผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ และสนับสนุนการจ้างงานเพื่อคนว่างงานในช่วง โควิด – 19 โดยนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องอยู่ในระบบประกันสังคม และนายจ้างต้องไม่เลิกจ้างลูกจ้างเดิม เกินกว่าร้อยละ 15 ภายใน 1 ปีมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย (ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน) ได้รับการช่วยเหลือ โดยมี เป้าหมาย 59,776 คน //มาตรการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้นายจ้างและผู้ประกันตน จากเดิมฝ่ายละ ร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่กันยายน – พฤศจิกายน 63 มาตรการนี้จะช่วยรักษาระดับการจ้างงานและเพิ่มกำลังซื้อของตลาดในประเทศรวมเป็นเงินที่ลดให้ทั้งผู้ประกันตนและนายจ้าง เป็นเงินประมาณ 23,000 ล้านบาท จาก 12.92 ล้านคน //ช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยปลอดดอกเบี้ย (0%) ตลอดระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 – 31 สิงหาคม 2564 ผู้ประกอบกิจการสามารถกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน วงเงินกู้ยืมแห่งละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยในปี 2564 มีวงเงินให้กู้กว่า 100 ล้านบาท รวมทั้งยังได้ บูรณาการร่วมกันเฝ้าระวังสถานประกอบกิจการที่คาดว่าจะเลิกจ้าง เพื่อให้จ่ายสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกฎหมายประกันสังคม ถูกต้อง ครบถ้วน และรวดเร็ว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/8/2563

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท