ชนพื้นเมืองนอร์เวย์เรียกร้องต้านมาตรการรัฐ จำกัดการเลี้ยงกวางเรนเดียร์

นิตยสาร Yes! รายงานถึงเรื่องราวชนพื้นเมืองชาวซามีในแถบสแกนดิเนเวียที่มีวัฒนธรรมการเลี้ยงกวางเรนเดียร์แบบต้อนฝูงปล่อยหากินมาเป็นเวลายาวนาน วัฒนธรรมนี้มีส่วนช่วยสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศในการลดโลกร้อน แต่ในตอนนี้วัฒนธรรมเลี้ยงกวางเรนเดียร์กำลังจะถูกทำลายลงเพราะรัฐบาลนอร์เวย์ต้องการเข้าไปทำเหมืองแร่ในพื้นที่เหล่านั้น


ที่มาภาพประกอบ: Tristan Ferne (CC BY 2.0)

ในพื้นที่รายสูงอาคติคของประเทศนอร์เวย์ มีชาวพื้นเมืองซามีที่มีวัฒนธรรมเลี้ยงกวางเรนเดียร์กำลังต้องงัดข้อกับรัฐบาลนอร์เวย์ในเรื่องการถูกจำกัดวัฒนธรรมของพวกเขา

มีตัวอย่างกรณีของ จอฟส์เซตต์ อันเต ซารา ชาวซามีอายุ 23 ปี ที่กำลังสู้กับการที่รัฐบาลบังคับให้จำกัดโควตาการเลี้ยงดูกวางเรนเดียร์ของพวกเขาให้เหลือ 75 ตัวเท่านั้น ซึ่งซาราบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การต่อสู้เพื่ออาชีพส่วนตัวเท่านั้น "ผมฟ้องร้องรัฐบาลเพราะฉันไม่สามารถยอมรับได้ที่จะให้วัฒนธรรมของฉันตายไป"

มีการสู้คดีมาเรื่อยๆ จากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ซารายังคงเลี้ยงกวางเรนเดียร์จำนวนเท่าเดิมต่อไปได้ แต่ต่อมารัฐบาลก็ยื่นฟ้องอุทธรณ์ต่อจนศาลชั้นสูงสุดตัดสินให้ซาราต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลไม่เช่นนั้นจะต้องเสียค่าปรับและบทลงโทษอื่นๆ รวมถึงการบังคับสังหารกวางเรนเดียร์ด้วย

พวกคนรุ่นเยาว์จึงนำคดีนี้ฟ้องต่อไปที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยร้องเรียนว่ารัฐบาลนอร์เวย์ละเมิดสิทธิกลุ่มชนพื้นเมือง แต่ทางรัฐบาลไม่ยอมรอคำตัดสินจากสหประชาชาติ พวกเขาต้องการสังหารเรนเดียร์โดยทันทีทำให้ซาราต้องส่งกวางไปให้กับญาติเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กวางถูกสังหาร

พี่สาวของจอฟส์เซตต์ ชื่อมาเร็ต อานน์ ซารา ผู้เป็นศิลปินได้ช่วยทำให้เรื่องออกสู่สายตาสาธารณะผ่านงานศิลปะของเธอ เป้าหมายของมาเร็ตคือต้องการดึงความสนใจให้เห็นถึงผลกระทบของการตัดขาดกลุ่มชนพื้นเมืองออกจากวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขา มาเร็ตบอกว่าการจำกัดจำนวนของรัฐบาลจะทำให้พวกเขาไม่สามารถเลี้ยงแบบต้อนสัตว์เป็นฝูงตามประเพณีที่สืบทอดกันมาของบรรพบุรุษได้ จนอาจจะทำให้การเลี้ยงกวางเรนเดียร์หมดสิ้นไปในที่สุดเพราะทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเลี้ยงได้ เธอบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำเป็นเสมือนการล่าอาณานิคมในแบบใหม่ที่จำกัดอิสรภาพและการเข้าถึงพื้นที่ของชนพื้นเมือง

มาเร็ตบอกว่าถึงแม้ว่านอร์เวย์จะเป็นประเทศงที่เป็นธรรมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความก้าวหน้าทางการเมืองในการสนับสนุนชนพื้นเมืองโดยให้มีสภาชนพื้นเมืองอย่างเป็นทางการ แต่นี่ก็เป็นหน้าฉากเท่านั้นมาเร็ตบอกว่าสภาเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมมากเท่าที่ควรจากการที่มีบทบาทในการให้คำปรึกษาเท่านั้นโดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของพวกเขา

ในนอร์เวย์มีประชากรชาวซามีอยู่ประมาณ 60,000 คนในนอร์เวย์ ในจำนวนนี้มีอยู่แค่ประมาณร้อยละ 5 เท่านั้นที่ทำงานเลี้ยงกวางเรนเดียร์ มาเร็ตบอกว่าการต้อนกวางเรนเดียร์เป็นขุมทางวัฒนธรรมของชาวซามีทั้งเรื่องภาษา, ความรู้ทางสิ่งแวดล้อม และนิเวศวิทยา

ในเรื่องของระบบนิเวศน์นั้นถึงแม้คนทั่วไปจะเชื่อว่าการกวาดต้อนฝูงสัตว์ที่กินหญ้านั้นถ้าหากฝูงสัตว์มีจำนวนมากก็จะทำให้ปริมาณหญ้าน้อยเกินกว่าจะดำรงระบบนิเวศที่สมดุลไว้ได้ แต่ธรรมชาติจริงๆ ไม่เป็นเช่นนั้น เคยมีนักวิทยาศาตร์และเกษตรกรชาวฝรั่งเศส อองเดร์ วอยซิน และ ออลลอง เซวอรี เปิดเผยว่าสิ่งที่ทำความเสียหายให้กับทุ่งหญ้าไม่ได้มาจากเพราะจำนวนสัตว์มีมาก แต่เป็นเพราะการที่ปล่อยสัตว์ไว้ที่ทุ่งหญ้าเดิมเป็นเวลานานๆ จนทำให้เกิดการกินหญ้าในพื้นที่นั้นมากเกินไป การเลี้ยงแบบเปิดโล่งยักย้ายไปตามที่ต่างๆ จึงทำให้เป็นประโยชน์กับผืนดินนั้นๆ

ทั้งนี้ยังมีทีมนักวิจัยนำโดย มาริสกา ที บีส จากมหาวิทยาลัยแห่งอูเมียประเทศสวีเดน เข้าไปวิจัยเรื่องสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศในนอร์เวย์ จากการที่ซีกโลกเหนือประสบปัญหาผลกระทบจากโลกร้อนอย่างรวดเร็วเพราะชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (permafrost) กำลังละลายทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนและคารบอนไดอ็อกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ทีมวิจัยพบว่าการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ส่งผลดีต่อการลดโลกร้อน เนื่องจากว่าการที่พวกมันกินหญ้าทำให้ทุ่งหญ้ามีลักษณะกระปริบกระปรอยมากกว่าทำให้สะท้อนรังสีได้น้อยกว่าทุ่งหญ้าแบบทีขึ้นหนา อีกทั้งการที่พวกมันดูดซับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้น้อยกว่านังทำให้ลดการละลายของน้ำแข็งชั้นดินได้ด้วย พวกเขาระบุอีกว่าผลลัพธ์เชิงบวกเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นมากกว่าในพื้นที่ๆ มีการเลี้ยงกวางเรนเดียร์

ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศแห่งนอร์ดิก (NCoE) ก็ระบุในทำนอองเดียวกับงานวิจัยของมาริสกา และเสริมว่าการกินหญ้าของสัตว์เหล่านี้ป้องกันการทำให้เกิดการกลายเป็นพุ่มไม้ ซึ่งการทำให้พื้นที่ทุ่งทุนดรายังคงเป็นที่โล่งเช่นนี้จะส่งผลดีต่อความหยู่รอดของพืชพันธุ์เล็กๆ ไม่ได้ถูกทำลายโดยพืชพันธุ์ขนาดใหญ่กว่าที่มาจากที่อื่น

มีนักวิทยาศาสตร์สองพ่อลูกจากรัสเซีย เซอร์กีและนิกิตา ซิมอฟ ยังเคยวิจัยเกี่ยวกับเรนเดียร์ไว้อีกว่าบทบาทที่พวกมันช่วยลดโลกร้อนไม่ได้มีเพียงแค่การกินหญ้าเท่านั้น แต่การที่มันใช้กีบเดินย่ำทุ่งหิมะที่ละลายช้ายังเอื้อต่อการทำให้เกิดการรักษาชั้นหินเยือกแข็งคงตัวเอาไว้ได้เพราะพวกมันทำให้ทุ่งหิมะเหล่านี้หนาแน่นขึ้น กลายเป็นฉนวนกันความร้อนต่อชั้นดินได้ ทำให้ชั้นหินเยือกแข็งใต้ผืนโลกมีโอกาสละลายลดลง

มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเสนอว่าในฤดูที่อากาศอบอุ่นขึ้นการที่มีสัตว์กินหญ้ามากๆ ในทุ่งทุนดราจะทำให้เกิดการเก็บกักก๊าซคาร์บอนได้มากกว่าเพราะหญ้าที่ขึ้นเป็นหย่อมๆ จะโตเร็วกว่าหญ้าที่ขึ้นเป็นพงและมีประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงดูดซึมก๊าซคาร์บอนได้มากกว่า นอกจากนี้การที่เรนเดียร์กินหญ้ามากๆ จะทำให้เกิดวัฎจักรการหมุนเวียนแร่ธาตุในธรรมชาติดีขึ้นและเป็นการสร้างชีวมวลด้วย

ถึงแม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายสนับสนุนวิถีชีวิตการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ของชาวซามีขนาดนี้แต่ทำไมรัฐบาลนอร์เวย์ถึงยังต้องการจำกัดในเรื่องนี้ หนึ่งในสาเหตุของเรื่องนี้คือการที่รัฐบาลนอร์เวย์พยายามส่งเสริมการทำเหมืองแร่ในพื้นที่เหล่านี้ โดยในช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมานอร์เวย์อนุญาตให้มีการสร้างเหมืองดีบุกในพื้นที่ดังกล่าวจนทำให้เกิดการวิจารณ์ว่าเป็น "หนึ่งในโครงการที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ(นอร์เวย์)" ซึ่งพื้นที่ฟินน์มาร์คซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นว่ามีทั้งแร่โลหะมีค่าและทรัพยากรพลังงาน อยู่ในพื้นที่ซัปมีที่ชาวซามีใช้เลี้ยงเรนเดียร์

อีกสาเหตุหนึ่งคือเรื่องการที่รัฐบาลไม่เข้าใจวัฒนธรรมและระบบนิเวศ ฮฺวโก เรย์เนิร์ต นักวิจัยด้านมานุศยวิทยาสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยออสโลกล่าวว่า รัฐบาลนอร์เวย์ไม่เข้าใจระบบนิเวศของกวางเรนเดียร์ กล่าวหาว่าการมีกวางเรนเดียร์มากเกินไปเป็นเรื่องไม่ดี และมองวัฒนธรรมการเลี้ยงกวางแบบต้อนไปตามที่ต่างๆ ของชาวซามีเป็น "ความโกลาหล" และจะ "สร้างความเสียหาย" จากการที่พวกเขาไม่ควบคุมเรนเดียร์มากพอ แต่ก็มีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่ามุมมองเหล่านี้ไม่เป็นความจริง

เรียบเรียงจาก
Fighting for Free-Range Reindeer in Norway’s Far North, Yes!, 02-09-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท